โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

JR : ศิลปินผู้เปลี่ยนโลก ด้วยภาพถ่ายขนาดยักษ์ - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2563 เวลา 17.41 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

ถ้าเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เปลี่ยนโลกได้ แล้วศิลปะล่ะ ทำหน้าที่นั้นได้หรือไม่

ศิลปินชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง พยายามใช้งานศิลปะของเขาเปลี่ยนความคิดของคน โดยเฉพาะการมองผู้อื่นอย่างเท่าเทียม ไม่มีอคติหรือแบ่งแยก เขาพยายามสื่อสารว่า “เราล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน” 

วิธีการคือเขาจะติดภาพบนผนังตึก อาคารบ้านเรือน ที่ใครๆ ก็มองเห็นได้ ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพขาวดำรูปคน ใบหน้าหรือดวงตามนุษย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าตัวแบบหลายเท่า

ด้วยขนาดอันมหึมาของมัน จึงส่งพลังถึงคนดูโดยตรง ใครที่ผ่านไปมาล้วนหยุดจ้องมอง และอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับรูปภาพตรงหน้าเหล่านั้น

จากจุดเริ่มต้นที่ทำเพื่อความสนุก ในวัย 37 ปี วันนี้เขาเริ่มมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ได้ทำงานลงปกนิตยสารชื่อดัง ได้รับรางวัล TED Prize ในปี 2011 แต่สิ่งที่ทำให้คนรู้จักมากที่สุดน่าจะมาจาก ภาพยนตร์เรื่อง Faces Places ที่ฉายให้เห็นการทำงานศิลปินหนุ่มกับ อาเญส วาร์ดา (Agnès Varda ) ผู้กำกับหญิงอาวุโส ขณะที่ทั้งคู่เดินทางไปตามชนบทฝรั่งเศส 

ภาพยนตร์ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมด้วย

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับ'JR' ชายหนุ่มที่ไม่ยอมเปิดเผยใบหน้าและตัวตนที่แท้จริง ไม่เคยถอดแว่นกันแดดหรือหมวก แต่เมื่อได้เห็นผลงานแล้ว เราจะรู้ว่าเป็นฝีมือเขาได้ในทันที

01

เส้นทางศิลปินข้างถนน

ตอนอายุ 15 ปี JR ก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่คึกคะนอง ชอบท้าทายกฎเกณฑ์สังคม

เด็กหนุ่มหลงใหลกราฟิตี เวลากลางคืนเขาชอบตระเวนไปพ่นสีบนกำแพงตามถนน ในอุโมงค์ปารีส หรือบนดาดฟ้ากับเพื่อน ยิ่งที่ไหนเข้าถึงยากพวกเขายิ่งชอบ เขาเป็นเด็กมีปัญหาที่ถูกโรงเรียนมัธยมเตะออกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“ในตอนนั้น ผมไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลงโลกหรอก ผมก็แค่ทำกราฟิตีไปเรื่อย มันเหมือนเป็นการผจญภัย ทิ้งสัญลักษณ์ไว้เพื่อบอกว่า ‘ผมมาที่นี่แล้ว’”

วันหนึ่ง JR ไปเจอกล้องราคาถูกๆ ตัวหนึ่งบนรถไฟใต้ดิน จึงเก็บมาบันทึกกิจกรรมของบรรดาแก๊ง ถ่ายเสร็จก็อัดรูปมาแจกกัน ต่อมาเริ่มมีไอเดียว่าน่าจะพิมพ์ภาพผลงานไปแปะทำเป็นนิทรรศการข้างถนนเสียเลย โดยเอาสีพ่นให้เป็นกรอบ คนจะได้รู้ว่ามันไม่ใช่ป้ายโฆษณา ในความคิดของเขามันคือนิทรรศการภาพกลางเมืองสุดเจ๋ง ไม่จำเป็นต้องจัดทำหนังสือ ไม่จำเป็นต้องส่งผลงานให้หอศิลป์ต่างๆ พิจารณา แต่คนทั่วไปจะได้ดูและตัดสินคุณค่าของมันบนท้องถนนนี่แหละ 

