“อย่าละทิ้งความหวัง จนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย ถ้าตัดใจเมื่อไหร่ เกมมันก็จบเมื่อนั้น..”
อาจารย์อันเช่ ตัวละครในการ์ตูน Slam Dunk ไม่เพียงบอกกับลูกทีม แต่ประโยคนี้เหมือนเป็นสารสำคัญที่ผู้เขียน พยายามส่งต่อมายังผู้อ่านหนุ่มสาวให้ลุกขึ้นสู้กับอุปสรรคต่างๆ
หากพูดถึงการ์ตูนบาสเกตบอลอันดับหนึ่งตลอดกาล Slam Dunk คงขึ้นแท่นแบบไม่มีใครเทียบ
เรื่องราวของ‘ซากุระงิ ฮานามิจิ’ หนุ่มนักเลงที่เคยโดนผู้หญิงหักอกถึง 50 ครั้ง เมื่อเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย ‘โชโฮคุ’ เขาตกหลุมรักเพื่อนสาว ‘อาคางิ ฮารุโกะ’ และตัดสินใจเข้าชมรมบาสเกตบอลตามที่เธอชวน แม้ว่าไม่เคยเล่นมาก่อน แค่แมตช์แรกเขาก็พลาดไปดึงกางเกงพี่ชายของฮารุโกะซึ่งเป็นกัปตันทีมเข้าให้ แต่ด้วยนิสัยดื้อดึงไม่ยอมแพ้ ซากุระงิพัฒนาตัวเองจนก้าวขึ้นเป็นตัวหลักของทีมได้
หลังจากตีพิม์มาแล้ว 30 ปี Slam Dunk ครองใจผู้ชมกว่า 19 ประเทศทั่วโลก การ์ตูนเรื่องนี้ทำให้หลายคนหลงรักกีฬาบาสฯ เนื้อเรื่องไม่ใช่มีเพียงการแข่งขัน แต่ยังสอดแทรกชีวิตวัยรุ่นลงไปด้วย ทั้งมิตรภาพ ความรัก การชิงดีชิงเด่นเพื่อเรียกความสนใจสาวที่ตนหมายปอง
หาก Slam Dunk คือด้านสว่าง การ์ตูนเรื่องถัดมาของผู้เขียนคือ Vagabon ก็เหมือนพาเราเข้าสู่ด้านมืดของมนุษย์ การต่อสู้กับความเปล่าเปลี่ยวในจิตใจของซามูไรพเนจรคนหนึ่ง นักวิจารณ์ยกให้เป็นหนึ่งในมังงะที่งดงามที่สุดทั้งด้านภาพและเนื้อเรื่อง
หากแต่เบื้องหลังความสนุกของนักอ่าน คือการทำงานหนักของนักเขียน ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ขอพาไปรู้จักกับ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ (Takehiko Inoue) ผู้ทุ่มเทพลังชีวิตลงไปในงาน และอุปสรรคที่เขาข้ามไม่พ้น
01
คลั่งไคล้
ช่วงไคลแมกซ์ของ Slam Dunk ยาว 40 หน้า โดยไม่มีบทสนทนาเลย แต่ไม่มีใครละสายตาจากหน้ากระดาษได้ เพราะการต่อสู้ในสนามระหว่างโรงเรียนโชโฮคุกับเทคโนซังโนนั้นดุเดือดเลือดพล่านอย่างยิ่ง
หลายคนบอกว่า อิโนะอุเอะวาดจนเหมือนผู้อ่านได้ยินเสียงลมหายใจ เขาสามารถพาเราดำดิ่งลงไปภายในจิตใจของตัวละคร เปิดเผยให้เห็นถึงความคลั่งไคล้ที่มีต่อบาสเกตบอล ความมุ่งมั่นต่อสู้แบบถวายชีวิตเพื่อเอาชนะ
“ยิ่งผมวาด ตัวละครซากุระงิก็เหมือนผมเข้าไปทุกที เราต่างเกลียดความพ่ายแพ้”
อิโนะอุเอะชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ไม่เฉพาะการ์ตูน เขาวาดไปแทบทุกอย่าง เมื่อได้อ่าน ‘มังงะ’ หรือการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Dokaben ที่เกี่ยวกับกีฬาเบสบอล เขารู้สึกว่าตัวการ์ตูนมีเสน่ห์ และการเขียนถึงเกมส์เบสบอลก็เป็นอะไรที่เท่มาก ทำให้เริ่มความใฝ่ฝันจะเป็นนักวาดการ์ตูนตั้งแต่ 9 ขวบ
