โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เล่าเรื่อง “สมุดชมพู” คู่มือประจำตัวของครอบครัวประจำบ้าน - เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 10 ก.พ. 2563 เวลา 17.05 น. • เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

เมื่อไม่นานมานี้ เรามีโอกาสได้อ่านและช่วยเพื่อนคนหนึ่งดู “สมุดชมพู” หรือชื่อเต็ม ๆ คือสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ที่คุณแม่ ๆ จะได้รับมาตอนไปฝากครรภ์ค่ะ และพบว่ามัน…

น่ารักมาก !

หลายท่านที่ยังโสดอาจไม่เคยเห็นสมุดนี้ แต่ใครที่ลงจากคานแล้ว วางแผนมีน้องกันแล้ว รับรองว่าต้องเคยเห็นผ่านตามาบ้าง มันคือสมุดสีชมพูสุดน่ารักอันโด่งดังนั่นเองค่ะ

หลังจากช่วยเพื่อนอ่านและติ๊กช่องนั้นช่องนี้ เราก็พบว่ามันเป็นคู่มือที่ดีและน่าสนใจมากจริง ๆ ถึงจะยังโสด แต่ข้อมูลในนั้นก็มีประโยชน์ เผื่อมีลูกมีหลานได้ใช้แน่ ๆ ค่ะ

สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กของประเทศต่าง ๆ 
สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กของประเทศต่าง ๆ 

เรื่องมีอยู่ว่า สมัยก่อนที่การแพทย์ไม่ก้าวหน้า เรามีอัตราการตายของมารดาและทารกสูงมาก หรือพูดให้แสลงหูคือ คลอดลูกแล้วเด็กตาย  หรือแม่ตาย หรือตายทั้งกม สำหรับสมัยนี้ที่แทบไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นแล้ว เรื่องพวกนี้ดูไกลตัวและน่ากลัวมาก แต่สมัยก่อนนั้น การตายเป็นเรื่องที่คู่กับการคลอดเลยทีเดียว

ย้อนไปปี 1947 ขณะนั้นญี่ปุ่นเพิ่งแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยากจน ทั้งด้อยพัฒนา เพื่อวางแผนให้ประเทศก้าวหน้าและกลับมาเกรียงไกร ผู้นำญี่ปุ่นยุคนั้นจึงเน้นหนักเรื่องการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่อย่างมาก

แต่ขณะนั้นญี่ปุ่นมีอัตราตายของเด็กแรกคลอดสูงถึง 76 คนจาก 1,000 คน รัฐบาลญี่ปุ่นขณะนั้นจึงริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพียงไม่กี่ปีให้หลัง อัตราตายของเด็ก ๆ ก็ลดลงมาก ในปี 1960 เหลือตายเพียง 30 คน ลดลงกว่าครึ่ง และในปี 1980 ก็ลดลงเหลือไม่ถึงสิบคน

เด็ก ๆ ที่เกิดมามีคุณภาพขึ้นตามลำดับ และอีกไม่ถึงชั่วอายุคนให้หลัง ญี่ปุ่นก็กลายเป็นประเทศเจริญแล้วที่รุดหน้าทุกด้านสมความตั้งใจ

รัฐบาลญี่ปุ่นทำอย่างไร ?

หนึ่งในสาเหตุใหญ่คือ การที่ญี่ปุ่นจัดทำ “สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก” (Maternal and Child Health Handbook; MCHH) นั่นเอง

ประเทศไทยก็มีแนวคิดนี้เช่นกัน

หลังเริ่มใช้สมุดชมพู (ที่ตอนแรกเป็นสีอื่น) ในปี 1985 อัตราตายของทารกแรกคลอดในประเทศไทย ก็ลดลงจาก 40.7 คน มาเหลือ 11.3 คน ในเวลาเพียง 20 ปี

สมุดชมพูที่ดูน่ารัก แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดที่ไม่ธรรมดา

“สมุดชมพู” ประเทศไทยฉบับล่าสุด 
“สมุดชมพู” ประเทศไทยฉบับล่าสุด 

ภายในสมุดชมพู มีเนื้อหาอะไรอยู่บ้าง

ภายในสมุดชมพูแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนของมารดาตั้งครรภ์ และส่วนของลูกน้อย นั่นคือเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ไปจนลูกคลอด ลูกโต โดยเนื้อหาส่วนของลูกจะยาวถึงอายุ 5 ปี แต่หากดูท้ายเล่มตรงส่วนการบันทึกวัคซีน จะมีช่องบันทึกถึงอายุ 12 ปี 

เรียกว่ายาวนานใช้ได้ แต่ถือว่ายังไม่มาก เพราะสมุดแบบเดียวกันนี้ ในบางประเทศถึงกับใช้จนมอบให้ลูกในวันแต่งงาน ยาวนานมากจริง ๆ

