โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ : นักบุกเบิกดนตรี จาก Nite Spot ถึง Channel [V] Thailand - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 04 ก.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

นักบุกเบิกดนตรี จาก Nite Spot ถึง Channel [V] Thailandหากย้อนกลับเมื่อ 20 กว่าปีก่อน หลายคนคงคุ้นเคยกับโทรทัศน์ดนตรี 24 ชั่วโมง Channel [V] Thailand เพราะครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นศูนย์รวมความบันเทิงของวัยรุ่นยุค Gen Y หลายคนเริ่มเสพเพลงสากล กลายเป็นแฟนคลับของศิลปินดังระดับโลก จากรายการในช่องนี้ 

บางคนรู้จักศิลปินอินดี้ของเมืองไทย จากค่ายเพลงเล็กๆ ทั้ง Smallroom, Hualampong Riddim, Oh my god หรือ Bakery Music ซึ่งส่ง Music Video เข้ามาเพราะไม่มีสื่อของตัวเองในฟรีทีวี

เช่นเดียวกับคนดังหลายคน ทั้ง จ๋า-ณัฐฐาวีรนุช ทองมี, วุ้นเส้น-วิริฒิพา ภักดีประสงค์, พิตต้า ณ พัทลุง, นาเดีย นิมิตรวานิช หรือ พอลล่า เทเลอร์ ต่างมีชื่อเสียงหลังจากมาเป็น VJ ของที่นี่

ปรากฏการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นจากแรงบันดาลใจและความหลงใหลในดนตรีของชายผู้หนึ่ง

ตลอดชีวิต เขาสร้างสรรค์ผลงานเอาไว้มากมาย ตั้งแต่การพลิกโฉมวงการวิทยุ จาก Nite Spot ถึง Smile Radio สร้างสถานีเพลง 24 ชั่วโมงแห่งแรก ปลุกปั้น DJ หน้าใหม่ที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ ตั้งแต่ วาสนา วีระชาติพลี, วินิจ เลิศรัตนชัย, หัทยา เกษสังข์, สาลินี ปันยารชุน, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์, วิโรจน์ ควันธรรม หรือ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์

รวมทั้งบุกเบิก WEA Record ค่ายเพลงอินดี้แห่งแรกของประเทศ ซึ่งทำให้คนไทยได้รู้จักศิลปินที่เป็นตำนานอย่าง ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล, อัสนี-วสันต์ โชติกุล, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์, นุภาพ สวันตรัจฉ์, มาลีวัลย์ เจมีน่า, เบิร์ดกะฮาร์ท และ มัม ลาโคนิค

นี่ยังไม่รวมถึงการให้กำเนิดค่ายเพลงสากลในเมืองไทย อย่าง Warner, Sony Music, BMG ตลอดจนเป็นผู้นำศิลปินเมืองนอก มาเปิดการแสดงในเมืองไทยเป็นรายแรกๆ ของประเทศ

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาทุกคนไปรู้จักกับตำนานแห่งโลกดนตรี นักบุกเบิกสถานีวิทยุ ค่ายเพลง คอนเสิร์ต สถานีโทรทัศน์ และอื่นๆ อีกมากมาย 

อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ

01

Nite Spot ตำนานวิทยุแห่งยุคสมัย

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน สื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุดไม่ใช่รายการโทรทัศน์ แต่เป็นรายการวิทยุ เพราะวิทยุเป็นความบันเทิงราคาถูกที่ทุกคนเข้าถึงได้ 

นักจัดรายการวิทยุสมัยก่อนจึงมีอิทธิพล และสามารถปลุกกระแสความนิยมต่างๆ ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เอลวิสฟีเวอร์ หรือวัฒนธรรมโก๋หลังวังก็ตาม

แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ วงการวิทยุในเวลานั้น ยังห่างไกลจากคำว่า ‘มาตรฐาน’ เพราะไม่ได้มีระบบจัดการหรือแพลตฟอร์มชัดเจนอย่างทุกวันนี้

