“พี่ตำรวจ” จ๋า… ผมทำผิดพี่ปรับเป็นหมื่น! แล้วถ้าพี่ทำผิดผมปรับได้มั้ย?
ทำไมมันแพงนักละจ๊ะพี่! ภาครัฐเตรียมบังคับใช้มาตรการยาขมใครไม่มีหรือไม่พกใบขับขี่เพิ่มโทษปรับเป็นเงิน 10,000 บาทส่วนใครใบขับขี่หมดอายุโทษปรับ 50,000 บาท! แพงขนาดนี้แล้วจะลดอุบัติเหตุได้จริงไหม? แล้วถ้าพวกพี่ (ตำรวจ) ทำผิดเมื่อไหร่ ใครจะปรับพี่!
ดูกันชัด ๆ ไม่ใช่แค่ลืมใบขับขี่ 1 หมื่นแต่ไม่ขับขี่หมดอายุโดนเพิ่ม 5 เท่า
ไม่ใช่แค่โทษปรับลืมใบขับขี่เท่านั้นที่แพงหูฉี่จนต้องขยี้ตาตอนอ่าน! เกิดใบขับขี่หมดอายุขึ้นมา ค่าปรับจะทะยานไปถึง 5 หมื่นทันที ลองไปดูกันแบบละเอียดทุกมาตราว่าเพิ่มโทษจำคุกเท่าไหร่ ปรับเท่าไหร่ จากความผิดไหนกันบ้าง
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เผยว่ากรมขนส่งทางบกเตรียมเสนอปรับเพิ่มบทลงโทษ กรณีผู้ขับขี่กระทำผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ตามกฎหมายใหม่ใน 3 มาตราประกอบไปด้วย
1. มาตรา 64 ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต จากเดิมลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท เสนอให้ปรับเพิ่มโทษเป็น จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
2. มาตรา 65 ขับรถในระหว่างใบอนุญาตสิ้นอายุ ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกยึดใบอนุญาต จากเดิมลงโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เสนอให้เพิ่มโทษจำคุกเข้ามาด้วย คือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ส่วนโทษ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
3. มาตรา 66 ขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาต จากเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท เสนอให้ปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
โดยวัตถุประสงค์ในการเพิ่มโทษก็เพื่อให้ผู้ขับขี่เข็ดหลาบ ไม่กล้าทำความผิดอีก เพื่อจะส่งเสริมให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้
ทั้งนี้ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น) ซึ่งเข้าร่วมหารือกับกรมขนส่งจนได้มติดังกล่าว ยังเสนอว่าให้เพิ่มโทษในกรณีการขับรถกีดขวางการจราจรหรือขับรถประมาทหวาดเสียวซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุด้วย เช่น ขับรถย้อนศรแซงรถในที่คับขัน เสนอให้เพิ่มโทษให้เป็นความผิดลหุโทษและแก้ไขอัตราค่าปรับเป็น 1,000-5,000 บาท จากเดิมที่มีอัตราค่าปรับ 400-1,000 บาทอีกด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ยังคงไม่ได้ข้อสรุป ส่วนเรื่องอัตราโทษใบขับขี่ยังอยู่ในระหว่างการร่างกฎหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
แต่คำถามสำคัญต่อไปคือ จริง ๆ แล้วความตั้งใจที่จะใช้มาตราการนี้มาลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุนั้นมีความเป็นไปได้แค่ไหน สมราคากับที่ประชาชนจะต้องจ่ายเพิ่มเพียงเพราะไม่ได้พกใบขับขี่หรือไม่ ?