สมัยมัธยมปลาย เขาอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านศิลปะ ช่วงปิดเทอมจึงไปเรียนเตรียมศิลปะ แต่แล้วก็พบว่าตนเองไม่ได้มีทักษะสูงพอที่จะเป็นศิลปิน เขาไม่ยอมแพ้ ชายหนุ่มหันมามุ่งมั่นในด้านมังงะโดยเรียนด้านวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยคุมาโมโตะ ระหว่างนั้นก็ส่งต้นฉบับเข้าประกวดนักเขียนหน้าใหม่ของนิตยสารโชนันจัมพ์ โชคดีที่บรรณาธิการเห็นแววจึงเรียกเข้าไปทำงาน เขาตัดสินใจหยุดการเรียนเพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นนักวาดการ์ตูนอาชีพนับแต่นั้น
อิโนะอุเอะ ทำงานเป็นผู้ช่วยของ สึกาซะ โฮโจ ผู้วาดการ์ตูน City Hunter สายสืบจอมทะเล้น ในช่วงเวลา 10 เดือนเขาเรียนรู้ทักษะการวาดการ์ตูนเบื้องต้น ก่อนจะมีโอกาสทำงานของตัวเองเรื่องแรก ชื่อ Purple Kaede มังงะขนาดสั้นเล่าเรื่องราวชีวิตวัยเรียนของเด็กมัธยมปลายที่ฝึกซ้อมบาสเกตบอล เพียงผลงานแรกก็ได้รับรางวัลเทสึกะอวอร์ด ครั้งที่ 35
ด้วยความที่ชอบเล่นบาสเกตบอลมาตั้งแต่มัธยมปลาย ชอบดู NBA มีทีมโปรดคือ LA Lakers อิโนะอุเอะนำความหลงใหลกีฬาบาสฯ มาเขียนการ์ตูนยาวเรื่องที่ 2 ของเขาคือ Slam Dunk
“ตอนนั้นไม่มีการ์ตูนเกี่ยวกับบาสเก็ตบอลมาก่อนเลย ผมก็เลยคิดว่าผมต้องเขียนมันขึ้นมา หลายอย่างมาจากความทรงจำตอนที่เล่นบาส เหมือนมันฝังอยู่ในกล้ามเนื้อ ผมพยายามจะเน้นสิ่งเล็กน้อยที่มีเพียงคนที่เล่นบาสเท่านั้นที่รู้ อย่างเช่นรู้สึกอย่างไรตอนถือลูกบอล วิธียิงและจัดการกับลูกบอล” อิโนะอุเอะ เอ่ยถึงการ์ตูนที่เขาเริ่มเขียนตอนอายุ 23 ปี
ฉากที่ซากุระงินั่งเช็ดทำความสะอาดลูกบาส หรือเปิดวิดีโอศึกษาวิธีการเล่นของนักบาสเก่งๆ ก็นำมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา
“ผมพยายามถ่ายทอดทุกๆ ความรู้สึกในช่วงเวลานั้นออกมา เช่น ตอนที่เราแพ้ ตอนที่เราเล่นด้วยกันเป็นทีม ชนะการแข่ง ก้าวไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ ผมใส่ทั้งหมดนี้ลงไปใน Slam Dunk”
ด้วยความสนุกสนาน เรื่องราวที่เข้มข้น ตัวละครมีเสน่ห์และเห็นถึงการเติบโต ก็ทำให้ Slam Dunk ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ขายได้กว่า 150 ล้านก๊อบปี้ทั่วโลก กลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านจำนวนมากแม้ว่าจะไม่ใช่แฟนบาสเกตบอลมาก่อน ที่สำคัญคือเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ หลายคนหันมาเล่นบาสเกตบอล อยากจะเป็นแบบซากุระงิ หรือรุคาว่า บ้าง
Slam Dunk ชนะรางวัล โชกาคุคัน มังงะ อวอร์ด ในปี 1995 และในปี 2007 ได้รับการโหวตให้เป็นมังงะยอดนิยมที่สุดในญี่ปุ่น มีการนำไปทำเป็นอะนิเมชันอีกหลายครั้ง
