ในช่วงปี 2515-2535 นักอ่านคงคุ้นเคยกับคอลัมน์‘ขบวนการแก้จน’ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทุกวันจันทร์-เสาร์ เป็นอย่างดี
การ์ตูนสั้นๆ ลายเส้นเรียบง่าย ให้อารมณ์ไทยๆ มีตัวละครชื่อ ‘นายศุขเล็ก’ ออกมาสอนให้ผู้อ่านพึ่งพาตนเอง เช่น ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำกับข้าว เลือกซื้อผักผลไม้ ฯลฯ ภายใต้สโลแกน ‘ถ้ากลัวความจน ความจนจะกลัวเรา’
เจ้าของคอลัมน์คือนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองฝีมือเฉียบคม เคยคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว แต่เพราะผู้มีอำนาจยุคนั้นไม่พอใจที่ถูกวิจารณ์ จึงส่งคนมาเตือนบ่อยครั้ง ทำให้ต้องหาทางออกด้วยการมาเขียน ‘ขบวนการแก้จน’
ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือร้าย แต่คนไทยได้ความรู้มากมายจากการ์ตูนชุดนี้ หลายคนยกให้เป็นตำนาน เพราะไม่ใช่แค่แก้จนสตางค์ แต่ยังแก้จนปัญญา อ่านแล้วได้ทั้งความรู้ ข้อคิด และรอยยิ้ม จึงมีแฟนติดตามอย่างเหนียวแน่นมาตลอด 20 ปี เมื่อรวมเล่มก็ขายได้มากมาย
ในวาระที่เศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่เพราะไวรัสระบาด ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับนักเขียนการ์ตูนระดับปรมาจารย์คนหนึ่งในเมืองไทย ผู้ใช้ความเพียรเอาชนะความจน ชีวิตของเขาเป็นบทเรียนสอนว่า ถ้ามีความรู้ติดตัวและไม่ยอมแพ้ วิกฤตไหนก็ผ่านได้
‘ประยูร จรรยาวงษ์’
01
กำเนิด ‘ขบวนการแก้จน’
คนไทยรู้จักกับ ‘ขบวนการแก้จน’ ครั้งแรก ในปี 2515 ตอนนั้นประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะปฏิวัติ บรรยากาศการเมืองคุกรุ่น หนังสือพิมพ์หัวไหนหาญกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแรงๆ อาจถูกสั่งปิด
ขณะนั้นประยูรทำงานที่ไทยรัฐ เขาเขียนการ์ตูนล้อการเมืองจนกองบังคับการตำรวจมีคำสั่งขอความร่วมมือไม่ให้เขียนโจมตีรัฐบาล ครั้งแรกเขาจึงวาดให้ ‘นายศุขเล็ก’ -ตัวการ์ตูนคู่บุญ ถูกเย็บปากไม่ให้พูด แต่ดูเหมือนผู้มีอำนาจจะไม่สบอารมณ์เท่าไร ถึงกับมีคำสั่งฝากมาอีกครั้งให้เลิกเย็บปาก ประยูรจึงเขียนให้มีหนวดปิดปากที่ถูกเย็บแทน
แต่ความกดดันก็ยังมีเข้ามาไม่หยุด ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและหนังสือพิมพ์ โดยให้นายศุขเล็กหันมาสอนเกี่ยวกับการขยายพันธุ์พืช ติดตาต้นไม้ การทำอาหาร มุ่งหวังให้คนอ่านนำความรู้ไปประกอบอาชีพ หรือช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
เมื่ออำนาจของคณะปฏิวัติถูกประชาชนโค่นล้มในปี 2516 ประยูรถือโอกาสนี้ปลดไหมที่ปาก แต่ยังเดินหน้าเขียนการ์ตูนแนวทำมาหากินต่อ โดยตั้งชื่อคอลัมน์อย่างเป็นทางการว่า ‘ขบวนการแก้จน’
“คนจนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองไทย ขาดความรู้และขาดกำลังใจในการทำมาหากิน เสี่ยงโชคทั้งหวยรัฐบาลและหวย ผมจึงต้องการให้การ์ตูนนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนขยันทำงานอย่างแท้จริงเพื่อต่อสู้กับความยากจน”
ขบวนการแก้จน นำเสนอความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย ทั้งการพึ่งตนเอง อยู่กับธรรมชาติ ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า เช่น การทำกะปิทำน้ำปลาไว้กินเอง น้ำพริกสูตรต่างๆ ต้นไม้แต่ละชนิดชอบดินแบบไหน วิธีกินปลาหมอโดยก้างไม่ติดคอ วิธีดูปลาทะเลชนิดไหนรสดีรสเลว การทำปลาร้า ปลาส้ม ทอดมัน วิธีเลี้ยงหมาแมวให้สมบูรณ์ การถนอมอาหาร วิธีเอาตัวรอดในช่วงสิ้นเดือน ฯลฯ
นอกจากให้ความรู้ ในการ์ตูนทุกเรื่องประยูรก็จะแทรกข้อคิดไว้เสมอ เช่น ชนะจนต้องประหยัด ความจนที่น่ารัก ทำให้เกิดกำลังใจ ทำให้ขยันอดทน เป็นต้น
“ประสบการณ์ชีวิต บอกกับตัวเองว่า ความขยันหมั่นเพียรอย่างจิงจังเท่านั้น ที่จะเอาชนะความจนได้อย่างเด็ดขาด ฉะนั้นความจนจึงเป็นความจนที่น่ารักของผม ซึ่งผมเอาชนะมันได้ทุกวัน”
อาจเรียกได้ว่าประยูรนำประสบการณ์ทั้งชีวิตมากลั่นกรองและถ่ายทอดออกมาอยู่ในการ์ตูนชุดนี้
ย้อนกลับไปสมัยยังเด็ก ประยูรเป็นคนขี้เกียจเรียนหนังสือมาก วันหนึ่งเขาถูกอาจารย์เนียม อดีตโหรในรัชกาลที่ 5 ลงโทษด้วยการให้นุ่งผ้าขี้ริ้วแทนกางเกง เอาเชือกล่ามเอวแล้วให้ถือกะลามะพร้าวเดินไปขอทานที่ตลาดบางลำพู จะได้หลาบจำว่าถ้าไม่ขยันเรียนโตขึ้นไปจะเป็นแบบนี้
เขาเดินไปร้องไห้ไปจนถึงหน้าบ้านพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เห็นพระอาจารย์สอนลูกอย่างเข้มงวดก็ยิ่งดีใจ รีบไปเอาข้าวโพดต้มมาให้ ประยูรยิ่งสะอึกสะอื้นและไม่ยอมรับข้าวโพด แต่อาจารย์เนียมบังคับให้รับเพราะเป็นของบริจาค แล้วถึงจูงกลับ ความอับอายวันนั้นทำให้เด็กชายเลิกเกียจคร้านอีกเลย
ครอบครัวจรรยาวงษ์มีฐานะดีขึ้นอย่างก้าวประโดด เมื่อพ่อของเขาได้สัมปทานโรงฝิ่นถึง 5 โรง ประยูรย้ายไปเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ แต่งเครื่องแบบโก้หรู มีรถม้ารับส่งทุกเช้าเย็น แต่ความรวยอยู่กับเขาไม่นาน หลังพ่อเสียชีวิตด้วยโรคไทฟอยด์ทุกอย่างก็เปลี่ยนดังพลิกฝ่ามือ แม่ต้องพาเขามาอาศัยอยู่กับยาย ฐานะเปลี่ยนมายากจนถึงขีดสุด
ความที่ยายมีรายได้เพียงเล็กน้อยจากค่าเช่าห้องแถวและเรือเทียบท่า ทำให้ประยูรต้องย้ายมาเรียนโรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส และต้องปฏิบัติตนเองให้เป็น ‘นักเรียนหมั่น’ คือไม่ขาด ไม่ลา ไม่มาสายตลอดทั้งปี เพื่อจะได้รับยกเว้นค่าเล่าเรียนเทอมละ 20 บาท แม้ในช่วงที่เขาเป็นไข้มาลาเรียยาวนานถึง 1 ปี ก็ต้องลากสังขารไปถึงห้องเรียนให้ได้ พอมีไข้ขึ้นตัวสั่นก็ซดยาน้ำควินินเข้าไปต้านไว้
แต่การมาอยู่กับยาย น่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของประยูร เพราะความรู้ต่างๆ ที่นำมาเขียนใน ‘ขบวนการแก้จน’ เริ่มมาจากตอนนี้
