โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปิด 3 วิธี..ทำอย่างไรให้ได้บุญ โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 19 มี.ค. 2565 เวลา 17.00 น. • เพื่อนตุ้ม

หลายคนไม่รู้การทำบุญด้วยการบริจาคเงิน ซื้อข้าวของต่าง ๆ แม้จะเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นแค่ปลายทางเท่านั้น ที่สำคัญการทำบุญไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้รับคือพระสงฆ์เท่านั้น จะเป็นบิดามารดาซึ่งเป็นพระในบ้านก็ได้ ให้แก่คนทั่วไปที่ตกทุกข์ได้ยากก็ได้ หรือแม้แต่กับสัตว์เดรัจฉานก็ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นการจะทำบุญให้ได้บุญ แท้จริงแล้วไม่จำเป็นต้องใช้เงินสักบาท ไม่จำเป็นต้องสรรหาสิ่งของต่าง ๆ ที่ดีที่สุด ที่แพงที่สุดมาเพื่ออานิสงส์แห่งผลบุญที่จะตามมา

บุญไม่ได้เกิดจากจำนวนของเงินที่ทำลงไป แต่บุญเกิดจากอานิสงส์แห่งความตั้งใจ ความบริสุทธิ์ใจ และเจตนาที่ไม่ได้มุ่งหวังผลใด ๆ ตอบแทน สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้ได้บุญมาก เกิดอานิสงส์ผลบุญที่ยิ่งใหญ่

ดังนั้น ในเมื่อมีหนทางมากมายที่จะทำบุญโดยไม่ต้องใช้เงินสักบาท ในยุคที่พวกเราทุกคนต่างตกที่นั่งลำบากพอ ๆ กันแบบนี้ ลองเปลี่ยนจากวิธีง่าย ๆ อย่างการใช้เงิน มาเป็นการทำบุญโดยใช้ใจและสติดูบ้างก็ดี

1. รักษาศีล

ทาน ศีล ภาวนา เป็นบุญกิริยาวัตถุ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่เข้าถึงบุญกุศล ก็คือ การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา

การให้ทานก็คือการบริจาค การซื้อของทำบุญอย่างที่ทุกคนทำกันเป็นประจำ แต่การรักษาศีลและการเจริญภาวนาก่อให้เกิดบุญกุศลและอานิสงส์มากมาย

เมื่อพูดถึง ‘ศีล’ บางคนนึกถึงแค่ศีล 5 แต่จริง ๆ แล้ว ‘ศีล’ คือเจตนา หรือข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานในพระพุทธศาสนา เพื่อควบคุมความประพฤติทางกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า ‘ศีล’ เป็นเบื้องต้นของการชำระกิเลส เป็นเครื่องข่มจิตไม่ให้ตามกิเลส

การรักษาศีลก็เหมือนกำแพงคอยป้องกันกิเลส บุคคลใดที่มีศีล จะมีจิตใจผ่องใส ไม่มีใจละโมบคิดเบียดเบียนใคร ถือว่าเป็นผู้ที่มีรากฐานมั่นคง จะทำอะไรต่อไปก็ง่าย แต่ถ้ารักษาศีลไม่ได้ จิตเต็มไปด้วยกิเลสก็เหมือนผู้ที่มีรากฐานไม่มั่นคง จะทำอะไรก็บิด ๆ เบี้ยว ๆ พร้อมจะพังทลายได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม การรักษาศีลช่วยยกระดับจิตใจและก่อให้เกิดอานิสงส์ขึ้นอีกมากมาย ที่สำคัญเมื่อรักษาศีลได้ ใจเราจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อนกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะมากระทบกับร่างกายและจิตใจ

2. การสวดมนต์ ไหว้พระ

นอกจากการทำทานแล้ว บุญยังเกิดได้จากศีล และภาวนา ซึ่งก็คือการสวดมนต์ก็เป็นหนึ่งในนั้นนั่นเอง

การสวดมนต์ คือการระลึกนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เมื่อระลึกนึกถึง จิตใจก็จะสงบร่มเย็น อีกทั้งเกิดสิริมงคลมากมายแก่ผู้สวด เนื่องจากบทสวดที่เปล่งออกมานั้นล้วนเป็นพุทธคุณ เป็นถ้อยคำมงคล ซึ่งคนโบราณเชื่อกันว่าหมู่เทวดาชอบฟังธรรมะ และเสียงสวดมนต์ ทำให้เหล่าเทวดาอำนวยอวยพรอันเป็นมงคลแก่ผู้สวดมนต์เอง

