บทความนี้เขียนก่อนวันที่ 9 มีนาคม 2563
ในขณะที่พวกเราและทั่วโลกกำลังตระหนกกับยอดผู้ป่วยที่พุ่งทะลุฟ้า ยอดผู้ป่วยใหม่ของจีนค่อย ๆ ลดลง เช่นเดียวกับภาระงานเจ้าหน้าที่ ขณะที่ร้านรวงในเมืองอู่ฮั่นกลับมาเปิดอีกครั้ง ฟ้าหลังฝนก็เริ่มสดใส
ถูกต้องแล้วค่ะ สำหรับจีน แม้ยังไม่จบซะทีเดียว แต่ไตเติ้ลตอนจบก็เริ่มแล้ว โรคระบาดใหญ่นี้ถูกควบคุมได้แล้ว
ในขณะที่ยารักษายังไม่แน่นอน และวัคซีน COVID-19 ยังอยู่ในช่วงทดลอง จีนควบคุมโรคระบาดนี้ได้อย่างไรกันแน่
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ทุก ๆ การระบาดใหญ่ เป้าหมายหลักชัยของมนุษยชาติ คือการรักษาชีวิตของเผ่าพันธุ์ให้เหลือรอดได้มากที่สุด
ตามธรรมชาติของโรคไวรัสทั้งหลาย เมื่อถึงจุดหนึ่งร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน และกำจัดเชื้อออกไปเองได้ หากเราสามารถดูแลให้คนผู้นั้นรอดชีวิตไปถึงตอนนั้นได้ ด้วยร่างกายที่ยังแข็งแรงพอประมาณ เขาก็จะรอดชีวิต
นั่นหมายความว่า การรอดตายของผู้ป่วยคนหนึ่ง มิได้ขึ้นกับการได้ยาฆ่าไวรัสหรือไม่เท่านั้น แต่ขึ้นกับการ “ดูแล” ร่างกายนั้นให้แข็งแรงอยู่รอดต่อไป หรือภาษาการแพทย์เรียก Supportive Treatment นั่นเอง
พูดง่าย ๆ ว่า หากเหนื่อยมีออกซิเจนให้ หากหายใจไม่ไหวก็มีเครื่องช่วย แบบนี้ก็น่าจะรอดชีวิต
นั่นคือหากเราป่วยในที่ที่มีบุคลากรและอุปกรณ์เพียงพอ ย่อมมีโอกาสรอดกว่าป่วยในที่ที่คนป่วยเยอะเกินกำลัง นั่นจึงกลายเป็นความน่ากลัว และสาเหตุที่ผู้ป่วยตายมากในช่วงที่โรคระบาด ก็เพราะผู้ป่วยล้นเกินกว่าทรัพยากรที่มีอยู่
เมื่อได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ ร่างกายย่อมทนรอจนถึงวันที่ภูมิคุ้มกันชนะเชื้อไม่ได้
สิ่งสำคัญที่สุด ที่จะพาเรารอดจากการระบาดไปได้ก็คือ
“การจัดการทรัพยากร” นั่นเอง !!
แต่จะจัดการทรัพยากรอย่างไรให้พอ
ย้อนไปยังหลักพื้นฐาน เราต้องลดความต้องการใช้ทรัพยากร และเพิ่มทรัพยากรให้มากขึ้น หรือที่พูด ๆ กันว่า ลดดีมานด์เพิ่มซัปพลาย
และจีนก็ทำสองอย่างนี้ได้เป็นอย่างดี
“ลดความต้องการใช้ทรัพยากร”
อันดับแรกที่เราต้องทำ คือลดจำนวนผู้ป่วยให้มากที่สุด และถ่วงเวลาให้ระบาดช้าที่สุด เพื่อที่เราจะจัดสรรทรัพยากรได้ทันและพอเพียง
ช่วงแรกที่จีนพบว่า ตนกำลังเผชิญหน้ากับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก สิ่งแรกที่ผู้นำของจีนทำ คือการประกาศให้การควบคุมการระบาด เป็นภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดของทุกคนในแผ่นดินจีน
สถานการณ์ขณะนั้นต่างจากตอนนี้ จีนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไวรัสตัวนี้คืออะไร มาจากไหน ติดต่ออย่างไร เป้าหมายช่วงแรกจึงเป็นการควบคุมการระบาดเท่าที่ความรู้ขณะนั้นจะพอบอกได้ ไปพร้อม ๆ กับการวิจัยหาข้อมูล และประกาศเตือนให้ทั่วโลกรับทราบ
ล่วงถึงกลางเดือนมกราคม เมื่อพบว่ามันติดต่อจากคนสู่คน จีนจึงประกาศสงครามและออกมาตรการควบคุมการระบาดขั้นสูงสุดทันที
