โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

Marriage Story – ความปวดร้าวของการได้รัก / ความงดงามของการจากกัน - เพจ Kanin The Movie

TALK TODAY

เผยแพร่ 11 ธ.ค. 2562 เวลา 03.47 น. • เพจ Kanin The Movie

สำหรับเทศกาลรางวัลในปีหน้า: หนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าจับตามองที่สุดคงจะเป็น “Marriage Story” ผลงานล่าสุดของ โนอาห์ บอมบาค (Frances Ha, The Squid and the Whale) ที่เพิ่งเข้าชิงรางวัล Golden Globes 2020 ไปถึง 6 สาขา กลายเป็นตัวเต็งสำคัญในเวทีออสการ์ที่จะพาให้ Netflix ได้มี Best Picture เป็นของตัวเองเสียที – แต่สำหรับการเป็นภาพยนตร์: มันคือหนังรักที่งดงามและทรงพลังที่สุดเรื่องหนึ่งที่เคยดูมา เรื่องราวความสัมพันธ์ชีวิตคู่ที่แตกสลายไม่ใช่พล็อตที่แปลกใหม่แต่อย่างใด มากไปกว่านั้น มันคือเรื่องราวแสนปกติที่มนุษย์หลากหลายคนเคยผ่านพ้นมา แต่ก็อาจจะเพราะมันคือเรื่องเล่าอันแสนธรรมดานี้เองที่ทำให้เราเจ็บปวด ความจริงเสียเหลือเกินของหนังกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เรื่องราวมันช่างมนุษย์อย่างสุดหัวใจโดยไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก ผ่านสายตาของผู้สร้างที่มองไปยังรอยร้าวดังกล่าวในฐานะผู้ที่เข้าใจมันอย่างถ่องแท้ว่ากระบวนการอันใจสลายนี้มีจุดเริ่มต้น ระหว่างทาง และสิ้นสุดอย่างไร  

Marriage Story เปิดเรื่องด้วยบทพูดขนาดยาวของชายหญิงสองคนที่กำลังเล่าถึงคนรักของตนเอง ประกอบไปกับภาพชีวิตหลากหลายช่วงเวลาที่ช่วยเน้นคำพูดเหล่านั้น มันถูกร้อยเรียงราวกับเป็นฉากแสนโรแมนติกก่อนที่เราจะได้พบว่ามันคือข้อความในกระดาษโน๊ตที่ต่างฝ่ายต่างจดเพื่อนำมาใช้พูดกันในคอร์สบำบัดชีวิตคู่ที่จบลงด้วยความล้มเหลวไม่เป็นท่า หนังค่อยๆพาเราไปทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ปัญหาที่พวกเขากำลังแบกรับ และทางออกที่ทั้งสองฝ่ายพยายามตามหา ชีวิตคู่ของทั้งสองอยู่ในสภาวะย่ำแย่มาอย่างยาวนาน พวกเขากลายเป็นเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดกันภายนอกมากกว่าตอนอยู่ในบ้านเสียอีก (ฝ่ายชายเป็นผู้กำกับละครเวที ส่วนฝ่ายหญิงเป็นนักแสดง) ทั้งหมดเริ่มเลวร้ายขึ้นเมื่อทั้งสองแยกกันอยู่ตามความจำเป็นของงาน ฝ่ายชายอยู่นิวยอร์กเพื่อจัดการละครที่กำลังจะขึ้นบรอดเวย์ ส่วนฝ่ายหญิงก็ได้โอกาสการแสดงที่เงินดี ณ แอลเอ จากที่ความรู้สึกของทั้งคู่ห่างกัน มันจึงถูกซ้ำเติมด้วยระยะทาง ยิ่งนานวันเข้าฝ่ายหญิงยิ่งรู้สึกจำเป็นต้องจัดการบางสิ่ง นำไปสู่การตัดสินใจฟ้องหย่า แม้ว่าทั้งสองจะตกลงกันแล้วว่าจะไม่แยกกันอยู่ด้วยวิธีนี้  

