หากพูดถึงนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ เบอร์ต้นๆ ของประเทศยุคนี้ หลายคนอาจนึก สุทธิชัย หยุ่น, เทพชัย หย่อง, กวี จงกิจถาวร หรือ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล
แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักชายที่ชื่อ ‘พิชัย วาศนาส่ง’
แม้จะเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นสถาปนิก แต่ชีวิตของพิชัยกลับโดดเด่นในฐานะสื่อมวลชน โดยเฉพาะข่าวต่างประเทศซึ่งเขาเป็นผู้ร่วมบุกเบิก มาตั้งแต่สมัยช่อง 4 บางขุนพรหม
นอกจากนี้เขายังเป็นผู้บรรยายเหตุการณ์สดๆ ตอนที่ยานอพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อ 50 ปีก่อน เป็นนักเขียน นักเล่าเรื่อง เป็นผู้บัญญัติคำว่า ‘มนุษย์ต่างดาว’ รวมทั้งเป็นผู้เปิดประตูให้นักวิเคราะห์ข่าวหลายคนได้เติบโต
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมใครๆ ถึงพากันยกย่องให้เขาเป็นอาจารย์ เป็นกูรู เป็นปูชนียบุคคล
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากชักชวนทุกคนมารู้จักเรื่องราวชีวิตของชายผู้ย่อโลกทั้งใบมาใส่บนจอ ตั้งแต่ยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่เกิด โทรศัพท์มือถือยังไม่มี
01
กูรูข่าวต่างประเทศ
ถึงโลกจะกว้างใหญ่ แต่คนไทยในยุคก่อนปี 2490 กลับรู้เรื่องราวในต่างแดนน้อยมาก กระทั่งเมื่อบ้านเรามีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง ความรู้ใหม่ๆ จึงเริ่มแพร่ขยาย
เดิมทีพิชัยเป็นสถาปนิกอยู่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วก็ใช้เวลาว่างทำรายการวิทยุ ปรากฏว่าเสียงของเขาไปถูกใจ จำนง รังสิกุล จึงถูกดึงตัวให้มาร่วมก่อตั้งช่อง 4 บางขุนพรหม
ครั้งนั้นพิชัย ร่วมกับฉลวย พิชัยศรทัต หัวหน้าข่าวต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ หยิบนำเหตุการณ์ทั่วโลกที่น่าสนใจมาสร้างสรรค์เป็นรายการแนวใหม่ชื่อว่า ‘วิเคราะห์ข่าวต่างแดน’
เพราะคนแต่ก่อนมักมองว่า ข่าวเมืองนอกนั้นไกลตัวจึงไม่ค่อยสนใจ ทั้งที่ความจริงหลายเรื่องพัวพันกับเมืองไทยโดยตรง โดยเฉพาะในยุคที่การเมืองโลกกำลังระอุจากภาวะสงครามเย็น มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แย่งชิงความเป็นใหญ่ทุกเรื่อง ตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม แม้แต่ส่งคนไปนอกโลก
แต่พิชัยกลับทำให้วิเคราะห์ข่าวต่างแดน ติดอันดับรายการขายดีของสถานี
เหตุผลหนึ่งคงมาจากลีลาการนำเสนอที่กระชับ ตรงประเด็น ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้
อย่างช่วงที่ยานอพอลโล 11 แตะพื้นดวงจันทร์ คนส่วนใหญ่นึกภาพไม่ออก คิดไม่ออกว่าคนจะไปยืนบนดวงจันทร์ได้อย่างไร ก่อนถึงวันจริง พิชัยจึงใช้ยานอวกาศจำลองลำเล็กๆ มาเป็นตัวช่วย จากนั้นก็บรรยายไปตามเรื่องว่า ‘ยานอีเกิลจะพานีล อาร์มสตรอง กับเอ็ดวิน อัลดริน ลงสู่พื้นดวงจันทร์’ แล้วก็จับยานของเล่นร่อนลงแตะพื้นโต๊ะอ่านข่าว พอเด็กๆ ดูเสร็จก็เข้าใจได้ทันที
