ไม่นานมานี้ผมเดินผ่านร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งกลางเมือง ชายต่างชาติคนหนึ่งยืนอยู่หน้าร้าน ข้าง ๆ เป็นกระเป๋าเดินทางใบเล็ก
เขาเรียกผม ถามผมว่า “คุณพูดภาษาอังกฤษได้ไหม?”
ผมตอบว่า “ได้”
เขาบอกว่า “ดีเลย ช่วยอะไรหน่อยได้ไหม?”
“อะไรครับ?”
“ฝากซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์หน่อย”
“ทำไมคุณซื้อไม่ได้?”
สีหน้าเขาหงอยมาก
“เขาต้องใช้บัตรประชาชนไทย”
ปกติหากมีคนแปลกหน้าที่สุภาพเรียบร้อยขอให้ทำเรื่องใด ผมก็มักช่วย แต่ครั้งนี้สัญชาตญาณของผมเตือนให้ระวัง
ผมตอบปฏิเสธอย่างสุภาพ แล้วจากมา
ข่าวเรื่องการใช้โทรศัพท์เพื่อก่อการร้ายยังค้างในหัว ผมไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้คนร้ายยังใช้โทรศัพท์จุดระเบิดหรือเปล่า หรือสามารถนำซิมการ์ดไปใช้ในทางมิชอบอย่างไรอีก ผมอาจคิดมากไปก็ได้ ชาวต่างชาติคนนี้อาจจะไม่ได้คิดการร้ายอะไร แต่ในโลกทุกวันนี้ เราไม่มีทางรู้ว่าใครจะหลอกใคร ตัวอย่างล่าสุดก็เช่นเรื่องผลตอบแทน 93 เปอร์เซ็นต์
แทบไม่มีวันใดในประเทศนี้ผ่านไปโดยไม่มีใครหลอกใคร
เราอยู่ในโลกที่การหลอกลวงเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจสังคม จนบางครั้งก็ทำให้เราไม่กล้าทำดี
ชีวิตที่ดีไม่ใช่การเดินคนเดียว คือความเผื่อแผ่ต่อคนอื่นด้วย แต่หากเราไม่เผื่อแผ่เพราะความระแวง มันก็เป็นโลกที่ไม่น่าอยู่
……………
เคยไหมที่เวลาเดินผ่านขอทานสักคน เราอยากช่วยเขา แต่เราไม่แน่ใจ เราไม่รู้ว่าเขาเป็นขอทานจริง หรือเป็นสมาชิกขบวนการมิจฉาชีพ หลายคนจึงเลือกไม่ช่วย เรารู้สึกไม่ดีเพราะถ้าเขาเดือดร้อนจริง ๆ ล่ะ?
แต่เราไม่รู้ เราจึงไม่ช่วย
เวลาเราเดินผ่านคนจากสมาคมอะไรสักแห่งที่ตั้งโต๊ะริมถนนรับบริจาคช่วยเหลือคนยากไร้ เราบริจาคไหม? หรือว่าเราไม่แน่ใจจึงไม่บริจาค?
