ตอนเปิดร้านอิ่มอุ่นใหม่ ๆ วันแรกประตูร้านยังติดขัด
ผมเขียนป้ายติดไว้ตรงกระจกว่า ….ประตูเสีย
พ่อเห็นเข้าพอดี แกจึงแนะนำว่า ให้เปลี่ยนป้ายจาก …ประตูเสีย ให้เขียนอย่างอื่นแทน
พลางแนะนำว่า ให้ใช้คำว่า ….ใช้ประตูอีกด้านสะดวกกว่า
ร้านเราเพิ่งเปิด การบอกคนไปทั่วว่า ประตูเสีย ย่อมหมายถึงความไม่พร้อมในการทำงานของเราทั้งระบบ
.
วันหนึ่งมีลูกค้าแม่กับลูกจูงมือกันมาที่ร้าน
ผมเอ่ยถามไปซื่อ ๆ ว่า …คุณพ่อไปไหน ทำไมไม่มา
คนเป็นแม่ทำหน้าเซ็ง ๆ แล้วตอบผมว่า …พ่อไม่มี
ผมรู้สึกแย่มากที่ถาม คำถามเช่นนั้นออกไป
นึกไปถึงเพลงของ อัศนี ที่ร้องว่า
ไม่อยากจะเจอหน้าใคร ไม่มีกะใจพบคน
(ที่ไม่อยากเจอเพราะถูกถาม)
เพลงนี้คุณนิติพงษ์ เขียนเนื้อเพลง
โดยเอาเรื่องราวของคุณวัชระ ที่เพิ่งเลิกรากับแฟนแล้วไปไหน ก็มักมีใครต่อใคร ถามว่า ..แฟนไปไหน
พอนำมาบอกเล่า ก็เข้าทางนักแต่งเพลงพอดี
.
เมื่อเราเปิดร้าน เราย่อมต้องการฟี้ดแบ็คจากลูกค้า
ครั้น มีแขกมาทานอาหารหรือขนมที่ร้าน
หากเราถามว่า ..อร่อยไหมคะ?
เขาจะตอบว่าอะไรได้ มีสักกี่คนจะกล้าตอบว่า ไม่อร่อย
เขาก็ตอบได้แค่ว่า อืมมม..อร่อย แล้วก็ยิ้มเหอะ ๆ ๆ
แต่ถ้าถามว่า ..รสชาติอาหารมีอะไรต้องปรับปรุงไหม?
เขาพอจะบอกได้ว่า ..เค็มไป หวานไป หรือว่า ..ดีแล้วอร่อยแล้ว
ดังนั้นการตั้งคำถามจึงสำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร
.
การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนัก
แค่สั่งอาหารนี่ก็การสื่อสารเบื้องต้น
จะได้ของถูกใจกับที่สั่งไหมขึ้นอยู่กับการสื่อสาร
เวลาผมสั่ง ก๋วยจั๊บ ..ใส่หมูตับเลือด นี่บางทีได้ไม่ครบ
ต้องสั่งว่า ..หมูเลือดตับ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นคำเดียวกัน
แต่พอย้ายคำว่าตับไปอยู่ตรงกลาง มีโอกาสจะได้ยินผิดเป็น หมูกับเลือด
พอย้ายตับมาอยู่ท้าย จังหวะคำก็หนักแน่นขึ้น
โอกาสจะพลาดน้อยลง มักจะได้ตับครบเสมอ
.
ขนาดสั่งก๋วยจั๊บยังมีปัญหา ประสาอะไรกับการทำงานที่ต้องสื่อสารส่งต่อกันไปมากมายหลายสถาน
กระทั่งคำว่า…รอประเดี๋ยวนะ
ถ้าบอกว่า ..รอสัก 5 นาทีหรือรอ ..สัก 15 นาที จะจัดการกับเวลาได้ง่ายกว่า
เพราะ ..ประเดี๋ยวของแต่ละคนนี่มันไม่เท่ากัน
ครั้นเมื่อต้องขับรถมารับ พอถึงที่พักก็โทรบอกว่า …ถึงแล้วครับ
ที่จริงโทรมาก่อนถึงก็ได้นี่นาว่า… อีกสิบห้านาทีจะถึง
จะได้เตรียมตัวมารอให้พอดีเวลากัน
.
รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้แต่การส่งโทรศัพท์ให้คนอื่นแล้วบอกว่า
…อ้าว..นี่มีคนจะพูดสายด้วย
บางทีรับโทรศัพท์มาแบบงง ๆ
..เออ มีคนอยากพูดด้วย แล้วมึงไม่ถามก่อนละว่า
..กูอยากจะพูดด้วยหรือเปล่า
.
การพูดยังมีน้ำเสียงมีน้ำหนัก ซึ่งพอจะแยกแยะอารมณ์ได้
บางคนพูดคำว่า ทุเรศน่ารัก จีบปากจีบคำก็ฟังดูไม่ทุเรศนัก แต่กลายเป็นน่ารักไปก็ได้
แต่การเขียนนี่ต้องตรวจสอบตรวจทานให้ดี เพราะไม่มีน้ำหนักของคำช่วย
คงเคยบ้างแหละ แค่ข้อความก็สามารถสื่อสารให้สับสนได้
จะมากจะน้อย จะเรื่องสำคัญหรือไม่
เพราะบางครั้งเครื่องส่งสมัยนี้ มีการจัดแก้ข้อความให้เลือก
หนนึงมีคนกำลังเสียใจ เราจะส่งข้อความไปปลอบใจ
ตั้งใจจะเขียนบอกว่า …..น่าสงสาร
มันดันแก้คำให้ว่า ….หน้าตัวเมีย
.