แต่ที่เหนือกว่านั้น คือเขาไม่ได้สนใจเพียงเหตุการณ์เบื้องหน้าเท่านั้น แต่ยังศึกษาไปถึงปูมหลัง จนเชื่อมโยงและปะติดปะต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจและเห็นภาพไปพร้อมกัน
“คุณสมบัติของนักวิเคราะห์ที่ดี ต้องรู้เรื่องลึก คือเวลาข่าวออกมาแค่ไหน ต้องรู้เรื่องเดิมว่า มันไปยังไงมายังไง เอ่ยชื่ออะไรขึ้นมาชื่อหนึ่งต้องอธิบายให้คนเขารู้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ฟังแต่ข่าวก็พอ.. อย่างเรื่องต่างประเทศ คนเขานึกว่า ผมเป็นผู้มีความรู้อยู่มากพอสมควร เนื่องจากอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในโลกนี้ต่างมีประวัติศาสตร์อยู่เบื้องหลังแทบทั้งนั้น เช่นทำไมเขาจึงมีการสร้างพีระมิดขึ้น ทำไมพีระมิดต้องมีรูปร่างอย่างนั้น เพราะเขาเชื่อว่าคนตายแล้วจะเกิดใหม่ จึงต้องปกป้องศพด้วยพีระมิด
“แต่ที่ต้องสร้างให้ใหญ่โตมโหฬาร อาจเป็นเพราะคนเรามีอีโก้ พอเป็นใหญ่แล้วก็ต้องเอาอีโก้มาใส่แสดงความเป็นใหญ่ให้ตัวเอง ถ้าเราจะดูบ้านตึกราม ปราสาทราชวังโบราณ จะเห็นคนตัวเล็กนิดเดียว แต่แสดงความยิ่งใหญ่กว่าด้วยการทำประตูใหญ่ สูงกว่าคนตั้ง 3-4 เท่า”
สาเหตุที่พิชัยวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำและฉับไว เพราะเชื่อในเรื่องพลังความรู้ แต่ละวันเขาต้องเปิดวิทยุคลื่นสั้นฟังข่าวจากต่างประเทศ ค้นหนังสือหรือนิตยสารเมืองนอก จากนั้นก็บันทึกข้อมูลต่างๆ ลงในสมุดโน้ตส่วนตัว แล้วนำมาเชื่อมโยงกับความรู้ดั้งเดิม พัฒนาจนเป็นบทโทรทัศน์ที่สมบูรณ์
หลังออกจากช่อง 4 เขายังผลิตรายการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งพบโลก ทางช่อง 7, สรุปข่าวต่างประเทศ ทางช่อง 3 และโลก 360 องศา ทางช่อง 3 รวมถึงนิตยสารพบโลก ซึ่งหยิบประเด็นโลก อย่างวิกฤตยูโกสลาเวีย หรือการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ที่สหภาพโซเวียต มาเป็นจุดขาย ตลอดจนปลุกปั้นนักวิเคราะห์ข่าวฝีมือดีหลายคน อาทิ รศ.ประทุมพร วัชรเสถียร, ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล, จักรภพ เพ็ญแข, โอวาท พรหมรัตนพงศ์ รวมถึง ลลนา พานิช บุตรสาวของเขา
รศ.ประทุมพร เล่าว่า พิชัยเป็นผู้มีความรู้ครอบจักรวาล ทั้้งประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์ไทย ดนตรีคลาสสิก ภาษาศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา แม้กระทั่งเรื่องอาหาร แถมยังสามารถถ่ายทอดได้ดีทุกเรื่อง เพราะยังคงแสวงหาความไม่เคยหยุด ที่สำคัญคือ ไม่เคยหวงความรู้ เพราะต้องการให้คนที่อยู่รอบตัวได้ความรู้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แน่นอนว่าย่อมรวมถึงผู้ชมรายการทุกคนที่จะได้เห็นโลกกว้าง แม้กำลังนั่งอยู่หน้าจอทีวีก็ตาม
02
เรียนรู้แบบ ‘พิชัย’
“ผมไม่ใช่คนเก่ง” คือสิ่งที่พิชัยมักบอกใครต่อใครเสมอ
