อีกครั้งหนึ่งที่เราทุกคนต้องเก็บตัวอยู่แต่ในที่พัก กักตัวอยู่แต่ในบ้านเพื่อเป็นการ ‘หยุดการแพร่เชื้อ’ ตามความเชื่อที่ว่าออกจากบ้านน้อยก็เสี่ยงน้อย หากแต่การอยู่บ้าน Work From Home นั้นก็ต้องระวังอาการอื่นที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ (ต้อง) เปลี่ยนไป จะมีอะไรบ้างลองมาดูกัน
อยู่บ้านนาน ๆ ระวัง ‘อ้วน’ ไม่รู้ตัว
ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้าน แน่นอนว่าย่อมมีกิจกรรมการขยับตัวน้อยกว่าออกไปข้างนอก
สิ่งที่ทำกันเป็นนิจคือการนั่งๆ นอนๆ ดูซีรี่ส์ และหนีไม่พ้นการหาอะไร ‘กิน’ !!
ยิ่งการอยู่แต่ในบ้าน เรื่องของเสื้อผ้าการแต่งกายย่อมเป็นเสื้อผ้าที่เน้นสวมใส่สบาย หลายคนใส่แต่เสื้อตัวใหญ่ๆ กับกางเกงยางยืดที่พร้อมขยายตัวตามขนาดของตัวเรา บรรดาเข็มขัด กางเกงยีนตัวเก่งแทบไม่ได้หยิบออกมา รู้ตัวอีกทีระวังจะใส่ไม่ได้แล้ว
ทางแก้ : เปลี่ยนการดูซีรี่ส์สุดฟินเป็นการดูคลิปออกกำลังกายบ้าง แบ่งเวลาให้กับการขยับร่างกายเพื่อเบิร์นสิ่งที่กินเข้าไป เป็นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และที่สำคัญเป็นการป้องกันไม่ให้หุ่นพังจนสายเกินแก้ด้วยนะ
อยู่บ้านแท้ๆ แต่เป็น ‘ออฟฟิศซินโดรม’
ลำพังการนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศก็เสี่ยงกับการนั่งผิดท่า นั่งนานเกินไป จนเกิดอาการปวดหลังปวดไหล่ และโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการทำงานในออฟฟิศ.. แต่การทำงานจากที่บ้านก็ใช่ว่าจะไม่เจอปัญหานี้ ปัจจัยอย่างแรกคือต้องยอมรับว่า ‘บ้าน’ หรือ ‘ที่พัก’ ของหลายๆ คนไม่ได้พร้อมสำหรับการทำงาน โต๊ะและเก้าอี้ที่มีอยู่ก็มีองศาการนั่งที่เน้นไปในการ ‘พักผ่อน’ จึงไม่เหมาะที่จะนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ ร้ายกว่านั้นบางคนต้องทำงานนั่งพื้นหรือนั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์จากบนที่นอน เพราะในห้องไม่มีที่ ซึ่งเป็นการนั่งที่ผิดท่าและทำร้ายตัวเองอย่างที่สุด ไม่แปลกที่ช่วง Work From Home นี้หลายคนจะมีอาการทรมานของคอบ่าไหล่และหลังมากกว่าปกติ และยังมีเรื่องของเวลาในการทำงานแทบหัวไม่ได้วางหางไม่ได้เว้น ดังเช่นมีม (meme) ที่เห็นอยู่เต็มไปหมดว่าเวลาเข้าออฟฟิศเช้าจรดเย็น แต่พอเป็นการทำงานจากที่บ้านกลายเป็นเริ่มงานตั้งแต่ตื่นลืมตาจนถึงเวลานอน เสียสุขภาพทางกายและทางสุขภาพจิตแบบทวีคุณ
ทางแก้ : จัดระเบียบของเวลา สร้างสมดุลในการทำงานให้ได้ จัดตารางเป็นรายชั่วโมง วิธีที่ง่ายที่สุดคือการตั้งนาฬิกาเตือนให้ลุกจากงานมายืดเส้นยืดสาย หรือตั้งเวลาเตือนให้พักเที่ยงได้แล้ว ที่สำคัญพยายามหามุมในบ้านที่สามารถนั่งทำงานได้ในท่านั่งปกติ หลีกเลี่ยงการนั่งพื้นเพื่อพิมพ์งานหรือการนั่งหลังค่อมทำงานจากบนที่นอน
จ้องจอนานระวัง ‘โรคเกี่ยวกับสายตา’
ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์ หรือจอโทรศัพท์มือถือ ล้วนปล่อยแสงที่ทำร้ายสุขภาพของดวงตา การจ้องจอมาก ๆ อาจทำให้มีอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการตาล้า ปวดเบ้าตา ค่าสายตาคลาดเคลื่อน (หรือตาสั้นเพิ่มนั่นเอง) และสามารถร้ายแรงไปจนถึงจอประสาทตาเสียหาย พึงสังเกตอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตาล้าหรือมัวเฉียบพลัน, ตาแห้ง เคืองตา น้ำตาไหลผิดปกติ, มองเห็นจุดหรือเงาดำขวางสายตา อาการใด ๆ ที่ผิดปกติในการมองเห็นอย่าได้นิ่งนอนใจ
ทางแก้ : หาเวลาพักสายตาจากการทำงาน การประชุมออนไลน์ต่างๆ บ้าง และที่สำคัญคืออย่าพักจากการจ้องจอคอมพิวเตอร์มาจ้องจอมือถือแทน เพราะถึงแม้จะเป็นการคลายเครียดก็จริง แต่ดวงตาไม่ได้พักเลยนะ
พิษจาก ‘ความหวาน’
