โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

66 ล้านปีผ่านไป เรารู้อะไรจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ของเหล่าสัตว์ใต้ท้องทะเลบ้าง

WWF-Thailand

เผยแพร่ 04 พ.ย. 2562 เวลา 09.29 น.

โลกของเราผ่านการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 6 ครั้ง โดยหายนะครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อ 66 ล้านปีก่อนได้กวาดล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกไปมากกว่าครึ่ง ในเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเอง มีผลให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของเหล่าสัตว์ทะเลตามมา หรือที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส-พาลิโอจีน” โดยได้กวาดล้างสิ่งมีชีวิตใต้ท้องมหาสมุทรไปกว่า 47% และสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนบกสูญพันธุ์ไปกว่า 18% รวมถึงไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ด้วย

งานวิจัยล่าสุดเผยว่า สาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของเหล่าสัตว์ทะเล มีความเกี่ยวพันกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของค่ากรดในมหาสมุทร ซึ่งมีผลโดยตรงต่อพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่มีเปลือกหุ้ม และกระดูก ซึ่งผลกระทบดังกล่าวทำให้ห่วงโซ่อาหารไม่สมดุล นำไปสู่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลหลายล้านชีวิต

ก่อนหน้านี้ ยังมีข้อถกเถียงหลายประการเกี่ยวกับสาเหตุที่คร่าเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลเมื่อ 66 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นครั้งเดียวกันกับเหตุการณ์ที่อุกกาบาตพุ่งชนโลกที่นำไปสู่การฆ่าล้างสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกไปกว่า 75% โดยหลายทฤษฎียังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าผลที่ตามมาจากอุกกาบาตครั้งนั้น ทำให้ค่ากรดในมหาสมุทรลดลงจนสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลสูญพันธุ์จริงหรือไม่

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล, มหาวิทยาลัยเซนต์ แอนดรูส์ และบริสโตล์ ได้รวบรวมหลักฐานเพื่อสนับสนุนงานวิจัยล่าสุด โดยได้กล่าวว่า

“หลายปีที่ผ่านมา ผู้คนมากมายได้พูดถึงทฤษฎีดังกล่าวว่า อุกกาบาตพุ่งชนแร่หินที่มีกำมะถัน (sulphur) ทำให้กรดกำมะถัน หรือกรดซัลฟิวริกแพร่กระจายไปยังชั้นบรรยากาศและมหาสมุทร ผลที่ตามมาคือกรดในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง”

ทีมนักวิจัยได้พิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว โดยการนำเปลือกหอยฟอสซิลจากก่อนเหตุการณ์สูญพันธุ์, ระหว่างเหตุการณ์ ไปจนถึงหลังเหตุการณ์สูญพันธุ์ มาตรวจสอบค่าโบรอนไอโซโทปเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของค่ากรดในมหาสมุทร

ผลปรากฏว่า หลังจากอุกกาบาตพุ่งชน ค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่างได้ลดต่ำลง (หมายความว่ามีภาวะความเป็นกรดมากขึ้น) และลดลงเป็นจำนวนกว่า 0.25 หน่วยในช่วง 100-1,000 ปีหลังจากการพุ่งชนครั้งดังกล่าว ทำให้สิ่งมีชีวิตประเภท calcifiers ไม่สามารถสร้างเปลือก และกระดูกได้

สิ่งมีชีวิตประเภทดังกล่าว เป็นแหล่งอาหารหลักของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้ห่วงโซ่อาหารเกิดความไม่สมดุล และระบบนิเวศใต้ท้องทะเลล่มสลายในที่สุด

ก่อนการค้นพบครั้งนี้ ได้มีทฤษฎีที่โด่งดังเกี่ยวกับเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์ทะเล โดยทฤษฎีแรกที่มีชื่อว่า “Stangelove Ocean” ได้นำเสนอว่า หลังจากเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ วัฏจักรคาร์บอนหยุดการหมุนเวียน ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้มหาสมุทร ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานานเกือบ 3 ล้านปี ส่วนทฤษฎีที่สอง “Living Ocean” นำเสนอว่า หลังจากเหตุการณ์อุกกาบาต ได้กวาดล้างแพลงก์ตอน และทำให้วัฏจักรคาร์บอนหมุนเวียนผิดปกติ ผลที่ตามมาคือห่วงโซ่อาหารเกิดความไม่สมดุล และสิ่งมีชีวิตค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปในที่สุด

“ทั้งสองทฤษฎีมีบางส่วนที่น่าจะเป็นความจริง แต่อาจจะเกิดขึ้นตามมาทีหลัง” ดร. ไมเคิล เฮเนเฮน หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว

การค้นพบครั้งนี้สำคัญอย่างมากต่อการวิเคราะห์ความเป็นไปของมหาสมุทรในอนาคต โดยเฉพาะการศึกษาว่าธรรมชาติมีการฟื้นฟูตัวเองอย่างไรหลังจากกรดในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น และทำให้วัฏจักรคาร์บอนหยุดทำงาน

“ข้อมูลของเราพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงของกรดในมหาสมุทรทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล” ดร. แรล์กล่าว

ในปัจจุบัน กรดในท้องทะเลกำลังเพิ่มขึ้นอีกครั้งเนื่องจากการปนเปื้อน และสะสมของเชื้อเพลิงฟอสซิล และคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องติดตามต่อไปคือ หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เราจะมีวิธีการป้องกันการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.discoverwildlife.com/news/ocean-acidification-behind-last-great-mass-extinction/

#WWFThailand #TogetherPossible

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0