แต่สิ่งที่เขามีมากกว่าคนอื่น คือความใส่ใจในสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ด้วยเชื่อว่า สักวันหนึ่งอาจเป็นประโยชน์กับตัวเองบ้างก็ได้
พิชัยมีพ่อเป็นต้นแบบสำคัญ
นายโปร่ง พ่อของเขาเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนน้อย แต่ชอบค้นหาความรู้ใหม่ๆ แปลกๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาศึกษาด้วยตัวเองจนอ่านออกเขียนได้
“พ่อชอบไปซื้อหนังสือเก่าที่เวิ้งนาครเขษม เพราะอยากเรียนภาษาอังกฤษ ซื้อมาแล้วก็มานั่งหัดอ่านอยู่ใต้สายไฟฟ้าแถวถนนเจริญกรุง บางครั้งอ่านไม่เข้าใจก็เดินเข้าไปที่โรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ ทางเข้าบ้านแล้วไปถามครูว่าคำนี้แปลว่าอะไร พอรู้แล้วก็มานั่งอ่านซ้ำๆ จนกระทั่งรู้ภาษาอังกฤษ”
ผลจากการรู้ภาษา เมื่อนายโปร่งรับราชการทหาร จึงถูกเลือกให้สังกัดเสนารักษ์ ประจำอยู่ห้องยา คอยอ่านสลากภาษาอังกฤษ ไม่ต้องออกไปรบ ส่งผลให้พิชัยใส่ใจเรื่องภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก
พอโตขึ้นมาเรียนที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ มุมมองและทัศนคติของเขาก็ยิ่งขยาย
“อาจารย์ท่านหนึ่งคือ ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร สอนให้ผมรู้จักคิดว่า เวลาคิดอะไรอย่าไปจำกัดความคิดด้วยความรู้ที่เรามีน้อย ถ้าเรายังไม่ได้ลงมือทำ หาความรู้ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมีการทำสเก็ต ดีไซน์ เขาให้ทำอนุสาวรีย์ริมแม่น้ำ ผมก็คิดทำบันได้ขึ้นจากข้างล่าง เอาเรือมาจอดแล้วขึ้นบันได ทำบันไดกว้างแค่ 15-20 เมตร ก็พอไปได้
“พออาจารย์มาตรวจ ท่านบอกว่า ‘เธอคิดถูกแล้วนะ บันไดริมแม่น้ำอย่างนี้มันสวย แต่ใครไปห้ามเธอว่าให้ทำแค่ 10-20 เมตร ทำไมไม่ทำไป 100-150 เมตร ยาวใหญ่ขึ้นไปสุดลูกหูลูกตาเลย นึกถึงเรือมาจอด 50 ลำ คนเป็นพัน เดินขึ้นบันไดไป มันสวยขนาดไหน อนุสาวรีย์ของเธอจะยิ่งใหญ่สง่าแค่ไหน เธอทำบันไดแค่นี้ คนขึ้นได้ไม่เท่าไร อะไรต่างๆ ในโลกมันใหญ่ด้วยคน มีคนที่ไหนมากๆ ที่นั่นมันก็ใหญ่’ นั่นเป็น Concept ที่ผมชอบเหลือเกิน แล้วยังจำได้จนบัดนี้ว่า Mass คือสิ่งสำคัญที่สุด”
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงไม่เคยหยุดเติมความรู้ให้ตัวเอง อย่างสมัยเป็นนิสิต เขาต้องแวะไปห้างเซ็นทรัล ซึ่งเดิมร้านขายหนังสือ เป็นประจำ เพื่อหาซื้อหนังสือและนิตยสารภาษาอังกฤษดีๆ มาอ่าน
“ผมค่อยๆ เจียดสตางค์ ไปซื้อหนังสือ Life หรือ Looks ที่เป็นหนังสือพิมพ์เก่าๆ นิตยสารเก่าๆ เอามาดู เพื่อดูสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าเกิดอะไรขึ้น พอได้อ่านได้ดูรูปต่างๆ มันซึมเข้าไปในสมอง ด้วยวิธีเรียนแบบนี้ ทั้งภาษาอังกฤษ ทั้งประวัติศาสตร์ พร้อมๆ กัน ผมจึงจำได้ เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ประเทศไหน เมื่อไร การรบที่ลาบวนหรือการรบที่อิโวจิมา หรือที่เกาะโอกินาวา สงครามทางเรือที่เกาะมิดเวย์ เป็นต้น”
