เป็นเรื่องราวดีๆ ที่รณรงค์กันมาหลายปีแต่ก็ยังแก้ไม่หาย กับคำทักทายหรือคำถามที่ทำให้คนถูกถามรู้สึกอึดอัด
วันนี้เราได้รวบรวมประเภทของคำถามที่จะพาให้บรรยากาศเสีย จะมีแบบไหน ตรงใจใครกันบ้างมาดูพร้อมๆ กัน
1. คำถามเชิงลบที่ทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจ
อันดับหนึ่งของคำถามประเภทนี้แน่นอนว่ายังคงเป็นคำถามเช่น “อ้วนขึ้นรึเปล่า” , “ดูคล้ำๆ ไปทำอะไรมา” และอีกหลายคำถามที่จี้จุดย้ำให้เสียความมั่นใจ เพราะหากจะว่ากันตามจริงแล้วเราทุกคนส่วนใหญ่ล้วนมีการสำรวจตัวในกระจกทุกๆ วันกันอยู่แล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเช่นอ้วนขึ้นจนเสื้อผ้าที่มีอยู่เริ่มคับแน่น หรือมีสิวเม็ดเป้งอยู่บนใบกน้าย่อมรู้ตัวเองและ(กำลัง)พยายามหาทางจัดการกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นอยู่ การทักทายแบบนี้นอกจากจะไม่ช่วยคลายปัญหา ยังเป็นการเปิดฉากบรรยากาศที่ไม่ดีสักเท่าไหร่
แต่หากห่วงใยในเรื่องของสุขภาพ ลองเปลี่ยนจากคำถามเป็นการแนะนำที่ดี เช่นช่วงนี้เรากำลังอินกับอาหารสุขภาพ ทานแล้วรู้สึกดีอย่างไร สร้างแรงบันดาลใจให้เขามีกำลังใจที่จะดูแลตัวเอง
2.คำถามที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว
คำถามยอดฮิตเช่น เมื่อไหร่จะมีแฟน? ทำไมไม่พาแฟนมาด้วย? จะแต่งเมื่อไหร่? ตอนนี้ทำงานอะไร? เงินเดือนเท่าไหร่แล้ว? สิ่งเหล่านี้นอกจากจะไม่มีประโยชน์ในคำตอบที่ได้ ยังอาจยิ่งทำให้ผู้ถูกถามรู้สึกเครียดและยิ่งเก็บตัวไม่อยากเจอใครเพราะไม่อยากได้ยินคำถามเหล่านี้
หากอยากถามด้วยความใส่ใจ ลองเปลี่ยนคำถามนี้เป็นการถามไถ่ เช่นอัปเดทชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง ดีกว่าการพุ่งคำถามที่ทิ่มแทงใจ นอกจากนี้การแลกเปลี่ยนเรื่องราวดีๆ ให้แก่กัน เช่นเล่าเรื่องของตัวเองก่อนก็จะช่วยให้จะบรรยากาศการสนทนาดีๆ กระชับมิตรภาพได้ดี
3.คำถามในเชิงต่อว่า จับผิด
ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการตั้งต้นคำถามด้วยคำว่า "ทำไม" ไม่ว่าจะเป็นทำไมไม่มาเจอเพื่อนๆ? ทำไมทำแบบนี้? ทำไมมาสาย? ฯลฯ แค่การเริ่มตั้งคำถามว่า "ทำไม" ตั้งต้นก็ทำให้ผู้ที่ถูกถามรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรผิดมา ยิ่งถ้าเป็นประเด็นที่มีเหตุผลส่วนตัวบอกใครไม่ได้จะยิ่งพาให้เกิดความเครียดเหมือนถูกจับผิด
ทางที่ดีที่สุดคือ เลี่ยงการตั้งคำถามด้วยคำว่า "ทำไม" เช่นหากคุณเจอเพื่อนสมัยเรียนที่ไม่ได้มาเจอกันในงานรวมรุ่น อาจเลือกใช้วิธีเบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ที่เพื่อนอาจพลาดไป
4.หลอกถามแหละดูออก
อีกหนึ่งประเภทของคำถามที่ทำให้ผู้ถูกถามรู้สึกอึดอัด นั่นก็คือการถามที่ดูออกโดยง่ายว่าข้อมูลต่างๆ จะถูกนำไปใช้ต่ออย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวส่วนตัว (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือปัญหาส่วนตัวนี่เอง) ที่จะถูกนำไปเม้าท์ต่อ หรือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องทำงาน บางคำถามที่ไม่น่าถามเพราะอาจเป็นความลับของบริษัท ซึ่งตามมารยาทแล้วไม่ควรถามเป็นอย่างยิ่ง
เปลี่ยนความอยากรู้อยากเห็นเป็นการให้ความช่วยเหลือ หากได้กลิ่นของปัญหาเช่นเห็นเพื่อนนั่งหน้าเครียดหลังจากวางสายโทรศัพท์ ลองอาสยื่นมือเข้าช่วยคิดช่วยแก้ไขจะได้โอกาสช่วยกันคลายทุกข์ ได้สร้างความดี ทำตัวมีประโยชน์ไปอีกแบบ
5.ถามเรื่องทัศนคติต่างๆ ความเชื่อส่วนบุคคล
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา ความเชื่อ หรือแม้แต่เรื่องของประเด็นทางการเมือง คำถามเหล่านี้ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อบรรยากาศในการสนทนา ผู้ถูกถามอาจไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นจนทำให้บรรยากาศพาอึดอัด ในทางกลับกันผู้ถามต้องแน่ใจตัวเองก่อนว่าเปิดใจได้มากพอที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง
หากอยากรู้แต่ไม่กล้าถาม อาจอ้อมไปในเชิงเล่าข่าวที่อ่านเจอมา จะสามารถสัมผัสได้ว่าควรดำเนินบทสนทนาในหัวข้อนี้ต่อไปหรือควรเปลี่ยนเรื่องให้ไวจะดีที่สุด