สถานีวิทยุแบบ Greenwave, Hotwave, Coolism, Cat Radio หรือ Mellow ในเมืองไทยไม่เคยมีมาก่อน มีแต่รายการย่อยๆ หลายร้อยรายการ โดยนักจัดแต่ละคนต่างคนต่างจัด ไม่เกี่ยวข้องกัน

กระทั่งอิทธิวัฒน์ เปิดบริษัท Nite Spot เมื่อปี 2518

เขาไม่ได้เพียงวางรากฐานของอุตสาหกรรมนี้ผ่านบริษัทเท่านั้น แต่ยังใช้พลังของรายการวิทยุสร้างเทรนด์และวัฒนธรรมใหม่ๆ อีกด้วย

อิทธิวัฒน์สัมผัสกับวงการนี้ ตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมปลาย โดยเริ่มจากเป็นผู้ช่วยของ ‘หลุยส์ ธุระวณิชย์’ ในรายการ Top Pop แห่งสถานี 1 ปณ. ยานเกราะ พล 1 คลื่น AM 1360

ทั้งคู่รู้จักกัน เพราะอิทธิวัฒน์เป็นลูกค้าประจำร้านกาแฟเลขที่ 123 ของหลุยส์ ซึ่งตั้งอยู่ปากซอยมิตรคาม ถนนสามเสน ละแวกเดียวกับโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งเขาเรียนอยู่ 

ว่ากันว่าร้านแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของคนหนุ่มสาว แต่ละวันจะมีนักเรียนนักศึกษามานั่งกินข้าว ดื่มกาแฟ หยอดเหรียญ เปิดเพลง Elvis Presley ร้องเล่นเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน

ด้วยรสนิยมการฟังเพลงเหมือนกัน หลุยส์จึงชวนอิทธิวัฒน์ไปช่วยงาน แต่เนื่องจากครอบครัวไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นงานเต้นกินรำกิน อิทธิวัฒน์จึงต้องใช้นามแฝงว่า ‘พรพรรณ’ จัดรายการแทนและมาหยุดพักชั่วคราว ตอนเอนทรานซ์ติดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทั่งเรียนจบจึงวกกลับมาจัดรายการเต็มตัวที่ FM 94.0

แม้ต้องแบ่งภาคจากงานประจำที่บริษัท ‘เอสโซ่’ แต่อิทธิวัฒน์กลับสามารถปลุกปั้นรายการ ‘ไนท์สปอตอภิรมย์ สโมสรตอนกลางคืน’ จนได้รับความนิยมจากผู้ฟังสูงมาก

โดยชื่อ ‘Nite Spot’ มีแรงบันดาลใจมาจากผับชื่อเดียวกัน รวมทั้งยังพ้องกับคำว่า Green Spot ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ของรายการด้วย

จุดเด่นของรายการนี้คือ ความแตกต่าง โดยเฉพาะการเลือกเพลง อิทธิวัฒน์สังเกตว่า รายการยุคนั้นเปิดแต่เพลงสากล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงสากลจากอเมริกา แต่ถ้าสืบสายเส้นทางเพลงลึกๆ จะพบว่าเกือบทั้งหมดมีต้นตอมาจากอังกฤษก่อนทั้งนั้น

พอดีน้องสาวของเขาอยู่ที่อังกฤษ จึงสามารถส่งแผ่นเสียงใหม่ๆ ได้เสมอ ส่งผลให้ Nite Spot มีเพลงดีๆ หายากเปิดตลอด แซงหน้ารายการอื่น ซึ่งต้องรอนำเข้าแผ่นเสียงอย่างน้อย 3 เดือน 

