โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ประวัติศาสตร์โรยน้ำตาลไอซิ่ง - ว่าด้วยเค้กแต่งงานของราชวงศ์อังกฤษในยุควิกตอเรีย - เพจพื้นที่ให้เล่า

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 17 เม.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • เพจพื้นที่ให้เล่า

เค้กแต่งงาน เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของการเริ่มต้นชีวิตคู่ รู้หรือไม่ว่าเค้กสีขาวจำนวนหลายชั้นแบบที่เราเห็นกันในงานแต่ง มีประวัติศาสตร์ย้อนไปไกลตั้งแต่สมัยควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษ 

สำหรับชาวอังกฤษเค้กแต่งงานและการตัดเค้กเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นกิจกรรมแรกที่บ่าวสาวได้กระทำร่วมกันในฐานะสามีภรรยา ในขณะที่เค้กแต่งงานของสามัญชน มักเป็นเค้กรสโปรดของคู่แต่งงาน เค้กงานแต่งของบรรดาสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ มีข้อกำหนดหนึ่งที่เหมือนกัน คือต้องเป็นเค้กผลไม้ และใช้การตกแต่งเป็นสีขาวทั้งหมด 

เค้กแต่งงานของเจ้าชายแฮรรี่และแกน มาร์เคิล ถือเป็นครั้งแรกที่ไม่เลือกทำตามประเพณีนี้ ทั้งคู่เลือกใช้เค้กเลมอนและดอกเอเดอร์ - Lemon elderflower cake แทน แต่ก็ยังใช้การตกแต่งด้วยสีขาวโดยใช้การประดับด้วยบัตเตอร์ครีมและดอกไม้สด

การใช้เค้กผลไม้ในงานสำคัญสามารถย้อนกลับไปไกลตั้งแต่ยุคกลาง ชาวอังกฤษมักอบเค้กที่ว่าในพิธีฉลองที่มีความสำคัญสูงสุดอย่างเทศกาลคริสตร์มาส สำหรับราชวงศ์ เค้กผลไม้ไม่เพียงแสดงถึงความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง (เพราะส่วนผสมอย่าง ผลไม้แห้ง เครื่องเทศ และแอลกอฮอล์ ถือเป็นของหรูหราในยุคก่อน) อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ คือเค้กผลไม้นั้นสามารถเก็บไว้ได้นาน เหมาะกับการตกแต่งเค้กอย่างหรูหราที่ต้องใช้เวลาเตรียมการหลายวัน (หรือบางครั้งก็หลายเดือน) ทีมงานอบขนมเค้กที่ใช้ในงานแต่งของเจ้าชายวิลเลียมและเคท มิดเดิลตัน กล่าวว่าพวกเขาอบเค้กไว้ก่อนพิธีจริงถึงสองเดือน เพราะต้องการรอให้เค้กเซ็ตตัวอย่างดี จึงเริ่มขั้นตอนการตกแต่งที่ต้องอาศัยเวลาและความปราณีต

ส่วนการใช้สีขาวสำหรับเค้กแต่งงานมาจากความเชื่อในยุควิกตอเรียที่มองว่าสีขาวเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์และความหรูหรา เนื่องจากน้ำตาลทรายขาวในสมัยนั้นมีราคาแพงมาก และอังกฤษก็เป็นประเทศแรกที่ริเริ่มเค้กแต่งงานประดับตุ๊กตาน้ำตาลปั้น เค้กแต่งงานในยุควิกตอเรียนั้นนิยมใช้การตกแต่งตามองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบกรีก-โรมัน, บาโรกโกธิคและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ซึ่งให้ภาพลักษณ์ความหรูหราสมฐานะของคู่สมรส 

