โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อไทยกลายจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ..คุณพร้อมแล้วหรือยัง

LINE TODAY

เผยแพร่ 08 มิ.ย. 2560 เวลา 09.18 น.

รู้หรือไม่..ตอนนี้ประเทศไทยได้ก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของเราเป็นไปอย่างเงียบ ๆ เรียบร้อย คนไทยบางคนยังไม่รู้เลยว่าเราเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยองค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามว่าประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกิน 10% หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 7% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีเกิน 20% อายุ 65 ปีขึ้นไปเกิน 14% และหากสัดส่วนประชากรที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปเกิน 20% ก็จะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super Aged Society)

จากการคาดการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2573 แต่เมื่อปี พ.ศ. 2557 มีการเปลี่ยนแปลงที่ระบุว่าเราจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เร็วขึ้นอีก 5 ปีคือในปี พ.ศ. 2568 หรืออีก 8 ปีข้างหน้านี้เอง การที่จำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญก็คือการมีความรู้ความเข้าใจในการเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้สูงวัย โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมก่อนจะถึงวัยสูงอายุเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

เหตุผลที่ทำให้ทุกประเทศก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็เพราะคนอายุยืนขึ้น ตายยากขึ้นเนื่องจากการแพทย์ที่ทันสมัยและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่การมีอายุยืนขึ้นก็ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดความสุขหรือคุณภาพชีวิตแต่อย่างใด เพราะผู้สูงอายุบางรายก็ต้องพบเจอกับอาการเจ็บป่วย ไม่มีเงินหลังเกษียณ หรือถูกละเลยจากสังคมและลูกหลาน ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการเป็นผู้สูงวัยที่จะมาถึง

ยกตัวอย่างประเทศในเอเชียที่มีความพร้อมในก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมากที่สุดอย่างญี่ปุ่น เนื่องจากขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super Aged Society) ไปแล้ว โดยในปี ค.ศ. 2013 ญี่ปุ่นมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีสูงถึง 25.1% และคาดว่าจะเป็น 33.4% ใน ค.ศ. 2035 ซึ่งญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนบ้านเมืองและวิธีการใช้ชีวิตเพื่อเตรียมรับสังคมผู้สูงอายุมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวก หรือสวัสดิการที่เอื้ออำนวยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งหากอนาคตญี่ปุ่นจะมีประชากร 1 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุก็คงไม่เป็นปัญหาเท่าไรนัก 

ในขณะที่บ้านเรา ถ้าพูดถึงความพร้อมของประเทศที่จะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอาจดูเหมือนไกลจากภาพความเป็นจริงมากไปสักหน่อย เพราะการคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยเฉพาะจากภาครัฐก็ไม่ได้ตอบรับสำหรับผู้สูงอายุเท่าที่ควร ซึ่งเป็นสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ คงไปควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้นเริ่มต้นเตรียมตัววางแผนแบบรายบุคคลไปก่อนน่าจะปลอดภัยมากกว่า อะไรบ้างที่เราควรเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยชราอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างแรกเลยก็คือเตรียมใจ “จงชราอย่างกล้า” เตรียมตัวด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตตั้งแต่ยังเป็นวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงาน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดเนื้อสัตว์ไขมัน รับประทานผัก ผลไม้และปลามากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำสมอ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ หมั่นฝึกฝึกจิตให้สงบ เมื่อสุขภาพกายและใจพร้อม โรคภัยก็ไม่ถามหา เพียงเท่านี้ก็สามารถรับมือกับความชราได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว

นอกจากร่างกายและจิตใจที่ต้องเตรียมแล้ว คุณภาพชีวิตก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเตรียมตัวด้านการเงินและที่อยู่อาศัยให้พร้อม เริ่มต้นจากการกำหนดรูปแบบการใช้ชีวิตในวัยเกษียณของตัวเองก่อนเลย เราจะอยู่ยังไง อยู่ที่ไหน ทำอะไร เมื่อกำหนดสิ่งเหล่านี้ได้แล้ว คำตอบก็จะง่ายขึ้น จะรู้ทันทีเลยว่าต้องออมเงินเพื่อทรัพย์สินที่อยู่อาศัย และรายจ่ายต่าง ๆ อย่างไร

สุดท้ายคุณต้องไม่แก่อย่างโดดเดี่ยว ถึงแม้จะมีคู่ชีวิตก็ต้องเตรียมพร้อมด้วยเหมือนกัน เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าใครจะไปก่อน ควรเตรียมตัวเรื่องการมีส่วนร่วมกับสังคมไว้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมความสัมพันธ์สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณไม่เหงา ไม่เดียวดายแม้จะไม่มีใครอยู่ข้างกายก็ตาม

การเตรียมตัว วางแผนตั้งแต่ตอนเป็นวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงานเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่า เพราะเมื่อวันหนึ่งคุณต้องกลายเป็นผู้สูงอายุขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือจิตใจก็อาจไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เตรียมตัวให้พร้อมแต่เนิ่น ๆ แล้วคุณจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขที่สุด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0