ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ การพูดประชดประชัน, ล้อเลียนเสียดสี ,เหน็บแนมคนอื่นก็มีเรื่องน่าทึ่งอยู่เหมือนกัน!
ปกติการพูดจากระแนะกระแหน แขวะ หรือจิกกัด มักถูกมองว่าเป็นการสนทนาที่ไม่น่ารักเท่าไหร่ เพราะมีแนวโน้มจะทำร้ายความรู้สึกระหว่างกัน แต่ในต่างประเทศก็มีการพิสูจน์ทางจิตวิทยาว่า จริง ๆ แล้วการพูดจาเสียดสีกันมันคือจุดสร้างสรรค์ของสติปัญญาเลยนะ!
การเสียดสี, ล้อเลียน, ถากถาง มันคือศิลปะในการสื่อสารแบบมีนัย ภายใต้คำพูดที่ออกมานั้น มีความหมายแฝง เฉพาะคนที่ตามทันเท่านั้นที่จะเข้าใจมันค่ะ ท่ามกลางความหมายแสบ ๆ คัน ๆ นั้นมีด้านบวกที่เราก็ไม่เคยคิดถึงซ่อนอยู่เหมือนกันนะ
ได้ประโยชน์ทั้งคนพูดเหน็บและคนถูกเหน็บ
ประโยชน์ที่ว่าก็คือ เราต้องพยายามคิดค้นคำที่จะใช้แขวะ, เสียดสี, เหน็บ, ล้อเลียนกันขึ้นมาเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายให้ได้ หมายถึงว่าเราไม่สามารถใช้ประโยคที่คุยกันธรรมดา ๆ เพื่อแซะกันได้ เพราะมันไม่สะใจ ต้องคิดสองชั้นหรือคิดไปอีกขั้นเพื่อให้อีกฝ่ายนึงรู้สึกงงไปด้วย เช่นพูดว่า 'เรื่องมารยาทมันสอนกันไม่ได้ทุกคนนะคะ' ความหมายก็คือ คุณน่ะ ไม่มีมารยาท แต่จะให้พูดว่าไม่มีมารยาทตรง ๆ เลยก็ดูรุนแรงพร้อมปะทะไปหน่อยนึง จึงต้องสร้างประโยคอ้อมค้อมอ้อมโลกแต่เจ็บไม่แพ้กันขึ้นมาพูดแทน ทีนี้คนโดนด่าเมื่อรับสารมาแล้วก็ต้องแปลใจความให้ได้ว่าเขากำลังด่าเราอยู่นี่หว่า หากจะแซะกลับก็ต้องประดิดประดอยคำเสียดสีขึ้นมาให้อ้อม ๆ แต่เจ็บเหมือนกัน เห็นไหมล่ะคะว่าจะแขวะใครก็ต้องใช้สมองและความครีเอทีฟสุด ๆ ไปเลย
เอาความขบขันมาเป็นส่วนผสม
คำแซะธรรมดา ๆ มันครีเอทีฟไม่พอ ต้องใช้อารมณ์ขันเข้ามาช่วยด้วยถึงจะเพอร์เฟ็กต์ ว่ากันว่าคำพูดเหน็บที่พูดไปแล้วคนพูดรู้สึกชนะ คนฟังจะต้องสะดุ้ง ก็คือคำแซะที่เจือปนไปด้วยความตลกที่ไม่ตลก ซึ่งคำเสียดสีลักษณะนี้จะต้องใช้ความรู้ที่มีมาพัฒนาให้แอดวานซ์ไปอีกขั้นนึงอีก เช่น 'แก อย่าทำงานหนักมากนะ!' ฟังเผิน ๆ อาจจะคิดว่าคนฟังเป็นห่วง แต่หากเป็นหัวหน้าเราเองที่พูดประโยคนั้นในเวลางานและดันเป็นจังหวะที่เราไม่ได้ทำงานอยู่ ก็คงไม่ใช่ความเป็นห่วงแล้วล่ะค่ะ แต่เขากำลังกระแนะกระแหนเราอยู่แหละ ความหมายก็คือ ตั้งใจทำงานบ้างสิ! แบบนี้คนฟังก็เจ๊บเจ็บนะคะ เอาความตลกมาเป็นลูกเล่น แต่ได้ยินแล้วตลกไม่ออกเลยทีเดียว
ยิ่งอยากเอาชนะ ยิ่งต้องใช้สมอง
