โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นี่แหละ!ต้นแบบคนรุ่นใหม่ 3 บันฑิตป้ายแดงรั้วสีอิฐ พิการแต่กายแต่หัวใจไฝ่รู้เกิน100

Manager Online

เผยแพร่ 19 ธ.ค. 2564 เวลา 09.31 น. • MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เป็นที่ปลื้มปิติและได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ภายหลังเว็ปไซต์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เผยแพร่เรื่องราวของบัณฑิตน้องใหม่จากรั้วสีอิฐ ผู้พิการทางร่างกาย 3 ท่านที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ ในห้องรับรองเป็นการส่วนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีพุทธศักราช 2564 วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก

โดยบัณฑิตป้ายแดงทั้ง3 ท่านแม้ร่างกายจะพิการแต่ความวิริยะอุตสาหะที่จะศึกษาร่ำเรียนร่วมกับผองเพื่อนในรั้วอุดมศึกษาแห่งนี้เกิน 100 สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นไอดอลหรือต้นแบบให้กับน้องๆเยาวชนวัยเรียนได้เป็นอย่างดี

ท่านแรก น.ส.ปิยาภรณ์ จันทร์ขาว หรือชื่อเล่น “ปลาย” จบจากวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต “ปลาย” เกิดและเติบโตที่อำเภอเมือง จ.บึงกาฬ มีคุณยายเป็นผู้ปกครองและเสาหลักส่งเสียดูแล เนื่องจากพ่อกับแม่แยกทางกัน ปลายเป็นเด็กเรียนดี จบมัธยมปลายสายคำนวณจากโรงเรียนบึงกาฬ ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.64 เธอเลือกเข้าศึกษาต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในโควตาโครงการนักศึกษาพิการ โดยความบกพร่องทางร่างกายคือแขนขวาพิการใต้ข้อศอกลงมา

แต่ความพิการไม่เป็นอุปสรรคในการเรียน โดยเฉพาะการเลกเชอร์ ปลายสามารถเขียนด้วยมือซ้ายอย่างคล่องแคล่ว ยกเว้นการทำแล็ป การใช้สารเคมี มักจะมีเพื่อนบัดดี้ช่วยเหลือ ช่วงเรียนปี 1 ด้วยความที่เธอชอบทำกิจกรรมมาก จึงเข้าร่วมทุกกิจกรรม ทั้งกิจกรรมของคณะ และกิจกรรมรวมของมหาวิทยาลัย จนมีหน่วยกิตภาคกิจกรรมมากถึง 70 – 80 หน่วยในปีแรก

ด้วยความใหม่ในรั้วอุดมศึกษาทำให้บริหารจัดการเรื่องเวลาเรียนและกิจกรรมไม่ลงตัว เลิกดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ มีเวลาเข้าเรียนและอ่านหนังสือน้อย ทำให้เกรดออกมาค่อนข้างแย่ ถึงขั้นเกือบถูกรีไทร์

เมื่อปลายทบทวนข้อบกพร่องในการจัดการด้านเวลาจึงค้นพบว่า การรักษาสมดุลเป็นสิ่งสำคัญ เรียนและกิจกรรมไปด้วยกันได้ จึงใช้วิธีลงเรียนซัมเมอร์เกือบทุกเทอม เพื่อดึงเกรดขึ้น และทำกิจกรรมให้น้อยลง ในที่สุดเธอกอบกู้ผลการเรียนคืนมาได้ ไม่ต้องถูกรีไทร์

ปลายบอกว่า สภาพความพิการแขนขวาตั้งแต่ข้อศอกลงมา และฐานะทางบ้านไม่สู้ดีนักนั้น ไม่เป็นอุปสรรคในการเรียน เพราะเธอพึ่งพาตัวเอง เช่น สอนพิเศษวิชาฟิสิกส์ให้น้องๆ และทำงานในโครงการจ้างงานกับกองกิจการนักศึกษา เข้าร่วมโครงการเบิกค่าเทอมของคนพิการจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สนับสนุนโดย กระทรวง อว. สามารถแบ่งเบาภาระคุณยายได้มากทีเดียว

