โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

โปรตีนแห่งอนาคต วัตถุดิบใหม่ในการผลิตอาหารยุคปัจจุบัน

สยามรัฐ

อัพเดต 24 มิ.ย. 2563 เวลา 03.05 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2563 เวลา 03.05 น. • สยามรัฐออนไลน์
โปรตีนแห่งอนาคต วัตถุดิบใหม่ในการผลิตอาหารยุคปัจจุบัน

วันที่ 24 มิย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิโคลัส แบรี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คริกเกท แลบ จำกัด (Cricket Lab Co.,Ltd.) เปิดเผยว่า บริษัท คริกเกท แลบ จำกัด (Cricket Lab Co.,Ltd.) เป็นฟาร์มจิ้งหรีดระบบปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกและยังเป็นโรงงานผู้ผลิตผงโปรตีนจากจิ้งหรีด โดยผลิตตามมาตรฐานยุโรป โดยฟาร์มและโรงงานของเราตั้งอยู่ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จิ้งหรีดจะถูกเลี้ยงในฟาร์มพาณิชย์ระบบปิด โดยวางกล่องเลี้ยงในกล่องแนวตั้งสูงถึง 6 เมตร และ ควบคุมอุณหภูมิ, ความชื้นในการเลี้ยง ความสะอาด อาหารอินทรีย์ และน้ำที่ใช้เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นแบบ UV Filter ซึ่งเป็นมาตราฐานเดียวกันกับน้ำที่คนบริโภค โดยฟาร์มปฏิบัติให้สอดคล้องตามมาตราฐาน Good Agriculture Practice หรือ (GAP)

Cricket Lab มีการเลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สะดิ้ง (Acheta Domesticus) เพื่อผลิตโปรตีนผง & จิ้งหรีดอบแห้งและ พันธุ์เวียดนาม (Gryllus Assimilis) เพื่อผลิตจิ้งหรีดแช่แข็งสำหรับนำไปประกอบอาหารแบบเป็นตัว โดยทั้งสองแบบสามารถนำไปประกอบอาหารหรือเป็นส่วนผสมของอาหารได้ทั้งสำหรับคนและสำหรับสัตว์

ในการเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ อายุ 30-35 วันเพื่อแปรรูปและบางส่วนเลี้ยงต่อให้ครบ 45 วันเพื่อทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพื่อขยายพันธุ์และเพิ่มผลผลิตในรุ่นต่อ ๆ ไป และด้วยนวัตกรรมการเลี้ยงของฟาร์มจะให้ผลผลิตเป็นตัวจิ้งหรีดถึง 10,000 ตัว หรือ10 ตัน/เดือน และยังสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 400%/ตารางเมตร

ตัวจิ้งหรีดที่มีการเก็บเกี่ยว 10 ตัน/เดือน สามารถนำไปแปรรูปเป็นผงได้ถึง 2.5 ตัน/เดือน หรือ 30 ตัน/ปี และคาดว่าจะขยายการผลิตได้มากขึ้นอีกในอนาคต เพื่อรองรับการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

เหตุผลที่เลือกเลี้ยงจิ้งหรีดทั้งสองสายพันธุ์ เพราะเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดการส่งออกแมลงไปทวีปยุโรปต้องใช้สายพันธุ์สะดิ้ง (Acheta Domesticus) เท่านั้น ส่วนสายพันธุ์เวียดนาม (Gryllus Assimilis) จุดเด่น คือให้โปรตีนที่สูงกว่าสายพันธุ์สะดิ้ง เลี้ยงง่าย เป็นโรคน้อย เพื่อส่งออกหรือขายในภายประเทศได้

จิ้งหรีดที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มจะทำการเก็บเกี่ยวเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผงโปรตีนจิ้งหรีดภายใต้มาตราฐานความสะอาดและปลอดภัยด้านอาหาร ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น FDA, GMP, HACCP, HALAL, และ IFS

นอกจากนี้ Cricket Lab ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ได้มีการร่วมทุนกับ บริษัท เซ้นฟูดส์ (SENS Foods Ltd.) ประเทศเยอรมัน เพื่อส่งออกผงโปรตีนจิ้งหรีดไปยังลูกค้าในทวีปยุโรป ที่มีความต้องการโปรตีนทางเลือกเพื่อมาทดแทนเนื้อสัตว์ เช่นเดียวกับ ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ Food and Agriculture Organization of United Nation (FAO) ยกให้จิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน (sustainable) เพราะเป็นโปรตีนคุณภาพเดียว กับ หมู เนื้อ ไก่ ปลา แต่ให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปรตีนกว่า 70% และสารอาหารรองอื่นๆที่ร่างกายต้องการแต่ไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ เช่น กรดอะมิโนที่จำเป็น 9 ชนิด, กรดไขมัน โอเมก้า 3 & 6, วิตามิน B12, ธาตุเหล็ก, และดีต่อระบบการย่อยอาหาร นอกจากนี้การเลี้ยงจิ้งหรีดไม่ต้องใช้สารปฎิชีวนะ (Antibiotic) และสารเร่งการเติบโต (Growth Hormone) เหมือนการเลี้ยงเพื่อบริโภคของสัตว์อื่นๆ จุดเด่นของจิ้งหรีดมีช่วงอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้นกว่า, ใช้ทรัพยากรในการเลี้ยงน้อย เช่น ใช้อาหารน้อยกว่า 12 เท่า, ใช้พื้นที่เลี้ยงน้อยกว่า 15 เท่า, ใช้น้ำในการเลี้ยงน้อยกว่า 2000 เท่า, ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน 100 เท่า