ยายสอนให้เขาทำกับข้าวเป็น ทุกเช้าต้องช่วยยายทำกับข้าวใส่บาตรก่อนไปโรงเรียน ตอนเย็นทำกินกันในบ้าน ยายมีฝีมือในการทำอาหารและถ่ายทอดเคล็ดลับให้มากมาย
ยายยังใช้ให้เขาอ่านหนังสือให้ฟังทุกคืน ทำให้เขาซึมซับการเขียนและอ่านหนังสือมาตั้งแต่นั้น
“อ่านเบาก็ถูกเตือน อ่านผิดก็ถูกทักก่อนนอน โดยเฉพาะนวนิยายจีน เช่น ซิยินกุ้ย เจ็งฮองเฮา ซึ่งสมัยนั้นร้านจะตัดจากหนังสือพิมพ์มาเย็บเล่มหนาๆ ให้เช่า สมัยเมื่อผมเด็กๆ วิทยุ โทรทัศน์ไม่มี ยายเอาผมเป็นโทรทัศน์แทน กว่าจะปิดรายการได้ ผมก็เห่าโฮ่งๆ ดึกดื่นคอแห้ง ได้กินทุเรียน ซดน้ำคอโกง แล้วคลานเข้ามุ้งหลับไปเลย” เขาเล่าย้อนความหลังแล้วหัวเราะ
“ผมปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งในชีวิต เพราะไม่คิดว่าประสบการณ์ ลุ่มๆ ดอนๆ ของผมในวัยเด็กตลอดมาจนเติบใหญ่นั้น ได้คลี่คลายมาเป็น ขบวนการแก้จน มากมายหลายเรื่อง จนแทบจะพูดได้อย่างเต็มปากว่าเล่าจนตายก็เล่าไม่หมด”
02
ชีวิตนักเขียนการ์ตูน
ประยูรเริ่มวาดการ์ตูนจริงจังครั้งแรก ตอนเรียนอยู่มัธยม 7 เขาเริ่มรู้ตัวเองแล้วว่าชอบวาดเขียน บางวันยอมอดข้าวกลางวันเพื่อเอาเงินไปซื้อกระดาษ ซื้อหนังสือภาพการ์ตูนฝรั่งที่ตลาดนางเลิ้งมาฝึกเขียนตาม เพื่อนๆ จำได้ว่าเขาสามารถวาดรูปการ์ตูนได้สองมือพร้อมกัน สมัยนั้นการ์ตูนขุนหมื่นของสวัสดิ์ จุฑะรพ กำลังได้รับความนิยม ประยูรก็ลอกเลียนได้เหมือนมาก และด้วยเป็นคนมีอารมณ์ขันอยู่แล้ว ครั้งหนึ่งเขาวาดรูปขุนหมื่นยืนกินกล้วยน้ำว้า เพื่อนๆ ดูแล้วหัวเราะกัน เพราะเหมือนอย่างกับเจ้าของการ์ตูนมาเขียนเอง
ความที่หันมาสนใจการเขียนการ์ตูน 90 เปอร์เซ็นต์ เรียนหนังสือ 10 เปอร์เซ็นต์ ผลการเรียนของประยูรตกลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็สอบไม่ผ่าน ต้องเรียนซ้ำชั้นมัธยม 7 โดยขาดไปเพียง 2 คะแนน แม้จะอ้อนวอนเท่าไร แต่ครูก็ไม่ยอม
แต่ผลของความเพียรก็ตอบแทน โดยผลงานภาพการ์ตูนล้อเลียนชื่อ ‘หลังบ้าน’ ได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ดาวทอง ภาพนี้เขาเขียนถึงช่วงวันตรุษจีน ซึ่งพ่อค้าคนจีนจะนำหมูเป็ดไก่ไปให้ข้าราชการที่แอบเปิดหลังบ้านมารับ พอผลงานได้พิมพ์ยิ่งทำให้เด็กหนุ่มมีกำลังใจ
“นิสัยของผมนั้นเมื่อตัดสินใจลงไปแล้วว่าจะทำก็ต้องทำ ฉะนั้นผมจึงก้าวไม่ถอย แรงใจที่เคยมีทางเขียนการ์ตูนเพิ่มขึ้นอีกอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะเหตุนี้ผมจึงเรียน ม.7 2 ปี ม.8 2 ปี เพราะหันมาทุ่มเททางการ์ตูน และทุกวันนี้ผมก็ยังเป็นนักเรียนการเขียนการ์ตูนอยู่”