หลายคนมองว่า การตัดสินใจที่เด็ดขาดในตอนนั้น คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยชะลอการระบาด จากจีนไปยังประเทศต่าง ๆ ถือเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ที่สมควรจดจำ
การควบคุมโรคขณะนั้น มีทั้งระดับปิดเมือง ห้ามคนผ่านเข้าออก ระดับภายในเมือง ห้ามมีการชุมนุม และขอให้ทุกคนอยู่ในบ้าน ไปจนถึงระดับรายบุคคลที่มีการสืบสวนโรค ตามรอยคนสนิทที่ผู้ป่วยพบเจอ ก่อนจะพาตัวมาตรวจสอบและกักกัน
แม้มาตรการปิดเมืองอู่ฮั่นและจังหวัดโดยรอบจะถือเป็นข่าวใหญ่ แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่ทำให้จีนกำชัย กลับเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่างการสอบสวนโรครายบุคคล
จีนจัดทีมสอบสวนกว่า 1,800 ทีม (ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 5 คนต่อทีมเป็นอย่างน้อย) ลงพื้นที่ติดตามตัวผู้สัมผัสผู้ป่วย ทันทีที่แพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยรายใหม่ ทีมก็จะเร่งลงพื้นที่ไป เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อต่อจากผู้ป่วยรายนั้นทันที
เชื่อกันว่าความเร็วในการสอบสวนโรคนี้ แท้จริงคือปัจจัยหลักที่หยุดยั้งการระบาดในเวลาต่อมา
หลายประเทศมองจีนแล้วก็โอดโอยว่า ตนเองเป็นประชาธิปไตย คงไม่สามารถปิดเมืองอย่างจีนได้แน่ เพราะผิดหลักสิทธิมนุษยชน
แต่จีนเองก็ไม่ได้ปิดทุกเมืองที่มีการระบาด
ย้อนกลับไปยังช่วงที่การระบาดพุ่งถึงจุดสูงสุด จีนพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ติดจากคนใกล้ชิดที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน นั่นคือแม้เราจะกินหมูกระทะ เดินสวนไปมาพบเจอกัน แต่เรามักไม่ติดเชื้อจากเขา เพราะเราไม่ได้ใกล้ชิด และอยู่ด้วยกันนานมากพอ
ถึงจะไม่รู้ว่าเชื้อมาจากไหน แต่เรารู้ว่าจะหามันได้ที่ไหนนั่นเอง
ที่มณฑลกว่างตง จีนมิได้ใช้มาตรการรุนแรงเช่นที่อู่ฮั่น แต่เน้นตรวจจับเคสให้ได้เร็วและได้มาก ไม่ว่าผู้ป่วยสัมผัสหรือไม่ก็ตาม หากมีอาการไข้หวัด ย่อมจะถูกตรวจ COVID-19
การตรวจเช่นนี้เป็นการตรวจที่กึ่ง ๆ จะหว่าน และใช้เงินมาก
แต่เพราะตรวจเช่นนี้ จึงจับเคสได้ครอบคลุมมาก ทั้งยังตามไปหาผู้ใกล้ชิดที่รับเชื้อไปแล้วได้ ท้ายสุดจึงหยุดยั้งการระบาดได้รวดเร็วและดีกว่าที่คาดไว้
หลักการคล้ายกับที่เกาหลีใต้ใช้ ในเมื่อปิดเมืองไม่ได้ ก็ต้องกวาดเคสที่มีอยู่ตอนนี้ให้หมด เมื่อได้เคสมาอยู่ในมือชุดแรกได้ ย่อมตามลงไปยังคนในครอบครัวที่รับเชื้อต่อไม่ยากแล้วนั่นเอง
ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อเกาหลีใต้ที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจมิใช่เพราะระบาดใหม่อย่างรวดเร็ว แต่เพราะอยู่ระหว่างการไล่จับที่ครอบคลุมมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง
ที่สุดแล้ว ไม่หลอกตัวเอง ค้นหาเคสให้เจอให้ได้ และช่วยถ่วงเวลาไว้ เพื่อจัดหาทรัพยากรทางการแพทย์ให้ได้มากที่สุด นำไปสู่อัตราการรอดชีวิตที่สูงที่สุดนั่นเอง