ปลายบอกว่า บุคคลสำคัญที่สุดสำหรับเธอคือ “ยาย” รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ทำให้ยายได้ภูมิใจในวันที่เธอเรียนจบและได้สวมชุดครุยเข้ารับพระราชทานปริญญษ และตั้งใจว่าจะหางานทำที่มั่นคงที่สามารถดูแลตัวเองและดูแลยาย ซึ่งลำบากมามากแล้วให้ได้สบายในอนาคต นอกจากนี้ปลายยังขอบคุณศูนย์บริการนักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จัดเจ้าหน้าที่ดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด เป็นที่พึ่งทางใจของเหล่าบรรดานักศึกษาพิการตั้งแต่ชั้นปี 1จนสำเร็จการศึกษา เจ้าหน้าที่ของศูนย์ ฯดูแลเป็นอย่างดี

“โดยเฉพาะพี่โอ๊ตหรือนางสาวปริยากร สบาย นักวิชาการศึกษา ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ กองพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พี่โอ๊ต มีจิตอาสาการบริการให้กับนักศึกษาพิการทุกคน จะคอยให้ความช่วยเหลือแนะนำให้คำปรึกษาในทุกเรื่องตั้งแต่เข้าปี 1 จนถึงวันรับปริญญา ขอบคุณจากใจมากจริงๆ”ปลายกล่าวย้ำ

บัณฑิตผู้พิการป้ายแดงท่านต่อมา นายไพฑูรย์ กุมแก้ว หรือ “อาร์ต” บัณฑิตวีลแชร์พลังบวก ทิ้งบัตรผู้พิการ ใช้ศิลปะสร้างตัว“อาร์ต” เป็นพี่ชายคนโต และมีน้องสาวที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ในครอบครัวเล็ก ๆ ที่ จ.อำนาจเจริญ อาร์ตชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเช่นเด็กทั่วไปมาตั้งแต่เด็ก เมื่อถึงวัยรุ่นราว 18-19 ปีเกิดอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ ทำให้มีภาวะการเดินไม่แข็งแรง ผู้ปกครองตัดสินใจให้เรียนต่อชั้นมัธยมปลาย ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น

แต่เรียนได้เพียงปีเดียว จึงคิดว่าต้องออกนอกกรอบไปเรียนที่โรงเรียนขามแก่นนคร ในชั้นมัธยม 5-6 ก้าวข้ามกำแพงคำว่า “ผู้พิการ” ออกมา และตัดสินใจทิ้งบัตรคนพิการ กระทั่งสามารถสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สำเร็จ เคราะห์ไม่ดีเกิดอุบัติเหตุตกบันไดอีกครั้ง เกิดอาการกระดูกทับเส้นประสาท ส่งผลให้ร่างกายท่อนล่างอ่อนแรงเฉียบพลันต้องนั่งวีลแชร์

อาร์ต เล่าว่า “ตอนนั้นเศร้าหนักมาก เพราะที่บ้านฐานะแย่ แถมมีน้องที่ร่างกายไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เป็นห่วงว่าใครจะดูแลพ่อกับแม่ ใครจะดูแลน้อง แต่ในที่สุดก็หลุดความรู้สึกนั้นมาโดยความคิดว่าแม้จะใช้เท้าเดินไม่ได้ ก็จะใช้ล้อนำทางเป็นเหมือนคนปกติ ที่สำคัญในตอนที่เรียนอยู่มีเพื่อนที่ดีมาก คอยซับพอร์ตทุกเรื่องตั้งแต่ปี 1 เป็นขาแทน เป็นคนสอนทุกอย่าง พาไปกินข้าว พาไปเรียน จนถึงพากลับหอพัก

อาร์ตบอกอีกว่า “พี่โอ้ต เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการนักศึกษาพิการ เป็นเหมือนแม่คนที่สอง ช่วยดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ให้ เป็นคนที่เข้าใจแต่ไม่ตามใจมาก ปล่อยให้พวกเราใช้ชีวิตอย่างเข้าใจว่าต้องโตไปเรื่อย ๆ

