อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันงดสูบบุหรี่โลกแล้วนะครับ รู้ทั้งรู้ว่าบุหรี่ไม่ดุต่อสุขภาพ แต่หลายคนก็ยังสูบกันอยู่นั่นแหละ นี่ไม่ได้บอกว่าคนสูบบุหรี่เป็นคนไม่ดีนะครับ แต่อดเป็นห่วงไม่ได้จริง ๆ ครับ ฮืออออ แต่เอาเถอะครับ ใครอยากสูบก็สูบไป ชีวิตใครก็ชีวิตคนนั้น
ไหน ๆ ก็ใกล้วันงดสูบบุหรี่โลก คอลัมน์ไทยทูเดย์ครั้งนี้เลยของดเรื่องบุหรี่ด้วยแล้วกัน เพราะผมจะพาคุณไปดูดบารากุ (หรือบารากู่) กับกัญชากันครับ
เดี๋ยว ๆ ๆ ไม่ได้พาไปดูดจริง ๆ ครับ แต่จะเล่าให้ฟังถึงบารากุกับกัญชาที่ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณของไทย ทั้งในจดหมายเหตุตั้งแต่สมัยอยุธยาและในวรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นครับ
ขออนุญาตพาทุกท่านวาร์ปไปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหน่อยครับ (พูดง่าย ๆ ก็คือในยุคละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนั่นแหละครับ) จังหวะนั้นมีทูตจากฝรั่งเศสเข้ามาแผ่นดินสยาม ใช้เวลาอยู่ที่นี่ประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ แล้วก็เขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสยามไว้มากมายตีพิมพ์เป็นเล่มใหญ่เล่มโตใช้ชื่อว่า "จดหมายเหตุลา ลูแบร์"
วันก่อนผมก็เปิดผ่าน ๆ ไปเจอหน้าตาของอุปกรณ์ชนิดหนึ่งดูสวยงามคุ้นตาครับ คนไทยสมัยปัจจุบันเรียกกันว่า "บารากุ" หรือ "บารากู่" หรือบางคนก็เรียกว่า "ชิชา" ครับ แต่ในสมัยก่อนนั้นเรียกกันว่า "มาระกู่" ครับ
[ภาพจากจดหมายเหตุของลา ลูแบร์]
ในวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณีก็มีพูดถึงเหมือนกันครับ
"…ออกจากเก๋งเล็งแลเห็นแต่แขก ด้วยแปลงแปลกปลอมปนคนทั้งหลาย
มีตุ้งก่ามาระกู่เหมือนผู้ชาย พระมุ่งหมายมองตามดูทรามเชย…"
ดูสิครับ ในสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทนิทานคำกลอนก็ยังมีพูดถึงมาระกู่ ธรรมดาที่ไหนกันครับ
แต่แหม บางคนเปิดเจอภาพเตาบารากุแบบนี้ ก็อาจจะคิดอยากจะไปหามาเสพเพื่อรำลึกถึงกรุงศรีอยุธยาแต่ครั้งโบราณนะครับนะ แต่ผมขออนุญาตเบรกความคิดนั้นก่อนเลยนะครับ เพราะปัจจุบันถือว่านี่คือสิ่งผิดกฎหมายครับ
ที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 3/2557 มีมติออก คำสั่งห้ามขายและห้ามให้บริการ “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า และตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า" โดยมีบทลงโทษดังนี้
ผู้ขาย หรือผู้ให้บริการ “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ถ้าเป็นผู้ผลิตเพื่อขายหรือเป็นผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากบารากุแล้ว ในวรรณคดีไทยเรื่อง "นิราศเมืองแกลง" ของสุนทรภู่ก็มีพูดถึง "กัญชา" อีกด้วยนะครับ ตายแล้วววว บางคนอาจจะรับไม่ด้ายยยย แต่ถามว่าถ้ารับไม่ได้ แล้วทำอะไรได้ไหมครับ ก็ไม่ได้เนาะ งั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าสุนทรภู่เล่าไว้ว่าไง
"…สงสารแสงแขงข้อจนขาสั่น เห็นเรือหันโกรธบ่นเอาคนหลัง
น้ำจะพัดปัดตีไปสีชัง แล้วคลุ้มคลั่งเงี่ยนยาทำตาแดง…"
"…หยุดตะพานย่านกลางบางปลาสร้อย พุ่มกับน้อยสรวลสันต์ต่างหรรษา
นายแสงหายคลายโทโษที่โกรธา ชักกัญชานั่งกริ่มยิ้มละไม…"
สุนทรภู่พูดถึงนายแสง คนนำทางพาสุนทรภู่ไปเมืองแกลงครับ นายแสงนี่ก็อยากยามาก (สมัยก่อนใช้ว่า "เงี่ยนยา") จนเกิดอาการกระสับกระส่าย แต่พอได้พักเสพกัญชาเข้าหน่อย ก็นั่งยิ้มมีความสุข
ภาพนิราศเมืองแกลง จาก https://sites.google.com/site/wrrnkhdiniras/niras-meuxng-kaelng
นี่คือข้อดีอย่างหนึ่งของการอ่านวรรณคดีไทยครับ เราได้เห็นสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตของคนไทยในอดีต เราได้เห็นว่ายาเสพติดบางอย่างที่ปัจจุบันเป็นสิ่งต้องห้ามนั้น เมื่อก่อนไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป เราได้เรียนรู้อะไร ๆ มากขึ้น เราอาจจะได้เรียนรู้ว่าสิ่งเสพติดเหล่านี้มีโทษรุนแรงอย่างไร สุดท้ายจึงมีประกาศออกมาให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันก็มีข้อมูลไม่น้อยได้รับการเผยแพร่ออกมาว่ายาเสพติดเหล่านี้ หากนำมาใช้ให้ถูกวิธีในปริมาณที่พอเหมาะ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์อยู่เหมือนกัน ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับว่าประเทศราจะมีการแก้กฎหมายหรือไม่
ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าถ้าสมมติว่ากฎหมายเรื่องยาเสพติดเปลี่ยนไปจริง ๆ ประเทศของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง