รากบัว หรือ เร็งกอง (れんこん) เป็นผลิตผลทางการเกษตรที่หารับประทานได้ง่ายตลอดทั้งปี แต่ช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวรากบัวได้เยอะคือช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม รากบัวได้ชื่อว่าเป็นผักมงคลที่คนญี่ปุ่นนำมารับประทานในวันขึ้นปีใหม่ มารู้คุณค่าสารอาหารในรากบัวหรือเร็งกองและเมนูอาหารญี่ปุ่นยอดนิยมจากรากบัวกันค่ะ
4 คุณค่าสารอาหารในรากบัว
1. วิตามินซี
รากบัวมีปริมาณวิตามินซีสูงเป็น 1.5 เท่าของส้มแมนดารินในปริมาณเดียวกัน วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งช่วยป้องกันความเหนื่อยล้าและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งนี้วิตามินซีที่อยู่ในรากบัวจะทนทานต่อความร้อนโดยจะยังคงเหลืออยู่ในปริมาณสูงแม้ผ่านการปรุงสุกแล้วก็ตาม
2. เส้นใยอาหาร
รากบัวอุดมไปด้วยเพคติน (Pectin) ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ซึ่งช่วยป้องกันความดันโลหิตสูงได้ นอกจากนี้รากบัวยังมีปริมาณเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำสูงซึ่งมีประโยชน์ในการเพิ่มปริมาณอุจจาระ ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูก
3. โพแทสเซียม
แร่ธาตุโพแทสเซียมที่มีมากในรากบัวมีบทบาทสำคัญในการขับเกลือส่วนเกินออกจากร่างกายและช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง
4. แทนนิน
แทนนิน (Tannin) เป็นโพลีฟีนอลประเภทหนึ่งที่ทำให้รากบัวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แทนนินมีคุณสมบัติช่วยห้ามเลือดและต้านการอักเสบ ดังนั้นจึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดบาดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น
วิธีการนำมารับประทาน
คนญี่ปุ่นมีวิธีการนำรากบัวมารับประทานหลากหลายวิธี การรับประทานดิบหรือต้มในเวลาสั้นเป็นสลัดทำให้สามารถรับคุณค่าสารอาหารจากรากบัวเข้าสู่ร่างกายได้สูงสุด ทั้งนี้รากบัวมีฤทธิ์ร้อนช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีและบรรเทาอาการตัวเย็นได้ดี คนญี่ปุ่นจึงนิยมนำมาปรุงเป็นเมนูต่าง ๆ ทั้งต้ม ผัด และทอด
วิธีการทำรากบัวตุ๋นหรือนิโมโนะ
วัตถุดิบ
- รากบัว 250 กรัม
- แครอท 1 หัว (ประมาณ 150 กรัม)
- บุกหรือคอนยัคคุ 150 กรัม
- เห็ดหอม 50 กรัม
- ไก่ส่วนสะโพก 200-250 กรัม
- น้ำมันงา 1/2 ช้อนโต๊ะ
ส่วนผสมเครื่องปรุง
- ดาชิผง 1 ช้อนชา
- สาเกปรุงอาหาร 2 ช้อนโต๊ะ
- โชยุ 2 ช้อนโต๊ะ
- มิริน 3 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
1. ปอกเปลือกแครอทหั่นให้มีขนาดคำ หั่นบุกและเห็ดหอมให้มีขนาดที่รับประทานได้ง่าย ปอกเปลือกรากบัวและหั่นให้มีขนาดที่รับประทานได้ง่ายและแช่น้ำไว้สักครู่ หั่นเนื้อไก่ให้มีขนาดพอคำ จากนั้นนำวัตถุดิบทั้งหมดใส่ลงในหม้อ
2. เติมส่วนผสมเครื่องปรุงลงในหม้อ ปิดฝาหม้อแล้วต้มด้วยไฟกลางประมาณ 15 นาที จากนั้นเปิดฝาหม้อและคนส่วนผสมให้เข้ากัน ปิดฝาหม้อและต้มด้วยไฟอ่อนต่ออีก 5 นาที
3. ปิดไฟแล้วเติมน้ำมันงาลงไปคลุกเคล้าให้ทั่ว ตักเสิร์ฟรับประทานพร้อมข้าวสวยร้อน
เมนูดังกล่าวเป็นเมนูผักตุ๋นที่มีรสชาติอร่อยเข้มข้นและง่ายสำหรับผู้ที่ทำงานยุ่งแต่ต้องการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าสารอาหารที่ครบถ้วนสมดุล การเติมน้ำมันงาลงไปในขั้นตอนท้ายสุดจะทำให้เมนูรากบัวตุ๋นมีกลิ่นหอมและมีรสชาติที่อร่อยยิ่งขึ้น หากซื้อรากบัวมาแล้วไม่รู้ว่าจะทำเมนูอะไรดี ก็ให้ลองตุ๋นตามสูตรดังกล่าวดูค่ะ
สรุปเนื้อหาจาก: magokoro-care-shoku.com