Buzzer Beater มังงะเรื่องต่อมาก็ยังคงเกี่ยวกับกีฬาโปรด คราวนี้เขาทำงานร่วมกับ ESPN ช่องกีฬาระดับโลก เล่าถึงทีมบาสเกตบอลบนโลกมนุษย์ที่พยายามจะไปเล่นในอวกาศ
ในปี 1998 อิโนะอุเอะเริ่มงานชิ้นต่อไปของเขาคือ “Vagabond” โดยนำเรื่องราวมาจากนวนิยายของ เอจิ โยชิกาวะ ที่เล่าถึงชีวิตของมิยาโมโต้ มูซาชิ ซามูไรพเนจรในศตวรรษที่ 17
“หลังจาก Slam Dunk ผมรู้สึกเหมือนว่าอาชีพนักเขียนการ์ตูนของผมเสร็จสิ้นลงแล้ว ผมเว้นการวาดการ์ตูนไประยะหนึ่ง จนกระทั่งบรรณาธิการเอานวนิยายมิยาโมโต้ มูซาชิมาให้ผมอ่าน ยิ่งอ่านไปผมก็เริ่มรู้สึกว่าอยากจะวาดใบหน้าของตัวละครในเรื่อง ในที่สุดก็กลายเป็น Vagabond”
เขาเริ่มลงมือวาดโดยที่ไม่รู้ว่า กำลังจะเจอกับงานหินที่สุดในชีวิต
02
ด้านมืด
เรื่องราวของ Vagabond จริงจังยิ่งกว่าการ์ตูนที่เขาวาดมาก่อนหน้าทั้งหมด เพราะพูดถึง มิยาโมโต้ มูซาชิ ซามูไรผู้ออกท้าประลองกับนักดาบที่มีชื่อเสียงไปทั่วแผ่นดิน ด้วยความหวังที่จะเป็นยอดนักดาบอันดับ 1 ของปฐพี โดยลึกๆ คือการเอาชนะปมด้อยในใจที่โดนพ่อตนเองดูถูกมาตลอด
หลังจากต่อสู้ด้วยสัญชาติญาณดิบ เอาชีวิตรอดในวังวนแห่งการฆ่าฟัน มูซาชิ ก็ค่อยๆ เรียนรู้และก้าวออกมาจากโลกด้านมืด เขาเริ่มฝึกฝนจิตใจและกลายเป็นนักดาบที่ดีขึ้น
แม้ว่าโครงเรื่องดั้งเดิมจะมาจากนิยาย แต่ในมังงะก็ไม่เดินตามรอยเสียทีเดียว อิโนะอุเอ ชอบที่จะพัฒนาเรื่องเองโดยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตอนต่อไป เขาจะจินตนาการว่าเมื่อเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา ด้วยบุคลิกลักษณะของตัวละครควรจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งต้องสมเหตุสมผล ตรงนี้คือสิ่งที่ยากที่สุด
“มังงะที่ผมวาดไม่ใช่เทพนิยายหรือแฟนตาซี ตัวละครของผมอาจจะจินตนาการได้ แต่ผมวาดเหมือนกับมันเป็นสารคดี
“เทคนิคการวาดที่ดีเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การทำให้คนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงคือสิ่งสำคัญที่สุด”
ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้หลายครั้งคิดเรื่องไปข้างหน้าไม่ออก และต้องเผชิญกับความเครียดเมื่อใกล้ถึงเดดไลน์ ในรายการสารคดีที่ตามติดชีวิตเขา จับภาพตอนที่อิโนะอุเอะนั่งเงยหน้ามองเพดานเพราะสมองตีบตัน บางครั้งก็ปัดกระดาษที่วาดไม่ได้ดังใจร่วงลงพื้นด้วยความฉุนเฉียว
อย่างตอนที่มุซาชิฟื้นขึ้นมาหลังจากเอาชนะคู่ต่อสู้ของสำนักโยชิโอกะ 70 คน เขาใช้เวลาคิดอยู่นานมาก ว่ามูซาชิควรทำอะไรและพูดอะไรออกมาเมื่อพบสถานการณ์เช่นนี้ กว่างานจะเสร็จก็ล่าช้ากว่ากำหนดส่งไปหลายชั่วโมง
