วันก่อนผมว่ายน้ำอยู่ที่ภูเก็ตดี ๆ มีคนว่ายน้ำมาหา
แล้วถามว่า อ้าวพี่คนสมุยนี่ มาอยู่ภูเก็ตได้ไง
ผมจะดำน้ำหนีก็ไม่ได้
อีกคนถามว่า คืนนี้พี่จะเล่นคอนเสิร์ตที่ไหน
ผมบอกว่า คืนนี้ไม่ได้เล่นคอนเสิร์ต
เขาถามอีกว่าแล้วเล่นคืนไหน
ผมตอบว่าไม่ได้เล่นคืนไหน คือไม่ได้มาเล่นคอนเสิร์ต
อ๋อพี่มาเที่ยวหรือ
ผมบอกปล่าว ไม่ได้มาเที่ยว
เขาถามว่าแล้วพี่จะไปไหน
ผมก็บอกว่า ไปรพ.
เขาถามว่า รพ.อะไร
ผมบอกว่า รพ.วชิระ กับ รพ.กรุงเทพ
โอ้โห เป็นอะไรเยอะหรือเปล่านี่ เขาตกใจ
ผมบอกว่าไม่ได้เป็นเยอะ เป็นวิทยากร
คุยด้วยนี่ เหนื่อยกว่าว่ายน้ำอีก
จะด้วยสุขภาพไม่ค่อยดี บวกกับงานวิทยากรบรรยายทำให้ ต้องเดินทางเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ
เรื่องราวของหมอกับคนไข้ หรือพยาบาลกับผู้ป่วยนี่ เล่าได้มากมาย
การจ่ายยาผิด เพราะฟังผู้ป่วยที่พูดไม่ชัด จากตกขาว เป็นตกเขา
ผู้ป่วยที่เขาให้ไปรับยา ที่ช่อง3 เลยเรียกรถไปสถานีโทรทัศน์
ทุกวันนี้เวลาไปพบแพทย์ ที่รพ. ต้องเจอกับคำถามที่ว่า….เป็นอะไรมา
ต้องตอบ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่คนแรก ไปจนคนวัดความดัน พยาบาล และหมอ
ยิ่งมีอาการคันในร่มผ้านี่ ยิ่งไม่อยากจะอธิบายเลย
เพียงแค่หมอเปลี่ยนรูปประโยคจากเป็นอะไรมา
เป็น ….วันนี้มีอะไรให้หมอช่วย
ผมก็รู้สึกดีที่จะตอบมากขึ้น
บางครั้งการเสียเวลาอธิบายก่อนจะทำการรักษานั้นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษา
หากเราทราบว่าอาการป่วยนั้นอาจมาจากหลายสาเหตุและก็สามารถเลือกการรักษาให้หายเร็วหายช้าได้ตามสถานการณ์
หมอบางคนบอกคนไข้ว่า คุณเลือกเอาว่าจะทานยาแล้วหายภายในหนึ่งสัปดาห์
หรือดื่มน้ำ นอนพักผ่อน ก็จะหายภายในเจ็ดวัน
บางคนบอกว่าปวดหลังให้ทำท่านั้นท่านี้
ก็เหมือนปวดหัวให้กินยาพารา
ทั้งๆ ที่ปวดหัวมาจากหลายสาเหตุ
อาจจะ เป็นไข้ อาจจะเป็นเนื้องอกในสมอง หรือปวดไมเกรน
หรือปวดหัวเพราะติดกาแฟ
ปวดหลังก็เช่นกัน ปวดเพราะกระดูกแตก กับกระดูกทับเส้น
หรือเอ็นอักเสบ มันคนละอาการ เป็นโรคไตก็อาจจะปวดหลังได้
ที่สำคัญ การผ่าตัดก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง
ยิ่งหมอบอกว่า ผ่าตัดแล้วก็อาจจะไม่หาย
หรือหายแล้วก็อาจจะกลับมาเป็นอีกในกระดูกข้ออื่นๆ
ผู้ป่วยจะได้มีความเข้าใจและเลือกทางรักษาได้เหมาะสมกับตนมากขึ้น
หนหนึ่งผมไปปรึกษาอยากผ่าตัดกระดูกหลัง
หมอแนะนำว่า เก็บเงินไปซื้อจักรยานลองถีบดูก่อน อาจจะหายหรือดีขึ้นก็ได้
…………..
หนหนึ่งหมอนัดไปพบที่รพ.
เจ้าหน้าที่พยาบาลโทรนัดล่วงหน้า หนึ่งวัน
ผมถามว่า ต้องงดน้ำ งดอาหารไหม
เธอบอกว่า ไม่ต้อง
เช้าโทรบอกให้ กลั้นปัสสาวะ
พอพบหมอ
ผมบอกว่าทานนมมา
หมอบอกว่า วัดตรวจเลือดไปก็ไม่ค่อยมีผล ให้มาใหม่ดีกว่า
อ้าว….
