คดีฆาตกรรมกับการสืบสวนที่ใช้เวลายาวนานระดับมหากาพย์คดีหนึ่งของประเทศไทยคงหนีไม่พ้นเคสการเสียชีวิตของเด็กสาวลูกครึ่งที่มีชื่อว่า 'เชอรี่แอน' นอกจากเรื่องราวชีวิตและเนื้อคดีที่ชวนให้หดหู่ใจมาก ๆ แล้ว คดีนี้ยังมีเงื่อนงำแสนซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมระหว่างการพิจารณาคดีด้วย
ในสัปดาห์นี้ "พุธนี้คดีสยอง" จึงขอเปิดแฟ้มคดี 'เชอรี่แอน' ขึ้นอีกครั้ง เพื่อทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยหวังว่าคดีนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำรอยอีก
'เชอรี่ แอน'
เด็กสาวลูกครึ่งไทย-อเมริกันหน้าตาสะสวย อายุ 16 ปี ในขณะนั้นเธอเป็นนักเรียนประจำโรงเรียนพระกุมารเยซูคริสต์ (โฮลี่) และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นคนรักลับ ๆ ของ 'เสี่ยแจ๊ค-วินัย ชัยพานิช' นักธุรกิจในวัย 40 ต้น ๆ ทั้งสองคบหาดูใจกันโดยที่เขาอยู่ในฐานะผู้อุปการะเธอ ส่งเสียให้ เชอรี่ แอน ได้เรียน ให้ที่พักอาศัยกับเธอ และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยความยินยอมของพ่อแม่เด็กสาว
วันที่ 22 กรกฎาคม 2529 คือวันสุดท้ายที่ทุกคนได้เจอกับ เชอรี่ แอน ก่อนที่เธอจะหายตัวไปอย่างลึกลับ เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนเห็นเธอโดยสารรถแท็กซี่คันประจำที่มารับทุกวันออกจากรั้วโรงเรียน และไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอหลังจากนั้น…
ร่างไร้วิญญาณ
3 วันต่อมา มีรายงานว่าชาวบ้านสองสามีภรรยาคู่หนึ่งพบศพหญิงนิรนามระหว่างที่ทั้งคู่กำลังจับปู ร่างของหญิงสาวถูกกลบอยู่ในร่องน้ำ ป่าแสมบางสำราญในเขตจังหวัดสมุทรปราการ และสืบทราบในภายหลังว่าเธอคนนี้คือเชอรี่ แอน ผู้ที่หายตัวไป
สภาพศพไร้บาดแผลใด ๆ เธอยังคงสวมชุดนักเรียนและมีร่องรอยที่บ่งชี้ว่า เชอรี่ แอน ถูกฆ่าโดยการรัดคอจนเสียชีวิต แต่สิ่งที่ทำให้การสืบคดีท้าทายฝีมือตำรวจ ณ เวลานั้นมาก ๆ คือไม่มีหลักฐานที่คนร้ายทิ้งเอาไว้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว
พยานชี้หลักฐาน
ผู้ต้องสงสัยหมายเลข 1 ตกเป็นของเสี่ยแจ๊คในทันที เพราะรถแท็กซี่ที่พาตัวเธอกลับบ้านในทุก ๆ วันเป็นคนที่เสี่ยแจ๊คจ้างให้ดูแลการเดินทางของเด็กสาว ประกอบกับพยานบุคคลที่เป็นคนขี่รถสามล้อรับจ้าง ก็เดินทางมาเพื่อชี้ตัวผู้ต้องสงสัย โดยเขาให้ปากคำว่าเห็นเสี่ยแจ๊คกับลูกน้องอีก 4 คนแบกร่างของ เชอรี่ แอน ออกมาจากสำนักงานขึ้นแท็กซี่ไป
ตำรวจสมุทรปราการ ออกข่าวการดำเนินการจับกุมจำเลยทั้ง 5 ในวันที่ 21 สิงหาคม 2529 ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือนหลังการเสียชีวิต เมื่อคดีเข้าสู่ชั้นศาลเพื่อพิจารณา มีเพียงเสี่ยแจ็คผู้เดียวที่อัยการไม่ส่งฟ้อง ลูกน้องของเขาทั้ง 4 คนถูกศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตและถูกส่งไปยังคุกบางขวางซึ่งเป็นดินแดนแห่งนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ไปจนถึงนักโทษประหารที่รอวันตาย
แพะผู้บริสุทธิ์
เหตุการณ์พลิกล็อกเมื่อกองปราบฯ เจอเบาะแสสำคัญว่าคนขับสามล้อเป็นพยานเท็จของคดีนี้ พวกเขาพบว่า พ.ต.อ.มงคล ศรีโพธิ์ และ พ.ต.อ.สันติ เพ็งสูตร ตำรวจปากน้ำทั้งสอง คือผู้ที่จ้างวานพยานด้วยเงิน 20,000 บาท เพื่อแลกกับการปิดคดีโดยไว
กว่าที่ทุกอย่างจะถูกพิสูจน์ ก็ใช้เวลาผ่านไปเกือบ ๆ 10 ปี ในปี 2538 ศาลฎีกาตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 และคืนอิสรภาพให้กับพวกเขา ทว่า จำเลย 1 ราย เสียชีวิตไปก่อนระหว่างที่ถูกคุมขัง อีก 1 รายติดโรคร้าย ออกมาจากเรือนจำได้แค่แป๊บเดียวก็เสียชีวิต มีเพียง 2 รายเท่านั้นที่อยู่รอดปลอดภัย แต่หนึ่งในนั้นก็กลายเป็นผู้พิการจากการโดนซ้อมอย่างหนักหน่วงเพื่อบังคับให้ยอมรับสารภาพ
คนร้ายตัวจริง
ตำรวจกองปราบปรามรื้อคดีใหม่อีกครั้งหลังจากที่ศาลฎีกาตัดสินปล่อยตัวจำเลยทั้ง 4 ผู้ไม่มีความผิดใด ๆ และจากการสืบคดีใหม่ในครั้งนี้ พวกเขาก็สามารถจับฆาตกรตัวจริง ซึ่งก็คือ 'นายสมพงษ์ หรือจ้าย บุญฤทธิ์' และ 'นายสมัคร ธูปบูชากร' พร้อมทั้ง 'น.ส.สุวิบูล พัฒนพงษ์พานิช' แฟนอีกคนของเสี่ยแจ๊คผู้เป็นคนบงการจ้างฆ่าเพราะความหึงหวง