เด็กหนุ่มตระเวนแปะภาพถ่ายขนาดโปสเตอร์ไปทั่วปารีส โดยเปลี่ยนชื่อนิทรรศการไปเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ก็ไล่ตามปลดรูปของเขา บางทีไม่ได้ลบกรอบที่พ่นสีด้วย JR ก็กลับไปดูร่องรอยผลงานและยิ้มเยาะด้วยความสนุกสนาน 

แต่แล้วในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2005 เกิดเหตุการณ์จลาจลในเมืองปารีส มีชนวนมากจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไล่ล่าวัยรุ่นเชื้อสายแอฟริกันสองคนจนถูกไฟดูดเสียชีวิต ทำให้กลุ่มวัยรุ่นออกมาประท้วง จนลุกลามบานปลายถึงขั้นจุดไฟเผาอาคารและรถยนต์ ถนนลุกเป็นไฟ

JR มองดูภาพในโทรทัศน์ มันฉายให้ภาพวัยรุ่นที่โหดร้ายป่าเถื่อน โยนระเบิดขวด โจมตีตำรวจและนักดับเพลิง ขโมยของในร้านรวง คนที่ดูอยู่คงรู้สึกว่าเด็กเหล่านี้คือตัวอันตรายที่ทำลายบ้านเมือง แต่กับ JR เขารู้สึกแปลกประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะตัวร้ายหน้าจอคือเพื่อนๆ ของเขาเอง 

“ผมรู้จักคนพวกนั้น พวกเขาไม่ใช่นางฟ้าหรือเทวดา แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ปีศาจร้ายเช่นกัน” 

เขาอยากบอกสิ่งนี้ให้คนอื่นได้รับรู้ จึงนึกไปถึงนิทรรศการข้างถนน ชายหนุ่มหยิบกล้องตัวเดียวที่มีออกไปขอถ่ายภาพเพื่อนวัยรุ่นเหล่านั้น โดยให้แต่ละคนทำหน้าตาล้อเลียนตัวเอง ด้วยเลนส์ 28 มม. และการยืนอยู่ห่างจากตัวแบบแค่ 10 นิ้ว ภาพที่ออกมาจึงบวมๆ เบี้ยวๆ ดูเหมือนสัตว์ประหลาดมากกว่าคนปกติ

JR อัดรูปออกมาขนาดใหญ่ๆ แล้วแปะไปทุกที่ในชุมชนชนชั้นกลางของปารีส พร้อมกับบอกชื่อ อายุ แม้กระทั่งที่อยู่ของคนในรูป ด้วยความตั้งใจที่จะสื่อว่าคนเหล่านี้ไม่ได้อันตรายอย่างที่คนอื่นคิด 

“ผู้คนจากปารีสไปถ่ายรูปกับภาพเหล่านั้นเยอะมาก และเขาก็พยายามค้นหาว่าใครเป็นใคร เมื่อมองใบหน้าเหล่านั้นจะทำให้คุณยิ้ม มันจึงเป็นการทำลายความตึงเครียดที่เกิดขึ้น”

JR ถ่ายภาพเพิ่มและเอาไปติดอีกเรื่อยๆ แม้ตอนนั้นภาพส่วนใหญ่ถูกถอดออกทันที แต่ด้วยกระแสที่เกิดขึ้น หนึ่งปีต่อมานิทรรศการก็ได้รับเชิญไปจัดแสดงขึ้นหน้าศาลากลางของปารีส มันเป็นนิทรรศการศิลปะสาธารณะอย่างเป็นทางการครั้งแรกชายหนุ่มอายุ 23 ปี แต่นั่นไม่ได้ดีใจเท่ากับการได้สื่อสารสิ่งที่ต้องการออกไป

