โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ย้อนตำนาน ‘ไวไว’ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อยู่คู่ไทยมา 50 ปี

TODAY

อัพเดต 01 ก.ค. 2565 เวลา 02.59 น. • เผยแพร่ 01 ก.ค. 2565 เวลา 02.59 น. • workpointTODAY
ย้อนตำนาน ‘ไวไว’ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อยู่คู่ไทยมา 50 ปี

ถ้าจะพูดถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าดังในไทย เชื่อว่าแบรนด์หนึ่งที่คนไทยต้องนึกถึงขึ้นมา ก็คือ ‘ไวไว’

แม้ไม่ใช่เบอร์ 1 ในตลาด แต่ไวไวก็ขึ้นชื่อในเรื่องของความอร่อยที่หลายคนติดใจ ทั้งเส้นเหนียวนุ่ม ไม่อืด รสชาติของน้ำซุปที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ที่น่าสนใจคือ ‘ไวไว’ เป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมา 50 ปีแล้ว แม้เส้นทางบนสมรภูมิตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะไม่ง่าย แต่ไวไวก็ปรับตัว พลิกเกมมาได้อย่างน่าสนใจ จนสามารถยืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

เส้นทางของ ‘ไวไว’ เป็นไปเป็นมาอย่างไร TODAY Bizview ชวนย้อนดูไปด้วยกัน

ย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ.2514-2515 เทรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากญี่ปุ่นและไต้หวันเริ่มฮิตจนแผ่ขยายมาถึงประเทศไทย

ในตอนนั้น ‘ชาญ แต้มคงคา’ ผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้าและส่งออกหมากฝรั่งและลูกอมที่หลายคนอาจคุ้นเคยในวัยเด็ก เช่น แบรนด์แพรอท นกแก้ว และคิดคิด เห็นโอกาสในเทรนด์นี้

เขาจึงลงขันกับเพื่อนราว 6-7 คน จัดตั้งธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยหนึ่งในหุ้นส่วนเป็นชาวไต้หวัน พวกเขาบุกไปศึกษาดูโรงงานที่ไต้หวันและนำ know-how กลับมาเริ่มต้นที่ไทย

การก่อตั้งแบรนด์ไวไวเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2515 ภายใต้การดำเนินงานของ ‘บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด’ นับเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายที่ 3 ของไทย โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม

โดยโปรดักต์แรกของบริษัทก็คือ ไวไว รสปรุงสำเร็จ หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองสีแดง ด้านหลังซองมีรูปเด็กใส่เสื้อสีแดงเป็นพรีเซ็นเตอร์ชงบะหมี่นั่นเอง

แม้รสชาติของเส้นบะหมี่และน้ำซุปของไวไวจะครองใจคนไทยได้ไม่ยาก แต่ถึงอย่างนั้นไวไวก็ต้องสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ และรับมือกับการแข่งขันอันดุเดือด

นำมาสู่กลยุทธ์การออกสินค้าใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่าไวไวจะทำได้ดีด้วย เพราะสามารถสร้างรสชาติที่แข็งแรงในแบบฉบับของตัวเองได้ ชนิดที่พอได้ยินชื่อรสชาตินี้ก็คงไม่ถึงบะหมี่แบรนด์อื่นแน่ๆ อย่างเช่น ไวไวรสหอยลายผัดฉ่า, ไวไวรสหมูสับต้มยำ เป็นต้น

การขยายการเติบโตของไวไวยังรวมไปถึงการแตกซับแบรนด์ใหม่ในปี 2540 อย่าง ‘ไวไว ควิก’ ที่ในตอนหลังใช้ชื่อว่า ‘ควิกแสบ’ โดยมาในคอนเซ็ปต์ที่เน้นความรวดเร็วของการชงที่ใช้เวลาเพียงแค่ 2 นาที

ก่อนที่ในปี 2543 ไวไวจะเริ่มจับทางได้ว่าควิกนั้นเป็นที่ถูกอกถูกใจวัยรุ่น จึงปรับทิศวาง position แบรนด์ควิกไว้เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันเจาะผู้บริโภคกลุ่มนี้

คลื่นการแข่งขันที่รุนแรงและดุเดือดในเรื่องของรสชาติและราคาของตลาดบะหมี่ซองเริ่มมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง

หลังตลาดบะหมี่ซองเริ่มอิ่มตัวในราวปี 2546 ไวไวที่เหมือนจะรู้การณ์ล่วงหน้าว่าต้องขยับไปสู่เซ็กเมนต์ใหม่อย่างถ้วยและชาม ก็ได้รุกทำตลาดบะหมี่ถ้วยอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2544 ภายใต้แบรนด์ไวไว ควิก