พอเรียนจบประยูรสมัครเข้าทำงานที่การรถไฟ ก่อนจะมาทำงานเขียนหัวเรื่องที่หนังสือพิมพ์ ประชามิตรรายวัน แต่ความฝันจะเป็นนักวาดการ์ตูนไม่เคยหายไป เขาเห็นว่าสมัยนั้นคนไทยชอบดูลิเก จึงเขียนการ์ตูนยาวเรื่องคือ จันทะโครบ ในรูปแบบการ์ตูนลิเกที่ไม่เหมือนใคร ไปเสนอหนังสือพิมสุภาพบุรุษ ปรากฏว่าจันทะโครบประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มีคนอ่านติดตามเนืองแน่น
นับเป็นการแจ้งเกิด นายศุข(เล็ก) ตัวละครที่เขาสร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อนักมวยชื่อดังสมัยนั้นคือ ศุข ปราสาทหินพิมาย หรือ ศุข(ใหญ่)
และตั้งแต่นั้นมา เขาก็การ์ตูนเรื่องยาวลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆ อีกถึง 34 เรื่อง
ประยูร หันมาเขียนการ์ตูนล้อการเมืองอย่างจริงจัง หลังเกิดเหตุการณ์ในหลวง รัชกาลที่ 8 สวรรคต เขาเขียนภาพแสดงความรู้สึกสะเทือนใจลงในหนังสือพิมพ์ 4 วันติด หน้าของนายศุขเล็กเศร้าหมอง ปิดปาก สวมปลอกแขนไว้ทุกข์ ซึ่งสะท้อนความรู้สึกของคนไทยในช่วงเวลานั้น
จากวันนั้นเขาก็เริ่มเขียนการ์ตูนล้อเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้นในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ก่อนจะมาเป็นคอลัมนิสต์ประจำที่ ไทยรัฐ
นอกจากลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว จุดเด่นในงานของเขาคืออารมณ์ขัน ที่สอดแทรกและสร้างสีสันได้อยู่เสมอ อย่างครั้งหนึ่งที่ผู้นำประเทศสั่งถอนชื่อป้ายทหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขาก็วาดรูปผีนักรบยืนชี้มือไปที่อนุสาวรีย์ จนตอนหลังจึงมีการเอาชื่อมาติดคืนเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประยูรยึดถืออยู่เสมอ คือ ไม่นำความโกรธเกลียดชังใส่ลงไปในการ์ตูนเพื่อทำร้ายคนอื่น จริงอยู่ที่นักเขียนการ์ตูนอาจจะไม่พอใจและมีความโกรธเกลียด แต่ควรจะดับกิเลสเหล่านั้นด้วยอารมณ์ขัน ไม่อย่างนั้นการ์ตูนจะเผ็ดร้อน เคร่งเครียด และแข็งกระด้าง
“คือจะเขียนการ์ตูนถึงใคร จะให้มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือต่อคนนั้นแล้ว ควรจะเอา ความเมตตาเข้าใส่ให้มากที่สุดที่จะมากได้…
“ความจริงใจของผมมีอยู่ว่า ตลอดชีวิตของผมจะเป็นผู้ดูและผู้วิจารณ์การเมือง โดยไม่เป็น หรือไม่ฝักฝ่ายกับนักการเมืองฝ่ายใดโดยเด็ดขาด สิ่งใดที่วิจารณ์ออกไปจะมีความเห็นออกมาเป็นการเมืองด้วยสุจริตใจ และจะเป็นนักเขียนอิสระตลอดไป”
03
รางวัลแห่งความเพียร
ชีวิตนักเขียนของประยูรคือชีวิตแห่งความเพียร เขามักบอกกับใครๆ ว่าตนเองไม่ได้มีพรสวรรค์ ไม่ใช่อัจฉริยะ ทั้งหมดเกิดจากการฝึกฝน ไม่ยอมแพ้
อย่างเท้าซึ่งเป็นอวัยวะที่วาดยาก บางคนอาจเลี่ยงโดยวาดต้นหญ้าบังแต่กับประยูร เขาจะท่องในใจเสมอว่าต้องเขียนให้ได้ เริ่มต้นวาดห้าเท้าสิบเท้าอาจไม่ดี แต่เมื่อเขียนเป็นร้อยเป็นพันเท้ามันก็ดีขึ้นได้เอง
หรือการเขียนการ์ตูนการเมือง เขาต้องติดตามข่าวสารเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด บางทีต้องอดหลับอดนอนติดตามข่าว แต่เมื่อเป็นงานที่รักแล้วก็ย่อมไม่เป็นอุปสรรค
