โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

“อกร่องทะวาย”ให้ผลดกทั้งปี รสชาติหวาน มัน อร่อย

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 13 ก.ย 2562 เวลา 07.09 น. • เผยแพร่ 13 ก.ย 2562 เวลา 07.05 น.
มะม่วง 728x437

หากใครสนใจอยากปลูกมะม่วงไว้รับประทานผลตลอดทั้งปี ขอแนะนำให้ปลูก “อกร่องทะวาย” เป็นหนึ่งในตระกูลมะม่วงอกร่อง ที่มีลักษณะเด่นคือ ออกลูกทะวาย ติดผลทั้งปี ผลดิบ ไม่ติดเปรี้ยว ผลแก่จัดเริ่มเข้าไคลจะมีรสมัน เมื่อแก่สุกเต็มที่จะหวานอร่อยเหมือนอกร่องทั่วไป มีกลิ่นหอม รับประทานอร่อย ขนาดผลไม่ใหญ่มาก 3-4 ผล ต่อกิโลกรัม แล้วแต่ความสมบูรณ์ ออกลูกดกเป็นพวง

ใครสนใจอยากได้สายพันธุ์มะม่วงอกร่องทะวายไปทดลองปลูก ขอแนะนำให้เลือกซื้อพันธุ์มะม่วงอกร่องทะวายของสวนบางไผ่พันธุ์ไม้ ที่ให้ผลผลิตดก คุณภาพดีตลอดทั้งปี อยากรู้พันธุ์ไม้ชนิดนี้ มีที่มาอย่างไร ลักษณะโดดเด่นแค่ไหน ต้องไปฟังคำตอบจาก อาจารย์บุญเกื้อ ชมฉ่ำ แห่งสวนบางไผ่พันธุ์ไม้ กันดีกว่า

ลูกผสมเกิดจากพันธุ์ “อกร่อง+โชคอนันต์”

อาจารย์บุญเกื้อ โทร. (085) 326-6003 อดีตข้าราชการครูวัยเกษียณ ซึ่งดูแลรับผิดชอบด้านการผลิตและขยายพันธุ์ไม้นานาชนิดของสวนบางไผ่พันธุ์ไม้ อธิบายให้ฟังว่า มะม่วงอกร่องทะวายพันธุ์นี้ จัดอยู่ในกลุ่มมะม่วงลูกผสมเปิด ที่เกิดจากต้นแม่ คือมะม่วงอกร่องอ่างทอง ส่วนต้นพ่อพันธุ์สันนิษฐานว่าเป็นมะม่วงโชคอนันต์
อกร่องทะวายพันธุ์นี้ได้รวบรวมลักษณะเด่นของพ่อแม่พันธุ์ไว้อย่างครบถ้วน สังเกตจากผลมะม่วงที่มีกลิ่นและรสชาติเช่นเดียวกับ “มะม่วงอกร่อง” ผล มีลักษณะเปลือกหนา รูปทรงใบและต้นเหมือนกับต้นมะม่วงโชคอนันต์โดยทั่วไป และมีเมล็ดบาง เปลือกหนา ขนาดผลโตสม่ำเสมอ

ลักษณะเด่นของ มะม่วงอกร่องทะวาย

มะม่วงอกร่องทะวาย ที่สวนบางไผ่พันธุ์ไม้ภาคภูมิใจนำเสนอในครั้งนี้ มีลักษณะโดดเด่นเป็นที่ถูกอกถูกใจเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพราะผลดิบผลสุกมีรสอร่อยแล้ว ยังมีลำต้นแข็งแรง เลี้ยงดูง่าย และมีขนาดขั้วใหญ่ ทำให้ติดผลแล้วไม่หลุดร่วงง่าย เป็นสายพันธุ์มะม่วงที่สามารถต้านทานโรคได้ดีมาก

ลักษณะเด่นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ มะม่วงอกร่องทะวาย ติดผลง่ายและให้ผลดกอย่างน่าทึ่ง แถมให้ผลผลิตนอกฤดูอีกต่างหาก ต้นแม่พันธุ์มะม่วงอกร่องทะวายที่ปลูกในสวนบางไผ่พันธุ์ไม้ ให้ผลผลิตติดต่อกันมาเป็นปีที่ 7 แล้ว โดยเริ่มให้ผลรุ่นแรก ตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงทุกวันนี้ มะม่วงอกร่องทะวายปลูกดูแลง่าย และให้ผลผลิตตลอดทั้งปี