เดือนสิงหาคม 2538 ศาลชั้นต้นตัดสินประหาร น.ส. สุวิบูลและนายสมพงษ์ ส่วนนายสมัคร ได้รับการลดโทษเหลือเพียงการจำคุกตลอดชีวิต แต่ต่อมาในปี 2542 ศาลฎีกากลับยกฟ้อง น.ส. สุวิบูล เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีหลักฐานมัดตัวได้เพียงพอ ในขณะที่ฆาตกรทั้งสอง ต้องรับโทษตามการตัดสินของศาลชั้นต้น
การเช็กบิลครั้งใหญ่
หลังจากที่เหตุการณ์ทั้งหมดจบลง สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งสอบสวนวินัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามบิดรูปคดีและจ้างวานพยานเท็จทั้งหมด 4 นาย พบว่ามีผู้กระทำความผิดเพียง 2 นายและทั้งคู่ก็สามารถเอาตัวรอดจากการถูกลงโทษไปได้ และถึงแม้จะถูกไล่ออก หนึ่งในสองรายก็เกษียณอายุราชการพอดีและย้ายถิ่นฐานไปอยู่อเมริกา นายตำรวจที่เหลือก็เจริญก้าวหน้าในสายงาน ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของตนแต่อย่างใด
ในเวลาเดียวกัน แพะรับบาปจากคดี เชอรี่ แอน ที่หลงเหลืออยู่ 2 คนคือนายกระแสร์และนายธวัช ก็ตัดสินใจร่วมกันฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติและพนักงานสอบสวนคดีนี้ทั้งหมด ในข้อหาละเมิด พรากความถูกต้อง พรากอิสรภาพ และโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตของพวกเขาไปเกือบ 10 ปี ทั้งสองร่วมกับทายาทของจำเลยอีก 2 คนที่เสียชีวิตไปก่อนหน้าเรียกค่าเสียหาย 54 ล้านบาท ซึ่งศาลแพ่งใช้เวลาพิจารณีคดีนี้กว่า 6 ปี และวันที่ 25 กันยายน 2546 ก็พิพากษาให้จำเลยคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในที่นี้ ชดใช้ค่าเสียหาญแก่โจทก์รวมทั้งหมด 26,038,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง
การคุ้มครองผู้บริสุทธิ์
คดีนี้ไม่เพียงแค่สร้างความสะเทือนใจแต่เป็นการเขย่าวงการยุติธรรมไทยให้เปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานในการทำงานใหม่ โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือแนวคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ผู้ตกเป็น 'แพะ' ของคดี
จากข้อมูลของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ระบุเอาไว้ว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้มีการบัญญัติถึงสิทธิของจำเลยไว้ อันเป็นที่มาของพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ๒๕๔๔ เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหายและจำเลยผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา ซึ่งการคุ้มครองสิทธิของประชาชนดังกล่าวยังคงได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ ด้วย และนี่เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อทำหน้าที่ในส่วนนี้โดยตรง"
การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และการเยียวยาจำเลยเลยกลายเป็นเรื่องใหม่ที่ถูกเน้นย้ำให้ความสำคัญ ซึ่งสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่มีข้อผิดพลาดในอดีต และไม่มีการต่อสู้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบทเรียนในอดีต…
อ้างอิง
ความเห็น 92
กุ้ง
BEST
จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนเงินสามารถบิดเบือนได้ทุกระบบ
24 ก.พ. 2564 เวลา 03.08 น.
จุกพาล4
BEST
ทุกวันนี้ก็ยังเหมือนเดิมคุกมีไว้ขังคนจนไม่เชื่อถามบอสกระทิงแดงดู
24 ก.พ. 2564 เวลา 03.21 น.
แม่น้องมุกจัง
BEST
ทุกครั้งที่พูดถึงคดีนี้ สงสารแพะในคดีนี้จริงๆ. พวกเค้าคงทุกข์ทรมานใจมากในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้กระทำ.
24 ก.พ. 2564 เวลา 03.46 น.
NAS
สรุปเชอรี่ แอนเสียชีวิต เเต่ความยุติธรรมในเมืองไทยก็ยังคงไม่เท่ากัน ยังไม่มีอะไรที่คงที่ ไว้อาลัยแด่เชอรี่ แอนและ ความสงบสุขในประเทศไทย...
24 ก.พ. 2564 เวลา 03.09 น.
ไชยรัตน์
คุกมีไว้ขังคนจนครับ
24 ก.พ. 2564 เวลา 03.23 น.
ดูทั้งหมด