บางเรื่องก็ควรจะต้องเลือกว่า จะใช้การสื่อสารด้วยเครื่องมือชนิดไหน
จะโทรคุยหรือจะไลน์ให้อ่าน จะเลือกใช้อีเมล์หรือจดหมายลงทะเบียน
หรือใช้มันพร้อม ๆ กันหลายอย่าง
ส่งอีเมล์แล้วก็ต้องส่งไลน์บอก
พอไม่อ่านไลน์ก็ต้องโทรถามว่าทำไมไม่อ่านไลน์
เครื่องมือแต่ละอย่างประสิทธิภาพไม่เหมือนกัน
บางคนอยู่ในบ้าน ยังต้องใช้ไลน์สื่อสารกัน
คนรุ่นพ่ออาจจะตะโกนว่า เฮ้..มากินข้าวกันได้แล้ว
คนรุ่นลูกอาจจะสงสัย แล้วตอบทางไลน์ว่า ทำไมต้องตะโกนด้วย
คนรุ่นพ่ออาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องใช้ไลน์
.
เคยมีเพื่อนเก่าโทรหา แล้วผมเรียกแทนสรรพนามของเพื่อนว่า …คุณ
มันก็ด่ากลับว่า …คุณเหี้ยอะไร กู นี่กู ไม่ใช่คุณ
เห็นไหม คำว่า..คุณ…กลับกลายเป็นความห่างเหิน ไม่ใช่คำสุภาพสำหรับเพื่อน
แต่สำหรับแฟนหรือสามี ภรรยา คำสรรพนามหวาน ๆ นั้นสำคัญยิ่งนัก
พี่สาวอยากทำเซอร์ไพรส์ สามีที่แต่งงานอยู่กินกันมานาน
เธอออดอ้อนว่า เย็นนี้มีธุระสำคัญ
พูดจาไพเราะเรียกสามีว่า ..ฮันนี่ หั่นหนี ตลอด
ฮันนี่ต้องไปให้ได้นะ
งานอะไรสามีถาม
งานพิเศษ ..ฮันนี่ต้องไปนะจองโต๊ะไว้แล้ว
..อ๋อจ๊ะ ๆ สามีรับปาก
พอตกเย็น ๆ ภรรยาก็โทรมาตามถึงที่ทำงาน
..ฮันนี่ ออกมาหรือยัง
..ยังจ๊ะติดงานอยู่
..อย่ามัวโอ้เอ้นะ นี่งานสำคัญ
..ว้า…สำคัญยังไง นี่ก็ติดงานสำคัญอยู่
..ฮันนี่ติดงานไม่ได้นะ วันนี้สำคัญมาก ๆ เพราะเป็นวันครบรอบแต่งงาน
..ครบรอบแต่งงานใครหรือ สามีถาม
พี่สาวควันออกหู ตอบใส่โทรศัพท์อย่างแรง
..ของมึงกับกูไง
สามีรีบแจ้นมาถึงโรงแรมอย่างว่องไว
ก็งานครบรอบแต่งงานของกูกับมึงจะไม่สำคัญได้ยังไง
.
รุ่นน้องโรงเรียน ได้รับการวางตัวให้เป็นคนส่งข่าวเรื่องงานเลี้ยงของศิษย์เก่า
ปรากฎว่า คนมากันน้อยกว่าที่คิด
รุ่นพี่จึงสอบถามคาดคั้นว่า…
ที่พี่ไว้ว่าให้โทรไปตามเพื่อนนักเรียนเก่ามาร่วมปฏิสัมพันธ์กันนั้น
..เอ็งได้โทรไปบอกกันไหมว่าให้มากันเยอะ ๆ
..ผมโทรไปเกือบทุกคนเลยครับ
..แล้วเอ็งบอกว่ายังไง
..เออ ผมบอกว่า ให้มา…ปฏิสนธิ กันด้วยนะ
มิน่า…… ถึงไม่ค่อยมีใครกล้ามา
.
ความเห็น 5
ผมคิดว่าในการสื่อสารเพื่อที่จะให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงในสิ่งต่างๆเพื่อให้เข้าใจอย่างชัดเจนนั้น ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ก็ควรที่จะพิจรณาให้รอบครอบถึงในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาก็จะเป็นผลดีเหมือนกันนะครับ.
16 ต.ค. 2562 เวลา 07.53 น.
Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
การสื่อสาร ถ้าเป็นทางเดียว ก็เหมือนพูดกับอากาศ เพราะคนฟังไม่ได้ใส่ใจฟัง หรือบางทีฟังแต่คนพูดสื่อสารเข้าใจยากก็มี เป็นเพราะอะไร คิดว่าเป็นเพราะหลายๆอย่างเช่น อายุของทั้งสองฝ่าย อย่างนี้เป็นต้น อาจเป็นได้ว่าไม่สามารถทึ่จะสื่อสารกันได้ทีเดียว จำต้องพูดหลายๆครั้ง หรือไม่ก็ ควรตั้งใจฟังอีกฝ่าย จะได้ไม่พลาดค่ะ อันนี้มาจากประสบการณ์เลย สลับกันเขาเป็น เราเป็น หรือไม่ก็ต่างคนต่างเป็น
16 ต.ค. 2562 เวลา 13.37 น.
🫵’’Ai~T⭕️P™☣️
#4
16 ต.ค. 2562 เวลา 16.26 น.
Pranee
อันนี้ชอบนะ.....ชอบๆๆๆ
24 ต.ค. 2562 เวลา 09.55 น.
ขำดีนะ
18 ต.ค. 2562 เวลา 08.14 น.
ดูทั้งหมด