หนึ่งในกิจกรรมเสริมยอดฮิตของสาวๆ นาทีนี้ต้องยกให้การทำขนม ไม่ว่าจะเป็นบราวนี่ เค้ก คุกกี้ และอีกมากมาย นี่ไม่นับบรรดาเครื่องดื่มหอมหวานอีกมากมายที่อยากได้อยากกินก็กดสั่งดิลิเวอรี่ได้ไม่ยาก รู้หรือไม่ว่าการกินของหวานในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคร้ายหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ตับทำงานหนัก ฟันผุ เบาหวาน และอีกมากมาย ที่สำคัญสาวๆต้องรู้ไว้ว่า กินหวานเยอะๆ ‘แก่ไว’ นะ เพราะน้ำตาลทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายแก่ก่อนวัยอันควร เป็นเหตุให้ผิวหนังเกิดริ้วรอยและเหี่ยวย่น ไปจนถึงเกิดโรคเรื้อรัง และความจำเสื่อม
ทางแก้ : ลดความหวาน ลดการใช้น้ำตาลลงบ้าง ลองตั้งโควตาในการกินของหวาน เช่น อนุญาตให้ตัวเองดื่มน้ำหวานได้ไม่เกินวันละ 1แก้ว หรือขนมได้เพียงวันละกี่ชิ้น หลีกเลี่ยงการกินในช่วงเย็นหรือก่อนนอนเป็นการดี และที่สำคัญอย่าลืมแปรงฟันให้สะอาดด้วยนะ
เรื่องของ ‘สิว’ และ ‘โรคผิวหนัง’
เชื่อว่าหลายคนยังคงประสบปัญหา ‘สิว’ ขึ้นบริเวณสวมหน้ากากอนามัยอันเนื่องมาจากหลายปัจจัย อาทิ การเสียดสีของผิวหน้ากับกน้ากากทำให้เกิดการระคายเคือง หน้ากากอนามัยที่ด้านในที่ทำหน้าที่เป็นเกราะปิดกั้นความชื้น ซึ่งทำให้เหงื่อสะสมหมักหมมเกิดการอุดตันของรูขุมขน ไปจนถึง สิว ที่เกิดจากความเครียด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
ทางแก้ : ระยะเวลาในการใส่หน้ากากอนามัยนั้น ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้มีช่วงพัก หรือถอดหน้ากากอนามัยออกจากผิวหน้าบ้าง อย่างน้อย 10-15 นาที ทุกๆ 4 ชั่วโมงในพื้นที่ปลอดภัยจากการติดเชื้อ เช่น ห้องส่วนตัว หากอยู่ในห้องคนเดียว ขับรถคนเดียว ก็สามารถถอดหน้ากากอนามัยให้ผิวหน้าได้ระบายอากาศ แต่หากเป็นที่ชุมชนนั้น อย่างไรก็ตามห้ามถอดหน้ากากอนามัยโดยเด็ดขาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ, หมั่นรักษาความสะอาดด้วยการล้างหน้าสม่ำเสมอ และพยายามอย่าเครียดจนเกินไป
อยู่คนเดียวมันเหงา เครียด และอาจเป็นซึมเศร้า
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถาณการณ์โควิดครั้งนี้ที่ยืดยาวข้ามปีและยังไม่มีทีท่าที่จะทุเลาทำให้เราทุกคนตกอยู่ในสภาวะความเครียด ทั้งเรื่องของตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นข่าวในขณะนี้ทำให้ทุกคนตกอยู่ในภาวะเครียดยิ่งขึ้น การออกจากบ้านกลายเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว การกอดการสัมผัสคนที่รักกลายเป็นเรื่องต้องระวัง ทำให้การพยายามมองหาเรื่องราวที่ดีกับใจกลายเป็นเรื่องยากขึ้นจนความสุขหายากขึ้นทุกที
ทางแก้ : หากเริ่มรู้สึกแย่เต็มทีอย่าได้เก็บงำเอาไว้เพียงคนเดียว หาทางผ่อนคลายระบายออกเช่นหาสิ่งที่จะช่วยสร้างความบันเทิงหรือฟื้นฟูจิตใจของตัวเองตามความชอบส่วนตัว อาจจะเป็นการปลูกต้นไม้ ฟังเพลง วาดรูประบายสี ทำงานฝีมือง่ายๆ ให้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงก็ไม่เลว.. เพราะถึงแม้ว่าการติดตามข่าวสารนั้นจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่เรื่องของสุขภาพจิตนั้นก็สำคัญ
ข้อมูลบางส่วนจาก bangpakokhospital.com / mgronline.com / medparkhospital.com
ความเห็น 8
Hmm
21 ก.ค. 2564 เวลา 11.56 น.
bhuva
WTF ตกงานมา2ปี 4เดื่อน ไม่มีเครียดเลย ยูทูป porn hup ดูจนจำได้หมดแล้ว จะมีอะไรก็เข้ามาเลย กุเสียหมดทุกอย่างแล้ว
18 ก.ค. 2564 เวลา 23.21 น.
Kittichat P.
WFH นานๆ ไม่ค่อยกล้าออกไปไหน รอบบ้านมีแต่คนป่วยโควิด/กลุ่มเสี่ยง
วันไหนต้องออกจากบ้าไปทำงาน มีแต่คนทักว่าผิวขาวขึ้น ... กลุ้มใจ
18 ก.ค. 2564 เวลา 14.02 น.
พัชรี
ว่างๆสวดมนต์ทำสมาธิ ก็ดีนะ จิตใจมั่นคงดี ทำจิตให้นิ่งเข้าไว้
18 ก.ค. 2564 เวลา 09.15 น.
patzz888
ออฟฟิศซินโดรมโหดจริง เป็นแล้วหายยาก เพิ่งจะดีขึ้น
18 ก.ค. 2564 เวลา 06.35 น.
ดูทั้งหมด