“วิธีการเขียนการ์ตูนการเมืองนั้น ยากกว่าเขียนการ์ตูนเรื่องยาวมากมายหลายเท่า คือต้องมีข่าววิทยุฟัง ถ้าฟังทั่วโลกยิ่งดีที่สุด ผมเป็นคนบังเอิญไม่ค่อยหลับไม่ค่อยนอน นอนเท่าที่ร่างกายจำเป็น ..ผมก็ขึ้นมาอ่านหนังสือดูหนังสือของผมต่อไป
“ความลำบากกรากกรำคือชีวิตประจำวันของผม ไม่มีวันหยุดตลอดปีตลอดชาติ ไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ และผมก็ยิ้มรับมันตลอดมาและตลอดไป”
ความเพียรนั้นให้รางวัลตอบแทนคืนกลับมาเสมอ ปี 2503 ประยูรได้รับจดหมายเชิญจากกลุ่มนักเขียนการ์ตูนอเมริกัน แห่งมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้ส่งภาพล้อเข้าประกวดการ์ตูนเพื่อสันติภาพ ตอนแรกเขาไม่ได้สนใจ เพื่อน ๆ จึงช่วยคัดเลือกภาพอัดสำเนาส่งไปให้ ผลปรากฏว่าภาพการ์ตูน ‘การทดลอง ระเบิดปรมาณูลูกสุดท้าย (The Last Nuclear Test)’ ซึ่งเป็นภาพโลกแตกเป็นเสี่ยงๆ ได้รางวัลชนะเลิศ จากผลงานกว่า 300 ชิ้นจาก 30 ประเทศทั่วโลก
ในปีเดียวกันนั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงฝากฝังให้ประยูร ไปฝึกงานกับวอลต์ ดิสนีย์ เพื่อเรียนรู้เทคนิคการผลิตภาพยนตร์การ์ตูนเป็นเวลา 6 เดือน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่คนเขียนการ์ตูนตัวเล็กๆ อย่างเขาไม่มีวันลืม
แม้ว่ากลับมาแล้วประยูรจะไม่ได้ทำการ์ตูนอนิเมชัน เพราะติดขัดเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงมาก แต่เขาก็ยังก้มหน้าก้มตาเขียนการ์ตูนอย่างต่อเนื่อง และในปี 2514 คณะกรรมการรางวัลแมกไซไซก็มอบรางวัลเป็นเกียรติแก่เขา นับว่าเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดในชีวิต ประยูรเป็นนักหนังสือพิมพ์ไทยคนแรกและคนไทยคนที่ 5 ที่ได้รับรางวัลนี้ โดยคณะกรรมการเขียนคำประกาศเกียรติคุณว่า
“..สาระแห่งภาพของคุณประยูรนั้นมีตั้งแต่การล้อเลียนผู้ที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการเพื่ออำนาจของตน และเพื่อความร่ำรวย ไปจนถึงการปกป้องฐานะของผู้ที่ยากจน ในฐานะที่เป็นผู้มีความคิดอันเป็นอิสระและความเมตตาสูง บางครั้งก็เฟื่องฟูด้วยอารมณ์ขันอันน่ารัก
“คุณประยูรไม่ติดต่อกับสถาบันหรือบุคคลที่เขาเชื่อว่าไม่ทำความดีให้แก่สังคม แล้วเขาก็เสนอให้คนไทยและคนอื่นๆ เกิดความเชื่อมั่นว่าปากกาที่มีพรพิเศษนั้น สามารถจะรักษาความสัตย์ไว้ได้ ด้วยความสะอาดสุจริต ด้วยความกล้าหาญ และด้วยอารมณ์ทางศิลปะ”
เขานำเงินรางวัลที่ได้แจกจ่ายมอบให้แก่มูลนิธิ โรงพยาบาล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป
04
มาเปล่า ไปเปล่า
นอกเวลางานเขียนการ์ตูน ประยูรมีชีวิตที่เรียบง่าย เขาอาศัยอยู่กับภรรยาและมีลูก 2 ทุกเช้าตรู่จะไปตลาดสด พูดคุยกับแม่ค้าและชาวบ้าน หาวัตถุดิบมาทำกับข้าว เมื่ออยู่บ้านก็ปลูกต้นไม้ เพาะกล้วยไม้ เลี้ยงสัตว์ โดยทดลองวิธีต่างๆ แล้วจดบันทึก เก็บข้อมูลนำมาเขียนในขบวนการแก้จน
