19 ก.ค. 2567 - ผศ.ดร.พรเทพ เนียมพิทักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้ยังคงไม่พบการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในภาคอีสาน ซึ่งจากข้อมูลของกรมประมง พบว่าปลาหมอคางดำ มีการแพร่กระจายออกไปแล้ว 13 จังหวัด ทั้งนี้จะสังเกตได้ว่าปลาหมอคางดำอยู่บริเวณเขตชายฝั่ง รวมทั้งในเขตแม่น้ำลำคลองที่เชื่อมต่อกับชายฝั่ง โดยปัจจัยที่มีการแพร่กระจาย คือ ปลาหมอคางดำสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีความเค็มตั้งแต่ 0-45 PPT คือ อยู่ได้ ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำกร่อย และปลาหมอคางดำมีการฟักไข่ในปาก
“ปลาหมอคางดำ สามารถนำมาเป็นอาหารบริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเป็นปลาเค็มแดดเดียว น้ำปลา น้ำปลาร้า หรือนำไปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างการทำปลาป่น หรือนำไปทำเป็นเหยื่อเลี้ยงปลาเนื้อ แต่ก็มีลักษณะพิเศษ คือ หาอาหารเก่ง กินได้ทั้งพืชและสัตว์ ทำให้ไปแย่งอาหารปลาธรรมชาติ และทำลายตัวอ่อนของสัตว์น้ำ กินได้ทั้งลูกกุ้ง ลูกปู ลูกปลา ทำให้สัตว์น้ำในธรรมชาติก็จะค่อยลดลงอย่างไรก็ดีการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำที่จะมาภาคอีสานนั้นยากแต่ก็ไม่แน่ เนื่องจากภูมิประเทศ และระบบลำน้ำของภาคอีสานไม่ได้เชื่อมต่อกับภาคกลางมากนัก ระบบลำน้ำปกติแล้วจะไหลออกไปยังแม่น้ำโขง ดังนั้น หากจะแพร่มาภาคอีสานได้อาจจะเข้ามาทางแม่น้ำโขง แต่ตัวการที่ทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ คือ มนุษย์ที่นำพาปลาหมอคางดำเข้ามา จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย” ผศ.ดร.พรเทพ ระบุ
ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนขณะนี้คือเจอต้องจับ เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดไปยังแหล่งน้ำอื่น และควบคุมไม่ให้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยแย่ไปกว่านี้ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากปลา ซึ่งภาครัฐอาจเข้ามาช่วยเพิ่มแรงจูงใจได้ด้วยการเพิ่มมูลค่า เพื่อให้ประชาชนต้องการจับปลาหมอคางดำมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกับการนำไปบริโภค อย่างไรก็ตามการใช้ปลานักล่า คือปลากะพงขาว หือปลากดทะเล มาทำลายลูกปลาหมอคางดำนั้น จะต้องพิจารณาและคำนึงถึงความสัมพันธ์กับขนาดและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำ ซึ่งกรมประมงอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน จนนำไปสู่การควบคุมประชากร ลดการแพร่พันธุ์ไปได้ที่สุด.
ความเห็น 2
ใครเอาปลาหมอลายดำเข้ามา คนนั้นต้องเอาไปให้หมด
20 ก.ค. 2567 เวลา 01.21 น.
Somkiat
ต้องมีคนพิเรนเอาไปปล่อยแน่ซักวัน
19 ก.ค. 2567 เวลา 22.14 น.
ดูทั้งหมด