กระนั้นก็ตาม แม้ฐานะทางบ้านจะไม่ค่อยดี แต่อาร์ตก็เลือกที่จะไม่ขอทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ไม่กู้เงิน ยืมเรียน กยศ. เพราะเชื่อมั่นในตัวเองว่า “ยังไหว” ยังสามารถหารายได้เพื่อดูแลตัวเองขณะเรียนได้ อยากเก็บโอกาสไว้สำหรับคนที่แย่กว่า รายได้หลักของอาร์ตจึงมาจากการรับจ้างทำบีท (Beat) หรือดนตรีสังเคราะห์ โดยเอาความรู้สึกพูดออกไปเป็น Melody ผ่านผลงานศิลปะออกไปสร้างรายได้ อัดเป็นเนื้อร้องหรือแต่งเนื้อร้องให้ลูกค้า นอกจากนี้ยังรับ งานวาดภาพ ตัดต่อวีดีโอ เขียนบท แต่งรูป

ปัจจุบันอาร์ตทำงานเป็นครูอัตราจ้างในโรงเรียนที่บ้านเกิด จ.อำนาจเจริญ และด้วยความเป็นคนอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ได้ ก็รอเวลาที่ชีพจรจะลงล้ออีกครั้ง

“บางคนที่เดินได้อาจจะไม่มีโอกาส สงสารคนที่ไม่มีแล้วเขาขอทุนไม่ได้ จากคนที่ยืมไปแล้วไม่คืน เราเลยอยากแบ่งที่ของเราไว้ให้คนที่เขาไม่มีจริง ๆ ดีกว่า แรงบันดาลใจของความสำเร็จเป็นบัณฑิตในวันนี้ มาจากที่ความฝันของยายอยากเห็นคนในตระกูลเข้ารับปริญญาสักคน ได้สวมชุดครุย ในวันนี้ภูมิใจที่ตัวเองทำได้” หนุ่มอาร์ต กล่าวทิ้งท้ายด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

บัณฑิตผู้พิการแต่กายที่น่ายกย่องอีกท่านคือนายนิติศาสตร์ การถัก หรือ“ฟลุ๊ค” ศึกษาศาสตร์บัณฑิต ว่าที่พ่อพิมพ์หนุ่ม ผู้มุ่งหวังส่งต่อแรงบันดาลใจให้นักเรียน

ในอดีต“ฟลุ๊ค”เป็นเด็กร่างกายแข็งแรง อาศัยอยู่กับตายาย และพี่สาว 1 คน ใน อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อคราวเรียนอยู่ชั้น ป. 6 เขาประสบอุบัติเหตุตกจากจักรยานยนต์ ส่งผลให้ขาอ่อนแรง กระทั่งได้เรียนต่อชั้นมัธยม 4 ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น เมื่อเดินไม่ทันเพื่อน จึงนั่งวีลแชร์เป็นหลัก จึงกลายเป็นคนติดวีลแชร์ในที่สุด เข้าเรียนได้เพียง 1 เทอม จึงย้ายออกไปเรียนที่โรงเรียนขามแก่นนคร เพื่อเน้นด้านวิชาการ และได้รับโอกาสเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีใน ม.ขอนแก่น

ภายในรั้วสีอิฐแห่งนี้ ฟลุ๊ค ได้เจอกับเพื่อน ๆ กลุ่มสัมพันธ์ในสาขาศิลปศึกษา เอาใจใส่อาหาร การกิน จัดเวร มารับ- ส่ง ช่วงแรกเดินทางโดยมีเพื่อนช่วยยกวีลแชร์ขึ้นชัตเทิลบัส แต่ด้วยความไม่สะดวกในการขึ้นลง ในช่วงชั้นปีที่ 2 เพื่อนจึงอุ้มขึ้นนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ รับ-ส่ง ฝากวีลแชร์ไว้ที่คณะฯ ซึ่งสะดวกมากขึ้น

ฟลุ๊คบอกว่า โชคดีที่มีเพื่อนน่ารัก เอาใจใส่ ไม่คิดแบ่งแยกว่าเราเป็นผู้พิการ เพื่อนดูแลดีมาก แม้แต่การไปห้างสรรพสินค้าก็นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ เมื่อถึงห้างเพื่อนจะแบกขึ้นหลัง แล้วพาเดินไปทั่วทุกชั้น นอกจากนี้ยังได้รบการสนับสนุนจากศูนย์บริการนักศึกษาพิการ บริการยืมวีลแชร์ เครื่องบันทึก หรือการเบิกคืนค่าเทอม