แต่สาเหตุหลักอุบัติเหตุคือไม่สวมหมวกนิรภัยขับรถเร็วเมาแล้วขับ
สถิติจากกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 มกราคม 2561 มีจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพฯ กว่า 9.8 ล้าน นอกจากนี้ยังมีรถโดยสารทั้งประจำทาง ไม่ประจำทาง และส่วนบุคคล ประมาณ 43,000 คัน และรถบรรทุก มีประมาณ 440,000 คัน ซึ่งหากรวมกันทั้งหมดแล้วเป็นจำนวนเกินพื้นที่ถนนจะรองรับได้ถึง 4.4 เท่า ปริมาณรถที่มากขนาดนี้ในพื้นที่จำกัดย่อมจะทำให้อัตราอุบัติเหตุสูงแบบไม่ต้องสงสัย
เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาองค์กรส่งเสริมสุขภาพระดับโลกภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิบลูกเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ เปิดเผยว่าในกรุงเทพมหานครมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศเฉลี่ยวันละ 2 คน โดยร้อยละ 90 ของอุบัติเหตุทางถนน เกิดขึ้นจากรถจักรยานยนต์ ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ภาณุพงศ์ ภาณุดุลกิตติ กองบังคับการตำรวจจราจร ก็ระบุว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนในกรุงเทพฯ คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับรถเร็ว และเมาแล้วขับ ซึ่งหากจะวิเคราะห์แล้วก็ไม่มีเหตุผลรองรับชัดเจนว่า การเพิ่มโทษใบขับขี่จะสามารถแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุซึ่งมีมูลเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อส่วนบุคคลและความหนาแน่นมหาศาลของจำนวนรถได้อย่างเป็นรูปธรรม
ชาวเน็ตบางส่วนเห็นด้วยเชื่อมีผลต่อการเคารพกฎหมาย
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันในเบื้องต้นถึงค่าปรับมหาโหด แต่ที่น่าสนใจคือ มีชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยที่มองว่าการเพิ่มโทษเช่นนี้ จะทำให้เกิดความเคารพในกฎหมายมากขึ้น ในเมื่อชอบพูดกันว่าบ้านอื่นเมืองอื่นกฎหมายได้ผล บ้านเราก็ควรจะลองยาแรงดูบ้าง และควรเพิ่มโทษในมาตราอื่น ๆ ด้วย
ขณะที่ชาวเน็ตบางส่วนก็มองว่า อัตราโทษสูงถึงหนึ่งหมื่นบาทที่กล่าวกันนั้นเป็นโทษสูงสุด ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจไม่ปรับสูงขนาดนั้นก็ได้ หากยังมัวแต่เอาแต่ใจบ้านเมืองก็จะไม่ไปถึงไหน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 (ผบก.ส.3) "กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช." เท่ากับว่าอัตราค่าปรับไม่พกใบขับขี่สูงสุด 1 หมื่นบาทนี้ยังไม่มีผล ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าหากบังคับใช้กันจริง ๆ แล้ว อุบัติเหตุในกรุงเทพมหานครจะลดน้อยลงหรือไม่ เพราะหากร่างกฎหมายนี้ผ่าน เชื่อกันว่า อัตราค่าปรับในกรณีขับขี่ประมาทหวาดเสียวและผิดกฎจราจรซึ่งสร้างความรำคาญและก่ออุบัติเหตุนั้นก็จะเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งอาจมีผลให้นักซิ่งบางคนเพิ่มความระมัดระวังขึ้นมาโดยอัตโนมัติก็เป็นได้
แม้ว่าสุดท้ายแล้วอำนาจในการออกกฎหมายค่าปรับจะอยู่ที่กรมขนส่งและคณะรัฐมนตรี แต่พอมีกฎหมายค่าปรับมหาโหดเกิดขึ้นมาแบบนี้ ประชาชนอย่างเราๆก็ย่อมจะอดกังขากับผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ลำพังทุกวันนี้แค่ตั้งด่านอัตราโทษเดิมก็เป็นที่กล่าวขวัญกันอยู่แล้ว ถ้าแค่ลืมใบขับขี่ก็ปรับได้เป็นหมื่นแบบนี้เงินจะสะพัดขนาดไหน ยังไม่นับรวมพฤติกรรมของพี่ๆเจ้าหน้าที่บางส่วนที่อาจหลงลืมไปว่าแม้จะปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ควรจะเคารพกฎจราจร เพราะไม่ว่าจะประชาชนหรือตำรวจ ขับรถผิดกฎจราจรก็ก่ออันตรายเหมือนๆ กัน อย่างไรก็ขอให้คิดถึงส่วนรวมให้มากไว้ เพราะผมทำผิดพี่ปรับได้ แต่พี่ตำรวจทำผิดเองเมื่อไหร่ ใครจะปรับพี่ได้ละครับ!!
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://news.thaipbs.or.th/content/263952
https://pantip.com/topic/37978312
http://www.one31.net/news/detail/3907
https://www.dailynews.co.th/bangkok/321364
https://www.pptvhd36.com/news/75872
https://www.posttoday.com/social/general/561683
https://twitter.com/tanatpong_/status/486807444618625024