แม้แต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไทยอยู่ฝ่ายอักษะ เขายังมักแอบฟังวิทยุ BBC เสมอ ซึ่งการรายงานของฝ่ายอังกฤษนั้นแตกต่างจากฝ่ายญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง เพราะสำนักข่าวเร็งไง มักบอกว่า ญี่ปุ่นกำลังจะชนะที่นั่นที่นี่ แต่อีกฝ่ายกลับบอกว่า ญี่ปุ่นกำลังถอยกรูด ทำให้เขาเข้าใจว่า เรื่องใดๆ ก็ตามจะฟังความเพียงข้างเดียวไม่ได้
พิชัยสนุกกับการได้เรียนรู้ เขาบอกว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่เป็นของเก่าทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการศึกษาอดีตและมีพื้นฐานแน่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถต่อยอด ประยุกต์นำความรู้เหล่านั้นไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ด้วย ดังเช่นญี่ปุ่น ซึ่งเติบโตมาจากการลอกเลียนแบบ พอศึกษาจนเข้าใจแล้วก็หาทางพัฒนาให้ดีกว่า ถูกกว่า จนกลายเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของโลก
“ผมขำคนไทยอยู่อย่าง พอทำอะไรได้แล้วตีปีกพั่บๆ กูทำได้แล้วโว้ย แล้วคนอื่นเค้าก็ขโมยความคิดเราแล้วเอามาขายกลับ คือเราขี้คุย เครื่องมืออะไรต่างๆ คิดได้ ทีวีไปแถลงข่าวกันแล้วก็เงียบ ไม่ได้เอาไปทำให้มันเกิดประโยชน์ขึ้นมา น่าเสียดาย ทำอะไรได้หรือคิดได้อย่าเพิ่งไปบอกใคร ต้องค่อยๆ พัฒนาจนกระทั่งเขาตามไม่ทัน แล้วตรงนั้นแหละเป็นตอนที่เราจะปล่อยตัวออกไปว่าเราทำอะไรได้บ้าง”
ถึงคุณค่าเหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คงไม่เกินความสามารถของใครที่จะทำ ดังที่เคยพิสูจน์มาแล้วจากชายที่ชื่อ ‘พิชัย วาศนาส่ง’
03
เป็นแค่ ‘นายพิชัย’ ดีที่สุดแล้ว
เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบ คือ พิชัยมีบทบาทในการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-จีน
เมื่อนานมาแล้ว พิชัยเคยเล่าเหตุผลที่เลือกวิเคราะห์แต่ข่าวต่างประเทศ ว่าเป็นเพราะเขารู้จักการเมืองไทยดีกว่าใคร
เพราะนับตั้งแต่อยู่ในวงการสื่อมวลชน เขาถูกเรียกตัวให้ไปเขียนและอ่านประกาศคณะปฏิวัติหลายครั้ง เคยถูกเชิญไปนั่งตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นโฆษกรัฐบาล แต่เขาก็ปฏิเสธไปทุกครั้ง รวมทั้งยังเคยต้องโทษจำคุก 8 เดือน หลังถูกตามตัวไปเขียนประกาศคณะปฏิวัติให้ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ซึ่งพยายามทำรัฐประหารรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร
“ปฏิวัติทีไรก็ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เสร็จแล้วผมก็ไม่เข้าไปยุ่งด้วยหรอก เขาบอกว่า ‘อเสวนา จ พาลานํ ปัณฑิตา นฺญจเสวนา’ เป็นมงคลสูตรบทแรกเลย คือไม่คบกับคนพาล ให้คบกับบัณฑิต เราจะดีขึ้น ถ้าเราไปคบกับคนพาลมันดึงเราเรื่อย ให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ มันเป็นเครื่องมือเขาได้ง่าย”