“เราได้ถ่ายภาพของคนที่ถูกบิดเบือนโดยสื่อต่างๆ ให้ได้ภาพที่เป็นตัวตนของเขาจริงๆ ตอนนั้นแหละที่ผมเข้าใจถึงพลังของภาพบนกระดาษและกาว บางทีศิลปะอาจจะเปลี่ยนโลกได้”

02

การเดินทางของภาพถ่าย

ความสำเร็จของนิทรรศการแรก ทำให้ชายหนุ่มอยากลองนำวิธีนี้ไปใช้กับประเด็นสังคมอื่นๆ บ้าง

ปีต่อมา JR และเพื่อนชื่อมาร์โก ได้ข่าวความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทั้งคู่ตัดสินใจไปตะวันออกกลางและพบว่า คนทั้งสองกลุ่มเหมือนกันชนิดที่ถ้าไม่มีใครบอกก็จะแยกไม่ออก เขาจึงถ่ายภาพชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคนขับแท็กซี นักกฎหมาย พ่อครัว โดยขอให้ทำหน้าตาที่จริงใจที่สุด และบอกว่าจะนำไปติดข้างๆ รูปคนอื่น 

ทั้งคู่นำภาพไปแปะในเมืองของทั้งสองประเทศ อย่างละแปดเมือง บนกำแพงสองฝั่ง รวมพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร เรียกได้ว่าเป็นนิทรรศการผิดกฎหมายที่ใหญ่สุดในโลก เขาตั้งชื่อว่า Face 2 Face (การเผชิญหน้า)

แม้มีคนเตือนว่าการทำอย่างนั้นจะโดนชาวบ้านต่อต้าน อาจถูกทหารยิงหรือพวกฮามาสลักพาตัว แต่ในความจริงพอเป็นงานศิลปะแล้วมันง่ายกว่าที่คิด ตอนที่ทั้งคู่แปะรูปในฝั่งปาเลสไตน์แล้วพบว่าบันไดอันเดียวที่นำมาสูงไม่พอ ชาวบ้านแถวนั้นจึงไปที่โบสถ์แล้วนำบันไดเก่าๆ มาให้ใช้ นอกจากนี้ยังมีความช่วยเหลืออีกมากมายหลายรูปแบบ 

“ในตลาดที่ผู้คนเดินขวักไขว่ พวกเขาเดินมาถามว่าเราทำอะไร ผมบอกว่าเรากำลังแปะรูปชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ทำอาชีพเดียวกัน ทุกคนจะอึ้งและถามกลับว่า ‘คุณกำลังแปะรูปชาวอิสราเอลตรงนี้เนี่ยนะ?’ ผมก็จะถามเขาว่า ‘คุณช่วยบอกผมได้ไหม ใครเป็นใคร?’ และคนส่วนใหญ่ก็บอกไม่ได้หรอกครับ 

“งานของเรามันก็เป็นแค่กระดาษกับกาว คุณสามารถฉีกทิ้ง ขีดฆ่า หรือฉี่รดมันก็ได้ ฟ้าฝนและลมจะดึงภาพเหล่านี้ออกอยู่แล้ว และเราก็ไม่ได้ตั้งใจให้มันอยู่ตลอดไป แต่สี่ปีต่อมา ผมกลับไปและพบว่ารูปส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ที่เดิม มันแสดงให้เห็นว่า เราไปไกลกว่าที่ทุกคนคิด”

จากปัญหาความขัดแย้ง JR เริ่มขยับมาสนใจประเด็นเรื่องผู้หญิง เขารู้สึกว่าในหลายประเทศ ผู้หญิงไม่มีบทบาท ไม่มีอำนาจ ไม่มีเสียงเท่าผู้ชาย ทั้งที่เป็นส่วนสำคัญอยู่เบื้องหลังในทุกชุมชน เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินหนุ่มทำโครงการ ‘Women are Heroes’ เพื่อเชิดชูคุณค่าของผู้หญิง 