เค้กแต่งงานของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษมักมีขนาดใหญ่มากและมีหลายชั้น ส่วนใหญ่กะให้เสิร์ฟได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ที่ จึงมักมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 130 ไปจนถึง 220 กิโลกรัม (300-600 ปอนด์) การเสิร์ฟเค้กไม่จำเป็นต้องทำกันในงานเลี้ยงเสมอไป ในงานแต่งของเจ้าชายวิลเลียมกับ เคท มิดเดิลตัน เค้กแต่งงานของทั้งคู่ถูกตัดแจกจ่ายในตอนเช้าของงานแต่ง 

วันนี้เราจะพาย้อนเวลากลับไปชมภาพเค้กแต่งงานของบรรดาเจ้านายอังกฤษในยุควิกตอเรีย 

 

เค้กงานแต่งของควีนวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบวร์คและโกทา (1840)

เค้กแต่งงานของทั้งสองเป็นตัวอย่างของเค้กแต่งงานที่จะตามมาในยุคหลัง โดยใช้การตกแต่งเป็นสีขาวทั้งหมดจากน้ำมาร์ซิแพนและน้ำตาลไอซิ่ง ความน่ารักของเค้กก้อนนี้ นอกจากจะมีการปั้นโมเดลจำลองของบ่าวสาวในเครื่องแต่งกายแบบโรมัน ยังมีการปั้นสุนัขตัวโปรดของควีนวิกตอเรียลงไปเป็นส่วนประกอบ 

ควีนวิกตอเรียเขียนบันทึกในคืนวันแต่งงาน “คำขอบคุณเท่าไหร่ก็คงไม่พอสำหรับสามีที่ดีเช่นนี้ การถูกเรียกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนช่างเป็นความสุขที่เหลือเชื่อ ฉันมีความสุขมากเหลือเกินกว่าจะบรรยายไหว นี่เป็นวันที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของฉัน”

 

เค้กงานแต่งของเจ้าหญิงวิกตอเรีย และเจ้าชายฟรีดริช มงกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย (1858)

เจ้าหญิงวิกตอเรีย ลูกสาวคนโตที่ใช้ชื่อเดียวกับพระมารดา เป็นคนฉลาด ช่างคิด เป็นดวงใจและความภาคภูมิใจของพ่อแม่ ลูกสาวคนแรกของควีนวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ตเลือกคู่แต่งงานที่สง่างามสมฐานะ คือ เจ้าชายฟรีดริช ลูกชายคนเดียวของไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 แห่งเยอรมัน 

งานแต่งงานของทั้งสองเป็นงานใหญ่ของศตวรรษ เค้กหลายชั้นของเจ้าหญิงได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมโรมันและบาโรก ให้ความหรูหราที่สะท้อนผลสำเร็จทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าการฉลองความรักของคู่บ่าวสาว ควีนวิกตอเรียและเจ้าชายอัลเบิร์ตมองว่าลูกสาวผู้ชาญฉลาดจะมีส่วนสำคัญในการรวมชาติเยอรมัน (ซึ่งเป็นความฝันของเจ้าชายอัลเบิร์ตที่มีพื้นเพเป็นเจ้าชายเชื้อสายเยอรมัน) และนำพาประเทศใหม่ไปสู่การปกครองแบบเสรีนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ น่าเสียดายที่เจ้าชายฟรีดริชสิ้นพระชนม์หลังขึ้นครองราชย์เพียงไม่ถึงหนึ่งปี ลูกชายของทั้งสอง - ไกซอร์วิลเฮล์มที่ 2 เป็นหนึ่งในผู้นำสำคัญที่นำเยอรมันเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 

 

เค้กแต่งงานของเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ (กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งอังกฤษ) กับเจ้าหญิงอเล็กซานดร้าแห่งเดนมาร์ก (1863)