ให้ผลดก เฉลี่ยปีละ 3-4 รุ่น

อาจารย์บุญเกื้อ ยืนยันว่า มะม่วงอกร่องทะวาย ออกผลง่าย เฉลี่ยปีละ 3-4 รุ่น ผลผลิตแต่ละรุ่น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จำนวนมาก ต้นมะม่วงติดผลดกเป็นพวง บางพวงมีลูกจำนวนมากถึง 8 ผล ส่วนผลเดี่ยวไม่ค่อยมี หากมีก็เจอน้อยมาก สำหรับผลเป็นพวงจะมีน้ำหนักเฉลี่ย ผลละประมาณ 3.5 ขีด ส่วนผลเดี่ยวที่เจอจะมีน้ำหนักเฉลี่ยผลละ 5 ขีด

มะม่วงอกร่องทะวายพันธุ์นี้ มีรสชาติอร่อยไม่แพ้มะม่วงรับประทานสุกทุกชนิด เนื้อสุกไม่เละ หวานหอมมีเส้นใยน้อย อร่อยมาก เนื้อผลสุกมีกลิ่นหอมรับประทานแล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็นเนื้อของมะม่วงอกร่อง ยิ่งรับประทานกับข้าวเหนียวมูนยิ่งเพิ่มรสชาติความอร่อยสุดๆ ส่วนผลดิบแก่จัดมีรสมัน แค่ฝานเนื้อรับประทานเปล่าๆ ก็ได้รสชาติมัน เนื้อกรอบ หากรับประทานกับน้ำปลาหวานจะยิ่งเพิ่มความอร่อยขึ้นอีก

ระยะหลัง เมืองไทยเจอสภาวะอากาศแปรปรวนบ่อย แต่มะม่วงอกร่องทะวายพันธุ์นี้ ยังคงให้ผลผลิตดกตลอดทั้งปีเช่นเดิม หากใครสนใจมะม่วงพันธุ์นี้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีบังคับให้ต้นมะม่วงออกผลผลิตเลย อยากให้มีผลผลิตช่วงไหน ก็เพียงแค่บำรุงต้นให้สมบูรณ์ ต้นมะม่วงอกร่องทะวายก็จะให้ผลผลิตตามที่ต้องการ

ปลูกกินก็ได้ ปลูกขายก็รวย

“พี่เล็ก” หรือ คุณฉัตราพร ชมฉ่ำ หนึ่งในเจ้าของกิจการสวนบางไผ่พันธุ์ไม้ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะม่วงอกร่องทะวายพันธุ์นี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่สนใจปลูกมะม่วงเชิงการค้า หรือผู้สนใจปลูกมะม่วงเป็นไม้ผลบริโภคในครัวเรือน แม้มีพื้นที่น้อยก็สามารถปลูกมะม่วงพันธุ์นี้ได้ลูกแน่นอน ที่สำคัญผลผลิตของมะม่วงพันธุ์นี้รับประทานได้อร่อยทั้งผลดิบและผลสุก

ข้อเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ อกร่องทะวายเป็นสายพันธุ์มะม่วงที่ให้ผลผลิตได้หลายรุ่นในต้นเดียวกัน ปลูกดูแลง่าย โดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีแต่อย่างใด จึงเป็นไม้ผลทางเลือกอีกชนิดหนึ่งสำหรับประชาชนที่สนใจบริโภคผลไม้ที่ปลูกดูแลในระบบเกษตรอินทรีย์

เทคนิคเสียบยอดมะม่วงแบบแปะข้างกิ่ง

อาจารย์บุญเกื้อ นับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายพันธุ์ไม้ระดับแนวหน้าคนหนึ่ง ในโอกาสนี้ผู้เขียนจึงรบกวนให้อาจารย์บุญเกื้อช่วยถ่ายทอดเทคนิคเสียบยอดมะม่วงแบบแปะข้างกิ่งให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติตามได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก
อาจารย์บุญเกื้อ แนะนำให้ใช้ต้นตอขนาดเล็ก เพาะใส่ถุง ขนาดต้นตอ 0.5 เซนติเมตร เลือกใช้กิ่งพันธุ์ดีขนาดตั้งแต่ 0.5-2 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร มีตาประมาณ 4 ตา ตัดใบทิ้งครึ่งใบ