ใน Vagabon อิโนะอุเอะยังเปลี่ยนมาวาดด้วยพู่กันซึ่งไม่มีนักเขียนการ์ตูนคนไหนทำมาก่อน
ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยบอกว่า มันทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ก้าวข้ามจากมังงะไปเป็นงานศิลปะ
“ผมไม่ได้ตั้งใจจะสร้างสไตล์นี้ตั้งแต่แรก มันเป็นผลมาจากที่ผมต้องการวาดให้เหมือนจริงและดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ผมอยากจะให้มันออกมาดีที่สุด”
อาจด้วยความเหนื่อยและเครียดจากการเขียน อิโนะอุเอะจึงเริ่มเขียนการ์ตูนอีกเรื่องคู่ขนานกันไปทั้งที่ Vagabon ยังไม่จบ เขากลับไปหากีฬาบาสเกตบอลที่ตัวเองรัก คราวนี้มุ่งเน้นไปที่วีลแชร์บาสเกตบอลของคนพิการ หลังได้ดูการแข่งขันทางโทรทัศน์แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ
Real มีน้ำเสียงที่จริงจังกว่า Slam Dunk อย่างมาก ไม่บ่อยนักที่มังงะจะเล่าเรื่องของนักกีฬาพิการ ในแง่มุมที่มนุษย์ต้องเผชิญกับแง่ลบของชีวิต
“ผมอยากจะสื่อออกไปว่า เมื่อหลายสิ่งในชีวิตมันไม่เป็นตามที่หวัง แต่มันก็ไม่ใช่จุดจบ เราต้องก้าวต่อไป มันยังมีสิ่งอื่นอีกมากมายในชีวิต นักกีฬาพิการคือตัวอย่างหนึ่ง หรือตัวละครอย่างโนมิยะ เขาไม่ได้เรียนมัธยมปลายต่อ ใครๆ ก็เชื่อว่าเขาจะไม่มีอนาคต แต่เรื่องราวก็จะทำให้เห็นว่า ชีวิตยังอีกยาวไกล มันจะยังมีสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข แม้ว่าบางครั้งอาจจะต้องร้องไห้ หรือเต็มไปด้วยอุปสรรคหลายอย่าง
“มันมีความเปลี่ยนแปลงภายในตัวของผม ถ้าย้อนกลับไปตอน Slam Dunk ผมวาดเพราะรู้สึกว่ามันคือความเท่ และเล่าเพียงแง่มุมที่เป็นบวก แต่ตอนนี้ ผมคิดว่าตัวเองสามารถวาดคนที่น่าเกลียด คนที่ต้องเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก หรือคนที่ลงมือฆ่าคนอื่นได้ ผมสามารถวาดและเล่าเรื่องราวด้านมืดของมนุษย์ได้ดีขึ้น ผมจึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมา”
มีคนเคยถามว่า จุดร่วมที่เขาอยากจะบอกผ่านการ์ตูนทั้ง 3 เรื่องคืออะไร อิโนอุเอะ ตอบว่า
“ตอนแรกผมก็ไม่รู้ แต่พอมาย้อนคิด มันน่าจะเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ทะเยอทะยานจะทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม”
ไม่ใช่แค่ตัวละคร อิโนะอุเอะเองก็มีความทะเยอทะยานแบบนั้นด้วยเช่นกัน
03
คลี่คลาย
แม้ว่าเขาจะเขียนมากว่า 20 ปี แต่ถึงวันนี้ Vagabon ก็ยังไม่จบ เช่นเดียวกับเรื่อง Real ที่มีชะตากรรมเดียวกัน
