คอลัมน์ สัญญาณรบกวน
รายงานดรรชนีความน่าอยู่ (หรือ “อยู่ดี”) ของ 140 เมืองในโลกโดย The Economist Intelligence Unit ครั้งล่าสุด สร้างความฮือฮาเล็กน้อยในแวดวงที่ติดตามผลสำรวจขององค์กรนี้มาอย่างต่อเนื่อง หลังจากครองตำแหน่งเมืองน่าอยู่อันดับหนึ่งมาเจ็ดปีซ้อน เมลเบิร์นแห่งออสเตรเลียก็ตกไปอยู่อันดับที่สอง เสียแชมป์ให้กับเวียนนาแห่งออสเตรีย (ตัวเลขสูสี ห่างกันแค่ไม่ถึงหนึ่งคะแนน)
แต่ความเสียหน้าของเมลเบิร์นและชัยชนะของเวียนนาในครั้งนี้ต้องถือเป็นความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ทั้งเมลเบิร์นและเวียนนาต่างก็ติดอันดับต้นๆของความเป็นเมืองน่าอยู่ของโลกมาหลายปี ทุกเมืองในสิบอันดับแรกของการสำรวจล้วนมีภาพลักษณ์และเป็นที่กล่าวขวัญว่าน่าอยู่โดยแทบไม่ต้องพึ่งพาการจัดอันดับใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ซิดนีย์ แวนคูเวอร์ โคเปนเฮเกน โอซาก้า หรือโตเกียว และหากดูเฉพาะชื่อประเทศ ก็จะพบว่ามีเพียงห้าประเทศที่ครองตำแหน่งในสิบอันดับนั้น นั่นคือ ออสเตรีย ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น (เมืองของญี่ปุ่นเพิ่งติดในสิบอันดับเป็นครั้งแรก) และเดนมาร์ก
แน่นอน ในมุมของผู้อยู่อาศัย ความ “น่าอยู่” ของเมืองเป็นเรื่องนานาจิตตัง ไม่ต่างจากความงาม และหลายคนอาจแปลกใจที่ “เมืองดัง” อย่างนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส เบอร์ลิน เซี่ยงไฮ้ ไม่ติดอันดับต้นๆ (นิวยอร์กอยู่อันดับ 57 ลอนดอนอยู่อันดับ 48) ทั้งที่ดูเหมือนจะเป็นจุดหมายในฝันของผู้คนมากมาย มีความเคลื่อนไหวให้ติดตามและอยู่ในกระแสโลกมากกว่าเวียนนาหรือเมลเบิร์นหลายเท่า แต่คำว่า “น่าอยู่” ในดรรชนีนี้ครอบคลุมปัจจัยที่สะท้อนการมี “คุณภาพชีวิตดี” อย่างกว้างๆ และไม่ได้แปลว่าน่าอยู่สำหรับทุกคน อาจกล่าวอีกอย่างว่ามันเป็นความน่าอยู่ในอุดมคติของชีวิตความเป็นอยู่ที่สมดุลและสมบูรณ์ เช่น ปริมาณอาชญากรรมต่ำ ไม่มีความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง ไม่มีแนวโน้มจะเกิดเหตุก่อการร้าย บริการด้านสุขภาพเพียบพร้อมและทั่วถึง สิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลและอยู่ในสภาพดี มีความเติบโตทางเศรษฐกิจและมีการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเปิดกว้างโดยไม่ถูกบั่นทอนด้วยการทุจริต มีสังคมสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรมและมีเสรีภาพในการแสดงออก มีทางเลือกทางการศึกษา มีพื้นที่สำหรับการกีฬา และมีการวางระบบโครงสร้างต่างๆอย่างได้มาตรฐาน
“เมืองน่าอยู่” อาจไม่มีคุณสมบัติเข้มข้นด้านใดด้านหนึ่ง (เช่น ถ้าเทียบความตื่นตัวของวงการบันเทิง เวียนนาก็คงสู้ลอสแอนเจลิสไม่ได้ หรือสำหรับคนชอบความทับซ้อนทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เมืองในฝันก็คงไม่พ้นนิวยอร์ก) แต่ความเข้มข้นในทางบวกก็มักต้องแลกด้วยการมีข้อบกพร่องที่เข้มข้นไปด้วย เมืองดังๆทั้งหลายมักมีปริมาณอาชญากรรมมากตามความหนาแน่นและเหลื่อมล้ำของประชากร การจราจรแออัดติดขัด เผชิญปัญหามลภาวะรุนแรง สุขภาพทั้งทางกายและใจของผู้คนเปราะบาง ฯลฯ เพราะคนเราจัดลำดับเรื่องสำคัญในชีวิตต่างกัน ความน่าอยู่ของเมืองจึงมีความหมายหลากหลายตามไปด้วย ถึงที่สุดแล้วหลายคนไม่ได้มีโอกาสจะเลือกเมืองได้ตามความน่าอยู่ และอีกหลายคนก็ไม่ได้ใช้เวลาไปกับการไตร่ตรองทบทวนถึงคุณภาพของเมืองที่ตนอาศัย แต่อยู่ด้วยเหตุผลง่ายๆว่าชีวิตของพวกเขาเป็นเช่นนั้น
