ความฟุ้งซ่านไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง
แต่เกิดจากนิสัย ความเคยชิน วิธีคิด
ในแบบที่ลงเอยเป็นอาการฟุ้งจัด ควบคุมไม่ได้
พูดง่ายๆ คุณไปเสกพายุความฟุ้งซ่านไม่ได้
ต้องมีบางสิ่งเป็นตัวทำให้มันก่อตัวขึ้น
และเมื่อพายุความฟุ้งซ่านก่อตัวแรง
แล้วคุณใจร้อนอยากระงับมันลงเร็วๆ
แทนที่มันจะลดระดับ กลับทวีตัวแรงขึ้น
ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ ก็จะหลับยากขึ้นอีก
ที่คุมสติคิดงานให้เป็นระบบระเบียบไม่ได้
ก็จะยิ่งกระเจิดกระเจิง ออกอ่าวยิ่งๆขึ้นไป
.
เหตุปัจจัยให้ฟุ้งยุ่งเตลิดเปิดเปิงมีอยู่ ๒ ชนิด
หนึ่ง ชนิดที่ควบคุมได้ แต่ไม่ยอมควบคุม
สะท้อนว่า คุณเป็นพวกรนหาที่
อยู่ดีๆ ก็เอาความฟุ้งซ่านมาใส่หัว
แบบหมูไม่กลัวน้ำร้อน
เช่น ไม่ต้องดูละครประเภทอัดฉีดเสียงกรี๊ดเข้าหู
ไม่ต้องคุยไร้สาระเละเทะหลายๆ ชั่วโมง
แต่ก็เต็มใจ ยินดี และไม่มีความคิดจะเลิก
กลัวชีวิตจะไม่สนุก
กลัวความสุขชั่ววูบพรรค์นั้นจะหายไปจากตัว
แบบนี้นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมให้ตายก็ไม่หายฟุ้งซ่าน
เพราะคุณเป็นพวกฝักใฝ่เอง
สมยอมเองตั้งแต่อยู่ในมุ้ง
.
สอง ชนิดที่ควบคุมไม่ได้ เป็นเหตุสุดวิสัย
เช่น ต้องฝืนใจอ่านหนังสือ เพื่อสอบให้ผ่าน
ต้องเข้าออฟฟิศที่เต็มไปด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง
เพื่อเลี้ยงชีพให้รอด เรียกว่าหลบไม่พ้น
หนีอย่างไรก็ต้องวิ่งเข้าชนตอวันยังค่ำ
อันนี้ให้บอกตัวเองว่า
อย่างไรก็ต้องเป็นทุกข์ อย่างไรก็ต้องฟุ้งซ่าน
แต่จำกัดความทุกข์ให้เกิดเป็นเวล่ำเวลา
อย่าต้องเป็นทุกข์
อย่าต้องปั่นพายุความฟุ้งตลอด ๒๔ ชั่วโมงก็แล้วกัน
.
ยกตัวอย่างเช่น
รู้ตัวว่าตื่นนอนตอนเช้า ไม่อยากไปทำงาน
เพราะคิดถึงสภาพแวดล้อมแย่ๆ ในที่ทำงานแล้วปวดหัวใจ
แปลว่าคุณเริ่มอมทุกข์นั้นไว้
ตั้งแต่ลุกจากที่นอนไปจนถึงที่ทำงาน
คิดเป็นเวลา ๔๕ นาที หรือหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
จากนั้นพอถึงที่ทำงานจริง
เจองานและคนในที่ทำงานอันเป็นต้นเหตุทุกข์ของจริง
ก็เป็นทุกข์ต่อไปเรื่อยๆ อีก
แถมพอเลิกงาน
ก็อาจจมอยู่กับอารมณ์แฟบๆ ต่ออีกไม่รู้กี่ชั่วโมง
พอ ๕ นาทีสุดท้ายใกล้นอน
ค่อยคิดหาวิธีระงับความฟุ้งซ่าน สวดมนต์ไหว้พระ
หรือนั่งดูลมหายใจบนที่นอนกัน
.
ลองเปลี่ยนใหม่ ทันทีที่ตื่นนอน
พอรู้ทันว่าเริ่มคิดให้เป็นทุกข์ตามความเคยชินเดิมๆ
เห็นว่ายังไม่มีใครมาทำอะไรให้
แต่ความคิดของคุณมันทำตัวเอง
เล่นงานตัวเองให้เป็นทุกข์
คุณจะเกิดสติ
เกิดความผ่อนคลายทั้งทางกายและทางใจ
แล้วเห็นว่า ๔๕ นาที หรือชั่วโมงครึ่ง
ที่จะต้องเดินทางไปสู่ที่ทำงานนี้
ยังไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์ก็ได้
เท่านี้ก็จะเกิดชนวนนิสัยทางจิตแบบใหม่
เกิดความเคยชินใหม่
ที่ช่วยให้พื้นที่ความทุกข์ในชีวิตน้อยลงทันที
คิดเป็นเวลาแล้วอาจจะหายไปวันละเป็นสิบชั่วโมง
โดยที่ยังไม่ต้องนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด
.
สรุปว่า ไม่มีการนั่งสมาธิเดินจงกรมแบบใด
ที่ช่วยให้คุณหายฟุ้งซ่านได้เร็วๆ
ตราบใดที่ยังไม่เลิกพฤติกรรมชวนป่วน
ลากตัวเองเข้ารกเข้าพง
แต่ตรงข้าม หากพฤติกรรมทางใจของคุณ
ลดต้นเหตุความฟุ้งซ่านลงแล้ว
มีความสงบระงับแล้ว พร้อมตื่นรู้กายใจตามจริงแล้ว
นั่นเอง คุณถึงพร้อมจะปฏิบัติธรรม
เพื่อถอดถอนอุปาทานในกายนี้ใจนี้เสียได้!
ความเห็น 6
Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
ใช้วิธีหักเหจิต และทำความรู้สึกตัวกับลมหายใจเมื่อสงบจึงปล่อยวางทุกสิ่ง
16 ธ.ค. 2562 เวลา 02.58 น.
Yongyuth
ฟุ้งซ่านรำคาญใจเกิดจากจิตไม่เป็นสมาธิแต่ถ้าฟุ้งซ่านไม่รำคาญใจเกิดจากจิตที่เป็นสมาธิมีสติรู้เท่าทันความคิดคิดดีก็รู้คิดชั่วก็รู้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา เราต้องการความคิดที่ประกอบไปด้วยสติปัญญา เท่านั้นจึงจะเป็นความคิดดีหาไม่แล้วเราจะตกไปอยู่ใต้อำนาจของความคิดชั่วเห็นแก่ตัวเพราะ ว่าขาดสติรู้เท่าทันความคิด นั่นเอง
15 ธ.ค. 2562 เวลา 10.53 น.
Chanokchon星
ถ้าคิดถึงใครซักคนมากๆจนรบกวนการทำงานในชีวิตของเรา ต้องทำยังไงคะ
15 ธ.ค. 2562 เวลา 10.50 น.
อย่าไปกังวลกับในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เตรียมพร้อมกับในการแก้ไข ย่อมช่วยทำให้จิตใจดีขึ้นมาได้เหมือนกัน.
15 ธ.ค. 2562 เวลา 10.23 น.
Pattie
หายใจเข้าลึกๆ จดจ่อกับปัจจุบันหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ช่วยได้เยอะ
15 ธ.ค. 2562 เวลา 10.16 น.
ดูทั้งหมด