ผมชอบคำของ Lope de Vega กวีและนักเขียนบทละครชาวสเปนในศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งเขียนว่า “With a few flowers in my garden, half a dozen pictures and some books, I live without envy.”
“เมื่อมีดอกไม้สักหลายดอกในสวน รูปภาพสักห้าหกภาพ และหนังสือสักหลายเล่ม ข้าพเจ้าก็มีชีวิตอยู่โดยปราศจากความอิจฉา”
เมื่อมีดอกไม้ในสวนยกระดับหัวใจ มีภาพสวยๆ ขับกล่อมวิญญาณ มีหนังสือดีเปิดหน้าต่างโลก ชีวิตยังต้องการอะไรมากไปกว่านี้?
วลี ‘ดอกไม้สวย’ ‘รูปภาพงาม’ ‘หนังสือดี’ มิได้จำกัดแค่ดอกไม้ รูปภาพ และหนังสือ ‘ดอกไม้’ หมายถึงธรรมชาติทั้งปวง ‘รูปภาพ’ หมายถึงศิลปะ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพวาด ‘หนังสือ’ หมายถึงความรู้ ความบันเทิง ซึ่งรวมภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ
นี่เป็นการมองชีวิตและใช้ชีวิตอย่างคนมีอารมณ์ศิลป์ รักธรรมชาติ และรู้จักซาบซึ้งชื่นชมความงามของสรรพสิ่งรอบตัวเรา แต่ไม่ทุกคนรู้สึกเช่นนี้ จึงน่าสงสัยว่า การมองแบบนี้มาจากยีนของเรา หรือสภาพแวดล้อม ผมก็ไม่มีคำตอบ
เหม่อมองเม็ดฝนที่โปรยปรายลงมาจากฟ้าได้นาน ๆ ดูเม็ดฝนหล่นกระทบพื้นดินกระเซ็นแตกกระจาย ชอบดูแอ่งน้ำฝนที่ขังบนพื้น และเมื่อค้นพบความงามของรูปภาพและหนังสือ ก็ไม่ต้องการอะไรอีก
ความงามของดอกไม้ ธรรมชาติ ความงดงามของบทกวี หนังสือ ทำให้การอยู่ในโลกใบนี้สนุกขึ้น
ผมนึกไม่ออกว่าโลกนี้จะเป็นอย่างไรหากไม่มีดอกไม้ ไม่มีจิตรกรรม และวรรณกรรม
มันคงเป็นโลกที่ต่างจากนี้มากทีเดียว
แต่นี่อาจเป็นเพียงมุมมองของคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง เพราะดูเหมือนคนจำนวนมากในโลกไม่ได้ดูสามสิ่งนี้แล้ว และอยู่ได้ปกติดี
ผมเคยเล่าเรื่องชวนคนไปดูพระจันทร์ริมทะเล คำตอบคือดูไปทำไม
เป็นคำตอบเดียวกับที่เราได้เมื่อถามคนไม่น้อยว่า ไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะไหม ไปดูนิทรรศการจิตรกรรมไหม อ่านวรรณกรรมเล่มนั้นเล่มนี้ไหม ดูดวงดาวกลางฟ้าราตรีไหม เหตุผลคือไม่มีเวลา ไม่มีอารมณ์ และไม่รู้ดูไปทำไม
เหตุผลข้อสุดท้ายน่าสนใจ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ไม่ดูไม่อ่านก็ไม่ตาย
แต่ความจริงคือมีกิจกรรมอีกมากมายที่เข้าข่าย “ไม่ดูไม่อ่านก็ไม่ตาย” เช่น ดูหนัง ดูละคร ดูคลิป อ่านข่าว หรือนินทา
ไม่ดูไม่อ่านก็ไม่ตายเหมือนกัน
ดังนั้นอะไรเล่าทำให้การชมดอกไม้ในสวน ดูภาพจิตรกรรม ประติมากรรม อ่านหนังสือ มีคุณค่ากว่าดูหนัง ดูละคร ดูคลิป อ่านข่าว หรือนินทา?
คำตอบคือสามสิ่งนี้ไม่ได้มีคุณค่ากว่ากิจกรรมอื่น ๆ พวกมันก็ไม่ใช่ปัจจัย 4 อยากเสพก็เสพ ไม่อยากเสพก็ไม่ต้องเสพ
ข้อแตกต่างเดียวคือ ‘สวน’, ‘หนังสือ’ และ ‘ภาพ’ อาจทำให้เราเข้าใกล้จิตวิญญาณของเรามากกว่า ทำให้เราเชื่อมกับจักรวาลมากกว่า นั่นคือการเข้าใจตัวตนแท้จริงของเรา ที่มาของเรา และสาระการดำรงอยู่ของเรา
พูดแบบไม่ต้องตีความคือ สิ่งหนึ่งที่ทำให้สามสิ่งนี้มีค่ากว่าสิ่งอื่น ๆ อาจเป็นห้วงยามที่เราอยู่จมในความหมองเศร้า ในวันที่โลกภายนอกหม่นมัว เหล่านี้ทำให้โลกภายในของเราสว่างไสว ซึ่งกิจกรรมอื่น ๆ อาจให้ได้ไม่เท่า
เบนจามิน แฟรงกลิน เขียนว่า “คนที่น่าสงสารที่สุดคือคนที่อ่านหนังสือไม่ออกผู้หงอยเหงาในวันฝนตก”
และชีวิตเราจะพานพบ ‘ฝนตก’ เป็นระยะ ๆ เราจะหดหู่หม่นหมองเป็นระยะ ๆ สามสิ่งนี้อาจช่วยได้
เรื่องบางเรื่องในโลกต้องใช้ธรรมชาติและศิลปะเป็นยา