ในขณะเดียวกัน บางครั้งความคุ้นเคย ชาชิน ไม่มีทางเลือก การยอมรับความเป็นไปของสภาพแวดล้อมด้วยความจำเป็น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความคลั่งชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา ก็สามารถทำปฏิกิริยาสุดโต่งกับทัศนคติของคนถึงขั้นส่งผลให้บอดต่อความ “ไม่น่าอยู่” ของเมือง ปฏิเสธข้อวิพากษ์วิจารณ์ทุกรูปแบบ และแสวงข้ออ้างทุกรูปแบบในการพลิกข้อบกพร่องและด้านมืดทั้งหลายให้กลายเป็นบวก
คะแนนของกรุงเทพฯอยู่อันดับที่ 98 ในรายงานครั้งนี้ และหากเทียบกับเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน กรุงเทพฯถือเป็นอันดับสามรองจากสิงคโปร์ (35) และกัวลาลัมเปอร์ (78) เป็นไปได้อย่างมากที่หลายคนจะเห็นตัวเลขแล้วส่ายหัวแย้ง กรุงเทพฯโดยรวมๆมักถูกมองโดยคนไทยและต่างชาติที่มาเยือนว่า “น่าอยู่” กว่าสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ หากจะมีคนถึงขั้นให้ท้ายกรุงเทพฯว่าเป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในภูมิภาคก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะถ้ามองข้ามปัญหารถติดที่เลื่องลือ (เรื่องนี้กรุงเทพฯติดอันดับท็อปเท็นทุกปีแน่นอน) ความแออัด มลพิษ และความขาดๆเกินๆในรายละเอียด กรุงเทพฯก็โดดเด่นในความมีสีสัน มีความสะดวกสบายทันสมัยระดับสากลในราคาที่ยังย่อมเยา อาหารการกินเป็นเลิศ และผู้คนแสดงความเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวอย่างออกนอกหน้า
คุณสมบัติเหล่านี้มักเป็นประเด็นหลักที่ถูกใช้ในการยืนยันความน่าอยู่ของกรุงเทพฯ โดยจงใจไม่เอ่ยถึง “ข้อดี” (ในสายตาคนบางประเภท) อีกด้านที่ทำให้กรุงเทพฯเป็นขวัญใจนักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่แพ้กัน เช่น ความบันเทิงทางราคะที่คึกคักและราคาถูกอย่างน่าตกใจ และความฉ้อฉลหลากรูปแบบที่เอื้อให้เงินมีอำนาจเหนือกฎหมาย และความหละหลวมต่อระบบระเบียบและมาตรฐานจนเปิดช่องโหว่ให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างง่ายดายในแทบทุกย่างก้าว
ความน่าอยู่ของเมืองในภาพกว้างไม่ควรมีความหมายในลักษณะเกื้อหนุนคนเพียงเฉพาะบางกลุ่มบางพวก และไม่ใช่ความน่าอยู่สำหรับนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติ แต่ควรเป็นคุณสมบัติที่กระจายโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิต “ดีๆ” ได้อย่างทั่วถึงทุกชนชั้นในเมืองนั้น
น่าสนใจว่าทุกเมืองในสิบอันดับแรกของคะแนนดรรชนีความน่าอยู่ล้วนเป็นเมืองในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประชาธิปไตยและให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก (แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดในเอเชีย พอๆกับเกาหลีใต้) ซึ่งขัดแย้งอย่างชัดเจนกับความเชื่อของคนบางกลุ่ม ที่เสนอว่าชีวิตดีมีได้ภายใต้ระบอบเผด็จการ
ความสงบที่เกิดจากการกดข่มบังคับและความเจริญที่เกิดจากการสั่งให้สรรค์สร้างด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ อาจทำให้คนบางกลุ่มพึงพอใจและสร้างภาพความ “น่าอยู่” ให้ได้ในระยะหนึ่ง แต่นั่นเป็นเพียงผลลัพธ์ของการสับสนความ “อยู่ดี” กับการ “อยู่ได้” เพราะมีนายคอยดูแล
ความเห็น 71
ชัยวัฒน์
บางคนชอบทุ่งนาก็ว่าชนบทน่าอยู่นะครับชอบเขา ชอบทะเล ชอบเมืองรถติดคนเดินเบียดเสียดชนกัน
25 ส.ค. 2561 เวลา 06.44 น.
Zang Usamg
มนุษย์คนเรามีหลายแบบ ให้เรียนรู้
24 ส.ค. 2561 เวลา 21.29 น.
ปิ่นโต
มากไป
24 ส.ค. 2561 เวลา 18.59 น.
나비Ƹ̵̡Ӝ̵̨̄Ʒ
สนุก
24 ส.ค. 2561 เวลา 14.17 น.
ภัทรานิษฐ์
ประเทศมีพร้อมทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนว่าสิ่งที่มีเขาจะชอบหรือป่าว และสิ่งสำคัญคนในประเทศเราจะมองเห็นมันมัยค่ะ
24 ส.ค. 2561 เวลา 07.55 น.
ดูทั้งหมด