เขาเดินทางข้ามทวีปไปยังชุมชนแออัดแห่งหนึ่งในริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล หลังได้รับรู้ข่าวว่ามีเด็ก 3 คนถูกสังหารโดยแก๊งค้ายา ในที่สุดก็ไปเจอยายของเด็กคนหนึ่ง เธอเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง เขาจึงตัดสินใจถ่ายภาพผู้หญิงคนนี้ไปติดไว้ตรงขั้นบันไดที่พวกค้ายายืนอยู่เป็นประจำ จากนั้นก็ตระเวนถ่ายรูปผู้หญิงในชุมชนและแปะรูปไว้ให้มากที่สุด เมื่อมองจากที่ไกลอีกฝั่งจะเห็นบ้านเรือนทั้งเนินเขามีภาพผู้หญิงเต็มไปหมด

“พวกพ่อค้ายาเสพติดเป็นกังวลกับการที่เราไปถ่ายรูปในที่ของเขา ผมเลยบอกว่า คุณฟังนะ ผมไม่สนใจที่จะถ่ายรูปความรุนแรง หรืออาวุธต่างๆ คุณเห็นพวกนั้นในสื่ออยู่แล้ว ผมอยากจะแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของชีวิตคน และผมก็เห็นมันแล้วในสองสามวันที่ผ่านมา จริงๆนะ”

ด้วยผลงานศิลปะอันแปลกตา ทำให้พวกสื่อมวลชนพยายามเข้าไปสัมภาษณ์ผู้หญิงในชุมชนเหล่านั้น งานของเขาสร้างสะพานระหว่างสื่อมวลชนกับหญิงนิรนาม ทำให้พวกเธอมีปากมีเสียงได้สำเร็จ

JR เดินทางต่อไปยังแอฟริกา ซูดาน เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย เคนย่า และมอนโรเวีย บางครั้งเรื่องราวในภาพก็น่าเศร้าใจ เขาแปะรูปของผู้หญิงที่อาจถูกข่มขืนในช่วงสงคราม มันช่วยตอกย้ำว่าผู้หญิงเป็นผู้เคราะห์ร้ายกลุ่มแรกเสมอ ไม่ว่าจะในความขัดแย้งใดก็ตาม 

บางครั้งเขาเปลี่ยนวัสดุหรือเทคนิกเพื่อให้เข้ากับชุมชนนั้นๆ เช่น ตอนไปที่สลัมในเคนย่า เขาใช้วิธีติดตั้งงานรูปดวงตาผู้หญิงบนหลังคาบ้าน จึงเปลี่ยนมาพิมพ์ภาพลงบนผ้าใบแทนเพื่อให้ป้องกันฝนได้ด้วย ชาวบ้านเห็นว่ามีประโยชน์จึงยินดีร่วมมืออย่างเต็มที่ 

หรือที่อินเดีย ถ้าติดภาพบนผนังจะถูกจับ JR เลยใช้วิธีติดกระดาษขาว โดยมีบางส่วนที่เป็นกาว เมื่อโดนฝุ่นตามถนนอินเดียที่มีมากอยู่แล้วมันจึงปรากฏเป็นภาพในเวลาต่อมา บางทีก็แจกหนังสือโดยมีเงื่อนไขว่าต้องไปขอลายเซ็นจากผู้หญิงในชุมชนมาก่อน

โปรเจคต์ Women are Heroes ได้สร้างมุมมองใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในหลายชุมชนทั่วโลก และทำให้เขาได้รับรางวัล TED Prize ในปี 2011

03

ศิลปะสร้างมุมมองใหม่

ด้วยความโดดเด่นของงาน ทำให้มีหลายองค์กรและสินค้าอยากเป็นสปอนเซอร์ แต่ JR ปฏิเสธทั้งหมด เพราะเขาไม่อยากให้งานศิลปะโฆษณาอะไร นอกจากบอกเรื่องราวของตัวมันเอง 