ที่สำคัญอิทธิวัฒน์ยังมีวิธีจัดรายการที่แหวกแนว เช่น พูดทับเพลง เปิดบันทึกการแสดงสด เปิดสายร่วมสนุกทางบ้าน เปิดช่วงเพลงแจ๊ส รวมไปถึงช่วงจัดอันดับเพลงอย่าง AMERICAN TOP FORTY และยังเป็นคนแรกที่ทำจิงเกิล ใช้เสียงเอ็ฟเฟ็คต์ต่างๆ ประกอบการจัดรายการ

Nite Spot จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้ำสมัยของวัยรุ่นยุคนั้นโดยปริยาย

วาสนา วีระพลีชาติDJ คู่บุญของอิทธิวัฒน์ เคยกล่าวว่า “เขาพิเศษ มีคาแรกเตอร์ ภาษาเวอร์ ไม่เหมือนชาวบ้าน โผงผาง ไม่ใช่ดีเจแนวสุภาพ เอาใจคนฟัง.. เราก็ไม่เคยบ้ารายการวิทยุใครขนาดนั้น ตอนนั้นเป็นนักเรียน ต้องมีวิทยุทรานซิสเตอร์แนบหูไว้ตลอด เข้าห้องน้ำก็ต้องหิ้วไปด้วย ไม่อยากพลาดสักคำพูด.. ยิ่งมาเจอเพลงที่เปิด ไม่ใช่เพลงธรรมดา ไม่ใช่เพลงตลาด เป็นเพลงที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน เลยฟังแบบถวายชีวิต เราเรียนสถาปัตย์ แต่ไม่อยากเป็นสถาปนิกหรอก อยากจะเป็น DJ”

ความคลั่งไคล้ของวาสนา ทำให้เธอโทรศัพท์เข้าไปคุยกับอิทธิวัฒน์เกือบทุกวัน บางทีคุยเป็นชั่วโมงจนหลับคาโทรศัพท์ แล้วก็เริ่มตื้อขอมาร่วมจัดรายการด้วย จนอิทธิวัฒน์ใจอ่อน และเธอก็กลายเป็นหนึ่งในทีมงานบุกเบิกของ Nite Spot

ในปี 2518 อิทธิวัฒน์ขยายอาณาจักรวิทยุไปตามสถานีต่างๆ ทั้ง Beautiful Music FM 95.0, Nice and Easy FM 100.5 รวมทั้งขอเช่าสถานีวิทยุ FM 99.0 ของ อสมท.แบบยกคลื่น มีการกำหนดทิศทางของแต่ละสถานีชัดเจนว่าเป็นอย่างไร เพิ่มนักจัดรายการในสังกัด โดยอิทธิวัฒน์ไม่ได้สนใจเรื่องน้ำเสียงมากนัก แต่ให้ความสำคัญกับสไตล์ของแต่ละคนมากกว่า

“ผมคิดว่าบุคคลเหล่านี้ ผมได้สัมผัสด้วยตัวเอง เมื่อเจอกันครั้งแรก ผมจะบอกคนเหล่านี้ได้เลยว่าเขาเหมาะสม ถึงแม้เขาจะมีเสียงอย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้ถือเอาเป็นประเด็น ผมจะสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น และจะให้คอนเซปท์ไป ผมจะแปลกกว่าคนอื่น ผมจะไม่จ้ำจี้จ้ำไชให้ทุกคนเหมือนกันหมด ทุกคนจะสร้างบุคลิกของตัวเอง โดยผมจะให้โอกาสและความมั่นใจ” อิทธิวัฒน์เคยกล่าวไว้

แต่การดึงเอกลักษณ์ของ DJ ออกมา ไม่ใช่เรื่องง่าย อิทธิวัฒน์ต้องอาศัยความอดทน คอมเมนต์ทุกจุดอย่างละเอียด และหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา เขาก็ไม่เคยตำหนิลูกน้อง เพราะถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ทำให้บรรดาทีมงานต่างเกรงใจ และมีความละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญอิทธิวัฒน เป็นคนที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง พยายามหาโจทย์ๆ ใหม่มาท้าทายคนทำงานอยู่เสมอ เช่นนำวิธีการจัดรายการแบบ BBC มาปรับใช้ ให้ DJ จัดรายการแบบ 6 ชั่วโมงรวด จากเดิมที่เคยจัดแค่ครึ่งชั่วโมง ทุกคนจึงต้องพยายามถีบตัวเอง ตั้งแต่ฟังเพลงมากขึ้น หาความรู้ใส่ตัว เพื่อจะได้มาเป็นวัตถุดิบในการดึงผู้ฟัง และหาสไตล์ที่ทำให้ทุกคนจดจำได้