“เพิ่มทรัพยากรให้เพียงพอให้ได้”
ในขณะที่ทีมระบาดสกัดโรคไว้ ทีมรักษาทำหน้าที่ช่วยชีวิตผู้คน ทีมสนับสนุนก็ต้องรีบทำงานของตน นั่นคือการหาทรัพยากรให้เพียงพอให้จงได้
แต่ทรัพยากรไม่ใช่เพียงหน้ากากอนามัย แต่รวมถึงวัสดุ อุปกรณ์ และบุคลากรจำนวนมาก
จากการวิเคราะห์ ทรัพยากรที่ถือเป็นจุดตัดสินในวิกฤติการระบาด มีอยู่ 3 สิ่งที่น่าสนใจ
1. ชุดป้องกันเชื้อโรค (PPE level C)
ชุดคลุมพลาสติกป้องกันเชื้อ ที่ใส่แล้วดูคล้ายนักบินอวกาศ ชุดเช่นนี้แม้ราคาไม่สูง วันหนึ่ง ๆ ผลิตได้มาก แต่เพราะใช้แล้วทิ้ง จึงใช้จำนวนมาก เมื่อเกิดการระบาด ย่อมประสบปัญหาเช่นหน้ากากอนามัยในขณะนี้
ช่วงแรกรัฐบาลจีนเรียกชุดชนิดนี้จากโรงพยาบาลทั่วประเทศ มอบให้โรงพยาบาลในอู่ฮั่น จากนั้นเร่งผลิตเพิ่มเติมสุดกำลัง และแจกจ่ายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม
น่าสนใจว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จในการเรียกชุดป้องกันเช่นนี้จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้อย่างไร ในเมื่อนี่คืออุปกรณ์ป้องกันความตาย ย่อมต้องมีคนดื้อดึงเก็บไว้ หลายคนมองว่าเพราะเป็นเผด็จการจึงทำได้ ขณะอีกหลายฝ่ายมองว่า เพราะประชาชนมีความเชื่อมั่นว่ารัฐจะจัดหาให้ทันนั่นเอง
ทั้งนี้ N95 เป็นส่วนประกอบหนึ่งของชุดชนิดนี้
2. เครื่องช่วยหายใจ
ผู้ป่วย COVID-19 ที่อาการหนัก จะเกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมา ก่อนจะแย่ลงเรื่อย ๆ จนเสียชีวิตไป เครื่องช่วยหายใจ จึงกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะเปลี่ยนลิขิตเป็นตาย
อาจเพราะจีนมีฐานการผลิตเครื่องช่วยหายใจ จึงสามารถจัดซื้อเกือบหมื่นเครื่องในเวลาอันสั้นได้ แม้กระนั้นยังมีช่วงไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ในขณะที่ประเทศเรายังคงวนเวียนกับหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ช่วยชีวิตของจริงอย่าง “เครื่องช่วยหายใจ” กลับยังไม่มีความเคลื่อนไหวในการจัดหาเพิ่มเติม ยิ่งหากวิกฤติ pm 2.5 ยังไม่คลี่คลาย เครื่องช่วยหายใจถูกใช้จนหมดในหลาย ๆ โรงพยาบาล การจัดหาเพิ่มเติมไม่อาจทำได้ เช่นนั้นจะทำอย่างไร
3. บุคลากร
ในขณะที่ 2 ข้อแรกเป็นสิ่งที่เงินยังพอซื้อได้ แต่สิ่งสำคัญเช่นบุคลากรไม่อาจหาซื้อ
หลายท่านคงได้ยินเรื่องจีนทุ่มทุนสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ถึง 2 แห่ง สำหรับดูแลผู้ป่วย COVID-19 โดยเฉพาะ แม้ภายนอกดูน่าตื่นใจ แต่สิ่งสำคัญกลับอยู่ภายใน โรงพยาบาลแห่งนี้คือยุทธศาสตร์สำคัญในการบริหารทรัพยากร
จีนได้แยกกลุ่มผู้ป่วย COVID-19 ออกจากผู้ป่วยอื่น และแยกกลุ่มผู้มีอาการรุนแรงออกจากกลุ่มไม่รุนแรง เพื่อง่ายต่อการจัดสรรและบริหารทรัพยากร
โดยเฉพาะบุคคลากร
