เด็กไทยอยากใส่ “ชุดไปรเวท” ไปโรงเรียน ตื่นรู้เรื่อง “เสรีภาพ” แล้วตระหนักรู้เรื่อง “กาลเทศะ” กันแค่ไหน?
รั้วม่วงทองทำสะเทือนแวดวงการศึกษา. ด้วยชุดไปรเวทวันอังคาร. หวั่นลุกลามไปถึงผลประโยชน์หมื่นล้านต่อปีของธุรกิจขาสั้นคอซอง. คนเรียนไม่เดือดร้อน. คนหัวร้อนไม่ได้ไปเรียน. โรงเรียนชายยังขนาดนี้โรงเรียนหญิงจะขนาดไหน.
เมื่อโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ภายใต้การนำทัพชาว “ชงโค” โดยท่านผู้อำนวยการโรงเรียน “นายศุภกิจจิตคล่องทรัพย์” ได้เบิกกระแสมีนโยบายให้นักเรียน สวมใส่ชุดไปรเวท ( Casaul Cloths Day ) ทุกวันอังคาร เพื่อติดตามผลการวิจัย ว่า นักเรียนมีความสุขมากขึ้นหรือไม่ โดยใช้เวลา 6 สัปดาห์ที่เหลือในการพัฒนาแนวทางในอนาคต
แม้เป็นเรื่องเล็กและ “ไปรเวท” กันเฉพาะโรงเรียนหนึ่ง แต่กลับนำไปสู่ประเด็นถกเถียงเป็นวงกว้าง บ้างก็เห็นดีงามและวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยมของผู้อำนวยการ ในขณะซึ่งเสียงอีกไม่น้อยพร้อมจะต่อต้านถ้าสถานการณ์ลามทุ่งไปสู่การเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นปฏิบัติตาม
ให้โลกรู้ความเป็นตัวเรา นักเรียนต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การใส่ชุดไปรเวท แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริงให้ทุกคนได้รับรู้ “ความเป็นตัวเอง” สำคัญมากแค่ไหน มีผลอย่างไรกับการดำเนินชีวิต สิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่โรงเรียนต้องเก็บมาเพื่อทำวิจัย อันจะนำไปสู่การหาคำตอบที่สงสัยไว้ ว่า การเป็นตัวเอง สร้างความสุขให้นักเรียนได้มากขึ้นจริงหรือไม่ การเป็นตัวเองในวันเสาร์อาทิตย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน พวกเขาต้องการให้เพื่อนและครู ได้รับรู้ตัวตนของเขา ในแบบที่เขาเป็นผ่านเครื่องแต่งกาย
ชงโคไม่ใช่ที่แรก โรงเรียนอมาตยกุล และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกร่องในเรื่องของการใส่ชุดไปรเวทในบางวันไปก่อนหน้านี้แล้ว และก็ดำเนินไปด้วยดี แต่กรุงเทพคริสเตียนเป็นโรงเรียนใหญ่ในเครือ จตุรมิตร ( สวนกุหลาบวิทยาลัย / อัชสัมชัญ / กรุงเทพคริสเตียน / เทพศิรินทร์ ) การเคลื่อนไหวย่อมเป็นข่าว อีกทั้ง มันหมิ่นเหม่ว่า เป็นการสร้างกระแสนิยมในตัวโรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนที่ได้เลือกกรุงเทพคริสเตียน ไว้เป็นที่เรียนใหม่หรือไม่ เพราะกิจกรรม มาก่อนช่วงเวลาของการสมัครเรียน และปิดเทอมใหญ่ จึงสร้างความกังขาเกิดขึ้น