บางครั้งก็ต้องอ่านหนังสือหาข้อมูล เพราะต้องเขียนลงสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดไม่ได้
ครั้งหนึ่งเขาเคยล้มป่วยอย่างหนัก ต้องไปนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลศิริราช ชีวิตเฉียดใกล้ความตาย เมื่อฟื้นขึ้นมาเขาขอกระดาษกับดินสอเพื่อวาดรูป พอเริ่มวาดไม่นานก็หายวันหายคืน
ประยูรมีภาพถ่ายภาพหนึ่ง ที่เขาตั้งใจไว้ใช้สำหรับช่วงสุดท้ายของชีวิต เป็นภาพขาวดำขนาด 18X24 นิ้ว เป็นรูปเขามือถือปากกาวาดภาพ ไม่สวมเสื้อ อยู่ในห้องทำงานส่วนตัวที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขาเรียกภาพถ่ายนี้ว่า ‘มาเปล่า ไปเปล่า’ เพื่อเตือนตนเองว่าทุกคนไม่ว่าจะมั่งมีหรือยากจน เมื่อตายไปแล้วไม่สามารถนำทรัพย์สมบัติติดมือไปได้แม้เพียงชิ้นเดียว
ชีวิตในช่วงท้าย ประยูรล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และจาก ‘ไปเปล่า’ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2535 เช่นเดียวกับคอลัมน์ ขบวนการแก้จน ที่ดำเนินมากว่า 4,000 ตอนก็ยุติลงไปด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้บวกอารมณ์ขันที่ประยูรฝากไว้ในผลงานตลอด 50 ปีของเขานั้นยังมีคุณค่ามากมาย และนำมาใช้ได้อยู่จนถึงบัดนี้
…
ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
เรียบเรียงและภาพประกอบจาก
- ชีวประวัติและผลงานของประยูร จรรยาวงษ์ โดยสุวิมล ธนะผลเลิศ วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- หนังสือ ศุขเล็ก โดย ศุขเล็ก จรรยาวงษ์, สุดรัก จรรยาวงษ์
- http://sooklek.com/
- นิตยสาร ถนนหนังสือ มีนาคม 2529
- ขอขอบคุณ คุณ 'นรา' พรชัย วิริยะประภานนท์ เอื้อเฟ้อนิตยสาร ถนนหนังสือ
ความเห็น 10
So
ชอบการ์ตูน ขบวนการแก้จน มาก น่ารัก ได้สัมผัสธรรมชาติจากการ์ตูน
อ่านทุกวันในไทยรัฐ ตัดเก็บไว้ด้วย
หลังท่านเสียชีวิต มีการรวมผลงานพิมพ์เป็นเล่ม ก็ซื้อเก็บไว้
05 เม.ย. 2563 เวลา 07.29 น.
ยุทธ ยุทธ 1
ผมดูตั้งแต่ไทยรัฐฉบับละ ๑ บาท การ์ตูนการเมืองภาพลึกมาก แค่ภาพเดียวอธิบายเหตุการณ์ได้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีใครเขียนอธิบายเหตุการณ์ในภาพเดียวได้ดีเท่า มีแต่วาดเพื่อหวังผลตอบแทนจากคนกำหนดเรื่องราว ตอบสนองผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้ต้องการให้เขียน จึงมองดูไม่เป็นกลางแบบท่าน ที่วาดตามเหตุการณ์ตรงไปตรงมา
05 เม.ย. 2563 เวลา 11.03 น.
Jabkha
อ่านของท่านตลอด !
05 เม.ย. 2563 เวลา 10.33 น.
คนหนุ่มรุ่นเก่า..
อ่านแล้วคิดถึงสมัยเด็กๆอ่านประจำเลย...
05 เม.ย. 2563 เวลา 12.37 น.
เป็นความทรงจำที่ดีในวัยเด็กครับ
05 เม.ย. 2563 เวลา 12.30 น.
ดูทั้งหมด