กลยุทธ์ที่ใช้ผลักดันควิกแบบถ้วยในช่วงนั้นและประสบความสำเร็จอย่างมาก คือการใช้ sport marketing ด้วยการออกโฆษณาที่เชื่อมกับฟุตบอลโลก พร้อมจัดกิจกรรมแข่งกีฬาฟุตซอลในโรงเรียนมัธยมเพื่อเชื่อมไปกับเทศกาลดังกล่าว

แม้การก้าวขึ้นมานำในเซ็กเมนต์บะหมี่ถ้วยจะช่วยให้ไวไวช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้บ้าง และทำให้ช่องว่างระหว่างไวไวและคู่แข่งเบอร์ 1 ลดลง

แต่ยักษ์ใหญ่จากเครือสหพัฒน์ที่มาทีหลังอย่างมาม่า ก็ยังรั้งตำแหน่งเจ้าตลาดอยู่ ขณะที่ไวไวครองอันดับ 2 ขนาบมาด้วยอันดับ 3 ที่เกิดมาช่วงเวลาไล่เลี่ยกันอย่างยำยำ ที่มีอายิโนะโมะโต๊ะเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม ไวไวสามารถครองอันดับ 1 ได้ในตลาดสินค้าเส้นหมี่อบแห้ง อีกหนึ่งโปรดักต์สำคัญที่ผลิตมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท และสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดได้ตลอดกาล

คีย์สำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ ไวไวบอกว่าเป็นเพราะ ‘คุณภาพ’ ที่ใช้ข้าวเจ้า 100% แตกต่างจากคู่แข่งที่อาจผสมแป้ง รวมถึงกลยุทธ์การทำตลาดที่เน้นกลุ่มผู้บริโภคในครัวเรือนมากกว่าร้านอาหารที่ต้องการความสดใหม่

และเมื่อทำผงน้ำซุปอร่อยถูกใจคน ไวไวก็เล็งเห็นโอกาสในตลาดผงปรุงรสสำหรับทำอาหาร จึงเปิดตัวไลน์สินค้าใหม่คือผงปรุงรสแบรนด์ ‘รสเด็ด’ เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน แต่เพิ่งติดตลาดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ภาวะเศรษฐกิจช่วงปี 2558 ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก ส่งผลให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน แม้แต่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ถูกเรียกขานว่าเป็น ‘ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ’ ก็ยังเติบโตน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์

ไวไวจึงแก้เกมอีกครั้งด้วยการเปิดตัวธุรกิจใหม่ซึ่งมาในไลน์ธุรกิจร้านอาหารที่ใช้ชื่อว่า ‘ควิก เทอเรส’ (Quick Terrace) ประเดิมสาขาแรกหน้าโรงงานริมถนนเพชรเกษมตั้งแต่กลางปี 2558 นับเป็นการแตกธุรกิจครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 10 ปีของไวไวหลังจากผงปรุงรสแบรนด์รสเด็ดเลยก็ว่าได้

เป้าประสงค์สำคัญที่ไวไวเข้ามาเล่นในธุรกิจร้านอาหาร ก็เพื่อต้องการต่อยอดธุรกิจเดิมและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่มีอยู่ โดยเอาสินค้าคือบะหมี่ซองละ 6 บาท มาแปลงร่างเป็นเมนูอาหารประเภทต่างๆ เช่น ยำ สปาเกตตี ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น รับกับเทรนด์ตลาดบะหมี่ที่แทบไม่เติบโต

ไวไวยังเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมด้วยการออกแบรนด์บะหมี่ฮาลาลอย่าง ‘ซือดะ’ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวมุสลิมโดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พัฒนาการของไวไวมีมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถขยายอาณาจักรในสามพรานเป็น 2 โรงงาน และคลังสินค้าตามภูมิภาคทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังขยายตลาดไปต่างประเทศด้วยการส่งออกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน

แต่บิ๊กมูฟที่ไม่พูดไม่ได้คือการขยับตัวเข้ามาจับแพ็กเกจจิ้งแบบชามครั้งแรกของไวไวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 โดยประเดิมด้วยรสต้มยำกุ้งน้ำข้น สูตรพริกเผา ก่อนจะเริ่มทำตลาดอย่างจริงจังด้วยการส่ง key product สำคัญอย่างรสปรุงสำเร็จมาใส่ในชนิดชาม เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภค และตอบรับกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น

แต่ละก้าวย่างของ ‘ไวไว’ ในกระแสการตลาดที่เชี่ยวกราก ทำให้เห็นการเติบโตที่แม้ไม่ก้าวกระโดด แต่ก็เป็นการวางและตอกเสาหลักที่แข็งแกร่งไว้อย่างแนบเนียน ทำให้วันนี้ไวไวก็เป็นอีกแบรนด์ที่สามารถครองใจผู้บริโภคไทยได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0