ข้อดีของเครื่องแบบ แม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษ ก็เห็นความสำคัญในชุดเครื่องแบบ เพราะว่าเครื่องแบบนั้น แยกแยะนักเรียนออกจากหมู่คนทั่วไป ป้องกันการแปลกปลอม และนักเรียนในเครื่องแบบมักได้รับความเมตตาจากผู้คนมากกว่า อีกทั้งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดทอนเวลาในการแต่งตัวตอนเช้า ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายกว่าการใส่ชุดไปรเวท แม้กระทั่งการแสดงทัศนคติลงคะแนนผ่านโพลของหลายสำนักล่าสุดในประเทศฝรั่งเศส ประเทศที่ได้ชื่อว่าเสรีทางความคิดมากที่สุดในโลก ก็กลับมีความอยากให้การนำเครื่องแบบนักเรียนกลับมาใช้อีกครั้ง
เฉลียงห้องเรียนคือแคทวอล์ก เมื่อนักเรียนใส่ใจกับการแต่งตัวมากขึ้น วัยฮอร์โมนมีความรัก ต้องการการดึงดูดจากผู้คน เหล่านี้เป็นส่วนที่นักวิชาการทั่วไปในสยามมักกลัว สภานักเรียนเอง ก็มีระเบียบการแต่งกายในชุดไปรเวท ให้อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น อันได้แก่ ไม่ใส่เสื้อกล้าม ไม่ใส่เสื้อแขนกุด ไม่ใส่รองเท้าแตะ เพื่อให้เกียรติสถานที่
คอสเพลย์กินรอบวง เมื่อภาพวันแรกของการแต่งกายตามใจฉันออกมา ทุกหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อโลกออนไลน์จะโฟกัสไปที่แฟชั่นอันล้ำสายตา โดยเฉพาะหนุ่มน้อยหุ่นเจ้าเนื้อในชุดสีเหลืองสดที่โดดเด่นดึงสายตาไปยังเขาคนเดียว จนเกิดคำถามในใจว่า นี่คือชุดที่ใส่ไปโรงเรียนจริงหรือ เมื่อเด็กอยากเอาวันเสาร์อาทิตย์ของตนมาให้เพื่อนเห็น กรอบของสภานักเรียนจึงควรต้องหารือกับแนวทางของโรงเรียน ว่าเขาจะเผยตัวตนได้แค่ไหน การเห็นชอบร่วมกันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในการทดลอง
อันตรายชุดไปรเวท ที่เห็นชัดที่สุดคือ คนภายนอกสามารถแปลกปลอมเข้ามาในโรงเรียนได้ เราจะเห็นได้ชัดในโรงเรียนของสหรัฐอเมริกาที่เกิดเรื่องร้ายขึ้นบ่อยครั้ง จนต้องนำมาสู่การคัดกรองคนเข้ารั้วโรงเรียนอย่างเคร่งครัด ในขณะที่อันตรายทางจิตใจ คือ การถูกแบ่งแยกด้วยเกรดวรรณะของการแต่งกาย ราคาของเสื้อผ้า ความใหม่เสมอของมัน ตลอดจนการเบนความสนใจจากปัจจัยสี่อย่างเครื่องนุ่งห่ม ไปเป็นเครื่องตอบสนองความต้องการให้สังคมยอมรับแทน