แม้ว่าชื่อเรื่องจะเป็น Marriage” Story แต่สิ่งสำคัญที่เราได้เห็นและจับต้องได้มากที่สุดคือ “กระบวนการหย่าร้าง” ที่ถูกเล่าอย่างละเอียดค่อยเป็นค่อยไปตามขั้นตอน ตั้งแต่การหาทนายหย่า การร่างเอกสาร การฟ้องหย่า ไปจนถึงการหารือ ทำข้อตกลง และขึ้นโรงขึ้นศาล โดยที่ระหว่างทางเราจะได้เห็นว่าระบบของการฟ้องหย่านี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ (แบบซ้ำเติม) ของทั้งสองมากเพียงใด สำหรับสายตาที่หนังมอง การหย่าร้างการฟ้องหย่าคือระบบที่สร้างความเกลียดชังขึ้นมา มันทำร้ายได้แม้กระทั่งชีวิตคู่ของชายหญิงสองคนที่ยังรักกันดี (แต่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้) ความต้องการที่จะจบด้วยดี จบโดยที่ถนอมความรู้สึกกันจึงเป็นเรื่องยากเมื่อมันมีเรื่องของการแพ้ชนะเข้ามาเกี่ยวข้อง การพยายามสรรหาข้อเสียของอีกฝ่ายมาสร้างน้ำหนักให้กับคดี ทำทุกวิถีทางที่จะทำให้เราเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ หลายๆ ส่วนมันเกินกว่าจะเป็นเรื่องของความรักและการจากลาตามที่ต้องการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นั้นค่อยๆ กัดกินความรู้สึกของพวกเขาอย่างเย็นชา ยิ่งพวกเขาต่างรู้ว่าตัวเองรักอีกฝ่ายเท่าไหร่ มันยิ่งทำให้รู้สึกใจสลายมากขึ้นเท่านั้น 

การพยายามเอาชนะไม่ได้อยู่แค่ในสงครามการหย่าร้างเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งที่อยู่ในชีวิตคู่ของเขาตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนังอธิบายประเด็นนี้ผ่านมุมมองของฝ่ายหญิงที่รู้สึกถูกกดทับมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นความสัมพันธ์กับฝ่ายชาย เธอแทบไม่ได้ออกความคิดเห็นหรือตัดสินใจใดๆในเรื่องของกันและกันเลยสักครั้ง ราวกับว่าเขาคือผู้กำกับที่คอยบงการแต่ละส่วนในชีวิตเธอ ทั้งงานละครที่ทำด้วยกัน เมืองที่อาศัย ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเลือกเฟอร์นิเจอร์ การที่ฝ่ายหญิงยอมคนรักในทุกๆ เรื่องทำให้เธอรู้สึกเหมือนว่าตนเป็น “ผู้แพ้ที่ไม่เคยมีโอกาสได้ชนะ” การตัดสินใจร่วมกันมันไม่เคยเป็นข้อตกลงกันและกันจริงๆหากแต่เป็นการยินดีที่จะอยู่ใต้ความคิดของอีกคนเสียมากกว่า จุดเปลี่ยนสำคัญใน Marriage Story จึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อฝ่ายหญิงตัดสินใจฟ้องหย่า (แม้ตกลงกันแล้วว่าจะไม่ทำ) ถ้าทั้งสองคนกำลังเล่นเกมกันอยู่ นี่คงเป็นโอกาสที่เธอจะได้กลายเป็นผู้ชนะ ในขณะที่ฝ่ายชายก็ได้ลิ้มรสความพ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรกเสียที - คำถามคือ การเอาชนะมันสำคัญกับความสัมพันธ์จริงๆ หรือเปล่า

ฉากที่อธิบายภาพปัญหาความสัมพันธ์ทั้งหมดได้ชัดเจนที่สุดคือซีนที่ทั้งสองคนทะเลาะกัน มันเริ่มต้นจากบทสนทนาอย่างใจเย็นของทั้งคู่ที่พยายามจะปรับความเข้าใจกัน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นการทะเลาะที่โหดร้ายชวนหดหู่ พวกเขาค่อยๆหยิบเรื่องภายในใจมาสาดใส่กัน ทั้งเรื่องที่ยังคงค้างคาแต่ไม่เคยได้พูด กระทั่งเรื่องที่พูดไปแล้วซ้ำๆแต่ไม่เคยหาทางออกได้ การทะเลาะครั้งนี้จึงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการหาทางเข้าใจร่วมกัน แต่เป็นการพยายามเอาชนะของคนสองคนที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ตนรู้สึกเหนือกว่า ฉากดังกล่าวจึงน่าเศร้าเพราะมันเต็มไปด้วยความเกลียดชังของคนที่ยังรักกันอยู่ คนที่ยังคงรู้สึกผูกพัน เข้าใจกันและกันได้ดี สรรหาคำพูดอันเจ็บแสนสาหัสมาด่าใส่กันเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกด้อยกว่า มันรุนแรงถึงขนาดการสาปแช่งราวกับคนที่ไม่ได้มีเยื่อใยต่อกันแล้ว ซึ่งตรงนี้แหละที่มันเศร้า เมื่อพวกเขาตระหนักได้ว่าตนและอีกคนยังคงรู้สึกรักต่อกันอยู่