เพราะสำหรับเขา ความเป็นกลาง และอิสรภาพในการคิด การพูด การทำเป็นสิ่งสำคัญสุดของสื่อมวลชน แต่ก็ไม่หมายความว่า เขาจะปฏิเสธตำแหน่งทุกอย่าง หากเห็นว่างานนั้นเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง และไม่ขัดกับหลักการที่วางไว้
อย่างช่วงปี 2515 รัฐบาลจีนต้องการเปิดประเทศสู่โลกภายนอก หลังปิดตัวเองมาตั้งแต่เป็นคอมมิวนิสต์มายาวนาน รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จึงมีแนวคิดที่ฟื้นฟูสัมพันธไมตรีอีกครั้ง จึงแต่งตั้ง พล.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ เป็นหัวหน้า ส่วนพิชัย ก็รับตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีภารกิจสำคัญนำนักกีฬาปิงปอง 20 คนไปแข่งขันในงานชิงแชมป์เอเชีย
ว่ากันว่า การไปเมืองจีนในยุคนั้นถูกต่อต้านหนักมาก เพราะสังคมไทยยังหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ ครั้งนั้นพิชัยให้คำแนะนำจอมพลประภาส จารุเสถียร เบอร์ 2 ของรัฐบาล ไปว่า
“เราต้องนึกว่าจีนเป็นประเทศใหญ่ ถ้าเราเห็นจีนเป็นโจร ก็โจรก๊กใหญ่เลย ซึ่งจะทำให้โลกสงบสุขไม่ได้ แล้วถ้าพูดกันให้รู้เรื่อง โจรก็เป็นเพื่อนเราได้ อย่างที่บอก ศัตรูของศัตรูคือเพื่อนของเรา..นี่มาจากยุทธศาสตร์ซูนวู ผมศึกษาเรื่องพวกนี้อยู่ อ่านตำราจีนอะไรต่างๆ ผมบอกว่าเรามาดูกันว่าเขาต้องการจะเป็นมิตรกับเราจริงหรือเปล่า”
ผลจากการเดินทางครั้งนั้นประสบความสำเร็จด้วยดี ผู้แทนไทยได้พูดคุยกับ เติ้ง เสี่ยว ผิง รองนายกรัฐมนตรีของจีน รวมทั้งมีการถ่ายภาพยนตร์สารคดีเล่าเรื่องเมืองจีนมาด้วย
จากปีแรกก็มาสู่ปีที่ 2 โดยคราวนี้เขานำนักกีฬาแบดมินตันไปแข่งขัน ความสัมพันธ์ของสอง ประเทศจึงใกล้ชิดกันขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ในปี 2518 ในยุครัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
นอกจากนี้ สมัยเป็นทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พิชัยยังมีส่วนผลักดันการสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เพื่อลดความแออัดของท่าเรือคลองเตย หลังโครงการถูกดองมานานเกือบสิบปี
ตลอดเส้นทางการทำงาน แม้มีโอกาสเข้ามามากมาย แต่พิชัยเลือกรับตำแหน่งตามความจำเป็นเท่านั้น และเพียงมีตำแหน่งเดียวที่เป็นมายาวนานถึง 16 ปีคือ สมาชิกวุฒิสภา โดยเขาย้ำว่า ไม่ได้เกิดจากความทะเยอทะยาน หรือมักใหญ่ใฝ่สูง แต่ต้องการรับรู้ว่าบรรดาข้าราชการ นักธุรกิจ หรือผู้นำในองค์กรต่างๆ ซึ่งรับตำแหน่งเหมือนกัน คิดอะไรอยู่ มีจุดประสงค์อะไรซ่อนเร้นหรือไม่
“สำหรับผมเป็นนายพิชัย นี่ดีที่สุดแล้ว เป็นรัฐมนตรี และเป็นตำแหน่งอะไรก็แล้ว วันหนึ่งเมื่อไม่ได้ทำให้เขา ตำแหน่งเขาก็เอาคืน แต่เป็นนายพิชัยนั้น ไม่มีใครมาเอาจากเราได้”
04
ชีวิตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
“โลกของผมยังหมุนเท่าเดิม”
แม้อายุจะล่วงเลยถึงเลข 8 แต่พิชัยก็ยังคงเขียนหนังสือ เขียนบทความ จัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ไม่ต่างจากสมัยเป็นหนุ่ม