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม DJ ที่อิทธิวัฒน์ปลุกปั้นขึ้น จึงมีเสน่ห์และอยู่ในความทรงจำของผู้คน แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

02

ขยายปีกสู่อุตสาหกรรมเพลง

จากความสำเร็จของรายการวิทยุ Nite Spot ขยายปีกไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อยาง การนำศิลปินจากเมืองนอก เริ่มจากวง The Stylistics วงโซลระดับตำนานจากอเมริกา ซึ่งเดิมทีเดียวผู้จัดเป็นคนมาเลเซีย ส่วนเขาทำหน้าที่เป็นผู้โฆษณาให้เท่านั้น แต่เผอิญว่าผู้จัดรายนั้นหนีไป หลังเกิดจลาจลระหว่างจัดคอนเสิร์ตในมาเลเซีย อิทธิวัฒน์ก็เลยมารับหน้าที่แทน ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับล้นหลาม

หากแต่คอนเสิร์ตที่ถือเป็นบทเรียนสำคัญของเขา คือ Sherbet วงป๊อปจากออสเตรเลีย

เพราะครั้งนั้น Nite Spot เลือกจัดงานที่โรงแรมหรูและขายบัตรแพง แถมยังจัดช่วงวันปีใหม่ สุดท้าย ขายตั๋วได้ไม่กี่ใบ ขาดทุนย่อยยับ เขาจึงกลับมาวิเคราะห์สาเหตุทั้งหมด พร้อมกับเปลี่ยนวิธีการใหม่ โดยใช้รายการที่มีอยู่โปรโมตเต็มที่ เพื่อให้แฟนๆ รู้จักวงนี้ หลังจากนั้นอีก 4 เดือน ก็เอามาซ้ำอีกหน แต่คราวนี้เปลี่ยนมาจัดงานที่ยิมเนเซียม ซึ่งจุคนได้ 9,000 คน ขายบัตร 80-120 บาท ปรากฏว่าเพียงวันครึ่ง บัตรทั้งสองรอบหมดเกลี้ยง

นับแต่นั้น เขาก็จัดคอนเสิร์ตจริงจัง ทั้ง Blondie, Cliff Richard , Eric Clapton , Rod Stewart , Stevie Wonder แต่ที่เรียกว่าประสบความสำเร็จสูงสุดคือ David Bowie: Serious Moonlight Tour เมื่อปี 2526 ซึ่งขายบัตรได้กว่า 35,000 ใบ

อีกธุรกิจที่ถือเป็นตำนาน คือค่ายเพลง WEA Records (Thailand) โดยครั้งแรกอิทธิวัฒน์จับมือกับ Warner Music เพื่อนำเข้าผลงานของศิลปินต่างประเทศ อย่าง Madonna, Rod Steward, U2 มาจำหน่าย ก่อนต่อยอดไปสู่ศิลปินไทย หวังยกระดับผลงานในเมืองไทย ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยศิลปินเบอร์แรก คือ ‘ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล’ อัลบั้ม ‘ไปทะเล’

จุดเด่นของอัลบั้มไปทะเล คือความแปลก แหวกแนว และไม่เหมือนใครเลย ทั้งวิธีร้องที่ใช้การเปล่งเสียงออกจากปอด แนวเพลงที่มีกลิ่นดนตรีที่หลากหลาย โดยเฉพาะความเป็นเรกเก้เจือปนอยู่ สอดแทรกกับมุมมองทางสังคมของตัวศิลปิน ซึ่งมีดีกรีเป็นอดีตคนของนาซ่า

