ถือเป็นอีกบทบาทคู่ขนานของ 'นายเจือ ราชสีห์' ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนักการเมืองคนสำคัญในจังหวัดสงขลา ที่ THE STATES TIMES ได้มีโอกาสมาทำความรู้จัก ในหมวกอีกใบกับบทบาทผู้อยู่เบื้องหลังและผลักดันคุณภาพชีวิตชาวสงขลา ผ่านการสนับสนุนให้มีการพัฒนาผลผลิตจากปลากะพง ต.เกาะยอ อ.เมือง สงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในปลาเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา ให้มีความโดดเด่น โดยเฉพาะตำบลเกาะยอ จนกลายเป็น 'ปลากะพง 3 น้ำ' (น้ำจืด-น้ำเค็ม-น้ำกร่อย) และได้รับรองคุณภาพด้วยมาตรฐาน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ว่ามีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และเนื้อขาว แน่นนุ่ม กลิ่นละมุน
ไม่เพียงเท่านั้น 'เจือ ราชสีห์' ยังได้ผลักดันให้ชาวชุมชนเกาะยอ นำผลผลิตออกมาแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน แถมสามารถจัดเก็บได้นาน รสชาติยังคงเหมือนเดิม เช่น ปลากะพงแช่แข็งแบบสุญญากาศ ปลากะพงรมควัน ปลากะพงซาชิมิ จนสามารถขึ้นห้างสยามพารากอนได้ในปัจจุบัน
THE STATES TIMES เริ่มบทสนทนา กับ 'เจือ ราชสีห์' ถึงจุดเริ่มต้นและที่มาที่ไปของปลากะพง 3 น้ำ ซึ่ง เจือ ก็เล่าให้ฟังว่า "นี่คือหนึ่งในของเลื่องชื่อของจังหวัดสงขลา และถือเป็นอาชีพที่ทำสืบต่อกันมาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไม่น้อยกว่า 50 ปี โดยมีการปรับตัวตามยุคสมัยมาเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะไม่ถึงกับทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาร่ำรวยจนเป็นเศรษฐี เศรษฐีนี แต่อาชีพนี้ก็เลี้ยงปากเลี้ยงท้องมาหลายครอบครัว หลายช่วงอายุคน"
จุดเปลี่ยน!! เจือ เล่าต่อว่า "โอกาสสำคัญที่เริ่มทำให้ผู้เลี้ยงปลากะพง 3 น้ำได้ลืมตาอ้าปาก เกิดขึ้นเมื่อช่วงวิกฤตโควิด-19 หลังจากบรรดาลูกค้าทั้งร้านอาหาร โรงแรม ตลาดในพื้นที่เงียบเหงา เท่านั้นยังไม่พอยังถูกซ้ำเติมด้วยปลากะพงจากมาเลเซียที่ราคาถูกกว่า ช่วงนั้นต้องยอมรับว่าอาชีพนี้เกือบสูญหายจากทะเลสาบสงขลา…
"ช่วงนั้นทั้งผม ทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพง ได้ไปร้องขอกระทรวงพาณิชย์ มีการอุดหนุนส่วนต่างราคา ทำให้อาชีพนี้ ยังคงดำรงอยู่ได้…
"แต่สุดท้าย ยังไงก็ตาม เราจะไปขอให้รัฐบาลช่วยเหลือตลอดไปไม่ได้ เราต้องยืนหยัดสู้ด้วยลำแข้งลำขาของตัวเราเอง"
นายเจือ ยังได้ขยายความช่วงแห่งการยืนหยัดให้ฟังต่อว่า "เรากลับมาเริ่มต้นค้นหาจุดแข็งของปลากะพงของเรา โดยจุดแข็งของปลากะพงของเรา คือ สถานที่ที่เราเลี้ยง นั่นคือ ทะเลสาบสงขลาที่มีน้ำ 3 น้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ทำให้ปลาของที่นี่อร่อยมากเป็นพิเศษ เป็นปลากะพงที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน สร้างเอกลักษณ์ให้รสชาติ ภายใต้เนื้อขาว แน่นนุ่ม กลิ่นละมุน…