เอ็ดเวิร์ด ลูกชายคนโตของควีนวิกตอเรียนอกจากจะได้เจ้าสาวเป็นเจ้าหญิงที่ลือชื่อเรื่องความงามที่สุดองค์หนึ่งของยุโรป เค้กแต่งงานของทั้งสองพระองค์ยังเป็นเค้กที่มีการประดับประดาอย่างละเอียดที่สุดชิ้นหนึ่งของยุคสมัย การตกแต่งเค้กได้รับแรงบันดาลใจมาจากโบสถ์โกธิคที่ถูกดัดแปลงให้เป็นทรงกลมแทนที่จะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า  งานประดับประดาที่ละเอียดสวยงามทำให้นึกถึง Notre-Dame ของกรุงปารีส (ต่างกันที่ไม่มีกระจกสีเป็นเครื่องประดับ) 

คู่แต่งงานใหม่กลายเป็นขวัญใจของชาวอังกฤษตั้งแต่นั้น จากที่ประชาชนไม่ค่อยได้เห็นราชินีของตัวเอง (ควีนวิกตอเรียเป็นคนเก็บตัวและมักปรากฎกายอย่างเคร่งขรึมเพราะทรงไว้ทุกข์ให้เจ้าชายอัลเบิร์ตตลอดชีวิต) เจ้าหญิงและเจ้าชายแห่งเวลส์มักปรากฎกายด้วยเสียผ้าสีสันสดใสและทักทายประชาชนด้วยรอยยิ้ม เจ้าหญิงอเล็กซานดร้าผู้สวยหวานหยาดเยิ้มกลายเป็นที่รักใคร่ ไม่ว่าจะเสด็จไปไหนผู้คนก็ตั้งตารอ ไม่ว่าจะทรงสวมอะไรก็จะกลายเป็นแฟชั่นใหม่ในทันที และไม่ว่าจะทรงทำผิดพลาดไปบ้าง ประชาชนก็พร้อมจะให้อภัยอยู่เสมอ

 

เค้กแต่งงานของเจ้าหญิงเฮเลน่ากับจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-ออกัสเตนบูร์ก (1866)

ลูกสาวคนที่สามของควีนวิกตอเรียเป็นเจ้าหญิงที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด เธอได้รับคำบรรยายว่า ไม่สวย เชย น้ำหนักเกิน และมีคางสองชั้นตั้งแต่อายุ 15 ด้วยความที่ควีนวิกตอเรียไม่ต้องการให้ลูกสาวแต่งงานและย้ายไปใช้ชีวิตนอกอังกฤษอีก (เจ้าหญิงวิกตอเรียและเจ้าหญิงอลิซ ลูกสาวสองคนแรก แต่งงานและย้ายตามสามีไปเยอรมัน) คู่แต่งงานของเฮเลน่าจึงถูกจำกัดอยู่ที่ลูกชายคนรองของราชวงศ์สำคัญที่ไม่มีภาระหน้าที่และสามารถย้ายมาอังกฤษได้ตลอดชีวิต เจ้าชายคริสเตียนแห่งชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์-ซอนเดอร์บูร์ก-ออกัสเตนบูร์ก - ถูกเลือกมาตามข้อกำหนดข้างต้น เจ้าชายอายุมากกว่าเฮเลน่า 15 ปี และคิดว่าตัวเองถูกเรียกมาอังกฤษเพื่อแต่งงานกับควีนวิกตอเรีย ไม่ใช่ลูกสาว 

 

เค้กแต่งงานของเจ้าหญิงลูอีสกับจอห์น คัมป์เบลที่ 9 ดยุกแห่งอาร์กายล์  (1871)

