โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิธีฝึกวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์

เผยแพร่ 24 ส.ค. 2562 เวลา 08.02 น.

1. จงมั่นคงในหลักการเบื้องต้นคือ การมองตนเองอย่างเป็นกลาง มองอย่างผู้ดู ผู้เห็น ไม่ใช่ผู้เล่น ไม่ใช่ผู้เป็น เดินรู้ว่าเดิน หิวรู้ว่าหิว โกรธรู้ว่าโกรธ ชอบรู้ว่าชอบ ไม่ชอบรู้ว่าไม่ชอบ รู้สึกอะไร มีอารมณ์แบบไหน ขอให้เพ่งไปที่ความรู้สึกนั้นๆอย่างตรงไปตรงมา อย่าใส่ความคิดเห็นของตนเองลงไปเด็ดขาด อย่าพยายามดัดแปลง หรือต่อสู่กับความคิดของตนเอง ขอให้มองอย่างเป็นกลางจนถึงที่สุดในฐานะที่เราไม่ใช่เรา

2. อารมณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเพียงกระบวนการปรุงแต่งของจิต อย่ายอมรับว่าเป็นเรา เพียงแค่รู้ลงไปว่าอารมณ์นั้นๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยที่เราเองก็ไปบังคับบัญชามันไม่ได้เลย ขอให้รู้ลงไปว่า ความคิด อารมณ์ที่เกิดขึ้น แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ในการควบคุมใดๆ ของเราทั้งสิ้น

3. ยามเคลื่อนไหวร่างกาย จงสังเกตจังหวะ เพื่อจับความสัมพันธ์ระหว่างกายและความรู้สึก เราจะเห็นว่าสองส่วนนี้เป็นคนละส่วน เป็นคนละก้อน แต่มีการทำงานร่วมกัน บางครั้ง ความรู้สึกส่งผลให้ร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลง บางครั้งร่างกายส่งผลให้ความรู้สึกเปลี่ยนแปลง 

ขอให้สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างกายใจของเราให้ดีว่ามีการทำงานอย่างไร มันแยกจากกันอย่างไร และทำงานร่วมกันในจังหวะไหน ถ้าเห็นว่ามันแยกกัน คือต้นทางของวิปัสสนาแบบหยาบๆ ถ้าเห็นว่ามันมีความสัมพันธ์กัน คือต้นทางของการแยกขันธ์ห้า ซึ่งนำไปสู่กระบวนการทำลายอัตตาตัวตน

4. ยามเห็นสิ่งใด รู้สึกอะไร ภายนอกก็ดี ภายในก็ดี อย่าจมลงไปในสิ่งนั้นๆ แต่ให้สร้างช่องว่าง จงใช้กำลังสมาธิสร้างช่องว่างของสิ่งที่เกิดขึ้นและจิต ให้จิตได้เป็นอิสระจากรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ใช้สติแยกจิตให้ลอยเด่น เพื่อสังเกตภาวะเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เมื่อเห็นการเกิดดับได้ จึงนับเป็นก้าวแรกของวิปัสสนาญาณ

5. ดับความฟุ่งซ่านด้วยการผูกจิตกับลมหายใจ จงดูลมหายใจเข้าและออกอยู่เสมอ ละความคิดต่างๆ แล้วกลับมารู้ลม คิดดีก็ละแล้วกลับมารู้ลม คิดไม่ดีก็ละแล้วกลับมารู้ลม อยู่กับลมได้เรียกว่าเป็นสมถะ การเห็นว่าจิตพุ่งไปคิดเรียกว่าเป็นวิปัสสนา ทั้งสมถะและวิปัสสนาจะทำงานสลับกันไปมาทันทีเมื่อเข้าสู่กระบวนการกำหนดรู้ดูลมหายใจ การรู้อยู่กับลมหายใจจะช่วยให้จิตมีกำลังตั้งมั่น กำลังตั้งมั่นนี้เองที่เราจะนำมาใช้เป็นฐานกำลังในการทำวิปัสสนาญาณ

6. กาย เวทนา จิต ธรรม เบื้องต้นควรแยกดูเป็นส่วนๆ เป็นช่วงๆ ต่อเมื่อชำนาญแล้ว เมื่อจิตเกิดความตั้งมั่นได้พอสมควร จะเห็นว่าทุกส่วนไม่ได้แยกจากกัน เหมือนห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัวที่อยู่ในบ้านเดียวกัน เมื่อเดินเข้าห้องหนึ่ง ที่สุดแล้วจะเชื่อมโยงไปสู่ห้องอื่นๆได้เอง ทั้งหมดนำไปสู่สิ่งเดียวกันคือการกำหนดรู้ภาวะเกิดดับจนจิตสลัดอัตตาตัวตนออกไป

7. เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จงสังเกตใจตนให้ดี ทุกอย่างเริ่มต้นที่รูปตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจึงก่อรวมเป็นความรู้สึกอ่อนๆ ความรู้สึกนั้นจะถูกขยายออกด้วยความทรงจำ จากนั้นความทรงจำจะขยายสิ่งที่รับรู้จนเกิดเป็นก้อนอารมณ์ โดยมีจิตเป็นผู้เสวยอารมณ์นั้นๆ จนเกิดความเป็นตัวกูของกูขึ้นมา 

จากนั้นตัวกูของกู เข้าร่วมกับความจำเก่าๆ เกิดเป็นของๆกู โลกของกู อะไรๆ ของกู ดังนั้น จงใช้วิปัสสนามองอย่างเป็นกลาง ไม่ส่งใจยอมรับในกระบวนการสร้างตัวกูของกู แต่จงทำความเข้าใจว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

8. อารมณ์ฝ่ายอกุศลจะเห็นได้ชัดเจนกว่าอารมณ์ฝ่ายกุศล เมื่อเกิดความคิดอกุศล อย่ามัวสนใจกับการเปลี่ยนแปลงความคิด แต่ให้ใช้ความคิดอกุศลเป็นเครื่องมือของวิปัสสนาทันที แยกจิตออกจากความคิด แล้วเริ่มสังเกต เมื่อมีจิตถูกแยกออกมาในฐานะผู้สังเกต ความคิดอกุศลจะดับเร็วมาก 

ขอให้กำหนดสติให้ดี เพื่อเห็นความจริงข้อนี้ ยิ่งแยกจิตออกจากความคิดได้เร็ว ความคิดอกุศลจะยิ่งดับเร็ว ผู้ทำวิปัสสนาจนเกิดความชำนาญแล้ว ความคิดอกุศลก้อนใหญ่ๆ จะเกิดขึ้นน้อยลง อารมณ์จะละเอียดขึ้นเรื่อยๆ การทำวิปัสสนาจะยากขึ้นเรื่อยๆ ภาวะนี้จงระวังอารมณ์ติดความสงบให้มาก

9. ยามทำสมาธิกำหนดเป็นอารมณ์ความว่าง ให้หยุดการทำวิปัสสนาแล้วดำดิ่งอยู่กับสมาธิ การดำดิ่งอยู่ในสมาธินี้จะเป็นฐานกำลังที่ดีในการทำวิปัสสนาญาณต่อไป เมื่อสมาธิดำดิ่งจนถึงจุดหนึ่ง จิตจะถอนออกจากสมาธิตามกระบวนการของธรรมชาติ วินาทีนี้ให้เพ่งสังเกตอาการเกิดดับของสมาธิ กำหนดรู้ว่าแม้แต่สมาธิก็มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นี่คือการพิจารณาวิปัสสนาโดยใช้สมาธิเป็นฐานกำลัง

10. กายไม่ใช่เรา ความรู้สึกไม่ใช่เรา ความจำไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่เรา ความว่างไม่ใช่เรา

จงเน้นย้ำหลักการนี้ให้มั่นคง อย่าได้หลงลืมและหลุดไปจากกรอบแห่งสัจธรรมสูงสุดนี้เป็นอันขาด !!!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 13

  • “ T.O.N.G 38 “
    พยายามอยู่ครับ ค่อข้างยาก เพราะมีสิ่งรบกวนเยอะ เหมือนจะรู้ แต่เข้าไม่ถึง คือ เหมือนอ่านตำราว่ายน้ำ รู้แต่ยังว่ายไม่ได้ครับ ขอบคุณ ความรู้ดีดีครับ
    24 ส.ค. 2562 เวลา 10.44 น.
  • winai
    อันนี้เป็นคำสอนบอกของใครครับ
    24 ส.ค. 2562 เวลา 11.08 น.
  • คิดว่าในการที่ได้ฝึกวิปัสสนานั้น ก็ย่อมที่จะทำให้เกิดสติและการพิจรณาถึงในหลักของความเป็นจริงแห่งสัจจะธรรม ก็เพื่อที่จะได้นำมาปรับใช้หรือว่านำมาแก้ไขเพื่อให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องต่อในการดำเนินชีวิตอย่างถูวิธี.
    24 ส.ค. 2562 เวลา 10.23 น.
  • .~★☆ PikaPiPi ☆★~.
    ค่อนข้างยาก แต่ก็พยายามฝึกอยู่ 🙏
    24 ส.ค. 2562 เวลา 10.17 น.
  • ขอบคุณ​มากคะ​
    22 ก.ย 2562 เวลา 11.05 น.
ดูทั้งหมด