เราจึงได้พบว่าการยังรักกันอยู่ไม่ได้นำไปสู่ส่วนของความสุขอย่างเดียว แต่หลายๆ ครั้งมันก็ทำให้เราปวดร้าวเมื่อประกอบกับเหตุผลมากมายที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ประโยคที่ว่า “แค่รักอย่างเดียวคงไม่พอ” จึงยังเป็นความจริงเสมอ หนังค่อยๆ แสดงมุมมองนี้ผ่านลำดับขั้นของการหย่าร้างที่ค่อยๆ เผยให้เห็นความสัมพันธ์ของกันและกัน มันไม่ใช่แค่เรื่องของการขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อหาว่าใครจะชนะคดี แต่ยังเป็นกระบวนการให้พวกเขาได้ทบทวนกับชีวิตตัวเองในวันที่ทั้งสองจะไม่มีกันและกันอีกต่อไป สิ่งที่หนังฉลาดและเล่นคนดูได้อยู่หมัดคือการเผยให้เห็นความเข้าอกเข้าใจของทั้งสองผ่านชีวิตประจำวันในช่วงหย่าร้าง การที่พวกเขาอยู่กินกันมาหลายปีทำให้ทั้งคู่ได้เรียนรู้รายละเอียดชีวิตของกันและกัน ฉากหนึ่งที่เราชอบมากๆ คือซีนที่ทั้งสองพาทนายมาคุยเพื่อหาข้อตกลงกัน ฝ่ายชายนั่งไล่อ่านเมนูอาหารแต่ก็ไม่รู้จะสั่งอะไรดีจนสุดท้ายฝ่ายหญิงเป็นคนเลือกให้ มันเป็นโมเมนต์ที่แอบจะตลกหน่อยๆด้วยสถานการณ์ที่ทั้งคู่กำลังฟ้องหย่า แต่มันก็น่าเศร้าเมื่อตระหนักได้ว่าคงไม่มีใครที่จะเข้าใจเราได้มากกว่าเขาอีกแล้ว คนที่เรากำลังจะบอกลาโดยสมบูรณ์ (และถูกต้องตามกฎหมาย)

ในขณะที่การได้รักอาจจะทำให้เราต้องเสียใจ หลายๆครั้งการจากลาก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุด หนังมีหลายๆช่วงที่พยายามบอกกับคนดูว่า “ชีวิตต้องดำเนินต่อ ไม่ว่าคุณจะโอเคกับมันสักแค่ไหน” ฟังดูเป็นคำปลอบใจที่บางทีก็ไม่ได้ผลแต่หลายๆหนก็เป็นคำเดียวที่เราบอกกับตัวเองได้ ยิ่งเราได้เห็นภาพชีวิตคู่ของทั้งสองมากเท่าไหร่เรายิ่งได้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ที่ทั้งคู่จะอยู่กินกันอย่างมีความสุขน้อยลงเท่านั้น พวกเขาต่างมีความต้องการเป็นของตัวเอง มีชีวิตในเส้นทางที่ตัวเองต้องการ มีความฝัน มีเป้าหมาย และหลายๆ สิ่งที่ขัดแย้งกันและกันอยู่ตลอด หนังไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องของการนอกใจ การมีเวลาให้ หรือการบงการชีวิต แต่มันกลายเป็นเรื่องของช่วงวัย การเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสิ่งรอบข้างที่ฝ่ายชายเชื่อว่าการแต่งงานกำลังขัดขวางเขาจากสิ่งเหล่านั้น มันจึงเป็นหนังที่ไม่เพียงแต่วิจารณ์การหย่าร้างแต่ยังตรวจสอบชีวิตแต่งงานของผู้คนในฐานะข้อผูกมัดอีกด้วย ซึ่งคงจะใจร้ายเกินไปถ้าเราจะไม่กล่าวถึงลูกชายของทั้งสอง แม้ว่าหนังจะไม่ได้กระโดดไปเล่าผ่านสายตาของลูก (ใครสนใจมุมมองนั้นขอแนะนำ Wildlife ของ พอล ดาโน่) แต่กลับกลายเป็นว่าทุกความเอออตกลงของเด็กมันทำให้เราอดที่จะเศร้าไม่ได้ การได้เห็นพ่อแม่ค่อยๆแยกกันอยู่ จากที่อาศัยร่วมกันกลายมาเป็นแบ่งเวลาผลัดกันเลี้ยงดู ความยินดีอันไร้เดียงสานี้นี่เองที่ตอกย้ำความบอบช้ำของเรื่องราวให้หนักหนาขึ้นไปอีก