โรงเรียนสตรีไม่มีหวัง เพราะชุดไปรเวทอาจนำมาซึ่งสถานการณ์ Mean Girls เพราะจะมี "เรจิน่า จอร์จ" อยู่ในทุกโรงเรียนหญิง ( Regina George ตัวละครดังจากภาพยนตร์ฮิต ซึ่งมีบุคลิกลักษณะในการเหยียดคนอื่นเรื่องของการแต่งตัว และรสนิยมแฟชั่น ) ดังนั้นการให้นักเรียนหญิง ได้แต่งกายในแบบของตัวเอง อาจสร้างความเคลื่อนไหวของสังคมในทางลบมากกว่านักเรียนชาย ความหวังของนักเรียนหญิงที่จะได้แต่งตัวสวยไปเดินหน้าห้องดนตรีไทย หรือใส่กางเกงยีนตัวเก่งนั่งที่โรงอาหาร อาจเป็นเพียงแค่เรื่องเพ้อเจ้อที่ยังเกิดไม่ได้ในยุคฟ้าสีทอง อย่างน้อยก็ไม่ใช่ใน 5-10 ปี นี้ เพราะผู้หญิงมีความเอาชนะกันด้วยพื้นฐานทางจิตวิทยาสูงกว่า อีกทั้งความปลอดภัยในเครื่องแบบอันมักต้องตกเป็นวัตถุทางเพศ ความเป็นตัวเองของผู้หญิงจึงมักถูกลืมไว้ยังบ้าน และมีไว้ให้เฉพาะวันเสาร์วันอาทิตย์เท่านั้น
ชุดไปรเวท มีมนตราของมัน อาจทำให้แรงกดดันในมโนสำนึกของเด็กคนหนึ่งลดน้อยลง เขาอาจออกจากบ้านไปมีวันดีงามด้วยเสื้อยืดตัวโปรด ทำกิจกรรมที่เขารักด้วยกางเกงยีนตัวเก่ง เตะฟุตบอลด้วยรองเท้ากีฬาเสียที ยืนรอรถเมล์ด้วยชุดเท่ให้สาวเหลียว ชุดไปรเวทจึงอาจจะสร้างความสุขให้เด็กนักเรียนได้โดยแท้ อะไรมันจะดีแก่ผู้ใหญ่ไปเสียกว่า การเห็นอนาคตของชาติอุดมไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกันเล่า..
picture credit
- Jaturamith Board
- Kapook.com
ความเห็น 105
BEST
ความคิดผม ผมว่าไม่เห็นด้วยครับ เพราะเรามองดูพฤติกรรมเด็กแล้ว ที่อยากใส่ชุดไปรเวทเพราะ ต้องการอยากใส่เสื้อผ้าตามแฟชั่น อยากดูดีในสายตาเพื่อนๆ ขนาดใส่ชุดนักเรียน ยังแต่งหน้าแต่งตาเลย แล้วถ้าชุดไปรเวทเข้ามา จะอวดกันขนาดไหน แล้วเวลาทั้งหมดก็จะเอาไปลงที่การอวดว่าใครจะดูดีกว่าแน่นอน ไม่มีทางที่จะใส่ใจการเรียนเพิ่มขึ้นเลย ตรงกันข้าม จะทำให้การเรียนเสียเพิ่มขึ้นไปอีก ผู้ใหญ่คงจะรู้ดีนะครับ ว่าเรามองเด็กๆออกขนาดไหนกับพฤติกรรมของเด็กๆที่แสดงออก ยิ่งช่วงกำลังคิดว่าตัวเองเข้าสู่วัยรุ่น ยิ่งเกิดผลเสียตามมา
14 ม.ค. 2562 เวลา 04.12 น.
l e o
BEST
พ่อแม่จะได้รู้ว่า 1-3 ปีซื้อแค่ชุดนร. ชุดพละ อาจจะแค่ 5-10 ชุดตามแต่ขนาดการเจริญเติมโตของลูก
แต่ถ้าชุดไพรเวท ปีนึงไม่ต่ำกว่า 30-60 ชุดแน่นอน
14 ม.ค. 2562 เวลา 04.01 น.
🐎Watcharakiat🇹🇭
BEST
ไม่เห็นด้วยครับ ชุดนักเรียนมันแสดงถึงวินัยในตัวเด็กถ้าแค่ชุดยังเรียกร้องต่อไปอนาคตทุกอาชีพก็ใส่ไปรเวทกันหมด หมอ ข้าราชการ พนักงาน สาวโรงงาน ฯลฯ
14 ม.ค. 2562 เวลา 03.55 น.
littlesheep
หาภาระเพิ่มให้ผู้ปกครอง
14 ม.ค. 2562 เวลา 04.27 น.
จอช
อีกปัญหาที่จะเจอคือ พออนุญาติให้ใส่ชุดไปรเวทได้ จะมีบางคนที่ไม่รู้จัดกาลเทศะ ความเหมาะสม อ้างหลีหูแหลดตุด สารพัด จริงๆ เด็กไทยมันยังงั้นไง
14 ม.ค. 2562 เวลา 04.08 น.
ดูทั้งหมด