ผมพยายามบอกหมอว่า พยาบาลบอกไม่ละเอียด
หมอบอก หยุดก่อน จะได้พูดทีเดียว
แล้วเรียกพยาบาลมายืนข้างๆ
แล้วบอกว่า
อ้าว พูด จะได้ยิน พร้อมๆกัน
ตอนนั้น เหมือนหมอจะรู้สึกว่า
การได้ยินพร้อมๆ กัน จะทำให้การสื่อสารดีขึ้น
แต่ตอนนั้นผมกลับรู้สึกเหมือนตัวเองต้องให้การต่อหน้าศาล
เพื่อนอีกคน กลับจากรพ. หน้าตามีโมโห
บอกว่า หมอส่องกล้อง ดูเห็บในหูของลูก
แค่พูดผิดว่า ขอหมูดูหอ แทนที่จะเป็น ขอหมอดูหู
ก็ขำๆดี
แต่พอส่องดูหูแล้วหมอพูดว่า
โอ้โห อยู่กันเป็นครอบครัวเลย
เขาโมโหควันออกหู กลับมาแล้วบ่นระบายว่า
หมอไม่น่าพูดจาอะไรแบบนั้น
เพื่อนอีกคนว่ากลับจากโรงพยาบาล แล้วไม่สบายใจ
เพราะพยาบาลถามว่าเจ็บตรงไหนคะลุง
เขาตอบว่า เจ็บตรงที่เรียกลุงนี่แหละ
ส่วนพี่สาวผมไปพบแพทย์ เพราะมีอาการเหนื่อยง่าย
ทั้งนอนไม่ค่อยหลับ รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ
หมอถามว่า จะให้บอกตรงๆ ไหม
พี่สาวก็ตอบว่า มาพบหมอก็อยากจะได้คำตอบนั่นแหละค่ะ
หมอเลยบอกว่า แก่
คำเดียวเท่านั้น พี่สาวผมไม่กลับไปหาหมอคนนั้นอีกเลย
ความเห็น 14
ผมคิดว่าบางครั้งในการที่จะพูดคุยหรือสอบถามกันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของในการที่จะสื่อสานกันเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นนั้น ก็คงจะเป็นในเรื่องของความชัดเจน และตรงประเด็นที่เป็นหลักทีสำคัญ เพราะผมคิดว่าอย่างน้อยก็สามารถที่จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและไม่เกิดความสับสนขึ้นมาได้เหมือนกันนะครับ.
23 ต.ค. 2562 เวลา 07.51 น.
Nu 096
ขอให้คนเขียนลองไปนั่งเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 1 วัน แล้วลองแชร์ประสบการณ์ให้อ่านใหม่นะคะอาจมีมุมมองใหม่ๆที่น่าสนใจยิ่งขึ้น
23 ต.ค. 2562 เวลา 12.42 น.
Srisan 1973
ฟังไม่เข้าใจก็ถามใหม่ จนเข้าใจ
23 ต.ค. 2562 เวลา 11.48 น.
✈️✈️🛩️🛩️🚁🚁🚀✈️✈️🛩️🛩️🚁🚁✈️✈️🚁🚁🚀✈️✈️
น้องสาวในที่ทำงานถามว่า เป็นอะไรไม่รู้ ลุกขึ้นตอนเข้าแล้วเวียนศรีษะ เลยบอกว่าฮอร์โมนลด เลี่ยงคำว่าแก่ น้องยังถามว่า อย่างนี้ต้องให้ฮอร์โมนทดแทนใช่ไหม เลยบอกว่า ไม่ต้องให้ ร่างกายจะค่อยๆๆปรับสภาพได้เอง คือจะบอกว่า ที่หมอพูดตรงก็ดี ถ้าพูดอย่างนักการทูตและนักภาษาศาสตร์ก็ยาวไปหน่อย ไม่จบสักที
23 ต.ค. 2562 เวลา 12.02 น.
KOH✨🄺🄾🄷
การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล กับ ผู้ป่วยรวมถึงญาติผู้ป่วยบางครั้งต้องเรียกว่า " ความจริงใจสื่อสารลำบาก " จริงจังก็ไม่ได้ผ่อนคลายมากก็ไม่ดี มันอยู่ที่อารมณ์คนพูดและคนฟังต้องอยู่ในอารณ์เดียวกันถึงจะสื่อสารเข้าใจไม่มีปัญหาครับ
14 พ.ย. 2562 เวลา 02.49 น.
ดูทั้งหมด