โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทางม้าลายก็มี สะพานลอยก็มา แต่ทำไม 'คนเดินถนน' ในไทยยังต้องรับเคราะห์?

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 23 ม.ค. 2565 เวลา 17.30 น. • AJ.
Photo by 13on on Unsplash
Photo by 13on on Unsplash

ประเด็นการเสียชีวิต #หมอกระต่าย และการขับรถโดยประมาทของ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก (อ่านข่าว) ทำให้คนไทยทั้งประเทศตั้งคำถามเรื่อง 'ความปลอดภัยบนท้องถนน' ขึ้นมาอีกครั้ง และเมื่อสำรวจสถิติและสถานการณ์การเกิด 'อุบัติเหตุบนท้องถนน' ในประเทศไทย ก็พบว่าคนไทยเราใช้ชีวิตด้วยความเสี่ยงเสมอมา

ไทยแลนด์ เมืองแห่งอุบัติเหตุบนท้องถนน

ในปี 2564 องค์การอนามัยโลกเคยจัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในทวีปเอเชียรวมถึงอาเซียน โดยมีผู้ประสบอุบัติเหตุกว่า 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน และยังพบว่าสาเหตุหลักๆ คือการชนทั่วไป และจากบุคคล เช่น การขับรถเร็ว หรือขับตัดหน้า หลายกรณีจบลงที่การสูญเสียทรัพย์สิน และจากข้อมูลคดีอุบัติเหตุรับแจ้งปี 2558-2560 พบว่าคนเดินเท้าในกรุงเทพฯ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง 250 คนต่อปีเลยทีเดียว

อ่านข่าว : จากเหตุสลด 'หมอกระต่าย' ย้อนสถิติ 'คนเดินเท้า' ในไทย เสี่ยงชีวิตบนท้องถนนที่สุด

สะพานลอย ลอยเหนือปัญหา?

วิธีลดอุบัติเหตุที่เราเห็นทั่วไปคือ 'สะพานลอย' ซึ่งจุดประสงค์ของสะพานลอยในไทย เริ่มสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนเดินถนนไม่ต้องรอข้ามทางรถไฟที่แล่นเข้าออกสถานีรถไฟหัวลำโพง จึงเกิดเป็นสะพานลอยแห่งแรกชื่อ 'สะพานกษัตริย์ศึก' ในปี พ.ศ. 2471 ถัดมาในปี 2512 จึงมีสะพานลอยสำหรับข้ามถนนแห่งแรก คือ 'สะพานที่ตลาดเฉลิมลาภประตูน้ำ' จนถึงปี 2560 ก็พบว่าสะพานลอยในกรุงเทพฯ มีเพิ่มมากขึ้นเป็น 915 แห่งแล้วในปัจจุบัน

แต่จากข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ เรายังพบว่าสะพานลอยส่วนหนึ่งไม่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เท่าที่ควร ทั้งก่อสร้างผิดมาตรฐาน มีสายสื่อสารระโยงระยาง ไม่ได้ติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานยามวิกาล รวมถึงกลายเป็นที่อยู่ของคนไร้บ้านและแผงหาบเร่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง ที่มีข้อบังคับปรับ 2,000 บาท แต่ดูเหมือนว่าปัญหาสิ่งกีดขวางบนสะพานลอยก็ยังไม่หายไป

และเมื่อมองถึง 'การใช้งาน' ของสะพานลอยจริงๆ เราจะพบว่าไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่สามารถใช้งานสะพานลอยข้ามถนนได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ใช้รถเข็นสำหรับผู้พิการ

ทางม้าลาย ตัวเลือกที่ยังอันตราย

ว่ากันตามจริง 'ทางม้าลาย' น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนเดินเท้าทุกคน แต่ปรากฏว่าผู้ใช้ทางม้าลายในกรุงเทพฯ ก็ยังต้องพบเจออุบัติเหตุอยู่ร่ำไป

หากยังจำได้ 'เส้นซิกแซ็ก' บนถนน ก็มีที่มาจากอุบัติเหตุรถชนคนข้ามทางม้าลาย ในปี 2562 ทางกรุงเทพมหานครจึงออกมาตรการตีเส้นซิกแซ็กบนถนนก่อนถึงทางม้าลาย แก้ปัญหาผู้ขับขี่ที่มองสัญญาณไฟจราจร คนข้าม หรือทางม้าลายไม่เห็น โดยให้ผู้ขับขี่สังเกตเส้นซิกแซ็กดังกล่าว และชะลอรถก่อนถึงทางม้าลายแทน ซึ่งการตีเส้นซิกแซ็กแบบนี้ มีต้นแบบมาจากถนนในประเทศอังกฤษ ศรีลังกา และสิงคโปร์ ด้วยเจตนาเพื่อลดอุบัติเหตุบนทางม้าลายให้น้อยลง

