1. ก่อนนอนจงชำระร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและสบาย นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เพื่อน้อมจิตให้มีความนุ่มนวล จากนั้นจงนอนเหยียดตัวตรง จัดร่างกายของคุณให้เหมือนศพ รับรู้ถึงความหนักของร่างกาย รับรู้ถึงความหยาบ รับรู้ความเป็นก้อนธาตุ รับรู้ในความรู้สึกว่าคุณไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้
จากนั้นจงรู้สึกถึงสิ่งรอบตัว เวิ้งอากาศ ความมืด ความเงียบ ส่งผ่านความรู้สึกไปยังสิ่งเหล่านี้ประหนึ่งว่าคุณคือสายลมที่เบาบาง ทำอย่างนี้สักพัก จนจิตสัมผัสได้ถึงความเบิกบาน (มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ปลุกจิตด้วยวิปัสสนา กำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม)
2. สร้างความรู้สึกตัวที่ปลายเท้า เมื่อความรู้สึกชัดเจนแล้วให้ทำความรู้สึกตัวไล่ขึ้นมาจนถึงลำตัว ต้นขา หน้าอก ใบหน้า จนถึงศีรษะ เลื่อนลงมารับรู้อยู่ที่ปลายจมูก จับลมหายใจเบาๆ เข้า ออก สั้น ยาว ไม่หนัก ไม่เบา ประหนึ่งจับนกน้อยในอุ้งมือ แม้หนักเกินไปนกจะตาย แม้เบาเกินไป นกจะหลุดมือ ทำความรู้สึกอยู่กับลมหายใจพอดี ๆ (สร้างฐานกำลังด้วยอานาปานสติ อานาปานสตินี้เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาในตนเอง)
3. เมื่อเกิดความสงบแล้ว ขอให้เริ่มต้นแผ่เมตตาจากสิ่งที่อยู่ไกลตัวเข้ามาใกล้ตัว การแผ่เมตตานี้ไม่ต้องมีคำพูด ไม่ต้องมีบทสวด ให้ใช้ความรู้สึกที่ออกมาจากใจ เหมือนแสงสว่างที่ออกมาจากใจกลางพระอาทิตย์ ค่อยๆ ส่งกระแสความหวังดีออกมาจากศูนย์กลางใจช้า ๆ
ขณะเดียวกันจงมโนภาพถึงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก นึกถึงบุคคลที่เราไม่รู้จัก คนที่เดินสวนกันริมทาง เด็กยากไร้ในต่างแดน สัตว์น้อยใหญ่ แผ่แสงสว่างแห่งความเมตตาออกไป ค่อย ๆ ตีวงเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น มโนภาพถึงครูบาอาจารย์ เพื่อนฝูง บุคคลที่เคยให้โอกาส สร้างความรู้สึกประหนึ่งว่านี่คือครั้งสุดท้ายที่เราจะมีโอกาสนึกถึงเขา ทำความรู้สึกเหมือนเรามายืนหน้าบ้านของเขา มองเข้าไปในบ้าน เราเห็นเขากำลังใช้ชีวิตตามปกติ เขาไม่รู้ว่าเรากำลังจะจากไปแล้ว
จากนั้นจงทำความรู้สึกเหมือนเราวางดอกไม้ไว้ที่ริมรั้ว ไม่มีคำลา มีเพียงดอกไม้หนึ่งดอกแทนความรู้สึก เขาอาจไม่รู้ว่าเจ้าของดอกไม้นี้คือใครด้วยซ้ำ แต่เรารู้อยู่แก่ใจ ว่าเราได้เป็นผู้มอบดอกไม้ให้เขาแล้วแทนความปรารถนาดีทั้งหมด (สำนึก รู้คุณ ดำรงอยู่ในกระแสความดี บำเพ็ญเมตตาฌาน เปลี่ยนจิตที่คับแคบของปุถุชน ให้เป็นจิตของพรหมกว้างใหญ่ไม่มีประมาณ )
4. เคลื่อนความรู้สึกเมตตาเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น มโนภาพบุคคลในครอบครัว นึกถึงภาพพ่อแม่พี่น้องลูกสามีภรรยา ให้ภาพของพวกเขากระจ่างชัดอยู่ในภวังค์จิต คิดถึงความดีของเขา คิดถึงความเมตตาที่เขามีให้ คิดถึงรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความสุขที่ได้กระทำร่วมกันมา จับความรู้สึกให้ชัด แล้วดำดิ่งลงไปในความรู้สึกเหล่านี้ กำหนดรวบความรู้สึกทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลางใจ แล้ววางความปิติสุขทั้งหมดไว้ตรงนั้น อย่าได้นำติดตัวไป ไม่ต้องเสียใจ ไม่ต้องรู้สึกผิดบาปใด ๆ ส่งผ่านคำขอโทษ ขอบคุณ และความรัก ทิ้งความรู้สึกทั้งหมดในด้านสว่างและคุณงามความดีไว้ตรงนี้