ย้อนกลับไปตอนทำงาน แต่ละสัปดาห์อิโนะอุเอะจะใช้เวลา 3 วันคิดโครงเรื่อง โดยวาดเป็นภาพร่างในแต่ละหน้า มีบทสนทนา เรื่องราวต่างๆ ขั้นตอนนี้ยากและต้องใช้สมาธิมากที่สุด เขาจะตระเวนไปคิดงานตามร้านกาแฟจนดึกดื่น เพราะการทำงานที่บ้านหรือสตูดิโอที่สบายเกินไป อาจหลับหรือสมาธิหลุดได้ เมื่อได้ภาพร่างแล้วจะกลับมาวาดเส้นลงหมึก จัดทำต้นฉบับโดยมีผู้ช่วยคอยวาดรายละเอียดส่วนอื่นให้ ทำแบบนี้วนซ้ำ ต่อสู้กับความเครียดความกดดันทั้งด้านคุณภาพและเวลาสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า
ด้วยการทำงานที่เข้มข้นยาวนานหลายปี ทำให้อิโนะอุเอะเริ่มไอเดียตีบตัน และมีปัญหาสุขภาพตามมา แม้จะพยายามต่อสู้อย่างหนัก แต่เขาก็ฝ่าทางตันนี้ไปไม่พ้น
“ผมรู้สึกว่า ไม่อาจจะทนเขียนต่อไปได้แล้ว”
ในที่สุดอิโนะอุเอะก็ขอพักการวาดการ์ตูน และออกไปหาเส้นทางใหม่ๆ ในชีวิต ในปี 2006 เขาจับมือกับสำนักพิมพ์ชูเอฉะ ก่อตั้ง ‘กองทุนสแลมดังค์’ เพื่อเฟ้นหานักกีฬาฝีมือดีไปศึกษาต่อสหรัฐอเมริกา เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาวงการบาสในประเทศญี่ปุ่น
“หลังจากสแลมดังค์จบ ผมเคยไปอยู่อเมริกาช่วงหนึ่ง ตอนที่ผมได้เห็นเกม NBA และวัฒนธรรมบาสเก็ตบอลอเมริกัน ผมคิดกับตัวเองว่า ‘นักบาสเก็ตบอลที่ประสบความสำเร็จเขายังมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสังคมมากมาย ผมจะสามารถทำอะไรเพื่อบาสเก็ตบอลได้ไหม?’ ผมจึงได้คุยกับชูเอฉะ และสองปีหลังจากนั้น ในที่สุดผมก็ได้ก่อตั้ง ‘ทุนสแลมดังค์’ ขึ้นมา
“ผมอยากจะแสดงความขอบคุณต่อบาสเก็ตบอล” อิโนะอุเอะให้สัมภาษณ์
เขาออกหนังสือรวมผลงานของตัวเอง จัดนิทรรศการภาพวาด นอกจากนี้ยังไปทำงานจิตรกรรมฝาผนังอยู่ 2 ปี ตามคำเชิญของวัดฮอนกันจิฝั่งตะวันออก ในเมืองเกียวโต ที่อยากได้ภาพวาดประวัติของท่านชินรัน เพื่อฉลองครบรอบวันมรณภาพของท่าน ในปี 2013
แม้จะกลับมาเขียนตอนใหม่บ้าง โดยเฉพาะกับเรื่อง Real แต่สำหรับ Vagabon นั้นเว้นระยะห่างไปนานหลายปี เขาเคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ไว้ในปี 2011 ว่า
“กับ Real คุณสามารถพูดได้ว่ามันเป็นเรื่องของการผสมผสานเรื่องราวต่างๆ ลงไป ผมนำวัตถุดิบต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้ารวมเข้าด้วยกัน กระบวนการเกือบจะเหมือนการทำอาหาร แต่ Vagabond ผมรู้สึกเหมือนกำลังทำอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่มังงะ มันเล่าเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากกว่า ไม่มีสูตร เหมือนเราวิ่งไปรอบ ๆ ภูเขาหรือว่ายน้ำในแม่น้ำโดยไร้กฎเกณฑ์ ผมต้องดึงทุกอย่างที่มีในตัวเองออกมาใช้ มันจึงเป็นงานที่เหนื่อยมาก”
อิโนะอุเอะ ยอมรับว่าตนเองหมดไฟ ในช่วงแรกๆ เขารู้สึกหงุดหงิดที่ใครต่อใครพากันถามว่า เมื่อไรจะวาดต่อ? เมื่อไรจะวาด Vagabon จบ? แต่นานวันเข้าคำพูดเหล่านี้ก็ไม่สำคัญสำหรับเขาแล้ว เมื่อมันไม่ใช่หนทางที่ชีวิตเขาต้องการ