Marriage Story เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดภาพความสัมพันธ์ของการแต่งงานได้อย่างลุ่มลึกและเป็นมนุษย์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง โนอาห์ บอมบาค พาผู้ชมไปพบกับสภาวะอันน่าเศร้าของครอบครัวที่กำลังจะแตกสลาย อันเนื่องมาจากการพยายามเอาชนะของคนสองคนที่ไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ (หนังพยายามบาลานซ์น้ำหนักปัญหาและความรู้สึกของสองตัวละครได้ดี แม้ว่าครึ่งหลังหนังจะหนักไปทางฝ่ายชายก็ตาม) หนำซ้ำ ระบบการหย่าร้างยังทำให้พวกเขาเกลียดชังกันมากกว่าเดิมจนพาให้บทสรุปอย่างที่คาดหวังไม่ได้เป็นไปตามความจริง สิ่งที่ชวนให้หัวใจบอบซ้ำอย่างขีดสุดคือฉากสุดท้ายของเรื่องที่ทั้งสองกลับมาเจอกันอีกครั้ง การนั่งอ่านจดหมายที่ครั้งหนึ่งฝ่ายหญิงเขียนถึงเขาแลดูเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สุดที่พวกเขาไม่ได้ทำกัน หากวันนั้นพวกเขาเลือกที่จะยอมแพ้ หากวันนั้นพวกเขาไม่พยายามจะเอาชนะกัน จดหมายอันแสนงดงามของเธอและเขาอาจจะพาให้ความสัมพันธ์ก้าวต่อไปได้ 

แต่นั่นแหละ พวกเขาต่างรู้ดีว่าทุกอย่างสายเกินไป สิ่งเดียวที่ทำได้จึงเป็นการรักษาส่วนที่ยังเหลืออยู่ ทั้งความรู้สึกที่ไม่จางหายไปไหน และความรับผิดชอบที่ยังต้องดำเนินต่อไป สิ่งที่พอจะทำให้เราอมยิ้มได้อาจเป็นโมเมนต์เล็กๆที่ทั้งสองประนีประนอมซึ่งกันและกัน การไม่ได้เข้มงวดเรื่องเวลาดูแลลูกหรือกระทั่งการผูกเชือกรองเท้าในตอนจบ มันตอกย้ำให้เราเห็นความรักความห่วงใยที่พวกเขายังคงมีให้กันอยู่ ซึ่งสถานะในตอนนี้ที่เป็นอยู่อาจจะดีที่สุดแล้ว

.

.

ติดตามบทความของเพจ Kanin The Movie ได้บน LINE TODAY ทุกวันพุธ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 4

  • 555
    17 ธ.ค. 2562 เวลา 18.13 น.
  • SNTwises
    #ความรักของหญิงกับชาย เมื่อเปลี่ยนไป ทิฐิมานะเข้ามาแทรก #ความรักของพ่อกับแม่ต่อลูก ยอมได้ทุกอย่าง ยอมเสียทุกอย่าง...เพื่อลูก #ความเก่งกาจของทนาย ขุดมันขึ้นมา ความชั่วของคู่กรณี...เพื่อชัยชนะ เพื่อเงิน ตอนจบ...ความรัก ยังอยู่ ความเจ็บปวด ความอาลัยอาวรณ์ ไม่คลาย... ❤หนังดีมาก นักแสดงมากฝีมือ ผู้กำกับมีความละเอียดยิ่งกับอารมณ์ช่วงนี้ของชีวิตคู่❤
    13 ธ.ค. 2562 เวลา 05.43 น.
  • Tickety-Boo!!!🐈
    ทุกการจากลา..มันมี"เหตุผล"ในตัวของมันเองเสมอ. จนเวลาผ่านไป..ธรรมชาติจะสอนให้ทั้งสองฝ่าย.​ ได้เข้าใจถึงวัฎจักรของการเริ่มต้นใหม่. .........หรือ......... สอนให้เรารู้ว่า... " ใครบางคน​ " มีค่าแค่ไหน.
    11 ธ.ค. 2562 เวลา 05.23 น.
ดูทั้งหมด