แต่ที่โดดเด่นคือ การบันทึกเสียงจากต่างประเทศ และใช้นักดนตรีคุณภาพของเมืองนอกมาช่วย ที่สำคัญหลายเพลงในอัลบั้มยังถูกนำไปเปิดในดิสโก้ของเดอะพาเลซ รวมถึงนำไปรีมิกซ์เข้ากับบีทเพลงเต้นรำของฝรั่ง ทำให้อัลบั้มไปทะเล กลายเป็นงานขึ้นหิ้งจนถึงปัจจุบัน

นอกจากปานศักดิ์แล้ว WEA ยังมีศิลปินที่โดดเด่นอีกหลายคนเช่น ธเนศ วรานุกุลนุเคราะห์ DJ จากคลื่น Radio Active FM 99.0 ซึ่งเปิดตัวอัลบั้มแนวเทคโนร็อกที่ชื่อ แดนศิวิไลซ์, อัสนี-วสันต์ ที่สลัดคราบศิลปินโฟลก์มาสร้างตำนานร็อกอย่าง บ้าหอบฟาง หรือคู่ดูโอ้นักเรียนนอก เบิร์ดกะฮาร์ท ก็เลยเปิดตัวอัลบั้มห่างไกล ภายใต้ร่มธงของอิทธิวัฒน์และทีมงาน   

วินิจ เลิศรัตนชัย บอกว่า “Nite Spot มีผู้นำที่ดี โดยเฉพาะเรื่องรสนิยม อย่างเมื่อทำอัลบั้มออกมา ก็ต้องได้มาตรฐานของคนที่อยู่รอบข้างด้วย ไม่อย่างนั้นโดนโห่ตายเลย พี่แต๋ว-วาสนา ด่าเละก่อนคนแรก คือเขาจะมองก่อนเลยว่า ถ้าจะหยิบอัลบั้มไทยขึ้นมาได้ ก็ต้องสามารถไปอยู่กับฝรั่งได้” 

ด้วยงานที่เป็นเอกลักษณ์ ฉีกแนว เท่ นำตลาด และเปิดโอกาสให้ศิลปินสร้างสรรค์งานเองเต็มที่ หลายคนจึงพากันยกให้ WEA คือต้นตำรับค่ายเพลงอินดี้เมืองไทยอย่างแท้จริง

“ที่นี่เป็นบริษัทอินเตอร์ ที่มีหนุ่มสาวที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีมาอยู่รวมกัน เป็นเทรนเซ็นเตอร์ตัวจริง และมีอิทธิพลสูงมากต่อสังคม คือถ้าเทียบกับตอนนี้ ผมว่า Nite Spot ก็เปรียบได้กับ Apple เพียงแต่มันอยู่ในเมืองไทยเท่านั้นเอง” วินิจสรุปความเป็น Nite Spot

03

คลื่นสุดท้ายซ้ายสุด

แม้จะสร้างตำนานที่ยิ่งใหญ่ แต่อิทธิวัฒน์ก็พร้อมจะทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง หากเห็นว่า แนวทางที่กำลังมุ่งไปไม่ใช่อย่างที่ตั้งใจไว้

“ผมออกจาก Nite Spot เพราะนโยบายไม่ตรงกัน อย่างทำละครทีวีผมว่ามันฉีกไป เราควรจะเน้นเกี่ยวกับเพลงเท่านั้น.. คอนเสิร์ตเป็นกิจกรรมที่ควรมีไว้ ไม่ควรทำอะไรที่มันออกนอกลู่ กรรมการคนอื่นไม่ต้องการทำคอนเสิร์ต ผมก็เลยลาออกมาเพื่อพิสูจน์ความเชื่อของผม”