แล้วเนื้อหาภายในมีอะไรบ้าง

หากดูตามสารบัญ จะแบ่งเป็น 3 ช่วงค่ะ 

ช่วงแรกเกี่ยวกับมารดาตั้งครรภ์ โดยจะมีทั้งส่วนให้เจ้าหน้าที่กรอก เกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของเรา เน้นหาความเสี่ยงที่แอบซ่อนอยู่ จากนั้นจะมีส่วนที่คุณหมอใช้ เมื่อตรวจครรภ์แล้วก็จะลงบันทึกไว้เป็นภาษาหมอ ตรงส่วนนี้เมื่อเราเกิดเหตุไม่สบาย ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ คุณหมอคนถัดมาสามารถอ่านประวัติเราจากตรงนี้ได้

ทั้งนี้ ส่วนนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ให้อ่านด้วย ครอบคลุมทั้งอาหารการกิน การปฏิบัติตัว ภาวะซึมเศร้า และการนับลูกดิ้น

เนื้อหาของช่วงนี้จะจบลงพร้อมกับการคลอด

ช่วงที่ 2 จะเริ่มเกี่ยวกับลูกน้อย โดยเน้นหนักด้านการเจริญเติบโต มีกราฟบันทึกส่วนสูงน้ำหนัก โดยเมื่อพล็อตกราฟแล้วสามารถดูได้ว่า ลูกเราอยู่ระดับไหน ผอมไป อ้วนไป หรือสมส่วน เนื้อหามาพร้อมคำแนะนำเรื่องอาหารการกิน ภาพอาหารสวยงามน่ากินมาก

สุดท้ายช่วงที่ 3 เป็นการให้ความรู้เป็นหลัก มีหลายหัวข้อมาก ครอบคลุมทั้งการปฏิบัติตนของพ่อแม่มือใหม่ อาหารการกิน โภชนาการของลูก พัฒนาการของลูกตามช่วงอายุ การเจ็บป่วยและการป้องกันอุบัติเหตุ และสุดท้ายบันทึกวัคซีน 

โภชนาการของลูกน้อย 
โภชนาการของลูกน้อย 

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ช่วงเน้นหนักเรื่องโภชนาการมาก เพราะเปิด ๆ ไปไม่กี่หน้า เดี๋ยวมีคำแนะนำเรื่องอาหารมาอีกแล้ว แถมลงลึกถึงขั้นกินสปาเกตตี้ลวก 1 ทัพพี - ขนมจีน 1 จับ - เต้าหู้อ่อน 6 ช้อน - เต้าหู้แข็ง 2 ช้อน ละเอียดกันถึงขั้นนี้ ยิ่งอ่านยิ่งหิวเลยค่ะ

เมื่อมองย้อนไป สมุดชมพูนี้ถูกสร้างขึ้นโดยหวังว่า ครอบครัวจะผลิตลูกน้อยที่กลายเป็นอนาคตที่ดีของชาติได้  โภชนาการซึ่งมีผลต่อสมองจึงถูกเน้นหนักนั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น หากเราลองอ่านสมุดชมพูหลาย ๆ ฉบับ (สมุดชมพูจะปรับปรุงทุก 3 ปี) เราจะพบว่าเนื้อหาบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น ฉบับเก่า ๆ จะเน้นเรื่องธาลัสซีเมีย (โรคเลือดจางจากกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่ง) มาก ในขณะที่ฉบับใหม่เน้นเรื่องอุบัติเหตุ ซึ่งสอดคล้องกับสถิติสาเหตุการตายของเด็กในปัจจุบัน

เนื้อหาในสมุดชมพูนั้น สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของเด็ก ๆ ในประเทศนั่นเอง 

และสุดท้ายที่จะลืมไปไม่ได้ บันทึกวัคซีนท้ายเล่ม เมื่อพาลูกไปฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่จะลงบันทึกให้ค่ะ ว่าฉีดตัวไหน เมื่อไหร่ ซึ่งควรบันทึกในที่เดียวกันเพื่อให้เห็นความต่อเนื่อง

สถานพยาบาลบางแห่งที่ไม่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข อาจใช้บันทึกรูปแบบอื่น ซึ่งก็สามารถใช้ได้ แต่หากเราบันทึกที่นั่นที ที่นี่ที เมื่อลูกโตขึ้นและจำเป็นต้องใช้ จะสับสนและพลาดโอกาสได้

ที่ต่างประเทศ การเข้าเรียนหรือเข้าทำงาน จำเป็นต้องสำแดงบันทึกวัคซีนที่ครบบริบูรณ์ ซึ่งคือสมุดชมพู หรือการ์ดวัคซีนนั่นเองค่ะ


แม้สมุดชมพูจะมีประโยชน์มาก แต่คนไทยก็อ่านหนังสือไม่มากนัก

สมัยก่อนเคยมีการสำรวจว่า มารดาได้อ่านสมุดชมพูที่แจกให้หรือไม่ ผลปรากฏว่าอ่านกันเพียง 14.3% เท่านั้น ซึ่งต่ำจนน่าตกใจ แต่เมื่อมีการสำรวจอีกครั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พบว่าอ่านกันมากขึ้นถึง 65% จึงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี

