โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

นาซ่าเฮ! ค้นพบ “ว่าที่ดาวนพเคราะห์” ดวงใหม่ ที่จะมาแทน “พลูโต”

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 31 พ.ค. 2561 เวลา 13.00 น.

นาซ่าเฮ! ค้นพบ “ว่าที่ดาวนพเคราะห์” ดวงใหม่ ที่จะมาแทน “พลูโต”

เรียบเรียงโดย Mr.Vop

คำว่า “ดาวนพเคราะห์” ซึ่งมีความหมายถึงดาวเคราะห์จำนวน 9 ดวง บริวารของดวงอาทิตย์ ได้หายไปจากวงการดาราศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2549 เมื่อ สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือ IAU ได้ปลด ดาวพลูโต น้องคนสุดท้องออกจากครอบครัว ทำให้เหลือสมาชิกดาวเคราะห์หลักๆในระบบสุริยะเพียง 8 ดวง ครั้นจะหันมาใช้คำว่า ”ดาวอัฐเคราะห์” อันหมายถึงดาวเคราะห์ จำนวน 8 ดวง ก็ไม่สะดวกปาก ฟังออกแนวโหราศาสตร์มากไปหน่อย คำว่า ดาวนพเคราะห์ จึงเลือนหายไป ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เวลาผ่านไป 10 ปีจนล่วงเข้าปี 2559 สองนักวิทยาศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือ Caltech ประเทศอเมริกา อันได้แก่ คอนสแตนติน บาไทกิน Konstantin Batygin และ ไมค์ บราวน์ Mike Brown  (คนหลังนี่ดังเพราะเป็นผู้ค้นพบดาวเคราะห์แคระอีริส Eris) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงวัตถุอวกาศต่างๆนอกวงโคจรดาวเนปจูน (วัตถุ TNO) อันประกอบด้วยดาวพลูโต ดาวเคราะห์แคระ รวมทั้งดาวเคราะห์น้อยอื่นๆอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 6 ดวง (2007TG422, 2004VN112,  2013RF98,  2012VP113,  2010GB174 และ SEDNA) ที่มีระนาบวงโคจรเอียงทำมุมมากเกินไปกับระนาบโคจรปกติของดาวเคราะห์หลักทั้ง 8 นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองค่อนข้างมั่นใจว่า ต้นเหตุของระนาบวงโคจรที่แปลกประหลาดนี้มาจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์หลักดวงใหม่ที่โลกยังไม่เคยรู้จักมาก่อน คอยดึงดูดและผลักให้เอียงออกไป ดาวเคราะห์ลึกลับดวงนี้น่าจะเป็นดาวเคราะห์แก้สที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ขนาดน่าจะใกล้เคียงกับดาวเนปจูน มีมวลมากกว่าโลกเราอย่างน้อย 10 เท่า และน่าจะอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ค่อนข้างมากจนแสงอาทิตย์ส่องไปแทบไม่ถึง เราจึงไม่เคยมองเห็นมันในกล้องโทรทรรศน์ทั่วไป บาไทกิน และ บราวน์ ตั้งชื่อดาวเคราะห์สมาชิกใหม่ของดวงอาทิตย์นี้ว่า “ดาวเคราะห์เก้า” หรือ Planet Nine โดยคาดว่าตำแหน่งที่อยู่ของดาวเคราะห์เก้าน่าจะไกลจากดวงอาทิตย์ไม่ต่ำกว่า 200AU หรือ 200 เท่าของระยะห่างโลก-ดวงอาทิตย์ ทำให้วงโคจรมันใหญ่มาก กว่าจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 1 รอบต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15,000 ปี 

ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน นำโดย จูเลียด เบคเกอร์ Juliette Becker และ เดวิด เจอเดส Devid Gerdes ได้ลงตีพิมพ์ผลงานการค้นพบวัตถุอวกาศนอกวงโคจรดาวเนปจูน (TNO) ดวงใหม่ในชื่อ 2015 BP519 ที่มีวงโคจรทำมุมเอียงจากระบบวงโคจรปกติถึง 54 องศา ถือว่าเป็นวงโคจรที่เอียงมากที่สุดเท่าที่เคยพบมา ทางทีมงานพยายามหาเหตุผลสนับสนุนวงโคจรที่ผิดปกตินี้แต่ไม่ว่าจะใช้โมเดลคำนวนแบบไหนก็ไม่ได้ผล นอกเสียจากว่าต้องเติมการมีอยู่ของ “ดาวเคราะห์เก้า” เข้าไปในโมเดลคำนวนด้วยทุกอย่างจึงลงตัว

ทั้งหมดทั้งมวลชี้ไปในทางเดียวกันถึงความเป็นไปได้สูงมากที่เราจะได้กลับมาใช้คำว่า “ดาวนพเคราะห์” อีกครั้ง ถึงแม้ว่าเวลานี้เราจะยืนยันการมีอยู่จริงของ “ดาวเคราะห์เก้า” ด้วยการมองเห็นไม่ได้ แต่เมื่อผลการคำนวนระบุการมีตัวตนของมันค่อนข้างชัดเจน ต่อไปก็คงเป็นหน้าที่ของเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ทำทุกวิถีทาง เช่นอาจใช้เทคนิคการค้นหาแบบบังแสงดาวฉากหลังหรือวิธีอื่นๆ เพื่อนำ “ดาวเคราะห์เก้า”  เข้ามาเป็นน้องสุดท้องของครอบครัวระบบสุริยะให้ได้ ซึ่งข่าวนี้ทำให้นักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั่วโลกตื่นเต้นไม่แพ้กันที่จะได้เป็นคนแรกที่ส่องกล้องไปพบดาวเคราะห์ใหม่ที่ลึกลับดวงนี้

ภาพประกอบจาก Caltech / R.Hurt(IPAC) และ NASA

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0