ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดทั่วโลก คนไข้หลายคนในเมืองไทยโกหกหมอและทันตแพทย์ว่า ไม่เคยไปในสถานที่ที่เป็นจุดระบาด ผลก็คือหมอและทันตแพทย์ เจ้าหน้าที่ ครอบครัวจำนวนมากต้องกักตัว เสียเวลาทุกคน โดยเฉพาะโอกาสที่บุคลากรทางการแพทย์จะได้ใช้ไปรักษาคนอื่น
ทำไมคนเหล่านั้นจึงโกหก ทั้งที่การบอกความจริงว่าได้ไปสถานที่เกิดการระบาดไม่ทำให้พวกเขาถูกลงโทษจำคุก ไม่ถูกปรับ ครอบครัวจะไม่ถูกตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร
ทำไมโกหกในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องโกหก ?
หรือว่าโหมดสัญชาตญาณเอาตัวรอดตามหลักวิวัฒนาการทำงานไวเกินไป ? หรือเพราะคนบางคนโกหกเสียจนเคยชิน ?
………………………………………………………………
ครั้งหนึ่งผมไปซื้อส้มที่ตลาดใหญ่แห่งหนึ่ง ถามคนขายว่า “หวานไหม ?”
เธอตอบว่า “หวานมากค่ะ ก็เพราะมันดีจึงเอามาขายไงคะ”
กลับไปบ้าน กินส้มที่เธอบอกว่า “ก็เพราะมันดีจึงเอามาขายไงคะ” ปรากฏว่าเปรี้ยวจัด รสชาติเลวร้ายมาก กินไม่ได้ ต้องทิ้งทั้งหมด
การโกหกแบบบิดเบือนเท็จเป็นจริง หรือแก้ตัวเพื่อประโยชน์ของตัวเองอย่างนี้เรียกว่า Hard lie หรือ Lie
คนบ้านเราเคยชินกับคำพูดของพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป ที่บรรยายสรรพคุณสินค้าว่า “ดีมากค่ะ” “อร่อยมากครับ” “หวานค่ะ” โดยเราไม่ได้คาดหวังว่าพวกเขาจะพูดความจริง มันกลายเป็นค่านิยมของสังคมว่า คนขายสินค้าไม่ต้องพูดความจริงทั้งหมดก็ได้
ใช่ไหมว่านี่ทำให้เราเกิดฝังภาพว่า การโกหกในเรื่องเล็ก ๆ เป็นเรื่องธรรมดา ? แปลกไหมที่เมื่อใครคนหนึ่งไม่พูดความจริงบ่อย ๆ เรากลับยอมรับตัวตนของเขาอย่างนั้น ?
………………………………………………………………
นิทานเรื่อง พีนอคคีโอ เป็นเรื่องของชายชราคนหนึ่งชื่อ เก็ปเปตโต อาศัยในหมู่บ้านเล็กแห่งหนึ่งในอิตาลี เขาเป็นช่างแกะสลัก
วันหนึ่งแกะสลักรูปเด็กชายคนหนึ่ง เสื้อทำด้วยกระดาษ รองเท้าไม้ หมวกสีเหลืองทำด้วยขนมปัง ผูกโบว์ไทสีฟ้า เสื้อนอกสีดำ ตั้งชื่อว่า พีนอคคีโอ
คืนหนึ่งเมื่อดาวตก ช่างสลักหุ่นอธิษฐานต่อนางฟ้าว่า ขอให้พีนอคคิโอกลายเป็นเด็กชายที่มีชีวิตจริง ๆ
นางฟ้าก็เสกให้พีนอคคิโอกลายเป็นผู้มีชีวิต เด็กชายเรียกช่างทำหุ่นไม้ว่าพ่อ
ทุกครั้งที่พีนอคคิโอโกหก จมูกของเขาจะงอกยาวขึ้นเรื่อย ๆ
‘จมูกยาว’ จึงกลายเป็นสำนวน หมายถึงโกหก
เมื่อใครพูดว่า “จมูกคุณยาวขึ้นแล้วนะ” หมายความว่าอีกฝ่ายโกหก
คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตที่ไม่ทุกคนมีได้หรือซื้อได้คือเครดิต
คนที่มีเครดิตพูดอะไรก็มีคนฟัง เพราะรู้ว่าเขาไม่โกหก และเขารักษาสัญญาเสมอ
เมื่อไม่พูดความจริงครั้งเดียว ก็ทำลายความน่าเชื่อถือลงทันที
เครดิตของคนต้องสร้างขึ้นจากการพูดความจริงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การโกหกก็มีหลายระดับและสเกลต่างกัน และบางเรื่องก็เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างการโกหกกับศิลปะการใช้ชีวิต
บางครั้งเราอาจอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกว่าพูดจริงแล้วไม่ทำให้โลกดีขึ้น กับพูดไม่ค่อยจริง แต่โลกดีขึ้นหรือไม่เลวลง มักเกิดขึ้นกับคนที่จิตอ่อนไหวง่าย รับคำติไม่ค่อยได้
ยกตัวอย่าง เช่น เพื่อนถามว่า “รูปที่ฉันวาดสวยไหม ?”
ผู้ถูกถามแม้จะรู้สึกว่ามันไม่สวยเลย แต่อาจตอบกลาง ๆ ว่า “ฝีมือคุณพัฒนาขึ้นนะ” ซึ่งไม่ได้แปลว่า “รูปนี้สวย” แต่อย่างใด
เมื่อภรรยาถามว่า “ฉันอ้วนไหม ?” ถ้าตอบตามความคิดจริง ๆ คือ “อ้วนมาก” มันก็ไม่ได้ทำให้ท้องฟ้าสดใสขึ้น แสงตะวันเจิดจรัส ฝูงนกไม่ได้ร้องเพลงขับขาน ตรงกันข้าม ภรรยาอาจจะงอนในเรื่องไม่เป็นเรื่อง และอากาศในบ้านวันนั้นอาจร้อนขึ้นสองสามองศา !