หลังลาออกจากบริษัทที่ตัวเองตั้งเมื่อปี 2529 อิทธิวัฒน์ก็มาสร้างตำนานบทใหม่ อย่าง Media Plus โดยยังแนวธุรกิจเหมือนเดิมคือ สถานีวิทยุ คอนเสิร์ต และค่ายเพลง

แต่ที่โดดเด่นสุดคือ Smile Radio FM 88.0 ซึ่งทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ ‘คลื่นสุดท้ายซ้ายสุด’

จุดเด่นของคลื่นนี้ คือการเปิดเพลงแบบไม่จำกัดสไตล์ ทั้งเพลงยอดนิยม เพลงหายาก แม้แต่เพลงโปรเกรสซีฟที่ไม่มีคลืนไหนเปิด Smile เปิดหมด โดยยึดหลักไม่รับคิวเพลงจากค่ายไหน DJ ทุกคนมีอิสระในการเลือกเปิดเพลงตามใจชอบ สามารถใช้ลูกเล่นๆ ใหม่ อย่างการหมุนแผ่นเสียงย้อนกลับขณะที่เล่นเพลงอยู่ เปิดแผ่นเสียงในสปีดช้าหรือเร็วกว่ามาตรฐาน แนะนำเพลงหรือเปิดเป็นตัวอย่างเล็กน้อยก่อนตัดรายการเข้าโฆษณา

หลายคนพัฒนาฝีมือ สร้างงานที่แตกต่างได้ เช่น สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ซึ่งนำเพลงดังๆ ยุคนั้น ไปดัดแปลง จนเกิดเป็นตำนาน Z-myx และต่อยอดเป็น Bakery Music

นอกจากนี้ยังมีการให้โจทย์ DJ แต่ละคนไปสร้างสรรค์ช่วงเวลาของตัวเองให้น่าสนใจและดึงดูดกลุ่มผู้ฟังที่เป็นคนรุ่นใหม่ นำมาสู่รายการที่น่าสนใจและถูกยังคงอยู่ในความทรงจำของแฟนๆ อย่าง ถามมาซิจ๊ะโดน ซึ่งเน้นการพูดคุยและหยอกล้อผู้ฟังทางบ้านอย่างสนุกสนาน ตบท้ายเสียงกดชักโครกก่อนวางสาย หรือ Smile Shock รายการเล่าเรื่องผีโดย กพล ทองพลับ ที่ยืนหยัดมาเกือบ 3 ทศวรรษ

และด้วยความเป็นวิศวกร อิทธิวัฒน์จึงพัฒนาเครือข่าย Network Radio ด้วยการนำคลื่น Smile Radio ส่งขึ้นดาวเทียมแล้วเผยแพร่ตามสถานีวิทยุเครือข่ายทั่วประเทศ ถ่ายทอดสดนอกสถานที่ เปลี่ยนการใช้แผ่นเสียงเปิดเพลง มาเป็นแผ่น CD เพื่อให้เสียงคมชัดยิ่งขึ้น

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ Smile กลายเป็นเบอร์ 1 ของรายการวิทยุเมืองไทย และเกิดคลื่น Smile 2, Smile 3, Smile 4 และ Smile 5 ซึ่งนำเสนอรูปแบบรายการที่ฉีกแนวตามมา

ไม่เพียงแค่นั้นอิทธิวัฒน์ยังต่อยอดรายการวิทยุที่หลากหลายกว่ารายการเพลง ทั้งคลื่นข่าว คลื่นกีฬา จนหลายคนเรียกเขาว่า ‘เจ้าพ่อวิทยุแห่งยุค’

ต่อมา เมื่อกลุ่มชินวัตรตั้ง IBC เคเบิลทีวีแห่งแรก เขาก็กระโจนไปช่วยงานทันที กระทั่งกลุ่มวัฏจักรเข้ามาซื้อหุ้น Media Plus และเปิดเคเบิลอีกราย ชื่อ Thai Sky TV เขาก็ใช้โอกาสนี้เปิดตัว ‘Smile TV’ พร้อมกันด้วย 