"เมื่อปลากะพง 3 น้ำ สร้างเอกลักษณ์สุดพิเศษได้ เราก็นำไปต่อยอดด้วยการขอ GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นปลากะพงเจ้าแรกและเจ้าเดียวในขณะนี้ที่ได้รับเครื่องหมาย GI ซึ่งสิ่งนี้เป็นมูลค่าเพิ่มที่ทำให้ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา จนปัจจุบันมีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก"
เมื่อพูดคุยกันถึงจุดนี้ ก็ทำให้ผู้สัมภาษณ์นึกย้อนไปถึงตำราของ 'ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์' หนึ่งในปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการ ที่มักจะเน้นย้ำถึงการแสวงหาจุดแข็ง และใช้จุดแข็งในการต่อยอดความสำเร็จ ซึ่งในรายละเอียดเชิงที่ไม่ได้ลงไว้ ณ ที่นี้ ช่างสอดคล้องกับวิธีคิดของ 'เจือ ราชสีห์' เหลือเกิน
อย่างไรก็ตาม 'เจือ' ก็ยังกล่าวอย่างถ่อมตนว่าความสำเร็จของปลากะพง 3 น้ำในวันนี้ยังต่อยอดไปได้อีกมาก และยอมรับว่า ยังมีองค์ความรู้บางอย่างที่สามารถค้นหาเพื่อเติมเต็มลงไปในสินค้าได้อีกเยอะ แม้พื้นฐานของผู้คนที่นี่จะมีประสบการณ์ในด้านการเพาะเลี้ยงมาไม่น้อยกว่า 50 ปีก็ตาม
"ในอนาคตเรายังต้องนำองค์ความรู้ใหม่ๆ มาผสมผสานกับผลิตภัณฑ์ปลาของเราอย่างต่อเนื่อง เช่น การถนอมปลาแบบอิเคะจิเมะ (เทคนิคขั้นสูงในการเก็บรักษาปลา ที่ทำให้ปลาตายโดยเฉียบพลัน) ซึ่งจะช่วยคงคุณภาพให้กับตัวสินค้า รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปลาเค็ม, ปลารมควัน, หนังปลาทอดกรอบ ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังพัฒนาอยู่และไปได้สวย"
ไม่เพียงแค่เรื่องของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ 'เจือ' ยังมองไกลไปถึงเรื่องของการออกร้านที่ต้องทำให้มีความโดดเด่น น่าสนใจ สร้างแรงดึงดูดต่อผู้มาแวะเวียนอีกด้วย
"ร้านในรูปแบบเดิม ที่เราเอาแค่สินค้าสดออกไปโชว์หรือไปขายอย่างเดียว มันคงไม่พออีกแล้ว เราต้องเพิ่มเติมบางอย่างเข้าไป อย่างเช่น ตอนนี้เราทำอาหารปรุงสำเร็จควบคู่ไปกับขายปลาสดพร้อมๆ กัน เพื่อให้ลูกค้าได้ชิมกันสดๆ ไปเลยว่าถูกปากหรืออร่อยกว่าปลากะพงที่อื่นไหม ตรงนี้ก็กลายเป็นจุดดึงดูดที่ทำออกมาได้ดีทีเดียว"
ท้ายที่สุด 'เจือ' ได้บอกกับ THE STATES TIMES อีกว่า สิ่งหนึ่งที่เขาเน้นย้ำกับชาวประมงและผู้เกี่ยวข้องเสมอ ก็คือ เขาจะไม่ยอมให้ปลากะพง 3 น้ำ ไปสู้ในตลาดที่เน้นการตัดราคากันเด็ดขาด เขาอยากให้ทุกคนสู้ที่คุณภาพ จงเชื่อมั่นและมั่นใจว่าปลากะพง 3 น้ำคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าใครแน่นอน…
"ความฝันของผมนะ ผมอยากเห็นปลากะพง 3 น้ำของทะเลสาบสงขลา เป็นเหมือนกับแซลมอนที่ส่งออกไปทั่วโลกได้ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริง คุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน" นายเจือ ราชสีห์ กล่าวทิ้งท้าย
ความเห็น 0