“เด็กไทย” อีก20 ปีก็ไม่พัฒนาเมื่อศักยภาพถูกวัดด้วยผลการสอบ!
BY : TEERAPAT LOHANAN
เรื่องการศึกษาดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรที่คนจะพูดถึงกัน เพราะในทุกวันนี้ระบบการศึกษาก็สามารถที่จะเข้าถึงคนในหมู่มากได้แล้ว แม้แต่ส่วนที่การพัฒนายังเข้าไปไม่ถึง ก็ยังมีครูอาสา หรือครูประจำชุมชนนั้นให้ความรู้แก่คนในละแวก ทำให้การศึกษาถือว่าเป็นเรื่องสามัญสำหรับคนไทยไปแล้ว
แต่ไม่ว่าอย่างไร การศึกษาของประเทศเราก็ดูจะมีปัญหาอยู่วันยันค่ำ และก็เป็นสิ่งที่คนไทยแทบทุกคนรู้อยู่ในใจว่าเป็นในเรื่องของอะไรบ้าง แต่กลับไม่สามารถพูดมันออกมาได้ …หรือสำหรับบางคนอาจจะมีพื้นที่ในการบอกเล่าออกมา แต่ก็ไม่ถูกนำไปแก้ไขอย่างจริง ๆ จัง ๆ สักที
เราให้พื้นที่สำหรับเด็กที่เก่งในด้านวิชาการมากกว่าเด็กที่เก่งเฉพาะทาง
เป็นหนึ่งปัญหาที่เกิดจากระบบการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการจัดลำดับความเก่งของเด็กนักเรียนด้วยผลคะแนน GPA ซึ่งเป็นคะแนนที่วัดรวมจากทุกภาควิชาที่เอามารวมกัน
แต่สำหรับเด็กที่อายุไม่ถึง 18 ปี เราจำเป็นที่จะต้องเก่งทุกวิชาตั้งแต่ ฟิสิกส์ – เคมี – ชีวะ – คณิตศาสตร์พื้นฐาน – คณิตศาสตร์เพิ่มเติม – ภาษาอังกฤษ – ภาษาไทย – สังคมศึกษา – ประวัติศาสตร์ – พุทธศาสนา – พลศึกษา – ศิลปะ – ดนตรี – ฯลฯ ขนาดนั้นกันเลยหรือ
และเมื่อมีเด็กคนหนึ่งที่เกิดมามีอัจฉริยภาพในด้านใดด้านหนึ่งถึงขีดสุดแล้ว เขาจะยังถูกนับเป็น “เด็กโหล่” ของห้องอีกหรือเปล่า
หรือถ้ามีเด็กที่มีความฝันของตนที่ชัดเจนที่อยากจะเป็นในสิ่งสิ่งหนึ่ง ทำไมเราถึงไม่สนับสนุนให้เขาไปถึงสิ่งที่เขาตั้งเป้าไว้ให้ได้อย่างสุดความสามารถกันล่ะ และในทางตรงกันข้าม เรากลับพยายามที่จะไปจี้ในสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของเด็กคนนั้นเสียด้วยซ้ำ
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ที่มาตรฐานการศึกษาเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชีย ก็ได้ยกเลิกการสอบไปแล้ว และเปลี่ยนให้เป็นในรูปแบบของ “การเรียนรู้เพื่อชีวิต” (Learn For Life) เพื่อกระตุ้นให้เด็กนักเรียนจดจ่ออยู่กับกระบวนการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงระบบการสอนในโรงเรียน ให้เป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง ไม่ใช่การแข่งขันเหมือนที่ผ่านมา และสิงคโปร์ก็ได้เปลี่ยนจากการสอบวัดผลมาเป็นการประเมินผลการเรียนรู้แทน
Ong Ye Kung รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ กล่าวว่า “การเรียนรู้ไม่ใช่การแข่งขัน” โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะช่วยเน้นไปที่ความรู้ ความเข้าใจของผู้เรียนเป็นหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหมดกำลังใจของเด็ก ๆ จากการถูกเปรียบเทียบภายในชั้นเรียน และหวังใช้เป็นการกระตุ้นให้นักเรียน จดจ่ออยู่กับการพัฒนาตนเองให้ดีที่สุด
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเรื่องของการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยก็ยังคงอยู่กับผู้มีอำนาจที่เป็นระบบผูกขาด ทำให้ขาดการพัฒนาทางการศึกษาได้ดีกว่าที่ควรจะเป็น แต่ถ้าหากว่าประเทศเรามีการกระจายอำนาจให้กับทางโรงเรียนต่าง ๆ หลาย ๆ โรงเรียนเพื่อให้ได้ทดลองเปิดโอกาสสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นมาด้วยตนเอง ให้เด็ก ๆ ได้มีตัวเลือก และวิธีการที่หลากหลายมากกว่าในการเรียนรู้
เด็กแต่ละคนต่างก็มีความสามารถที่ไม่เหมือนกัน แล้วเราจะสามารถสอนเด็กให้เป็นแบบเดียวกันหมดได้อย่างไร