ในสังคมประชาธิปไตย เราสามารถพบเห็นการถกเถียงและโต้วาทีในทุก ๆ หัวข้ออย่างเป็นปกติ
แต่โชคร้ายที่บางครั้งการถกเถียงกลับไม่เป็นไปอย่างราบรื่น เชื่อว่าทุกคนอาจเคยตกอยู่ในเหตุการณ์ "อิหยังวะ? " เมื่อต้องพูดคุยกับบางคนที่แสนใจแคบและหัวร้อนจนการพูดคุยกลายเป็นการทะเลาะทุกครั้งไป เหตุการณ์เหล่านี้อาจเกิดกับคนในครอบครัว เพื่อน พี่น้อง หรือเพื่อนร่วมงาน โดยหารู้ไม่ว่าเขาเหล่านั้น อาจมีค่า EQ (Emotional Intelligence : ความฉลาดทางอารมณ์) ต่ำจนแสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมาก็ได้
แล้วคน "อีคิวต่ำ" เป็นยังไง
คนมีความฉลาดทางอารมณ์ระดับต่ำ มักรับมือกับความตึงเครียดไม่ค่อยได้ วิตกกังวลง่าย มักโทษคนอื่นเมื่อตนเองรู้สึกไม่ดี เชื่อว่าตัวเองไม่มีความผิด คุณลักษณะเหล่านี้ทำให้แสดงออกทางท่าทางก้าวร้าว มีแนวโน้มชอบกลั่นแกล้งผู้อื่น (Bully) เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางโลก ทำอะไรหวังประโยชน์ส่วนตน และที่สำคัญคือไม่ยอมอ่อนข้อในการถกเถียงเด็ดขาด!
คนเหล่านี้อยู่รอบตัวโดยที่เราไม่รู้ตัว หากคุย ๆ กันอยู่แล้วรู้สึกว่า เอ๊ะ! ทำไมเธอช่างแข็งกร้าวดัง 5 ข้อสันนิษฐานด้านล่าง ก็อาจเป็นสัญญาณบอกได้ว่าคนใกล้ตัวเรา "อีคิวต่ำ" ต้องปรับปรุงตัวด่วนที่สุด!
1.อารมณ์พุ่งเพราะคอนโทรลไม่ได้
ความสามารถในการควบคุมอารมณ์เป็นทักษะหลัก ๆ ที่คนอีคิวสูงทำได้ดี อารมณ์พุ่งในที่นี้หมายรวมทั้งเวลามีความสุขและโมโห คนอีคิวต่ำมักมีปัญหากับการควบคุมอารมณ์ หลายครั้งพวกเขาจะ "ขึ้น" ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสาเหตุที่ตัวเองโมโหนั้นมาจากเรื่องอะไรกันแน่ และมักหงุดหงิดง่ายกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นานหลายนาที หรือบางครั้งก็เป็นชั่วโมงเลยทีเดียว
2.พูดมากกว่าฟัง
คนอีคิวต่ำมักหาเรื่องทะเลาะกับคนอื่นจนหน้าดำหน้าแดง หลายคนใช้วิธีขึ้นเสียง หลายคนไม่รับฟังคู่สนทนา แม้คุณจะมีหลักฐานมาแย้งกันแบบโต้ง ๆ ว่าพวกเขาผิด พวกเขาจะเถียงจนหลักฐานของคุณหมดความหมาย เพื่อให้ตัวเองชนะในข้อโต้แย้งนั้น ๆ ในที่สุด
นิสัยพูดมากกว่าฟังนี้ ซึ่งบางครั้งมาจากธรรมชาติของคนอีคิวต่ำที่มักอ่านอารมณ์ของคู่สนทนาไม่ออกด้วย พวกเขาจะพูดความเห็นของตัวเองไม่หยุดเพราะเขาไม่รู้ว่าคนที่กำลังคุยด้วยนั้นเริ่มหงุดหงิดหรืออารมณ์เสียเพราะตัวเองหรือยัง
มีบทเรียนหนึ่งเรื่องการฟังในภาษาอังกฤษเรื่องหนึ่ง กล่าวไว้ว่า เราควร WAIT (รอ) ซึ่ง WAIT ในที่นี้ เขาย่อมาจากประโยค Why am I talking? เป็นการให้ทุกคนทบทวนตัวเองว่า "เราจะพูดทำไมเนี่ย? " ก่อนจะพูดแทรกขณะคนอื่นกำลังพูดอยู่
3.เล่นมุกไม่รู้เวล่ำเวลา
ปัญหาหลัก ๆ ของคนอีคิวต่ำคือพวกเขามักไม่รู้ว่าต้องพูดจาหรือแสดงออกยังไงในบางเวลา ยกตัวอย่างเช่น การเล่นมุกทักทายว่าอ้วนขึ้นเพราะไม่รู้จะพูดอะไร การจงใจเล่นมุกตลกในงานศพ หรือการเล่นมุกเรื่องคอขาดบาดตายในเหตุการณ์น่ากลัว และหากคนรอบข้างตักเตือน หรือแสดงออกว่าสิ่งที่พวกเขาทำหรือพูดนั้นไม่ถูกกาละเทศะ พวกเขาจะโต้กลับด้วยการกล่าวหาว่าผู้พูด "อ่อนไหวเกินไป" แทน