ข่าวการโกงกิน ขโมยของบริจาคช่วงน้ำท่วมใหญ่ หรืออุบัติภัยธรรมชาติปรากฏขึ้นเสมอ มีกรณีเงินบริจาคมากมายไม่ถึงมือคนเดือดร้อน
ผมเองเจอกับตัวเองตรง ๆ ผมทำโครงการเติมหัวใจใส่ห้องสมุด บริจาคหนังสือให้เด็กในพื้นที่ไกล ๆ ได้อ่าน แต่ก็มีคนนำหนังสือบริจาคไปขาย
เรื่องเหล่านี้ทำให้เรากลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายมากกว่าเดิม
การอยู่ในสังคมที่หลอกทุกระดับทำให้เรากลายเป็นโรคกลัวทำดีไปโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ความผิดของเรา มันเป็นกระบวนการของสัญชาตญาณการอยู่รอดตามธรรมชาติ
เรามีคำกล่าวว่า สังคมเลวเพราะคนดีท้อแท้ ความหมายของมันคือ คนไม่อยากทำดีเพราะเห็นว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี
แต่วันนี้มันอาจเพิ่มบริบทเข้าไปในอีกหนึ่งอย่างว่า คนอยากทำดี แต่ไม่ทำเพราะเป็นโรคไม่กล้าทำดี ระแวงว่าจะเป็นเหยื่อ
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องดีต่อสุขภาพของสังคมโดยรวม โรคไม่กล้าทำดีจะทำให้กลายเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่มากขึ้นเรื่อย ๆ
คำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไร
หากเป็นกิจกรรมบริจาคเงินระดับชาติ เราคงตรวจสอบได้ไม่ยาก แต่หากเป็นกรณีกะทันหันอย่างเจอขอทานริมถนน หรือคนขอให้ซื้อซิมการ์ด หรือนักท่องเที่ยวในสนามบินขอให้เราช่วยเช็กอินกระเป๋าเดินทางให้ เพราะกระเป๋าของเขาน้ำหนักเกินกำหนดแล้ว หรือขอให้เราช่วยถือกระเป๋าให้ตอนผ่านด่านตรวจ เราคงรีเสิร์ชไม่ทัน
เรื่องบางเรื่องตัดสินใจไม่ง่ายเหมือนช่วยเข็นรถที่ตายกลางถนน หรือช่วยพาคนตาบอดข้ามถนน
ชีวิตที่ดีไม่ใช่การเดินคนเดียว คือความเผื่อแผ่ต่อคนอื่นด้วย แต่เราสามารถเผื่อแผ่บวกวิจารณญาณ
แปลว่าเราไม่ต้องหยุดช่วยเหลือคนอื่น เพียงแต่ระวังสักหน่อย
การทำดีก็ควรคิดรอบด้าน ไม่เพียงเรื่องความปลอดภัยของเราเอง แต่รวมถึงผลที่ตามมาของคนที่รับความช่วยเหลือด้วย เช่น ให้เงินคนยากไร้แล้ว ทำให้เขางอมืองอเท้าอย่างเดิมหรือไม่
โลกที่ดีขึ้นเกิดจากคนช่วยกัน แต่ก็ควรอยู่บนพื้นฐานของสติปัญญาและวิจารณญาณเช่นกัน
……………
วินทร์ เลียววาริณ
ความเห็น 10
Yongyuth
พระท่านสอนว่า ดีเขา ไม่ดีเรา อย่าทำ ดี เรา ไม่ดีเขา อย่าทำ ไม่ดีทั้งเรา ไม่ดีทั้ง เขา ก็อย่า ทำ ถ้าดีทั้ง เรา และดีทั้ง เขา จึงทำ สรุปว่า อย่างไร หมายความว่า ต้องให้ใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญ เสียก่อน ป้องกันการถูกหลอก จากพวกมิจฉาชีพ สนับสนุน คนดี ให้ได้ขึ้นมาปกครอง บ้านเมือง เพราะสังคมประชาธิปไตย ถ้าคนชั่ว มากกว่าคนดีแล้ว เขาก็เรียกว่า ประชาธิปไตยของคนเลว
18 พ.ย. 2562 เวลา 11.59 น.
Moo
ทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย
18 พ.ย. 2562 เวลา 10.24 น.
🫧
ตอนนี้ มันมีโรคที่น่าห่วงกว่า คือ
โรคด่าคนอื่นแล้วยกตัวเองเป็นคนดี
โรคที่คิดว่าตัวเองดีกว่าสูงส่งกว่าคนอื่น
เมื่อไหร่ไอ้โรคพวกนี้จะหมดไปสักที
18 พ.ย. 2562 เวลา 11.17 น.
ตราบใดที่ยังไม่มีความมั่นใจ ก็อย่างรีบด่วนในการตัดสินใจจะดีที่สุด.
18 พ.ย. 2562 เวลา 08.30 น.
ต้องทำให้ถูกคนด้วยค่ะ
18 พ.ย. 2562 เวลา 03.01 น.
ดูทั้งหมด