สำหรับพุทธศาสนิกชน การสวดมนต์เป็นหน้าที่ที่ถือปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และถือกันว่าเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต เพื่อให้จิตมีสติและตั้งมั่นอยู่กับมนต์ที่สวด เพราะเวลาสวดมนต์ด้วยความตั้งใจ ตาก็ต้องมอง ปากก็ต้องอ่าน หูก็ต้องฟัง เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เกิดความสงบ เกิดปัญญาที่จะนำพาชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น

การสวดมนต์ถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดบุญได้โดยไม่ต้องเสียเงินทองสักบาทเดียว ที่สำคัญยังสามารถสวดได้ทุกที่ สวดที่ไหนก็ได้บุญที่นั่น มีเวลาแค่เล็กน้อยก็สามารถสวดมนต์สร้างบุญได้ โดยไม่ต้องอ้างว่าไม่มีเวลาไปทำบุญ คนที่ชอบอ้างแบบนี้แปลว่าไม่เข้าใจว่าบุญคืออะไร ต้องเข้าใจก่อนว่าการทำบุญก็คือการทำความดี เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องอ้างว่าไม่มีเวลา เพราะการทำดี ทำได้ทุกที่ และทันทีที่ทำความดี นั่นก็คือการทำบุญนั่นเอง

3. ทำสมาธิ

การทำสมาธิ คือการทำจิตให้สงบมั่นคงอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง เพราะจิตเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก จิตจึงมีหน้าที่คิด เหตุที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ฝึกสมาธิก็เพราะธรรมชาติจิตของคนเรามักมีรัก โลภ โกรธ หลง เป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา

พระพุทธเจ้าจึงทรงคิดหาอุบายในการควบคุมจิตให้สงบด้วยการทำสมาธิ ซึ่งเมื่อทำสมาธิก็จะได้ใช้ความคิดไตร่ตรองจนเกิดปัญญาขึ้นมา และปัญญาก็คือการรอบรู้ รู้ทุกอย่างที่มีทั้งปัญญาทางโลก และปัญญาทางธรรม

จริง ๆ การทำสมาธิเป็นเรื่องสากล ไม่เฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สอนให้ฝึกสมาธิ ในศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ก็สอนให้ฝึกสมาธิด้วยเช่นกัน ก็เหมือนกับทุกศาสนาสอนให้เป็นคนดีนั่นแหละ

ขั้นตอนของการทำสมาธิ โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องนั่งเท่านั้น เรายังสามารถเดินสมาธิ นอนสมาธิได้ด้วย เพราะสมาธิคือการทำจิตใจให้สงบมั่นคงอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ให้จิตตั้งมั่น จดจ่อ และแน่วแน่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ผู้ทำสมาธิเกิดความสงบ รู้สึกตัว และมีสติ

การทำสมาธิมีประโยชน์ที่มากกว่าบุญ ในทางที่ส่งผลต่อร่างกายก็ได้แก่ สมองทำงานได้ดี สุขภาพดี ส่วนในด้านจิตใจก็เช่น จิตผ่องใส หายเครียด ทำให้ใจเย็นขึ้น และมีสติ ซึ่งประโยชน์เหล่านี้เราจะได้รับเต็ม ๆ จากการทำสมาธิ

เหตุใดการทำสมาธิ ภาวนาจึงเกิดเป็นบุญกุศล ก็เพราะการทำสมาธิจนจิตรวมลงเป็นสมาธิแล้ว ตอนนั้นเราไม่ได้ก่อความเบียดเบียนใคร ทั้งทางกาย วาจา และใจ ไม่ได้คิดไม่ดีกับใคร ไม่ได้ด่าว่า หรือทำร้ายใคร เรามีสติอยู่กับปัจจุบัน มีศีลบริสุทธิ์ผุดผ่อง เบิกบานใจ อิ่มอกอิ่มใจ

ยิ่งเมื่อทำสมาธิ พัฒนาสติ จนมีสติที่ตั้งมั่น จนเกิดปัญญา เข้าถึงวิปัสนาญาณ มองเห็นโลกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา รู้ ตื่น เบิกบาน ก็จะยิ่งได้รับอานิสงส์มากเป็นทวีคูณ

มาถึงตรงนี้ ทั้ง 3 วิธีน่าจะลบภาพจำของการทำบุญไปได้พอสมควร อย่าติดกับภาพการบริจาคเงินล้าน ๆ การสร้างโบสถ์ วิหารเพื่อทำบุญกันอีกเลย วิธีการเหล่านี้ได้บุญก็จริง แต่ “บุญ” มีขอบเขตกว้าง ทำได้ง่าย และไม่ต้องใช้เงินแม้แต่บาทเดียวก็ได้บุญอันยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0