ฟลุ๊คบอกว่า เป้าหมายชีวิตหลังเรียนจบ เขาอยากทำงานในสถานศึกษาพิเศษที่มีการอำนวยความสะดวกกับผู้พิการ และเป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองเห็นศักยภาพของเด็กพิเศษ หรืออีกนัยหนึ่งก็อยากที่จะอยู่กับโรงเรียนปกติ คือให้เด็กได้เห็น และยอมรับข้อแตกต่างระหว่างบุคคล

เพราะต้องพบเจอกับคำว่า “ยาก” เป็นบททดสอบมาเกือบทั้งชีวิต แต่เขาก็สามารถข้ามผ่านมาได้ด้วยพลังบวกที่นับเป็นความ “โชคดี” ทั้งจากเพื่อน ครอบครัว อาจารย์ และโอกาสจากทางคณะ ที่คอยเคียงข้างจนทำให้เชามาถึงเส้นชัย โดยเฉพาะ “เพื่อน” ที่บัณฑิตพิการรายนี้กล่าวถึงด้วยน้ำเสียงตื้นตันว่า “อยากขอบคุณเพื่อนมากที่สุด ขอบคุณที่ดูแลเราทุกอย่าง ขอบคุณที่ไม่ว่าจะไปไหนก็พาเราไปด้วย ถ้ามีโอกาสก็อยากจะตอบแทน เวลาที่เขามีปัญหาก็อยากจะให้นึกถึงเรา”

ส่วนการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยนอกจากการมีศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ที่คอยอำนวยความสะดวกแล้ว นักศึกษาทั้ง 3 ท่านสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้เพิ่มการอำนวยความสะดวก ในด้านการเดินทาง คมนาคม สถานที่ ให้เอื้อมากพอสำหรับนักศึกษาพิการ เช่นทางลาดแม้จะมีอยู่แล้ว แต่อาจจะสูงชันเกินไปอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ด้าน ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การดูแลผู้พิการนั้น สอดคล้องโดยตรงกับนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเด็นยุทธศาสตร์ ที่ 3 กลยุทธ์ที่ 2 เรื่องการดูแลและการให้บริการสังคม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ สหประชาชาติ Sustainable Development Goal มาเป็นกรอบในการดำเนินการบริหารงาน ซึ่งกรอบดังกล่าวมี SDGs ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ 2 SDGs คือ SDGs 4 เรื่อง การศึกษา และ SDGs 8 เรื่องการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ

“มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาในด้านนโยบาย องค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การพัฒนาในด้านอาชีพ การพัฒนาในด้านคุณภาพชีวิต การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก”ผศ.นพ.ธรากล่าวและว่า

จากความร่วมมือดังกล่าว เราจะพัฒนาต่อยอดเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการปรับนโยบาย การรับคนพิการทั้ง นักศึกษา บุคลากร มีอาจารย์สาขาต่าง ๆ มาระดมสมองเพื่อเป็นองค์ความรู้ แนวทางในการพัฒนาอย่างรอบด้าน ซึ่งโครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ และ มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้ อาทิ การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกที่มากเพิ่มขึ้น ด้านการรับนักศึกษา การรับบุคลากรใหม่ ด้านสวัสดิการและสิทธิประโยชน์

นอกจากนี้ จะมีการสำรวจคนพิการใหม่ เนื่องจากความพิการมีหลายระดับ แต่เดิม เราสามารถตรวจจับได้เฉพาะกรณีที่เห็นอย่างชัดเจน เช่น แขนขาด ขาขาด ตาบอด แต่ในความเป็นจริงแล้วความพิการที่มีระดับมากกว่านั้น เช่น ตาฝ้าฟาง มือใช้งานไม่ได้บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา หรือ บุคลากร เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงนโยบาย สิ่งอำนวยความสะดวกมากเพิ่มขึ้น

ขอบคุณข้อมูลและภาพจากกองสื่อสาร มข.

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0