ต่อเนื่องจากการต้อง ‘ประดิดประดอย’ คำพูดแล้วนั้น หากเลเวลความต้องการเอาชนะคู่สนทนามากเท่าไหร่ ยิ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากเพิ่มทวีคูณเท่านั้น ในขณะเดียวกันคนฟังเองก็ต้องประมวลผลมากขึ้นกว่าเดิมด้วยว่าประโยคที่แขวะนั้น แท้จริงมันแปลว่าอะไร คือเรียกได้ว่าเป็นการยิมนาสติกสมอง ออกกำลังกายรอยหยักกันเลยทีเดียว เพราะว่ามันช่วยพัฒนาการคิดเชิงลึกให้เราแบบทางอ้อมนั่นเอง
ช่วยพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา
ฟังดูแปลกใช่ไหมล่ะค่ะ แต่งานวิจัยของฮาร์วาร์ดช่วยตอกย้ำว่า คนที่ชอบใช้วาจาเสียดสี ล้อเลียน และคนที่เข้าใจการแซะแขวะได้ดีนั้น จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น โดยเฉพาะในเชิงของการแก้ปัญหา เพราะอย่างที่เล่าไปแล้วว่าเวลาจะคิดแปลความหมายของคำแขวะนั้น เราต้องใช้สมองหลายส่วนทำงานประสานกันในเวลาเดียวกัน ทำให้เรารู้จักการคิดซับซ้อนหลายชั้น เวลาเผชิญหน้ากับปัญหาจึงทำให้เราคิดหาทางออกหลาย ๆ ทางได้โดยอัตโนมัติ เป็นผลพลอยได้จากความพยายามถอดรหัสมุกตลกเสียดสีที่เคยได้ยินมานั่นเองค่ะ
ถ้าหากสังเกตกันให้ดี ไม่ใช่เพียงบทสนทนาระหว่างกันเท่านั้นที่ใช้การพูดแซะหรือเสียดสี แต่มักถูกนำไปใช้ตามสื่อต่าง ๆ เช่น การ์ตูน, ภาพยนตร์, สื่อ เพื่อแสดงออกอย่างมีนัย โดยเฉพาะกับเรื่องที่พูดกันตรง ๆ อาจไม่สนุกเท่าการแตะประเด็นเพียงอ้อม ๆ แต่เจ็บแสบยิ่งกว่า ทีนี้ก็ต้องมาวัดกันที่กึ๋นของคนสื่อสารกับคนรับสารแล้วว่าจะเข้าใจตรงกันมากแค่ไหน
แม้ว่ามันจะมีข้อดีอยู่หลากหลาย แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนจะแฮปปี้กับการถูกพูดจาเสียดสี เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจกับมุกแขวะแบบนี้เสมอไป ไม่ว่าอย่างไรก็ยังมีคนที่อ่อนไหวต่อเรื่องแบบนี้อยู่อีกมากเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องระมัดระวังและสังเกตปฏิกิริยาของคู่สนทนาด้วยนะคะ กาลเทศะก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันค่ะ เตือนแล้วนะ เตือนแล้ว
.
ขอบคุณข้อมูลจาก
.
ความเห็น 51
ขวัญแก้ว MW 20-20
ส่วนตัว?พูดตรงๆแต่เป็นเรื่องจริง.พร้อมแจ้งความกับตำรวจเหตุที่เกิดขึ้น.พร้อม.เชิญตำรวจไปด้วย..สาธุ
16 มี.ค. 2564 เวลา 20.53 น.
🥰POM🥰
คิดแบบนีัก็มีด้วย ไม่ต้องมาบอกให้คิดใหม่ สำหรับเราคิดว่า "คนที่ชอบพูดเหน็บแนมเป็นคนที่น่ารังเกียจที่สุด"
15 มี.ค. 2564 เวลา 23.48 น.
K.T.Payotorn
ปีศาจวาจา...แม้มีประโยชน์ แต่ก็แฝงด้วยโทษพิษภัย แบบประโยชน์ของกัญชายาฝิ่นที่แฝงด้วยโทษมหันต์
15 มี.ค. 2564 เวลา 22.39 น.
ชิน
ไม่พูดเลยจะดีกว่าค่ะ😊
15 มี.ค. 2564 เวลา 21.22 น.
ต้า
เอาสมองไปคิดสิ่งสร้างสรรค์ ก็ใช้สมองเหมือนกันนะ ได้ประโยชน์สองต่อ ไม่ใช่วันๆคิดแต่เรื่องขยะ
14 มี.ค. 2564 เวลา 08.34 น.
ดูทั้งหมด