ตัวอย่างการแสดงออกไม่ถูกที่ถูกเวลา : "ช่วงนี้ทำงานหนักเหรอ กินจนอ้วนเลย"
4.พูดเรื่องตัวเองกลับ
นักสังคมศาสตร์ ชาร์ลส เดอเบอร์ส (Charles Derbers) มีทฤษฎีการตอบโต้คู่สนทนา โดยแบ่งการตอบโต้เป็น 2 อย่างคือ "การโต้ตอบแบบดึงกลับ" และ "การโต้ตอบแบบสนับสนุน"
แบบแรกคือสิ่งที่คนอีคิวต่ำชอบทำ นั่นคือเวลารับฟังผู้อื่นแบ่งปันประสบการณ์ พวกเขามักตัดบทและเล่าประสบการณ์ใกล้เคียงกันของตนเองแทนที่จะรับฟัง ส่วนคนมีอีคิวสูง จะเลือกรับฟังเรื่องเล่าต่อไป และมักช่วยพูด หรือ "ชง" ให้ผู้พูดเล่าเรื่องของตนจนจบ แล้วค่อยแสดงความคิดเห็นเมื่อแน่ใจว่าผู้พูดต้องการความเห็นเพิ่มเติม
ตัวอย่างการพูดเรื่องตัวเองกลับ : "อกหักเหรอ ของเธอไม่เท่าไหร่หรอก ตอนฉันน่ะนะ (เล่ายาว)"
5.หลงใหลความ "โลกสวย" จนน่ากลัว
ความโลกสวยมีข้อดีเสมอ ทั้งในแง่ของการเป็นคนดีเพื่อผู้อื่น หรือการมองโลกในแง่ดี แต่การคิดแต่ด้านบวกและปฏิเสธความขัดแย้งทุกอย่างกลับแย่กว่า มนุษย์เราเกิดมาบนพื้นฐานของความดีและชั่วปะปนกัน หากไม่ยอมรับว่าโลกนี้มีด้านดาร์ก ๆ บ้างก็คงเหมือนการไม่ยอมรับในธรรมชาติของโลกและความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการที่ใครคนใดคนหนึ่ง "โลกสวย" โดยการยัดเยียดแนวคิดของตัวเองใส่ผู้อื่นคือคนที่ไม่ยอมรับความจริง
สัญญาณอื่นของนิสัยลักษณะนี้คือการหัวเราะเยาะผู้อื่นเมื่อพบว่าเขาหรือเธออ่อนไหวในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้น
ตัวอย่างการโลกสวยจนน่ากลัว : "โลกนี้สงบสุขดีอยู่แล้ว คุณจะแสดงความคิดเห็นให้มันขัดแย้งกันทำไม"
ถ้าต้องเถียงกับคนอีคิวต่ำ ทำไง
หากตกที่นั่งลำบากหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ต้อง "คุย" กับคนอีคิวต่ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ควรทำคือ "อย่าอิน" กับสิ่งที่คนเหล่านั้นพูดหรือทำ การไม่สนใจการกระทำของเขาจะทำให้คนเหล่านั้นตระหนักได้ว่าโลกไม่ได้หมุนรอบตัวพวกเขา ซึ่งจะทำให้คนประเภทนี้ถอยห่างจากคุณเอง
แต่ถ้าอ่านมาจนถึงตรงนี้แล้วรู้สึกว่าเราต่างหากที่มีลักษณะนิสัยแบบ "คนอีคิวต่ำ" หมดเลย! ก็ถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงตัวทั้งในด้านอารมณ์และจิตใจ ฝึกฟังคนอื่นให้นานขึ้น อดทนให้มากขึ้น เพราะในขณะที่เราต้องพึ่งพาทักษะการเอาตัวรอดและความสามารถเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายในชีวิตของแต่ละคน ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ "อีคิว" ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ระหว่างทางเต็มไปด้วยความสุข และประสบการณ์ดี ๆ ที่อาจดึงดูดคนทัศนคติ ๆ เข้ามาในชีวิตเราได้เหมือนกัน :)
--
อ้างอิง
ความเห็น 57
June
BEST
อุ๊ ควรอ่านเรื่องนี้
04 พ.ย. 2563 เวลา 18.54 น.
Dao
BEST
ใช่อุ๊เลยอ่ะ🤣🤣🤣
04 พ.ย. 2563 เวลา 21.58 น.
P’Guy🎧
BEST
ตามมาจากถามตรงตรงกับจอมขวัญ
05 พ.ย. 2563 เวลา 02.53 น.
Mommy
คุ้นๆ
04 พ.ย. 2563 เวลา 23.35 น.
nobody
เชี่ยยยย ทำไมหน้าลุงแถวบ้านลอยมา..
05 พ.ย. 2563 เวลา 01.45 น.
ดูทั้งหมด