คำตอบกลาง ๆ เช่น “อย่างนี้ยังห่างไกลจากคำว่าอ้วนเยอะ” น่าจะดีสำหรับทั้งสองฝ่าย
การตอบอย่างนี้คือตอบแบบคนในวงการทูต (Diplomatic answer) ย่อมไม่ตรงมาตรฐานศีลธรรมของหลายศาสนา แต่การทำเพื่อซื้อความสบายใจ ไม่อยากทำร้ายจิตใจอีกฝ่ายอาจทำให้มันข้ามพ้นจากเรื่องมาตรฐานศีลธรรม สู่เรื่องศิลปะการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน
ว่าก็ว่าเถอะ การอยู่ร่วมกันไม่ว่าประเทศกับประเทศ หรือคนกับคน ก็ไม่แตกต่างกัน
ข้อแตกต่างระหว่าง Hard lie กับ White lie คือ Hard lie ทำเพื่อปกป้องตัวเอง White lie ทำเพื่อปกป้องคนอื่น หรือไม่ทำร้ายจิตใจคนอื่น
หากวัดสเกลของการโกหกด้วยความยาวของจมูกพีนอคคีโอ เวลาพูด White lie จมูกอาจงอกยาวขึ้นมานิดหน่อย แต่หากเป็น Hard lie จมูกก็งอกยาวมาก
การโกหกจึงอาจซับซ้อนกว่าคำสั่งห้ามโกหกในศีลห้า ข้อที่ 4
………………………………………………………………………..
อีกครั้งหนึ่งผมไปซื้อส้มในซูเปอร์มาร์เก็ต เห็นส้มยี่ห้อใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ราคาถูกกว่าส้มอื่น ๆ
ถามคนขายว่า “ส้มอะไร ?”
เขาบอกชื่อส้ม “มาจากเมืองจีน”
“หวานไหม ?”
เขาตอบว่า “ไม่หวานเลย เปรี้ยวมาก รสชาติก็ไม่เหมือนส้ม”
เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคนขายบอกว่าสินค้าที่เขาขายไม่ดี !
อย่างไรก็ตาม ผมก็ซื้อส้มไปลองกินดู ปรากฏว่าเปรี้ยวจริง รสชาติแย่มาก ไม่เหมือนส้มเลย ตรงตามที่คนขายบอก
คนขายคนนี้ซื่อสัตย์จริง !
หากทำอย่างนี้บ่อย ๆ พนักงานขายคนนี้อาจถูกไล่ออกได้ !
ทำให้เชื่อว่า บางทีการโกหกในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องโกหกเป็นแค่นิสัย ! และหากคนเราสามารถสะสมคำโกหกในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องโกหกทุกเรื่องในชีวิตรวมกันที่ปลายจมูก จมูกของเขาอาจยาวเท่างวงช้าง !
…………………………………………………………….
วินทร์ เลียววาริณ
ความเห็น 10
Champ Chaiyasas ♻️💰
คนที่หลอกตัวเอง โกหกตัวเองอยู่ทุกวันนี้มีเยอะแยะครับ
ศาสนาพุทธไม่สนับสนุนแน่นอน
และกลุ่มคนที่พร่ำร่ายเขียนบทความมาก็ไม่เลิกโกหกตัวเอง เพื่อรายได้และที่ยืนในสังคม ก็ถมเถไปไม่ใช่เหรอครับ
24 พ.ค. 2563 เวลา 19.22 น.
Yong
กรรมคือเจตนาคือความตั้งใจความจงใจทำถ้าไม่ได้ตั้งใจจะโกหกแต่คนฟังต่างหากที่จิตใจไม่เป็นกลางจึงไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้อย่างถูกต้องเพราะขาดสติปัญญาพิจารณาใคร่ครวญในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาต่างหากแล้วมาสรุปตามอำเภอใจตามความอยากหรือไม่อยากซึ่งเป็นกิเลสหาได้ตัดสินด้วยใจที่เป็นกลางเพราะมีสติมีปัญญาพิจารณาเหตุผลจึงไม่เกิดการใส่ร้ายผู้อื่นๆแต่ในฝ่ายเดียวต้องพิจารณาตัวเองเสมอว่าเรากำลังใช้อคติพิจารณาผู้อื่นหรือว่าผู้อื่นมีอคติในการพูดซึ่งคนที่มีจิตใจเป็นกลางย่อมจะเห็นจิตใจของผู้พูดว่าอยู่ในจุดใ
25 พ.ค. 2563 เวลา 11.29 น.
Plug..
ผมชอบกินส้มเปรี้ยว
25 พ.ค. 2563 เวลา 11.25 น.
pisit5924
คราวหน้า หากแม่ค้าบอกว่าส้มหวาน ก็พูดไปว่า อยากได้เปรี้ยวๆ แล้วคุณจะได้เห็นการลื่นไหลของแม่ค้า..เพื่อให้ขายของได้...
25 พ.ค. 2563 เวลา 22.23 น.
สอง สิทธิมนต์
แต่ที่เห็นคอนนี้จมูกแบนก็ไม่ธรรมดานะครับ..
25 พ.ค. 2563 เวลา 11.51 น.
ดูทั้งหมด