ลูอีส ลูกสาวคนที่สี่ได้รับคำชื่นชมว่าสวยที่สุดในบรรดาลูกสาวทั้งหมดของควีนวิกตอเรีย งานแต่งของเจ้าหญิงแม้จะไม่ได้มีความสำคัญทางการเมืองเท่าเจ้าหญิงวิกตอเรีย - พี่สาวคนโต แต่ก็เป็นการแต่งงานที่มีความน่าสนใจสองอย่าง อย่างแรกคือเป็นงานแต่งครั้งแรกของเจ้าหญิงกับขุนนางรับใช้ในรอบหลายร้อยปี (การแต่งงานระหว่างเจ้าหญิงอังกฤษ กับชายที่มีฐานะทางสังคมต่ำกว่าครั้งสุดท้าย คือ งานสมรสของเจ้าหญิงแมร์รี่ (1496-1533) น้องสาวของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 กับ ชาร์ลส์ แบรนดอน ดยุคแห่งซัฟโฟล์คที่ 1 ) อย่างหลังคือควีนวิกตอเรียมองว่าการแต่งงานแบบนี้ จะเป็นการนำอังกฤษเข้าสู่ยุคใหม่ เพราะเป็นการนำสายเลือดใหม่ๆ เข้าสู่ราชวงศ์ เจ้าหญิงลูอิสเป็นลูกสาวที่มีความสามารถด้านศิลปะและเลือกเค้กแต่งงานทีสะท้อนความรักในงานปั้นของพระองค์ 

 

เค้กแต่งงานของเจ้าชายลีโอโพลด์และเจ้าหญิงเฮเลนาแห่งวัลเด็คและเพียร์ม็อนท์ (1882)

ลีโอโพลด์ลูกชายคนเล็กของควีนวิกตอเรียเป็นผู้โชคร้าย พระองค์ป่วยเป็นฮีโมฟีเลีย (โรคเลือดไหลไม่หยุด ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทรงได้รับมาจากพระมารดา)เนื่องจากไม่มีราชวงศ์ในยุโรปอยากนำโรคร้ายเข้าสู่ตระกูล เจ้าสาวของลีโอโพลด์จึงเป็นเจ้าหญิงจากราชนิกูลเล็กๆ ในเยอรมนี ทั้งคู่แต่งงานกันได้เพียงสองปี เจ้าชายลีโอโพลด์ก็สิ้นพระชนม์ ทรงมีอายุเพียง 30 ปีเท่านั้น เจ้าหญิงอลิซ - ลูกสาวของเจ้าชายลีโอโพลด์และเจ้าหญิงเฮเลนาเป็นพระราชนัดดาที่ทรงพระชนม์ชีพอยู่เป็นองค์สุดท้ายในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ทรงเกิดในปี 1883 และสิ้นพระชนม์ในปี 1981 พระชนมายุ 97 ปี

 

เค้กแต่งงานของเจ้าหญิงเบียทริซและเจ้าชายเฮนรี่แห่งบัทเทินแบร์ค (1885)

เบียทริซเป็นลูกสาวคนเล็กและลูกสาวคนโปรดของควีนวิกตอเรีย เจ้าหญิงองค์สุดท้ายเกิดก่อนเจ้าชายอัลเบิร์ตจะสิ้นพระชนม์เพียง 4 ปี ทำให้ควีนวิกตอเรียมักไปไหนมาไหนกับลูกสาวคนนี้เพราะเห็นเบียทริซเป็นตัวแทนของพระสวามีผู้ล่วงลับ การแต่งงานของลูกสาวคนสุดท้องเป็นเรื่องทำใจลำบากของควีนวิกตอเรีย ทรงยืนคำขาดขอให้เจ้าชายละทิ้งตำแหน่งในเยอรมันทั้งหมด และย้ายมาประทับที่อังกฤษตลอดพระชนม์ชีพ คำขอนี้ได้รับการยอมรับ เบียทริซและเฮนรี่แต่งงานกันในปี 1885 เบียทริซสวมผ้าคลุมลูกไม้ที่ควินวิกตอเรียเคยสวมในวันแต่งงาน พระราชินีทรงส่งตัวลูกสาวคนสุดท้ายด้วยตัวเองและร้องไห้อย่างหนักหลังทั้งคู่แต่งงานใหม่เดินทางไปฮันนีมูน 

.

ติดตามบทความของเพจพื้นที่ให้เล่า ได้บน LINE TODAY ทุกวันเสาร์

.

อ้างอิง

1 / 2 / 3 / 4 / 5

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0