จากนี้เราจะไม่เอาความรู้สึกใดๆ ติดตัวไปอีก ทั้งความรัก ความเศร้า ความดี ความชั่ว เราจะดำเนินไปสู่จิตที่อยู่เหนือความดีและความชั่ว จิตที่เป็นโลกุตระธรรม เป็นการเคลื่อนจิตไปสู่ความเป็นกลางอย่างถึงที่สุด (พิจารณาความไม่เที่ยงด้วยมรณานุสติ เปลี่ยนจากโลกียภูมิสู่โลกุตรภูมิ)
5. เมื่อทิ้งความรู้สึกด้านมืดและสว่างไว้ที่โลกแห่งสมมุติบัญญัติแล้ว จงทำความรู้สึกที่ร่างกายอีกครั้งอย่างเป็นกลาง ขณะนี้เราไม่ใช่เราอีกต่อไปแล้ว แต่เราคือผู้ดู คือผู้รู้อย่างเป็นกลาง จงเพ่งเข้าไปที่กายในกายโดยใช้กำลังสมาธิทั้งหมด ไล่พิจารณาตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ใช้กำลังจิตโดยการเหนี่ยวนำความคิด แยกย่อยร่างกายออกเป็นส่วน ๆ
เช่น ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง สร้างมโนภาพว่าตนเองคือซากศพที่มีสภาพแข็งทื่อ ค่อย ๆ อืดพอง เขียว คล้ำ ค่อย ๆ เน่า มีหนอนชอนไช มีน้ำเลือด น้ำหนอง เสมหะ อุจจาระ ปัสสาวะไหลออกมาจากทวารทั้งเก้า คือ ตา 2 หู 2 จมูก 2 ปาก 1 ช่องปัสสาวะ 1 ช่องอุจาระ 1 กำหนดวิปัสสนาดำดิ่งลงจนเห็นถึงความโสโครกของกายตามความเป็นจริง จนเห็นว่าร่างนี้เป็นเพียงธาตุสี่คือ ดิน น้ำ ไฟ ลมที่ประชุมรวมกัน (รวมสมาธิสู่ความว่างเพื่อ กำหนดสู่อสุภกรรมฐาน)
6. ในการพิจารณานี้ จิตจะพิจารณาไปเรื่อยๆ ตามแต่ความพอใจของมัน อย่าได้กำหนดเวลา ปล่อยให้มันเป็นอิสระ ช่วงเวลาในการพิจารณาไม่จำเป็นต้องนาน แต่ต้องเป็นไปด้วยความกระจ่างชัด แจ่มใส นอกจากสมาธิแล้วขอให้มีความเบิกบานในธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
แม้เกิดความสลดหดหู่ย่อมหมายความว่า เราไม่ได้คุมจิตให้หยั่งด้วยความเป็นกลางแต่แรก ถือว่าเป็นการทำผิดทิศผิดทาง ไม่สมควรทำต่อ เมื่อจิตถอนจากการพิจารณากายในกายแล้วในครั้งแรก ถ้ามีกำลังสมาธิเพียงพอ ให้กลับมารู้ลมหายใจอีกครั้ง เพื่อเป็นฐานในการเดินปัญญาอีกรอบ ทำอย่างนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ ถ้าทำบ่อย ๆ จิตจะค่อย ๆ ละความยึดมั่นในกายไปได้เอง (สมถะเท้าขวา วิปัสสนาเท้าซ้าย สมถะวิปัสสนาไม่แยกจากกัน)
7. เมื่อพิจารณาความจริงของกายในกาย จนจิตเกิดความรู้สึกอิ่ม ให้กลับมาที่ลมหายใจอีกครั้ง เราจะไม่หลับไปพร้อมกับอารมณ์ของอสุภกรรมฐาน แต่เราจะหลับไปพร้อมกับอารมณ์ของอานาปนสติ การหลับไปพร้อมกับการทำอานาปานสติจะทำให้หลับได้ลึก ทำให้ร่างกายพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ เป็นการเตรียมความพร้อม เข้าสู่สมรภูมิ ประลองยุทธกับกิเลสมารในครั้งต่อไป (กำหนดอานาปานสติเป็นวิหารธรรม)
ความเห็น 4
มรณานุสติ ฝึกทำไว้บ่อย ๆ พอถึงนาที มรณา จะไม่กลัวต่อความตาย (เพราะเคยฝึกไว้มากพอแล้ว) พอไม่กลัว จิตก็ไม่เศร้าหมอง พอจิตไม่เศร้าหมองก่อนตาย สุคติ ก็เป็นอันหวังได้ น้อมกราบพระธรรมคำทรงสอน น้อมถวายอภิวาท พระบรมศาสดาผู้เป็นเจ้าของคำสอน
06 ม.ค. 2563 เวลา 10.31 น.
ในการคิดถึงในสิ่งที่ดีๆย่อมที่จะไม่ทำให้จิตใจต้องเป็นทุกข์ และอานิสงฆ์ของในการที่ได้คิดถึงในสิ่งที่ดีๆนั้นก็ย่อมสามารถที่จะนำมาปรับใช้ต่อในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเสมอ.
06 ม.ค. 2563 เวลา 22.02 น.
Po:P
อ่านหัวตอนแรก นึกว่า โดนซ้อมตาย
07 ม.ค. 2563 เวลา 02.32 น.
M
ต้องฝึกตาม ขอบคุณค่ะ จะปริ้นออกมาไว้เลย
06 ม.ค. 2563 เวลา 13.06 น.
ดูทั้งหมด