เขาบอกว่า ถึงจะแก่แล้ว ก็ใช่ว่าจะพัฒนาตัวเองไม่ได้ ขอเพียงอย่าหยุดคิด หยุดทำ หยุดบำรุงชีวิตให้ดี และมีวินัยบังคับตัวเองอยู่สม่ำเสมอ
“เวลาหัวค่ำ 1-2 ทุ่มผมจะนอน แล้วตีหนึ่งผมจะตื่นขึ้นมาดูข่าวจากทั่วโลกโดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม มีหลายสถานีที่ผมหาความรู้ได้ ตอนเช้าผมก็จะรู้ เหมือนสมัยพระพุทธองค์ประทับอยู่ตอนดึกก็ลุกขึ้นมามองดูโลก คิดอยู่ตลอดเวลา พอตอนเช้าก็นึกออกว่าจะเอาอะไรไปเทศน์เอาอะไรไปพูด ต้องมองโลกให้กว้าง”
พิชัยรักที่จะทำหน้าที่เป็นครู เขามีความสุขที่ได้ถ่ายทอดความรู้ที่ตัวเองมีไปสู่ผู้คนให้มากที่สุด และเห็นลูกศิษย์ลูกหาเจริญเติบโตไปในเส้นทางของตัวเอง
“ผมชอบความรู้ ชอบการเรียนรู้ ชอบการถ่ายทอด..ผมชอบที่จะเป็นครู ถ้าศิษย์คิดได้ ศิษย์ทำได้ก็ดีไป ที่ผ่านมามีคนมาถามว่าลูกศิษย์อาจารย์พิชัยไปทำอย่างนั้น อย่างนี้ทำไมหรือ คำตอบก็คือเพราะเขาคิดเอง ทำเอง ผมไม่ได้บอกให้เขาทำ เขาทำตามความมุ่งหมายของเขา ความทะเยอทะยานของเขา อยากจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ สุดท้ายก็ต้องแล้วแต่เขา”
พิชัยจากไปอย่างสงบด้วยวัย 82 ปี แม้วันนี้ชื่อของเขาจะค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ชายผู้นี้จะทิ้งไว้ให้ คือขุมทรัพย์ความรู้ต่างๆ และความฝันที่จะสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาให้เกิดขึ้นในประเทศเล็กๆ แห่งนี้
ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
เรียบเรียงและภาพประกอบจาก
- หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายพิชัย วาศนาส่ง
- หนังสือข้างครู วาระครบรอบ 80 ปี พิชัย วาศนาส่ง โดย ปรีณา สิงห์บูรณา
- หนังสือ POCKET THE BOOK ISSUE 1 Dec-Feb 2004
- นิตยสาร Hi-Class ปีที่ 7 ฉบับที่ 83 เดือนมีนาคม 2534
- นิตยสารพลอยแกมเพชร ปีที่ 14 ฉบับที่ 329 ปักษ์แรกเดือนตุลาคม 2548
- นิตยสาร เพื่อน ThaiPBS ฉบับที่ 4 เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555
- หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันจันทร์ที่ 14 กันยายน 2552
ความเห็น 29
🌹🌼🌲Ju-AH🌳🌻🌺
ชอบอาจารย์อ่านข่าวต่างประเทศ ให้ความรู้ดีมาก คนคุณภาพ
15 ก.พ. 2563 เวลา 07.50 น.
New Man
ผมชอบท่านมากๆได้ความรุ้จากท่านมหาศาลนำ้เสียงท่านมีเอกลักษณ์น่าชวนฟังระลึกถึงท่านอยุ่เสมอครับ
15 ก.พ. 2563 เวลา 11.15 น.
ชุมสาย
เอกบุรุษก็คือเอกบุรุษวันยันค่ำ ท่านคือปรมาจารย์ของวงการสื่อสารทุกชนิด
15 ก.พ. 2563 เวลา 11.25 น.
รังสรรค์
ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เล่าข่าวได้อย่างมีอรรถรสและน่าติดตามยิ่งครับ
15 ก.พ. 2563 เวลา 11.36 น.
Rachanee
หย่องหรือหยุ่นก็แค่ฝุ่น ท่านพิชัยคือหนึ่งเดียวของประเทศ จะระลึกถึงท่านตลอดไปค่ะ
15 ก.พ. 2563 เวลา 12.27 น.
ดูทั้งหมด