เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสไปเที่ยววัดขุนอินทประมูล ที่จังหวัดอ่างทอง มีพระนอนที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ลักษณะสวยงาม แต่ที่น่าสนใจสำหรับผม คือประวัติศาสตร์ของการบูรณะพระพุทธรูปองค์นี้
เรื่องราวมีอยู่ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย พระยาเลอไทยดำริให้สร้างขึ้นหลัง จากนั้นก็ขาดการบูรณะดูแลจนช่วงเกิดสงครามกับพม่าในสมัยอยุธยา สร้างความเสียหายทรุดโทรมอย่างมาก ล่วงเลยมาจนถึงยุคของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ในเขตการปกครองเมืองวิเศษไชยชาญนี้ มีนายอากร ที่ทำหน้าที่เก็บภาษีส่งให้ท้องพระคลังหลวงคือ ขุนอินทประมูล ตามบันทึกเล่าว่า ขุนอินทประมูล มีภรรยาชื่อนางนาค
ทั้ง 2 คนแต่งงานกันมาหลายสิบปีก็ยังไม่สามารถมีบุตรได้ ขุนอินเป็นคนที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก อยู่มาวันหนึ่งได้ฟังพระเทศน์ ซึ่งได้แสดงธรรมว่า การที่ใครแต่งงานแล้วไม่สามารถมีทายาทบุตรสืบตระกูลได้นั้น โดยเฉพาะบุตรชายที่จะออกบวชเพื่อเรียนพระพุทธศาสนาและเป็นการตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ เพื่ออาศัยผ้าเหลืองของพระลูกชายพาขึ้นสวรรค์
ซึ่งหากปราศจากบุตรชายจะทำให้พ่อแม่ตกนรกขุมที่ชื่อว่า ปุตตะ (ไม่รู้ไปแปลมาจากพระไตรปิฏกเล่มไหน มั่วมาก) พอท่านขุนได้ฟังเช่นนั้นก็น้อยเนื้อต่ำใจมาก เพราะเรื่องไร้ทายาทนี้ เป็นเรื่องอาภัพทางจิตใจของท่าน
ทำให้ขุนอินตั้งใจจะบูรณะพระพุทธไสยาสน์นี้เพื่อหวังว่าผลบุญจะช่วยให้ไม่ต้องตกนรก แต่ทุ่มทุนไปกับการสร้างโบสถ์และเจดีย์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้เงินไม่พอ จนต้องยักยอกเงินหลวงมาบูรณะ หลายร้อยชั่ง
ข่าวไปถึงหูทางการ ส่งคนมาสอบสวน ขุนอินก็ไม่ยอมรับ เพราะเกรงว่าถ้าสารภาพบุญกุศลจะตกเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ตกเป็นของตัวเอง แต่พอโดนโบยไป 3 ยก ยกสุดท้ายทนไม่ไหวจึงสารภาพว่าได้ยักยอกพระราชทรัพย์ไปจริง แต่มุ่งสร้างให้เป็นการเสริมพระบารมีพระเจ้าแผ่นดิน
หลังจากนั้นทนพิษบาดแผลไม่ไหวเพราะอายุเยอะมากแล้ว จึงเสียชีวิต พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทราบเรื่องก็รู้สึกเสียใจเลยพระราชทานทองคำหนักร้อยชั่งมา เป็นพระเกศามาลา และตั้งชื่อเป็นพระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล
ถ้าเรื่องทั้งหมดที่ไกด์เล่าให้ฟังเป็นเรื่องจริง จุดเปลี่ยนของชีวิตขุนอินที่ต้องมาจบอย่างทุกข์ทรมานแบบนี้ *คงเป็นเพราะศรัทธาที่มีมากกว่าปัญญา จนทำให้หลงผิด ยอมทำบาปเพื่อแลกบุญ หลงเชื่ออะไรที่ผิด ทำให้คิดผิด พูดผิด (โกหก) ทำผิด (ยักยอกเงินหลวง) จนต้องตกนรกทั้งๆ ที่ยังไม่ตาย (ถูกโบย) แทนที่จะได้ขึ้นสวรรค์อย่างที่หวังเอาไว้ *
เหมือนติดกระดุมเสื้อเม็ดแรกผิด ก็ผิดหมดเลยทั้งตัว
ละบาป เป็นเรื่องสมควร ก่อนทำบุญ เพราะโจรก็ขโมยเงินมาทำบุญได้
ความศรัทธาแบบแรงกล้าโดยที่ไม่มีปัญญามาประกอบนั้น อันตรายต่อตัวเองและคนอื่น
ป.ล. หลังจากฟังไกด์บรรยาย ก็ได้ไปหาข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มในอินเตอร์เน็ต เพราะยังไม่อยากเชื่อทันที บางข้อมูลก็บอกว่าขุนอินทประมูลไม่ได้ยักยอกทรัพย์ แต่เป็นเงินที่ชาวบ้านช่วยกันสร้าง
เอาจริงๆ ไม่มีใครรู้ เพราะคนบันทึกประวัติศาสตร์ อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนเหมือนกัน แต่ความศรัทธาที่มากเกินพอดีจนสร้างความเดือดร้อนแก่ตัวเองและผู้อื่น มีอยู่จริงทุกยุคทุกสมัย จวบจนปัจจุบัน
ความเห็น 19
JOo〜☆
เขียนได้ดีมากค่ะ ด้วยวัยขนาดนี้ มีความเข้าใจสัจจธรรม ธรรมชาติ 🙏🏼 สาธุ
20 พ.ย. 2561 เวลา 14.50 น.
EntertainMenT
อ่านแล้วเกิดประโยชน์
21 พ.ย. 2561 เวลา 10.02 น.
PuY (*^-^*)
ความแตกต่างกันเพียงเส้นบางๆ
ระหว่างความหลงผิด กับศรัทธา
20 พ.ย. 2561 เวลา 15.26 น.
สุพจน์ ฉิมมาลี
ใช่ครับ หลักการทางพุทธศาสนาว่าตามลำดับ
1) ละบาป
2) ทำบุญ
3) ทำจิตให้ผ่องใส
คนที่ใจไม่ละทางบาป ก็จะทำบุญกุศลได้ยาก เมื่อใจไม่เป็นบุญกุศล ก็จะสงบยาก มันวุ่นวายใจ ระแวงการกระทำที่ไม่ดีของตนเอง เมื่อใจไม่สงบก็จะเกิดปัญญาน้อย มองโลกแคบๆ เพียงมุมมองเดียว ไม่กว้างขวาง รอบด้าน และตามเป็นจริง
ต้องทำตามลำดับ เพราะอิงอาศัยกัน ข้อ 1 เป็นศีล ข้อ 2-3 เป็นสมาธิกับปัญญา
ไม่ละบาป มาทำบุญกุศล ได้บุญกุศลน้อย เพราะตนไม่มีศีล ผลบุญกุศลก็น้อย มาทำสมาธิก็ยาก เพราะผลบาปคอยหน่วง จิตเดือดร้อน พะวงอยู่กับความไม่ดีที่ทำไว้
20 พ.ย. 2561 เวลา 22.39 น.
BasH
ไอ้นกหวีดเรียกเผด็จการ
12 ธ.ค. 2561 เวลา 02.28 น.
ดูทั้งหมด