เมื่อไม่นานมานี้ คงจะเห็นข่าว ป้ายรถเมล์หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่จู่ ๆ ก็ล้มครืนลงมาทับคนบาดเจ็บ สาเหตุจากความผุพังของวัสดุที่ใช้และปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน หรือ ศาลาริมทาง งบ 518 ล้าน ที่ไร้ประโยชน์ ถึงกับเป็นประเด็นดรามาชี้แจงที่มาที่ไปของเงินกันให้วุ่น สุดท้ายก็แก้ไข ให้ดีขึ้น และ เสียงบประมาณแผ่นดินเพิ่มนั่นเอง… เหตุการณ์เหล่านี้ กำลังบอกอะไรเรา? ทำแต่ใช้การไม่ได้ ทำไปเพื่ออะไร?
‘ป้ายรถเมล์’ จุดที่แสดงสัญลักษณ์ว่ารถเมล์ควรจอดตรงนี้ ให้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้สัญจรและคนขับ แต่ในด้านการใช้งานจริง ป้ายรถเมล์ไม่ได้มีประโยชน์แค่ไว้รอรถเมล์เท่านั้น
เราก็เป็นคนนึงที่เคยประสบปัญหา รอรถเมล์ที่(ทึกทักเองว่าเป็น)ป้าย ย่านอารีย์ วันนั้นฝนตกอย่างหนัก อยู่เป็นชั่วโมง ซึ่งโชคดีที่ด้านบนคือ สถานีรถไฟฟ้า จึงพยายามกระเบียดกระเสียรให้ตัวเองอยู่ในร่มเงาของสถานี แต่ก็เปียกโชคไม่ต่างกับยืนข้างนอกเพราะไม่มีพื้นที่เสมือนศาลาที่ล้อมกรอบให้เป็นป้ายรถเมล์ สำหรับคนรอรถโดยสารอย่างแท้จริง
‘ศาลาริมทางสวยดี แต่เอาไว้โชว์ว่าโก้เหมือนต่างประเทศ #ประโยชน์ใช้อะไรได้บ้าง?’ นี่คือเสียงส่วนหนึ่งของผู้ใช้งานป้ายรถเมล์ในพื้นที่จริงของจังหวัดศรีสะเกษ ป้ายรถเมล์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มันคุ้มค่าและพร้อมสำหรับการใช้งานจริง ๆ ได้หรือยัง?
ฟังก์ชั่นที่ดูดี แต่ ไร้ประโยชน์?
แม้ว่าตอนนี้ เราจะมีป้ายรถเมล์ไร้ฝุ่น ที่ติดตั้งระบบวัดปริมาณฝุ่น พัดลมระบายอากาศ แก้ปัญหา PM 2.5 หรือแม้กระทั่ง โครงการป้ายรถเมล์อัจฉริยะ (Smart Bus Shelter) ที่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในป้าย ทั้งฟรีwifi ชาร์จแบทได้ (ซึ่งเรายังไม่เคยได้ใช้งาน) ไฟที่มีความสว่างเพียงพอ จอเพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสาร และกล้องวงงจรปิด ที่ตั้งใจให้ 350 จุดที่กำลังติดตั้งสมบูรณ์แบบ แต่ก่อนที่ป้ายรถเมล์จะ ‘อัจฉริยะ’ และเป็นอย่างอื่นที่ดี มันน่าเป็นป้ายรถเมล์ที่มีประโยชน์ต่อคนใช้งานจริง ๆ ก่อนมั้ย? เช่น ผ่านกระบวนการคิดจากวิถีชีวิตคนไทย ตามภูมิประเทศ ภูมิอากาศแบบไทย ๆ ฤดูร้อนที่แดดแผดเผาจนเกือบจะลมจับ หน้าฝนที่กระหน่ำมาจนน้ำเกือบท่วม มันถึงจะออกมา ‘สมบูรณ์แบบที่สุด’
เมื่อมีป้ายที่ดี เราจึงใช้ประโยชน์จากมันได้อีก