“ผมยอมรับได้ว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่โด่งดังที่สุด หรือศิลปินที่ทุกคนพูดถึง คนอาจจะลืมผมไปบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าเปรียบกับนักดนตรี ตอนนี้ผมไม่สนใจแล้วว่าจะไม่ได้เล่นที่บูโดกันหรือโตเกียวโดมหรืออะไรก็ตาม เพราะการเล่นที่มุมถนนก็เป็นเรื่องที่ดี ในความเป็นจริงสิ่งที่ผมต้องการทำคือจดจำความสนุกในการวาดมังงะได้อย่างแม่นยำ โดยไม่ถูกรบกวนจากอิทธิพลภายนอก ผมจะกลับมาวาดเมื่อผมอยากจะวาดมันอีกครั้ง”
ชีวิตอิโนะอุเอะ ก็ไม่ต่างจากนักกีฬาหลายๆ คน มีช่วงเป็นดาวรุ่ง ก้าวขึ้นมาไขว่คว้าความสำเร็จ และหลังจากนั้นก็เผชิญหน้ากับช่วงตกต่ำ ไม่มีใครจะท็อปฟอร์มได้ตลอด สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา และเมื่อแข่งขันจบลง ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป..
แต่อย่างน้อยที่สุด ผลงานที่ผ่านมาของเขาก็ได้มอบความสุขให้กับเรามากมาย เท่านี้อาจเพียงพอแล้ว
ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์
เรียบเรียงและภาพประกอบจาก
- www.latimes.com/archives/la-xpm-2010-jun-12-la-et-solomon-profile-20100612-story.html
- www.deviantart.com/interstateninja/journal/TAKEHIKO-INOUE-INTERVIEW-355416391
- https://medium.com/@manu/takehiko-inoue-s-manga-as-a-living-being-a0c318edad0
- www.facebook.com/JapanSalaryman/posts/495190410648361/
- www.posttoday.com/ent/news/475812
- www.youtube.com/watch?v=D-dn4jpYe0o
- https://mangabrog.wordpress.com/2014/08/09/takehiko-inoue-the-vagabond-hiatus-interviews/
- www.mainstand.co.th
ความเห็น 26
ยอด เจษฎา
BEST
ขอบคุณที่สร้างผลงานดีๆ จนเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายๆ คนครับ...ผมโตมากับแสลมป์ดังค์และหันมาเล่นบาสฯ ตั้งแต่ ม.ต้น ยันจบมหาลัย
07 มี.ค. 2563 เวลา 23.52 น.
Tom
แบบนี้ก็ไม่มีโอกาสอ่านตอบจบละสิ อ่านค้างอยู่ทั้งสองเรื่องสุดเซ็ง
08 มี.ค. 2563 เวลา 02.23 น.
S.
1.อาจารย์ Takehiko Inoue ไม่ได้ตกต่ำ
2.ปัจจุบันยังร่ำรวยมากๆ
จากลิขสิทธิ์การ์ตูนหลายเรื่อง
3.เป็นนักเขียนการ์ตูนไม่กี่คนที่มี Art exhibition ของตนเองอยู่ตลอดมาหลายปี
4.โปรเจคที่ดังสุดๆเร็วๆนี้คือไปวาดภาพให้วัด และเรียวกังในญี่ปุ่น
หัวหน้าคนเขียนบทความนี้
ควรรู้ว่าคนเขียนไม่ได้ทำการบ้าน
นั่งเทียนและใส่ไฟเพื่อเอาเงินไปวันๆ
เหมือนกับบทความกากๆ อื่นๆ
08 มี.ค. 2563 เวลา 12.16 น.
Yutthana
ปรบมือสิครับ
08 มี.ค. 2563 เวลา 08.12 น.
TnBaC
อยากดูตอนภาษาอังกฤษนะตอนล่าสุดหาในไทยไม่มีเลย
08 มี.ค. 2563 เวลา 08.10 น.
ดูทั้งหมด