โรงพยาบาลดังกล่าวนี้ มีทีมแพทย์พยาบาลเป็นการเฉพาะ กินนอนที่โรงพยาบาลนี้ ทำงานแต่เฉพาะที่นี้ หนึ่งเพื่อควบคุมสืบสวนได้ง่ายหากเกิดติดเชื้อ อีกหนึ่งเพื่อฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าว มีประสบการณ์ในการดูแลโรคที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน เพื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ภายนอกต่อไปได้
เมื่อความชำนาญเกิดขึ้น การทำงานยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพ เมื่อร่วมกับการบริหารทรัพยากรที่ลื่นไหล การรักษาพยาบาลย่อมครอบคลุมและเข้มแข็ง นั่นทำให้อัตราตายของ COVID-19 ในช่วงแรกที่สูงถึง 17.3% กลับลดลงเหลือเพียง 0.7% ในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ WHO ถึงกับเตือนว่า อัตราตายที่ดูต่ำมากนี้ มิได้หมายความว่าโรคร้ายแท้จริงดีแต่อย่างใด แต่เพราะการดูแลผู้ป่วยและระบบสนับสนุนของจีน เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดเวลาที่ผ่านไป จึงทำให้เหตุการณ์ที่ควรเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ กลายเป็นเพียงฉากเศร้าสั้น ๆ ที่ทุกคนจะผ่านมันไปได้แน่นอน
จะเห็นได้ว่าการรักษาโรคหนึ่งว่ายากแล้ว การรักษาโรคหนึ่งที่เกิดการระบาดยิ่งยากกว่า เพราะไม่เพียงทีมระบาดและทีมรักษา ยังต้องการทีมสนับสนุนที่แข็งแกร่งมั่นคง
นั่นคือสาธารณสุข เอกชน ประชาชน ต้องร่วมมือกัน ใต้รัฐบาลที่เข้มแข็ง ฉับไว เด็ดขาด รอบด้าน คิดถึงประชาชนเป็นหลัก เป็นรัฐบาลที่เราเชื่อถือเท่านั้น
จึงจะรอดพ้นผ่านไปได้
ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในวิกฤติครั้งใหญ่ เราอาจมีทีมระบาดที่ดี มีทีมแพทย์ที่เยี่ยม แต่การจัดหาทรัพยากรกลับกลายเป็นข้อสงสัย
ดูเหมือนสิ่งที่เราทำได้ ยังคงเป็นการดูแลตัวเอง และให้กำลังใจทุกฝ่าย ที่ต่อสู้เพื่อประเทศอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
แล้วเราจะผ่านไปด้วยดี..ด้วยกัน
ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร
อ้างอิง
Report of the WHO-China Joint Mission on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)
ความเห็น 6
Kawinna
ถ้าจีนเชื่อหมอคนที่ออกมาโพสต์เตือนตั้งแต่ปลายธันวา แล้วทำอะไรบ้างจะลดได้เร็วกว่านี้อีก นี่หมอคนนั้นกับเพื่อนถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่ให้ปิดปาก สุดท้ายแกติดเชื้อตายอีก น่าสงสารมาก
10 มี.ค. 2563 เวลา 08.35 น.
ตราบใดที่ยังมีคนที่ขาดสามัญสำนึกและให้ความร่วมมือเพื่อสังคมก็คงจะยากหน่อย.
10 มี.ค. 2563 เวลา 04.22 น.
ราตรีนี้โรคนี้ยังอีกยาว
10 มี.ค. 2563 เวลา 03.24 น.
surapoom
ก็ใช่ล่ะ ประเทศเสรีอย่างอเมริกาถึงได้ติดเชื้อเป็นอันดับ 1ของโลกจนบัดนี้เพราะถือว่าปิดเมือง/ประเทศเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพพลเมือง ก็ปิดแค่ไม่กี่เดือนจะเป็นไรไป งั้นก็ให้มันติดโรคอยู่อย่างนั้นต่อไปล่ะ
09 พ.ค. 2563 เวลา 04.04 น.
กุเกลียดมึงคนไม่ดี
ไอ้ที่ปิดไม่มีพกผ้าเช็ดหน้าก่อนวันนี้เจอมันจ่ามออกมาแล้วเช็ดกับราวเหล็กรถโดยสารแทนที่มันจะเช็ดกางเกงมันสกปรกจริง
10 มี.ค. 2563 เวลา 03.06 น.
ดูทั้งหมด