ได้นั่งอ่านเรื่อง ป้ายรถเมล์ไปพลาง ๆ ก็บังเอิญเจอไอเดียจากนักเขียนคนหนึ่ง คุณวินทร์ เลียววาริณ ที่อดีตเขาเคยเป็นนักเรียนสถาปัตมาก่อน ก็ดีมิใช่น้อย ‘ไอเดียผมง่ายมาก นั่นคือไม่ต้องสร้างอะไรเลย แค่ปลูกต้นไม้สูงแผ่กิ่งก้านใบคลุม หนึ่งต้นกันได้ทั้งแดดและฝน และไม่ต้องดูแล, ผมเคยปลูกต้นหูกระจง มันขึ้นเร็วมาก ใบแผ่กว้าง เมื่อฝนตกหนัก ใต้ต้นหูกระจกแห้งสนิท ฝนไม่ทะลุลงมาเลยสักหยดเดียว’ ที่กล่าวมาก็เป็นเพียงไอเดียที่คุณวินทร์ได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในคอมเมนท์ให้หลายคนลองออกแบบ ‘ป้ายรถเมล์ที่กันฝน ทนแดดได้จริง’
ยังมีไอเดียจากต่างประเทศที่อยากหยิบยกมาให้ดู เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมือง Utrecht ที่มีโครงการดัดแปลงพื้นที่สาธารณะเพิ่มจำนวนผึ้งซึ่งมีความสำคัญต่อการขยายพันธุ์พืชต่าง ๆ เปลี่ยนหลังคาป้ายรถเมล์รวมถึงหลังคารถเมล์ เป็นแปลงปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ยังคำนึงถึง ผู้ใช้งานจริง ปรับปรุงให้มีการดักฝุ่น กักเก็บน้ำฝนได้ รวมทั้งติดตั้งไฟให้สว่าง มีที่นั่งพร้อมใช้งานได้ อย่างปลอดภัย
หรือประเทศแรก ๆ ที่วางระบบเมืองอัจฉริยะอย่าง ประเทศสิงคโปร์ ย่านจูรง สร้างสรรค์ป้ายให้เป็นชั้นวางหนังสือ หยิบอ่านได้ มีที่จอดรถจักรยาน ชาร์จโทรศัพท์ บนหลังคาก็เปลี่ยนเป็นสวนต้นไม้และจอที่วางแผนเส้นทางให้รวดเร็วที่สุดสำหรับคุณได้ด้วย เป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่องของรัฐบาลที่มองว่าการขนส่งและคมนาคมเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเมือง
สถาปนึก คิดอะไร?
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทางทีม LINE TODAY เราเคยมีโอกาสสัมภาษณ์ทีมงาน MAYDAY กลุ่มคนจากหลายสาขาอาชีพที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ 'ความสนใจในระบบสาธารณะ' ที่เล็งเห็นว่า 'ป้ายรถเมล์' เป็นมาตรฐานแรกในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของระบบขนส่งไทย พวกเขาได้ให้ความเห็นไว้ว่า 'ประเทศที่เจริญแล้ว ขนส่งสาธารณะเป็นของที่ ทุกระดับเข้าถึงได้ เกิดการพัฒนาที่คนระดับรัฐมนตรีก็มาใช้ระบบได้ ถ้าอยากใช้…'
คำตอบมันอาจไม่ใช่ การที่เราได้ป้ายรถเมล์ที่อัจฉริยะที่สุด ไฮเทค ทันสมัยที่สุด แต่ต้อง ตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกผู้สัญจรขนส่งสาธารณะให้ได้มากพอ ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใครในสังคม ไม่ว่าจะทำงานอาชีพไหน หรือแม้กระทั่งคนใหญ่คนโตในสังคมเอง ก็สามารถที่จะเข้ามาใช้ ป้ายรถเมล์ ดีดีที่ลงตัวนี้ได้ : )
อ้างอิง
- Thairath