โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

เปิดแผน ททท. พลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2566 ปั้นรายได้ 1.73-2.38 ล้านล้าน

The Bangkok Insight

อัพเดต 19 ก.ค. 2565 เวลา 16.59 น. • เผยแพร่ 20 ก.ค. 2565 เวลา 00.58 น. • The Bangkok Insight
เปิดแผน ททท. พลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2566 ปั้นรายได้ 1.73-2.38 ล้านล้าน

ททท. ลั่นปี 2566 ปีแห่งการเริ่มต้นและพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เปิดแผนดึงตลาดระยะไกล-ระยะใกล้ ตลาดในประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 2.38 ล้านล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยทิศทางและแนวทางการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวของ ททท. ประจำปี 2566 ว่า ปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง จะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นและพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ททท. ได้กำหนดทิศทางการตลาด ให้สอดคล้องกับแผนวิสาหกิจองค์กร ททท. ปี 2566-2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ ที่ว่า ททท. เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ทรงคุณค่ามุ่งสู่ความยั่งยืน

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ททท. เตรียมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูในทุกมิติ ตาม 3 วัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

  • Drive Demand มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน
  • Shape Supply สร้างคุณค่าและยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านการสร้างระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวใหม่ (New Tourism Ecosystem)
  • Thrive for Excellence ยกระดับองค์กรสู่องค์กรสมรรถนะสูง มุ่งสู่การเป็น Data Driven Organization เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด สู่หมุดหมายของการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยเปลี่ยนผ่านสู่ High Value & Sustainable Tourism อย่างแท้จริง

ปี 2566 นับเป็นปีแห่งความท้าทาย ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่บทต่อไปอย่างแข็งแรงอีกครั้ง

สำหรับการทำตลาดต่างประเทศ ททท. ยังให้ความสำคัญกับการ Save Partner โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากการเพิ่มความจุที่นั่ง (Seat Capacity) โดยดึงฐานลูกค้าเดิมในพื้นที่ตลาดหลักที่นักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวได้แกิ เน้นกระตุ้นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มคุณภาพ อาทิ กลุ่มมิลเลนเนียลส์ กลุ่ม Gen X และ กลุ่ม Silver-Age-People (SAP)

พร้อมกันนี้ จะเจาะขยายฐานตลาดกลุ่มความสนใจพิเศษโดยเฉพาะ กลุ่ม Health & Wellness กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เที่ยวอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงกลุ่มตลาดเฉพาะใหม่ ๆ อาทิ กลุ่ม Digital nomad และ กลุ่ม Telework

ในส่วนของตลาดระยะไกล (Long-Haul Markets) มองว่า ปี 2566 จะเป็น Time is the New Currency ที่จะแสวงหากลุ่มตลาดที่มีเวลาพักผ่อน และซึบซับประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในประเทศไทย อาทิ กลุ่ม Health & Wellness, Family with Kids, Active Senior และ Telework

ขณะที่ ททท. จะส่งเสริมการตลาดใน 2 แนวทาง ได้แก่

1. การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ผสมผสานกลยุทธ์ City Marketing โดยแสวงหาความร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งมอบสิทธิพิเศษแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

2. การเปิดตลาดเชิงพื้นที่ใหม่ ๆ สร้างการรับรู้และส่งเสริมตลาดในประเทศใหม่ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่มีโอกาสผลักดันให้เกิดการขยายตัวทั้งในด้านจำนวนและรายได้ และขยายพื้นที่ไปเมืองรองในตลาดเดิม เน้นไปที่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานตลาดเดิมของประเทศไทย และจะขยายพื้นที่ส่งเสริมตลาดให้ครอบคลุมเมืองรองขนาดใหญ่มากขึ้น

ด้าน ตลาดระยะใกล้ (Short-Haul Market) จะมุ่งสร้าง The Great Resumption ผ่าน กลยุทธ์ 2Q ได้แก่

  • Quick Win ด้วยการฟื้นคืนฐานตลาดกลุ่มกระแสหลัก เจาะกลุ่มคุณภาพ กระตุ้นกลุ่ม Revisit
  • Quality มุ่งเพิ่มจำนวน ความถี่และกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มความสนใจพิเศษ อาทิ กลุ่ม Health & Wellness, Wedding and Honeymoon Sport Tourism และ Luxury

พร้อมกันนี้ ยังชูกลยุทธ์ 5 News ประกอบด้วย

  • New segment เจาะกลุ่มตลาดศักยภาพกลุ่มใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มเติบโต
  • New area เจาะพื้นที่ตลาดใหม่
  • New partner ร่วมมือกับคู่ค้าพันธมิตรรายใหม่
  • New infrastructure ใช้ประโยชน์จากการคมนาคมรูปแบบใหม่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
  • New way เสนอการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ชูเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการส่งเสริมการตลาดตอกย้ำความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี และผลักดันการเพิ่มโอกาสในการเดินทางเข้าถึงประเทศไทยทั้งการเดินทางทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

ตลาดในประเทศ ททท. จะกระตุ้นความต้องการเดินทางของคนไทย สอดรับกับแคมเปญสื่อสาร เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม ต่อยอดทิศทางส่งเสริมตลาด 5 ภาค ภายใต้แคมเปญ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย…เที่ยวได้ทุกวัน ชูความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ของแต่ละภาค

ทั้งนี้ ททท. ตั้งเป้าหมายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2566 ให้กลับมา 80% ของปี 2562 บนพื้นฐานของสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างเป็นไปได้ (Base Case Scenario) โดยคาดว่าจะมีรายได้จาก
การท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 1.73 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 970,000 ล้านบาท และรายได้หมุนเวียนจากตลาดคนไทย 760,000 ล้านบาท

ขณะที่ภายใต้สถานการณ์ท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario) คาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยสัดส่วนของรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 880,000 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0