แม้จะมีมาตรการดังกล่าว แต่อุบัติเหตุที่เป็นผลให้สูญเสีย #หมอกระต่าย บุคลากรแพทย์คนสำคัญ ก็ยังเกิดบนทางม้าลายคนข้าม โดยก่อนหน้าคดีหมอกระต่าย ก็เคยมีคดีที่ว่าที่บัณฑิตคนหนึ่งข้ามทางม้าลายบริเวณถนนพระราม 9 แล้วโดนรถบิ๊กไบค์พุ่งชนจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตเช่นกัน(อ่านข่าว) ทั้งสองเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นหลังมาตรการ 'เส้นซิกแซ็ก' ที่มีเพื่อให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังคนเดินถนนบริเวณทางม้าลายมากขึ้น เหตุการณ์นี้อาจแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะกฎหมายหรือมาตรการใดๆ ก็ไม่อาจหยุด 'ความประมาท' ของผู้ใช้รถชาวไทยได้ อย่างนั้นแล้ว การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน คืออะไรกันแน่?

Photo by Henry & Co. on Unsplash
Photo by Henry & Co. on Unsplash

หรือ 'กฎหมาย' คือคำตอบ?

เมื่อพิจารณาที่โทษของผู้ขับขี่ โดยอ้างอิงจาก พ.ร.บ.จราจรทางบก จะพบว่าการขับรถชนคนเป็นความผิดของรถยนต์ โดยหากขับรถชนแล้วหนี จะผิด พ.ร.บ.จราจรมาตราที่ 78 มีจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท–10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากขับชนจนเหยื่อถึงแก่ความตายแล้วหลบหนี จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย จะยังมีโทษปรับ 1,000 บาท เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ในกรณีนี้ ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก ถูกตั้งข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ในข้อหา นำรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย และไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง (ไม่หยุดรถให้คนข้าม) และ พ.ร.บ.รถยนต์ฯ ข้อหาฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี

อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตหลายฝ่ายยังมองว่าโทษในคดีของ #หมอกระต่าย ยังถือว่าค่อนข้างเบา โดยเฉพาะการขับรถชนคนข้ามทางม้าลาย ที่มีโทษปรับเพิ่มเพียง 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งหากยกเคสของเมือง 'เกาสง' ประเทศ 'ไต้หวัน' ที่เพิ่งเป็นประเด็นในอินเทอร์เน็ตไปหมาดๆ ว่าด้วยโทษของการ 'เมาแล้วขับ' จะพบว่ามีวิธีปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องผลกระทบของอุบัติเหตุได้น่าสนใจทีเดียว โดยก่อนจะพ้นโทษ ผู้ต้องหาจะต้องทำความสะอาดสถานจัดงานศพในท้องถิ่น เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงความตาย และเข้าใจความเศร้าโศกของการสูญเสีย ผลลัพธ์คือผู้กระทำผิดทั้งหมดกล่าวว่าพวกเขารู้สึกผิดมหันต์ และสาบานว่าจะไม่ยุ่งกับเครื่องดื่มมึนเมาอีก (อ่านข่าว)

ทางแก้ที่ยังไม่ลงตัว

หากทั้งสะพานลอย ทางม้าลาย และกฎหมายไทย ยังปกป้องคนเดินถนนได้ไม่ดีพอ กราฟอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทยก็อาจจะพุ่งขึ้นเรื่อยๆ เราจะปล่อยให้ภาระการปกป้องตัวเองอยู่ที่ 'คนเดินถนน' ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ แต่คงต้องพึ่งพาวินัยและความไม่ประมาทจากผู้ขับขี่เช่นกัน

.

ขอบคุณข้อมูลจาก :

adaymagazine.com

dsignsomething.com

khaosod.co.th

komchadluek.net

thairath.co.th

urbancreature.co

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 154

  • skywalker
    เหมือนเดิม ไร้สำนึก ระเบียบวินัย
    23 ม.ค. 2565 เวลา 22.53 น.
  • ข้ามทางม้าลายก็เสี่ยงโดนชน ข้ามสะพานลอยก็เสี่ยงพวกกุ๊ย พวกโจร ฮ ฮ ฮ ดีจริงๆ
    23 ม.ค. 2565 เวลา 23.31 น.
  • หนึ่ง
    ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคุณหมอด้วยนะครับ ที่ต้องมาสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวไปทั้งๆที่ยังเดินอยู่บนความถูกต้องของกฏจราจร.
    23 ม.ค. 2565 เวลา 20.45 น.
  • พวกสวนเลนก็ทำคนขับปรกติตายมาแล้ว
    23 ม.ค. 2565 เวลา 21.11 น.
  • pong
    ผู้รักษากฏไม่รักษากฏผู้ปฏิบัติก็เลยไม่กลัวและฝ่าฝืน แค่นั้นเองง่ายๆทำกฏให้ศักดิ์สิทธ์
    24 ม.ค. 2565 เวลา 00.02 น.
ดูทั้งหมด