ขั้นตอนต่อมา ให้ปาดกิ่งพันธุ์ดีให้เป็นแผลรูปถ้วยหัวคว่ำ มีขนาดโตเท่ากับแผลต้นตอ ปาดต้นตอให้เป็นแผลรูปวงรี ความยาวแผล 2-3 เซนติเมตร ความสูง 6 เซนติเมตร หลังจากนั้น ให้จับแผลต้นตอกับยอดพันธุ์ดีประกบติดกัน โดยหันแผลกิ่งพันธุ์ดีเข้าหาตัว เพื่อให้แผลประกบติดกันสนิท พันด้วยผ้าพลาสติกให้แน่น หลังจากนั้นให้นำต้นที่ขยายพันธุ์ใส่ถุงพลาสติกใส จำนวน 1-20 ต้น ใส่ถุงผูกปากไม่ให้อากาศเข้าออก นำไปวางไว้ในที่ร่ม ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แผลก็จะสมานตัวในที่สุด

เทคนิคการสร้างทรงพุ่มมะม่วงต้นเตี้ย

สำหรับมือใหม่ที่หัดปลูกมะม่วงเป็นไม้ผลรอบบ้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการดูแลจัดการต้นมะม่วง อาจารย์บุญเกื้อแนะนำให้ใช้เทคนิคการสร้างทรงพุ่มมะม่วงต้นเตี้ย โดยกำหนดระยะปลูกต้นมะม่วงให้ห่างกัน ประมาณ 3-4 เมตร รักษาระดับความสูงของต้นมะม่วงไม่เกิน 3 เมตร เทคนิคนี้ควรใช้กับต้นมะม่วงที่ขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด และเป็นกิ่งพันธุ์กิ่งกระโดนกิ่งเดียว ความสูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร

เทคนิคการบังคับทรงพุ่ม

นอกจากนี้ อาจารย์บุญเกื้อ ยังแนะนำเทคนิคการบังคับทรงพุ่ม หากใครสนใจเทคนิคนี้ ควรขุดหลุมปลูกต้นมะม่วงให้มีความลึกประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกคลุกกับดินที่ขุด หลุมละ 1 ถังหิ้วปูน นำต้นมะม่วงลงปลูกโดยให้วัสดุชำต้นต่ำกว่าผิวดิน 1 ฝ่ามือ ปักหลักยึดลำต้นให้แน่น

เมื่อต้นมะม่วงเริ่มจะแตกยอด ให้สังเกตยอดกลาง หากเห็นเป็นตุ่มใหญ่ให้แคะยอดกลางออก กิ่งจะแตกยอดออกด้านข้าง เลี้ยงไว้และเลือกยอดตรงข้ามได้ 2 กิ่ง จับถ่างออก เป็นมุม 70 องศา (แตก ชั้นที่ 1 จะมี 2 กิ่งหลัก) ขั้นตอนต่อมา ต้องบังคับให้แตก ชั้นที่ 2 ทำเหมือน ชั้นที่ 1 (จะมีกิ่งหลัก 4-6 กิ่ง) และบังคับให้แตก ชั้นที่ 3 ทำเหมือน ชั้นที่ 1 (จะมีกิ่งหลัก 12-18 กิ่ง) จะได้ความสูงประมาณ 2-3 เมตร

หลังจากการปลูก ประมาณ 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้น อาจารย์บุญเกื้อ แนะนำว่า ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมี (ปุ๋ยอินทรีย์ 80%+ปุ๋ยเคมี 20%) หรือปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-20, 16-16-16+ธาตุอาหารรอง เดือนละ 1 ครั้ง จะช่วยให้ต้นมะม่วงแตกกิ่งและมีกิ่งสมบูรณ์ครบตามจำนวนที่ต้องการ

ทั้งนี้ มีข้อควรระวังสำหรับมือใหม่หัดปลูก ระหว่างต้นมะม่วงแตกใบอ่อน มักจะมีแมลงกัดใบเข้ามาทำลายใบอ่อนได้ จึงต้องระวังป้องกัน โดยใช้ยาฆ่าแมลง หรือเฝ้าระวังตอนเช้าและเย็น หรือเวลามีแสงแดดน้อย จนใบเริ่มแก่

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0