โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความรุนแรงต่อเด็กทางอารมณ์และจิตใจที่ผู้ใหญ่อาจมองข้าม

Mood of the Motherhood

เผยแพร่ 01 มี.ค. 2561 เวลา 15.38 น. • News

อะไรคือความรุนแรงต่อเด็ก?

เราอาจรู้ว่าการทำร้ายร่างกายหรือล่วงเกินทางเพศ ล้วนเป็นความรุนแรงต่อเด็กที่ผิดต่อกฎหมายและศีลธรรม แต่จริงๆ แล้วความรุนแรงที่แฝงมากับความหวังดี ที่อันตรายไม่แพ้การทำร้ายร่างกายยังมีอีกสองประเภท นั่นก็คือความรุนแรงทางอารมณ์และจิตใจ และการละเลยทอดทิ้ง

1. ความรุนแรงทางอารมณ์และจิตใจ

คือการที่คนในครอบครัวหรือคนที่เด็กรักและไว้วางใจ ไม่สามารถตอบสนองต่ออารมณ์ของเด็กได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการตอกย้ำว่าเด็กไม่มีคุณค่า ไม่มีคนรัก ไม่เหมาะสมหรือมีคุณค่าพอจะเป็นที่ต้องการของผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลเสียร้ายแรงและต่อเนื่องต่อพัฒนาการทางอารมณ์ สุขภาพกาย จิตใจ และศีลธรรม ไปจนถึงการเข้าสังคมของเด็ก

พฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ควรระวัง

- ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่มีใครรัก ไร้ค่า ไม่คู่ควร ต่ำต้อย หรือตกใจกลัว

- ดูถูกเหยียดหยาม เยาะเย้ย หรือเปรียบเทียบในลักษณะดูถูกดูแคลน

- ทำให้เด็กอับอาย หรือโยนความผิดให้เด็ก

- เลือกปฏิบัติ แบ่งแยก กีดกัน ลำเอียง หรือจ้องจับผิดเด็กเฉพาะบางคน

- ตั้งความหวังกับเด็กมากเกินไป ซึ่งเป็นความหวังที่ไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกกดดัน

- ข่มขู่จนทำให้เด็กหวาดกลัว

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก

เด็กมีอาการแยกตัวหรือเก็บตัว หวาดกลัว ไม่ไว้ใจผู้อื่น และขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือเด็กอาจเรียกร้องความสนใจมากจนกลายเป็นคนก้าวร้าว หรือไม่ก็พยายามทำตัวให้สมบูรณ์แบบจนเกินความพอดี และมีความเครียดเมื่อตัวเองทำได้ไม่ดีพอ

2. การละเลยทอดทิ้ง

คือความบกพร่องในการจัดหาสิ่งที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ การศึกษา พัฒนาการทางอารมณ์ โภชนาการ ที่อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย (ในกรณีที่ครอบครัวหรือผู้ดูแลสามารถจัดหาได้) จนทำให้มีโอกาสเกิดอันตรายต่อสุขภาพ พัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ ศีลธรรม หรือการเข้าสังคมของเด็ก

พฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ควรระวัง

- ปล่อยให้เด็กไม่ได้รับอาหาร เสื้อผ้า หรือที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยเพียงพอ

- ปล่อยให้เด็กต้องดูแลตัวเอง หรือรับหน้าที่ดูแลน้องทั้งที่ตัวเองยังมีอายุน้อยเกินไป

- ไม่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด จนส่งผลให้เด็กเกิดอันตรายได้

- พ่อแม่ทิ้งให้เด็กต้องอยู่กับคนที่ไม่สามารถดูแลเด็กได้

- ไม่ใส่ใจ หรือไม่ให้การดูแลเมื่อเด็กไม่สบาย หรือเมื่อถึงเวลาต้องเข้าโรงเรียน หรือเมื่อเด็กมีความต้องการทางสังคมอื่นๆ

- จงใจไม่ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของครอบครัว

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก

เด็กขาดสารอาหาร เสื้อผ้า และเจ็บป่วยบ่อย เพราะผู้ปกครองไม่ใส่ใจดูแลด้วยความรัก ทำให้ต้องเลี้ยงดูตัวเอง หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูไม่สนใจต่อความต้องการทางอารมณ์และจิตใจของเด็ก ไม่ให้ความรัก ความอบอุ่น ความเบิกบาน หรือความเข้าใจแก่เด็ก

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ผู้ใหญ่อาจต้องหาทางป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการทำร้ายจิตใจเด็กๆ ด้วยการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ค่อยๆ พูดจา มีเวลาคุณภาพให้ลูก

หรือใช้ด้านบวกในการอบรมสั่งสอน เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีกำลังใจในการใช้ชีวิต มีความมั่นใจในตัวเอง รู้จักใช้เหตุผล เคารพผู้อื่น รู้สึกมีคุณค่า รู้สึกเป็นที่รัก นำไปสู่ชีวิตที่มีจิตใจเข้มแข็ง กระตือรือร้น และพากเพียรที่จะเรียนรู้อย่างแท้จริง

อ้างอิง

End Violence Thailand

คมชัดลึก

เดลินิวส์

Psychology Today

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0