“หลายๆ คนถามผมอย่างประหลาดใจว่าแน่ใจแล้วหรือ วิทยุมันคนละอย่างกับโทรทัศน์ ซึ่งผมพูดอย่างใจจริง ผมจะมุ่งรายการของผมไปที่เพลง เพราะผมดู MTV เคเบิลทีวีของต่างประเทศแล้ว ก็คือรายการวิทยุที่ออกมาในรูปของโทรทัศน์ หน้าที่ของผมคือการพัฒนาวิทยุ”

04

โทรทัศน์ดนตรี 24 ชั่วโมง

ในปี 2538 เป็นอีกครั้งที่อิทธิวัฒน์ตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่ตัวเองสร้าง หลังแนวทางการทำงานกับกลุ่มวัฏจักรไม่ตรงกัน แต่เขาก็ไม่เคยท้อ เพราะยึดหลักที่ว่า พระอาทิตย์เวลาลงสุดๆ แล้วจะต้องขึ้น ไม่มีใครที่แย่แล้วจะต้องแย่ตลอดไป… There is always a better day 

อิทธิวัฒน์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนวิทยุของตัวเองต่อไป พร้อมกับฝันครั้งใหม่ คือการสร้าง Channel [V] Thailand โทรทัศน์ดนตรี 24 ชั่วโมงแห่งแรกของไทย ด้วยความหวังที่อยากยกระดับการฟังเพลงในบ้านเรา

เวลานั้นธุรกิจเคเบิลทีวีกำลังแข่งขันกันดุเดือด เพราะประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายที่ต้องดูโทรทัศน์เพียงไม่กี่ช่อง เครือ CP จึงหันมาลงทุนธุรกิจเคเบิลทีวี ด้วยการเปิด UTV ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่ไม่ต้องติดเสาหรือติดจาน แต่ใช้เคเบิลใยแก้ว ซึ่งให้ความคมชัดยิ่งกว่า และไม่มีปัญหาเวลาฝนตก 

อิทธิวัฒน์จับมือกับสตาร์ทีวีที่ฮ่องกง ใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านเหรียญ เซ็ตอัพสตูดิโอใหม่ ให้ได้มาตรฐานเดียวกับเมืองนอก พร้อมกับสรรหาคนรุ่นใหม่ที่มีสไตล์มาร่วมงาน

Channel [V] Thailand ออกอากาศอย่างเป็นทางการ ในคืนวันพุธที่ 22 สิงหาคม 2539 ทาง UTV 26 มีรายการถึง 18 รายการ อาทิ LAUNCH PAD รายการที่หยิบนำมิวสิกวีดิโอใหม่แกะกล่องมานำเสนอ นำเสนอโดย VJ เฮเลน-ปทุมรัตน์ วรมาลี, [V] THAILAND TOP 20 รายงานเพลงฮิตติดอันดับทั้งไทยและเทศ โดย VJ ลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม, BY DEMAND รายการที่เปิดโอกาสให้ผู้คนทางบ้านขอเพลงได้ ดำเนินรายการโดย VJ ตะแง้ว-บุษบา มหัตพงศ์, ZOG ZAG WEEKEND รายการที่พาทุกคนไปสำรวจข่าวสารตามสถานที่ต่างๆ ที่น่าสนใจไปพร้อมกับ VJ ลูกตาล ศุภมาศ พะหุโล และ I AM SIAM รายการเพลงไทยที่ไม่จำกัดค่าย จำกัดแนวเพลง โดย VJ เอิร์ธ-ศัลย์ อิทธิสุขนันท์

นอกจากนี้ ในแต่ละเดือนยังมีการดึงศิลปินที่โดดเด่นมาเป็น The Chosen One พร้อมกับมีการโปรโมต นำเสนอผลงานของศิลปินผู้นั้นในรายการต่างๆ ของสถานี