โดยสินค้าหลักของ Cricket Lab จะมีทั้งหมด 3 ประเภทหลัก ๆ คือ จิ้งหรีดอบแห้ง, จิ้งหรีดบดผง, และ จิ้งหรีดแช่แข็ง จิ้งหรีดของ Cricket Lab เป็นผลิตภัณฑ์ปราศจากโปรตีนกลูเตน (Gluten Free Product) และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการตัดแต่งทางพันธุกรรม (Non GMO Product) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly) โดยลูกค้าสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ เช่น เบอเกอรี่, ขนมอบ, เครื่องดื่ม, ขนม, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, เส้นก๋วยเตี๋ยว, พาสต้า, ผงปรุงรส,น้ำพริก & น้ำสลัด หรือ กลุ่มอาหารทดแทนจากเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ไส้กรอก ลูกชิ้น, ไส้เบอร์เกอร์ และยังสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงที่ต้องการโปรตีนในปริมาณสูง

ขณะนี้ Cricket Lab ได้มีการทำตลาด ( Co-branding) ร่วมกับโรงงาน ผลิต ไส้กรอก, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, Burger patties หรือไส้แฮมเบอร์เกอร์ และคาดว่าจะสามารถต่อยอดเป็นวัตถุดิบให้กับอาหารประเภทอื่น ๆ ได้ต่อไปในอนาคต

ปัจจุบันการบริโภคแมลงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อีกต่อไป เพราะในต่างประเทศผู้บริโภคหันมารับประทานผลิตภัณฑ์จากแมลง ข้อมูลจาก Food Navigator พบว่ามีผู้บริโภคแมลงทั้งในทวีปอเมริกา, ยุโรปหรือแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน หรือแบรนด์ดังอย่าง Muji ของประเทศญี่ปุ่นเพิ่งทำการตลาดสินค้าจากแมลงเมื่อไม่นานมานี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งประชากรบางกลุ่มในประเทศไทยที่บริโภคแมลงอยู่แล้ว เช่น รถด่วน หนอนไหม จิ้งหรีด ตั๊กแตน นอกเหนือจากการบริโภคเนื้อสัตว์อื่นๆ

ผลิตภัณฑ์ของ Cricket Lab ที่จะได้เห็นในตลาดประเทศไทยเร็วๆนี้ คือ จิ้งหรีดพันธุ์เวียดนามแช่แข็ง ที่พร้อมจะวางขายกับสยามแมคโครในอีก 1-2 เดือน ข้างหน้า และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆจากผงจิ้งหรีดภายใต้การตลาดร่วมกัน (Co-branding) มีแผนจะเริ่มวางขายตาม Modern trade ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

นอกจากนี้ทาง Cricket Lab ยังได้มีความร่วมมือกับภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำหรับโครงการ Smart Farming ในการนำมูลจิ้งหรีดไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ organic fertilizer สำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ คือ การปลูกผักโดยไม่ใช้ดินหรือเป็นการปลูกผักในน้ำที่มีธาตุอาหารละลายอยู่ เพราะในปัจจุบันปุ๋ยไฮโดรโปนิกส์ทั่วๆไปยังตรวจพบสารเคมีตกค้างอยู่ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลในการรับประทาน ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทฯและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ทดลองนำปุ๋ยมูลจิ้งหรีดจากฟาร์มมาทำเป็นปุ๋ยน้ำสำหรับปลูกผักดังกล่าว เพราะอาหารจิ้งหรีดในฟาร์มเป็นอาหารออร์แกนิค และมีผลแลบรองรับค่า NPK ที่ค่อนข้างสูงซึ่งเหมาะกับการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบัน Cricket Lab and Sens Foods ได้ลงทุนถึง 3 ล้านยูโร เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้โปรตีนคุณภาพสูงในราคาที่ต่ำกว่าการผลิตโปรตีนจากสัตว์ประเภทอื่น

เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมการบริโภคแมลงในรูปแบบใหม่ และการใช้โปรตีนจิ้งหรีดยังสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อีกทางหนึ่ง ทำให้ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ และยังช่วยพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนารูปแบบของการบริโภคโปรตีนแห่งอนาคต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0