โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

Others

สจล.คิดค้น ‘อาหารผงแบบฟรีซดรายเพื่อผู้สูงวัย’ ชงดื่มหรือป้อนผ่านสายยาง

Beartai.com

อัพเดต 19 มิ.ย. 2566 เวลา 16.10 น. • เผยแพร่ 19 มิ.ย. 2566 เวลา 08.30 น.
สจล.คิดค้น ‘อาหารผงแบบฟรีซดรายเพื่อผู้สูงวัย’ ชงดื่มหรือป้อนผ่านสายยาง
สจล.คิดค้น ‘อาหารผงแบบฟรีซดรายเพื่อผู้สูงวัย’ ชงดื่มหรือป้อนผ่านสายยาง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยคณะอุตสาหกรรมอาหารและ คณะแพทยศาสตร์ สร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารทางการแพทย์เพื่อรองรับสังคมสูงวัย คิดค้นนวัตกรรม ‘อาหารผงแบบฟรีซดรายเพื่อผู้สูงวัย’ (Powdered Enteral Feeding for Aging Society) ปลอดภัย มีคุณภาพและคุณค่าโภชนาการ เก็บรักษาได้ยาวนานกว่า 6 เดือน ไร้สารกันเสีย เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้สูงวัยให้มีสุขภาพดี ส่งเสริมเศรษฐกิจในยุค Silver Economy ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัยที่มีมาตรฐานในระดับอุตสาหกรรม เตรียมเฟส 2 ร่วมทุนกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ ตอบสนองตลาดในประเทศและส่งออก

abstract blue orange banner background with halftone
abstract blue orange banner background with halftone
abstract blue orange banner background with halftone
abstract blue orange banner background with halftone

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ สจล. ที่มุ่งเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลกเพื่อคนไทยและมนุษยชาติ เราได้เล็งเห็นว่านับแต่ปี 2565 ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 12.9 ล้านคน หรือ 20% ของประเทศ และอีกไม่เกิน 15 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) ผู้สูงวัยจะมีสัดส่วน 28% ของประชากรทั้งหมด ความสำคัญของการพัฒนาอาหารผงสำหรับชงดื่มหรือป้อนผ่านสายยางมุ่งรองรับสังคมสูงวัย จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบห่วงโซ่อาหารต้องคำนึงถึง เนื่องด้วยการทำงานของระบบการย่อยอาหารที่อ่อนแอลง หรือลูกหลานอยู่ห่างไกลขาดคนดูแลโภชนาการ

ทีม 5 นักวิจัยคณะอุตสาหกรรมอาหาร และ คณะแพทยศาสตร์ สจล. ประกอบด้วย รศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล,ดร.อรชร เมฆเกิดชู, นพ.อนวัช เสริมสวรรค์, ผศ.ดร.คริษฐา อิ่มเอิบ และ Assist. Prof. Dr. Sri Charan Bindu Bavisetty ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรม ‘อาหารผงแบบฟรีซดรายเพื่อผู้สูงวัย’ โดยบูรณาการองค์ความรู้ 3 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และโภชนาการ ในแนวคิดที่จะผลิต ‘อาหารสายยางชนิดผง’ ที่เป็นแบรนด์ของไทย ช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศผ่านการใช้นวัตกรรม ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

รศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล หัวหน้าโครงการวิจัย และคณบดี คณะอุตสาหกรรมอาหาร สจล. กล่าวว่า โดยทั่วไปอาหารทางสายยาง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.อาหารปั่นผสม (Blenderized Diet) ที่ต้อง ‘ทำสด’ โดยฝ่ายโภชนาการในโรงพยาบาล ซึ่งมีอายุการใช้งานวันต่อวัน ไม่สามารถเก็บได้นาน มีปัญหาเรื่องความข้นหนืดที่ไม่สามารถควบคุมได้ เป็นสาเหตุทำให้ฟื้นตัวได้ช้า 2.อาหารสำเร็จรูปทางการแพทย์ (Commercial Formular) ผลิตภัณฑ์อาหารในรูปผงที่ใช้ละลายน้ำ เป็นโภชนบำบัดสำหรับผู้สูงอายุเฉพาะโรค ถ้าเป็นการนำเข้าจะมีราคาสูง

ทีมวิจัย สจล.มีแนวคิดสร้างสรรค์อาหารแบบผงด้วยเทคโนโลยีฟรีซดราย (Freeze Drying) สำหรับการบริโภคโดยชงดื่ม หรือละลายน้ำป้อนให้ผ่านสายยาง (Nasogastric Tube Feeding) ซึ่งเป็นการป้อนอาหารผ่านสายยางทางรูจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร สำหรับผู้สูงวัยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารทางปากได้ แต่ระบบทางเดินอาหารยังทำงานปกติ ทีมวิจัยได้วิจัยพัฒนาการเตรียมอาหารปั่นสด 7 สูตร ส่วนประกอบเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีแหล่งโภชนาการที่แตกต่างกัน แปรผันแหล่งของโปรตีนในสูตรอาหาร ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อปลา ถั่วเหลืองผง และเวย์โปรตีน รวมถึงส่วนประกอบต่างๆ เช่น แหล่งใยอาหารจากผักและผลไม้ เป็นต้น โดยมีการคำนวณสูตรอาหารทางสายยางให้มีการกระจายพลังงานที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย

ขั้นตอนการผลิต

อาหารผงแบบฟรีซดราย (Freeze Drying) มีส่วนประกอบจากแหล่งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ใยอาหาร วิตามิน เกลือแร่ นำวัตถุดิบทั้งหมดหั่นเพื่อลดขนาดวัตถุดิบและผสมวัตถุดิบเข้าด้วยกันตามสัดส่วน โดยเติมน้ำให้พอสามารถปั่นวัตถุดิบได้ จากนั้นนำไปปั่นผสมจนตัวอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นแปรรูปด้วยเทคโนโลยี Freeze Drying ทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง โดยดึงความชื้นหรือน้ำออกจากอาหาร ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเนื่องจากคงคุณค่าทางโภชนาการ ลดการทำลายเนื้อเยื่อและโครงสร้างสารอาหาร ทำให้อาหารผงมีคุณภาพ มีสีสันตามธรรมชาติ จากนั้นนำไปปั่นละเอียดเป็นผงตามขนาดที่กำหนดและบรรจุแพ็คสำหรับการบริโภค

ผลการวิจัยพบว่า ในจำนวน 7 สูตร“อาหารแบบฟรีซดราย” สูตร BD1 เหมาะกับผู้สูงอายุมากที่สุด เนื่องจากคุณภาพมีความหนืด (Viscosity) ที่เหมาะสม และความสะดวกในการใช้งานเพียงละลายในน้ำ ก็ทำให้อาหารลื่นไหลผ่านสายยางได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ตกตะกอน ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ด้วยคุณค่าทางโภชนาการของอาหารฟรีซดรายแบบผงใน 1 มื้ออาหารมีปริมาณ 150 กรัม ละลายน้ำที่ 600 มิลลิลิตร ให้พลังงานจากโปรตีนร้อยละ 10 – 20 ไขมันร้อยละ 25 – 30 คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 50 – 55 และใยอาหารร้อยละ 57.94 ให้พลังงาน 689.85 kcal เมื่อรับประทาน 3 มื้อ จะให้พลังงาน 2,069 kcal ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายต่อวัน ที่สำคัญยังใช้วัตถุดิบทั้งหมดในประเทศ ทำให้มีต้นทุนการผลิตในระดับห้องปฏิบัติการต่ำเฉลี่ยกรัมละ 0.22 บาท และมีราคาต้นทุนผลิตภัณฑ์อาหารสายยางแบบผงเฉลี่ยมื้อละ 33.30 บาท

จุดเด่นและประโยชน์ของนวัตกรรม

การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางสายยางชนิดผงในประเทศไทยจะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงอาหารแบบผงในราคาที่คุ้มค่า ด้านกระบวนการผลิตและสภาวะการทำแห้งแบบ Freeze Drying มีประสิทธิภาพช่วยให้สามารถคงคุณค่าทางโภชนาการได้อย่างครบถ้วน เก็บรักษาได้นาน 6 เดือนขึ้นไป โดยไม่มีวัตถุกันเสีย มีน้ำหนักเบา ประหยัดค่าขนส่ง เสริมสุขภาพผู้สูงวัยตามหลักการแพทย์ โดยไม่เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลสูงในโลหิต หรือ เบาหวาน นับเป็นต้นแบบของการพัฒนาการเตรียมอาหารทางสายยางแบบผงที่ถูกต้องตามหลักการปฏิบัติ ลดโอกาสปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ เพิ่มความปลอดภัย ส่งผลต่อความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุและได้รับสารอาหารตามแผนการรักษาของแพทย์ ทดแทนการนำเข้าอาหารทางสายยางแบบผงจากต่างประเทศ สามารถบริโภคได้ 2 วิธี คือ 1.ชงดื่มแทนมื้ออาหารหลักในผู้สูงวัยที่เบื่ออาหาร หรือทานอาหารได้น้อย หรือไม่มีเวลาหรือความพร้อมในการเตรียมอาหารที่มีคุณภาพ 2.ป้อนอาหารทางสายยาง ซึ่งความหนืดของอาหารผงเหมาะสม ช่วยให้ละลายน้ำง่ายและดูดซึมได้ดี

แผนงานในอนาคต

คณะอุตสาหกรรมอาหาร สจล. เตรียมแผนสู่เฟส 2 สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันเปิดให้เอกชนผู้สนใจนำไปลงทุนเพื่อขยายสู่ระดับอุตสาหกรรม นำองค์ความรู้ไปต่อยอดระบบการผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างเป็นแบรนด์ของคนไทยที่สามารถกระจายผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ได้กว้าง ทั้งโรงพยาบาลและในครัวเรือน (Home-Use) ซึ่งจะทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ยิ่งถูกลง นอกจากนี้ยังสามารถนํางานวิจัยต้นแบบไปพัฒนาอาหารสูตรอื่นๆ สำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือพัฒนาในด้านรสชาติและเนื้อสัมผัสสำหรับให้เป็น ‘อาหารการแพทย์ทางเลือก’ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0