แต่ที่สำคัญสุดคือ อิทธิวัฒน์เปิดโอกาสให้ทีมงานได้แสดงฝีมือหรือทดลองอะไรใหม่ๆ เต็มที ตั้งแต่แฟชั่น ภาษาที่ใช้ หรือการเลือกเพลงที่นำมาออกอากาศ ตลอดจนสรรหาคนหน้าใหม่ เข้ามาร่วมงานผ่านโครงการ VJ Search ซึ่งหลายคนเติบโตเป็นดาราแถวหน้าของเมืองไทย

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำสกู๊ปพิเศษ พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับศิลปิน จัดคอนเสิร์ต จัดฉายหนัง รวมทั้งจัดทำสารคดีพิเศษอย่าง [V] Thailand Music History พาทุกคนไปพบกับ 13 ตำนานศิลปินไทยที่ปักหมุดอุตสาหกรรมเพลงให้รุ่งเรืองจนถึงทุกวันนี้

ด้วยปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ และติดอันดับช่องยอดนิยมของ UBC (เกิดจากการควบรวมของ UTV และ IBC เมื่อเดือนพฤษภาคม 2541) ไม่ต่างจากยุคที่ Nite Spot หรือ Smile Radio เลย

หลังจากนั้น อิทธิวัฒน์ยังคงสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิการผลิตสถานีโทรทัศน์ MTV Thailand หรือ VH1 Thailand รวมถึง Smile TV Network 5 สถานีโทรทัศน์ที่ครอบคลุมทั้งเพลงสากล เพลงลูกทุ่ง แฟชั่น ภาพยนตร์ หวังจับกลุ่มเคเบิลท้องถิ่นเป็นหลัก

ที่สำคัญ เขายังถ่ายทอด DNA ของความเป็นนักคิด นักทดลองไปยังบุตรชาย ซึ่งทุกวันนี้ก็เจริญรอยตาม ทั้งการเป็นโปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ต รวมถึงบุกเบิกสถานีโทรทัศน์ VERY TV  

“เราเหมือนกันในแง่ที่เป็นคนที่อินกับดนตรีมากๆ และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี วัฒนธรรมและผู้คนเป็นอย่างดี เราชอบลองและคิดอะไรใหม่ๆ เหมือนกัน พร้อมที่จะทุ่มเททุกอย่างเพื่อที่จะทำให้วิสัยทัศน์ของเราเป็นจริง”

แม้วันนี้ทั้งหมดที่อิทธิวัฒน์รังสรรค์ขึ้นจะเป็นอดีตไปแล้วก็ตาม แต่ก็ด้วยพลังของความสร้างสรรค์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เชื่อเหลือเกินว่า ผลงานต่างๆ จะยังคงเป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยของวงการดนตรีที่อยู่ในใจของใครหลายคนไปอีกนาน

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและภาพประกอบ

  • หนังสือ Itthivat Bhiraleus : The Legendary Master of Radio Music and Concer
  • ประวัติ คุณอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ โดย คุณ วินิจ เลิศรัตนชัย ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พตอ อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ ณ วัดธาตุทอง 16 ธันวาคม 2560
  • นิตยสาร Mars ปีที่ 11 ฉบับที่ 125 เดือนมีนาคม 2556
  • นิตยสารผู้จัดการ ปีที่ 7 ฉบับที่ 81 เดือนเมษายน 2533
  • นิตยสารผู้จัดการ ปีที่ 11 ฉบับที่ 127 เดือนเมษายน 2537
  • นิตยสารผู้จัดการ ปีที่ 14 ฉบับที่ 157 เดือนตุลาคม 2539
  • นิตยสาร Go Green ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 พฤษภาคม 2554
  • วิทยานิพนธ์ พัฒนาการของการจัดคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศในประเทศไทย โดย ศิริมา ลิ้มวิริยะเลิศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วิทยานิพนธ์ การวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจสื่อวิทยุกระจายเสียงของบริษัท มีเดีย พลัส จำกัด (มหาชน) โดย เนาวรัตน์ วิริยะเวสม์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0