เนื้อหาส่วนที่คนชอบอ่านมากที่สุด คือเรื่องโภชนาการ ในขณะที่การติดเชื้อ HIV จากมารดาสู่ทารก มีคนอ่านน้อยมาก อาจเพราะรู้สึกไกลตัวก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่อ่านสมุดชมพูเลย ให้เหตุผลว่า อยากหาความรู้จากแหล่งอื่นมากกว่า, รู้สึกว่าสมุดชมพูไม่น่าอ่าน และอีกส่วนงานยุ่งเกินไปจึงไม่ได้อ่าน เรียกว่าต่างคนก็ต่างความคิด แต่ถ้าว่างเมื่อไหร่ ลองอ่านสมุดชมพูดูบ้างก็คงไม่เสียหาย

แต่สมุดชมพู ไม่ได้หยุดอยู่แค่มารดาชาวไทยเท่านั้น

สมุดชมพูของมารดาในศูนย์อพยพ 
สมุดชมพูของมารดาในศูนย์อพยพ 

นอกจากฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีสมุดชมพูรุ่นปรับปรุงพิเศษ ที่ใช้ภาษาพม่าเป็นหลัก และมีการปรับเปลี่ยนรูปการ์ตูนภายในให้สอดคล้องกับบริบทของผู้รับ แจกจ่ายให้กับหญิงตั้งครรภ์ในศูนย์อพยพตามตะเข็บชายแดน 

สมุดชมพูรุ่นนี้ด้อยกว่าฉบับภาษาไทยมาก มีเนื้อหาน้อยมาก ทั้งไม่ค่อยอัปเดตเท่าไหร่

ปีที่ผ่านมามีงานวิจัยฉบับหนึ่ง เข้าสำรวจหญิงตั้งครรภ์ด้อยโอกาสเหล่านี้ พบว่าพวกเธอเก็บสมุดชมพูไว้อย่างดีมาก ประหนึ่งเป็นของล้ำค่า

บางคนที่อ่านหนังสือออก ก็พยายามอ่านจนจบ บางคนที่อ่านหนังสือไม่ออก ก็ขอให้สามี ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่คนรู้จักที่พออ่านได้ อ่านให้

และหลาย ๆ คนใฝ่ฝัน อยากได้สมุดชมพูแบบฉบับภาษาไทยที่ทั้งหนา ทั้งสวยงาม ทั้งครบครันกว่า แต่ในสภาพแวดล้อมที่จำกัดเช่นนี้ คงยากที่จะเป็นไปได้


แม้ว่าสมุดชมพูจะถูกใช้อย่างแพร่หลาย มีรูปแบบน่ารัก และมีเนื้อหาภายในดีเยี่ยม แต่สมุดชมพูก็ยังต้องปรับปรุงต่อไป

“สมุดชมพู” หรือ “สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก” จะถูกปรับปรุงทุก ๆ 3 ปี ในแต่ละครั้งที่ปรับปรุง จะปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศในขณะนั้น โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก เป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติ ให้เติบโตมาฉลาดเฉลียว แข็งแรงสมวัย

ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหาของสมุดชมพูจะได้สะท้อนภาพประเทศไทยในแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ

 

หมายเหตุ ขณะที่กำลังหาข้อมูลสมุดชมพูอยู่นั้น ก็มีคุณหมอสูติฯ เล่าว่า การจัดหน้ากระดาษของสมุดชมพู ในส่วนของเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทำให้บันทึกยาก เปิดหาข้อมูลยาก จนหลายโรงพยาบาลเปลี่ยนมาใช้แบบบันทึกของตนเอง หญิงตั้งครรภ์บางส่วนเลยไม่มีสมุดชมพูไว้อ่าน แต่หากปรับปรุงส่วนนี้ได้ก็จะดีมาก

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากเพจวันนี้ชั้นติ่งอะไรได้ทุกวันอังคารที่ 2 และ 4 ของเดือนบน LINE TODAY และสามารถอ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่เพจวันนี้ชั้นติ่งอะไร

 

อ้างอิง

  • Atthakorn W, Saksiriwuttho P. Percentage of Pregnant Women Reading the Maternal and Child Health Handbook and Associated Factors at Srinagarind Hospital. Thai Journal of Obstetrics and Gynaecology. 2019 Mar 31:22-8.
  • Brzezinski A, Name M, Morley K. Scholarly Report submitted in partial fulfillment of the MD Degree at Harvard Medical School Scholarly Report Title: Developing mHealth System to Improve Health Services for the Burmese Migrant Population Living in the Mae Sot Region of Thailand. 2019. 
  • Isaranurug S. Maternal and child health handbook in Thailand. 国際保健医療. 2009;24(2):61-6.
  • Nakamura Y. Maternal and child health handbook in Japan. Jmaj. 2010 Jul;53(4):259-65.

 

ภาพ

สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก

https://www.mchhandbook.com/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0