ในปี 2013 โปรเจคต์ Inside Out ของเขาคือความร่วมมือยิ่งใหญ่ของคนทั่วโลก JR ให้คนส่งภาพของตัวเองมา พร้อมกับอธิบายจุดประสงค์ที่อยากเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น แล้วเขาจะพิมพ์เป็นภาพขนาดใหญ่ส่งกลับไป ให้คนนำไปแปะตามที่ต่างๆ เพื่อส่งสารที่ต้องการ

มีทั้งคนที่นำภาพตนเองไปแปะทับภาพผู้นำเผด็จการ รวมกลุ่มถือรูปเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศ ในอิสราเอลและปาเลสไตน์เขาดัดแปลงท้ายรถบรรทุกให้เป็นห้องถ่ายภาพเคลื่อนที่ กดชัตเตอร์และรอ 30 วินาที ก็จะได้ภาพขนาดใหญ่พิมพ์ออกมา มีคนนับพันที่มาร่วมถ่ายภาพและลงนามเรียกร้องความสงบสุขระหว่างรัฐ นำไปสู่การเดินขบวน 450,000 คน บนถนน 

นอกจากนี้ยังมีที่เยอรมนี ตูนิเซีย อิหร่าน ปากีสถาน ฯลฯ เรียกว่างานนิทรรศการของเขากระจายไปทั่วโลก และมีผู้ชมนับล้าน 

ในภาพยนตร์ Faces Places จะเห็น JR กับวาร์ดาและทีมงานขับรถห้องถ่ายภาพเคลื่อนที่ไปตามเมืองต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่หลากหลาย เช่น ถ่ายภาพเจ้าของบ้านหลังสุดท้ายของหมู่บ้านคนงานเหมืองถ่านหิน ที่รัฐพยายามเวนคืนที่ดินแต่เธอไม่ยอมย้ายออก เพราะมีความทรงจำมากมายกับพื้นที่ตรงนี้ JR ยังติดภาพเก่าของคนงานเหมือง ให้คนกลับมารำลึกความหลังอีกด้วย

หลายๆ ครั้งงานของเขาช่วยสร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับคน รูปพนักงานสาวร้านกาแฟขนาดสูงเท่าตึก ทำให้คนแวะเวียนมาถ่ายรูปและโพสลงในอินเตอร์เน็ตจนเป็นกระแสโด่งดัง หรือภาพดวงตากับเท้าของวาร์ดาที่เขาแปะบนโบกี้ของรถไฟขนส่ง มันจึงออกเดินทางไปไกลและทำให้คนที่ได้เห็นต้องตกตะลึง

ถึงวันนี้ศิลปินหนุ่มยังทำงานของเขาไปเรื่อยๆ  ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้แต่แรกเริ่ม 

“จริงๆ แล้วศิลปะไม่ได้เปลี่ยนโลก แต่เปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อโลกใบนี้ มันเป็นสื่อกลางที่ทำให้เราเริ่มแลกเปลี่ยนสนทนา จากนั้นอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวให้ดีขึ้น”

วันนี้ทุกคนมีกล้อง และถ่ายภาพได้ง่ายๆ ทุกที่ แต่เรื่องของ JR ทำให้เห็นว่า ถ้าเรามีไอเดียดีๆ พร้อมกับตั้งใจและลงมือทำ มันก็อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้อย่างมหาศาล

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและภาพประกอบจาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 2

  • อ่านไป ยิ้มไป😊😊
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 02.39 น.
  • ผมพยายามที่จะอ่านบทความนี้ให้จบต้องหลายครั้งแล้วแต่ก็ยังไม่ประสบกับในความสำเร็จสักที หรืออาจจะเป็นเพราะว่าบทความนี้มันยาวไป.
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 09.05 น.
ดูทั้งหมด