โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ก็มันหล่อนี่ - ศุ บุญเลี้ยง

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 10 มิ.ย. 2563 เวลา 04.33 น. • ศุ บุญเลี้ยง

วันนั้นที่โรงเรียนชนบทบรรยากาศค่อนข้างดี

เป็นวันนักเขียนไปพบนักเรียน

งานจัดง่ายๆ ตามประสา โรงเรียนเล็กๆ แต่มีเหล่าบรรดานักเขียนใหญ่หลายคนไปช่วยกันบรรยาย เพื่อถ่ายทอดแรงบันดาลใจให้บรรดานักเรียนและคุณครู

ลงจากเวทีด้วยความสำราญใจ

กลับมาที่งานเลี้ยงรับรอง มีคนเอ่ยชมว่าผมบรรยายสนุกนักเรียนชอบใจ ฟังไปหัวเราะไปไม่หลับ

พี่นักเขียนท่านหนึ่งซึ่งไม่ได้ไปงานที่โรงเรียนด้วยพูดขึ้นมาว่า… “ก็ใช่สิมันหล่อ..นี่

ปกติคำว่าหล่อ น่าจะเป็นคำชม แต่ตอนนั้นกลับกลายเป็นคำเสียดสี หรือคำเย้ยหยัน คล้ายกับว่า สิ่งที่ทำไปนั้น ได้รับความนิยมเพราะหน้าตาไม่ใช่ฝีมือ

ลองนึกเปรียบเทียบว่า หากมีใครสักคนสนใจการเล่นกีต้าร์ของพี่ก้อง ซึ่งอุตส่าห์ฝึกซ้อมมาตั้งนานเล่นจนชำนาญ พอขึ้นเวทีโชว์ลวดลายดนตรี ตอนลงเวทีมา มีคนชมว่าพี่ก้องเล่นกีต้าร์เก่งจัง แล้วมีอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่แถวนั้น พูดขึ้นมาให้ได้ยินว่า “ก็ใช่สิ ก้องมันหล่อนี่”

พี่ก้องได้ยินก็คงไม่พึงใจในคำว่าหล่อนั้น

ผมก็เช่นกัน จากวันนั้นจนวันนี้ ก็ยังคงไม่พอใจ ในคำกล่าวนั้น ยังจดจำฝังใจมาตลอด แม้ผู้พูดเสียชีวิตไปแล้ว อโหสิกรรมไปแล้ว แต่ผมก็ยังจำได้ ไม่เคยลืม วันนั้นไม่ได้แก้ต่างแก้ตัวอะไรออกไป เพราะโชคดีว่าคนที่ไปบรรยายด้วยเป็นนักเขียนอาวุโสผู้ซึ่งทุกคนยอมรับ เป็นผู้ใหญ่แสนสุภาพ เป็นศิลปินที่ผู้คนยกย่อง ปัจจุบันท่านเป็นศิลปินแห่งชาติอย่างสง่างาม

ซึ่งผมบรรยายร่วมเวทีเดียวกับท่านที่โรงเรียนวันนั้น

ท่านจึงเป็นคนเอ่ยชม ว่าบรรยายสร้างบรรยากาศได้ดี เมื่อพี่นักเขียนท่านนั้นได้พูดเปรยขึ้นมา เราต่างไม่เคยรู้จักกัน แต่ประโยคเดียวก็มากพอที่ผมจะรู้จักและจดจำไปจนตาย

ศิลปินอาวุโสจึงกล่าวโต้ไปว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น เขาพูดได้ดีจริงๆ” 

ท่านมาบอกเสริมภายหลังว่า ท่านไม่ได้ติดตามผลงานอะไรหรือรู้ว่าผมร้องเพลงอะไร ท่านประทับใจก็ในสิ่งที่ผมพูดบนเวที และผ่านไปหลายปีท่านก็ยังยืนยันกับครอบครัวว่า ผมบรรยายเข้าที

นี่เป็นสิ่งอันน่าภาคภูมิใจ ทดแทนคำหมิ่นแคลนแกมเสียดสี ที่ไม่สามารถทำลายความปลื้มใจไปได้

เวลามีคนถามว่าทำได้ยังไง บรรยายได้ยังไง ถึงทำให้บรรยากาศไม่ซึมเซาแถมยังสนุกรื่นรมย์

ตอบไปแล้ว หลายคนอาจจะไม่เชื่อ จริงอยู่ว่าการบรรยายเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนา มีกลเม็ดในการออกแบบและวางแผน มีเคล็ดลับซึ่งเล่ากันได้ยาวถ้าอยากฟัง  แต่สิ่งที่สำคัญอันไม่ใช่ความลับคือการเตรียมตัว

ก็แค่เตรียมตัวให้ดีๆ ย้ำอีกทีสิ่งนี้ไม่ใช่ความลับ

แม้จะมีสไลด์พร้อมสรรพ บรรยายมานับสิบหน แต่ก่อนไปบรรยาย ผมต้องมาจัดเรียงสไลด์ทั้งหลายนั้นใหม่ อาจตัด อาจเติม อาจเพิ่ม หรือกระทั่งเลิกใช้มันไปเลย เมื่อไปเห็นบรรยากาศของงานว่า มีคนเปิดสไลด์ให้ดูเยอะแล้ว เป็นต้น

ถ้าต้องบรรยายเนื้อหาสิบ ผมก็จะเตรียมไปสามสิบเป็นอย่างน้อย ไปถึงงานแล้วค่อยปรับอีกทีว่า จะเอาสิบไหนดีมาบรรยาย 

เราเตรียมเครื่องมือไปสามสี่แบบ ถ้าเปิดจากคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ก็จะลองเปิดจากสมาร์ทโฟน ถ้าเปิดจากมือถือไม่ได้ ก็จะเปิดจากแฟลชไดรฟ์ ในแฟลชไดรฟ์ มีไฟล์เดียวกันนั้นสามโปรแกรม เพราะมันอาจจะเปิดด้วยโปรแกรมหนึ่งโปรแกรมใดไม่ได้

ที่สำคัญถ้าเปิดไม่ได้ ผมก็ต้องมั่นใจพอจะบรรยายให้ได้โดยไม่ต้องใช้สไลด์เลย

เพราะเคยเห็นวิทยากรท่านหนึ่งไปถึงห้องบรรยายแล้ว  เปิดสไลด์ที่เตรียมมาไม่ได้ ท่านวิทยากรก็หัวฟัดหัวเหวี่ยง

เห็นแล้วสงสารมาก สงสารทั้งคนพูดและคนฟัง ต้องนั่งรอกันนานๆ เพราะวิทยากรกลายเป็นคนผู้หมดสภาพคล่องในการบรรยาย

เลยจำไว้ว่าต้องไม่ให้เกิดกับตัวเอง

 

หนหนึ่งผมได้รับชวนไปบรรยายให้กับค่ายนักเขียน ‘ยังไรเตอร์’

เขาให้คนฟังประเมินผลออกมาว่า ความพึงพอใจในการฟังนั้นเป็นเช่นไร ผมได้คะแนน98 จากคะแนนเต็ม100

ซึ่งควรจะภาคภูมิใจ เป็นอย่างยิ่ง 

แต่ในงานเดียวกันนั้น นักเขียนผู้เป็นมิตรสหายชื่อ บินหลา ได้คะแนนความพอใจจากผู้ฟัง เต็ม 100

เขาร้องเพลงไม่ได้ไม่ใช่คนหล่อ 

วันนั้นเขาทำได้ดีกว่า  เพราะเขาเตรียมตัวดีกว่า

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากศุ บุญเลี้ยง ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่นได้ที่เพจศุ บุญเลี้ยง

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0