โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

อาหาร

12 สายพันธุ์ข้าวและประเภทของข้าวในประเทศไทย

Wongnai

เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2564 เวลา 10.00 น. • จิ๋วหิวโซ

 

 

ถือเป็นสุดยอดความภูมิใจของประเทศเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะด้วยภูมิภาคของประเทศเราที่เหมาะกับการเพาะปลูกข้าว จึงทำให้เรามีผลผลิตของสายพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย อย่าง ข้าวหอมมะลิที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก ซึ่งวันนี้จิ๋วจะพาทุกคนมาดู 12 สายพันธุ์ข้าวและประเภทของข้าวในประเทศไทยที่เรานิยมบริโภค ว่าแต่ละสายพันธุ์จะมีความพิเศษอย่างไร! ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลยค่ะ

 

ประเภทของข้าว แบ่งออกเป็น 4 ประเภท 

1. ข้าวหอมมะลิ มีถิ่นกำเนิดในไทย มีลักษณะกลิ่นหอมคล้ายใบเตย พันธุ์ที่นิยมปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย

2. ข้าวเหนียว พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ดีส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3. ข้าวขาว ข้าวขาวที่ปลูกกันอยู่โดยทั่วไปมีหลายพันธุ์

4. ข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวพวกนี้จะเป็นข้าวที่ยังไม่ได้ผ่านการขัดสี ข้าวที่ได้จึงยังคงคุณค่าของวิตามินและกากใยไว้สูง

ข้าวหอมมะลิ

1. ข้าวหอมมะลิ 105 
เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกที่อื่นได้ไม่ดีเท่ากับปลูกในไทย และเป็นพันธุ์ข้าวที่ทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งข้าวหอมมะลิ 105 เป็นข้าวที่มีต้นกำเนิดจาก จ.ฉะเชิงเทรา เป็นข้าวพันธุ์เบาที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มาจากข้าวขาวดอกมะลิ ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองที่พบและรู้จักกันในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยคุณลักษณะอันโดดเด่นยามหุงข้าว กลิ่นจะหอมชวนให้รับประทานไม่เหมือนพันธุ์ข้าวใดในโลก

2. ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา
เป็นข้าวพันธุ์ที่มาจากแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก นั่นก็คือที่ราบอันมีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ที่เราเรียกกันว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ซึ่งเมล็ดข้าวจะมีลักษณะยาว เรียว และเมล็ดไม่มีหางข้าว เมล็ดข้าวที่ผ่านการสีแล้ว จะมีความเลื่อมมัน จมูกข้าวเล็ก เมื่อหุงแล้วจะมีกลิ่นหอมและนุ่ม

ข้าวเหนียว

3. ข้าวเหนียวพันธุ์ กข. 6
ข้าวพันธุ์มีลักษณะเมล็ดยาวเรียว มีเปลือกสีน้ำตาล เมล็ดมีขนสั้น เป็นสายพันธุ์ข้าวเหนียวหอม ไวต่อช่วงแสง เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มาจากข้าวเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เมื่อนำไปหุงแล้วข้าวจะนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนแล้ง และมีคุณภาพการหุงต้มรับประทานดี เป็นข้าวเหนียวที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่นิยมปลูกกันแพร่หลายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

4. ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธ์ุ
เป็นข้าวเหนียวที่ปลูกในพื้นที่อำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ (เฉพาะตำบลนาโท และตำบลหนองห้าง) และกิ่งอำเภอนาคู (เฉพาะตำบลนาคูและตำบลบ่อแก้ว) จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแคลเซียมและซิลิกอนสูง อากาศเย็นแห้งน้ำน้อย ส่งผลให้ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์มีความนุ่มและหอมมาก เมื่อนึ่งสุกจะหอมและนุ่ม ไม่แฉะติดมือ และข้าวที่นึ่งแล้วเมื่อเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดหลายชั่วโมง จนข้าวเย็นยังคงรักษาความอ่อนนุ่มไว้ได้

5. ข้าวเหนียวเขี้ยวงู
เป็นข้าวที่มีเม็ดเรียวยาว สีขาว และทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ดี เมื่อนำมาหุงให้สุกเม็ดข้าวที่ได้จะเหนียวนุ่ม เรียงตัวสวยไม่เละ มีสีขาวในลักษณะเลื่อมเป็นมันและมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพดีและเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาทำข้าวเหนียวมูน เป็นข้าวที่ปลูกในทางภาคเหนือ นิยมปลูกกันมากในจังหวัดเชียงราย

6. ข้าวเหนียวดำหรือข้าวก่ำ
เมล็ดข้าวมีสีม่วงดำ และเมล็ดค่อนข้างแข็ง เคี้ยวละเอียดยากกว่า แต่นิยมนำมาทำเป็นขนมหวานมากกว่าข้าวอื่น ๆ และเป็นข้าวที่ชาวนายกย่องให้เป็นพญาข้าวเหนือข้าวพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งชาวนามีความเชื่อว่าข้าวก่ำจะปกป้องคุ้มครองข้าวพันธุ์อื่นที่อยู่ในท้องนาไม่ให้ถูกแมลงกัดกิน ทำให้ผลผลิตในการเก็บเกี่ยวข้าวได้ผลดี ข้าวก่ำยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล และยับยั้งการเจริญเติบโตของโรคมะเร็ง

 

ข้าวขาว

7. ข้าวเหลืองประทิวชุมพร
เป็นข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมของอำเภอปะทิว จ.ชุมพร เป็นข้าวพันธุ์หนักในฤดูนาปี เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคม มีจำนวนเม็ดต่อรวงจำนวนมาก และปลูกในที่ที่เป็นดินเปรี้ยวได้ดี อีกทั้งยังทนต่อโรคของแมลงได้ด้วย ลักษณะเมล็ดมีสีเหลือง เลื่อมมัน เมล็ดยาว มีน้ำหนักเมล็ดที่ดี เมื่อนำไปหุงแล้วข้าวขึ้นหม้อ จึงเป็นข้าวที่ชาวนาชุมพรมักนิยมปลูก เพราะปลูกง่าย ได้ผลผลิตที่ดี เหมาะกับพื้นที่และสภาพอากาศ

8. ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้
พันธุ์ข้าวพื้นเมืองคุณภาพดีของอำเภอเสาไห้ จ.สระบุรี ที่มาของชื่อมาจากชื่อผู้นำสายพันธุ์ข้าวพันธุ์นี้เข้ามาในพื้นที่ คือพ่อค้าชาวไทยเชื้อสายจีน ชื่อ “เจ๊กเชย” ซึ่งข้าวสายพันธุ์นี้มีชื่อเสียงมายาวนานตั้งแต่ต้นรัชสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นข้าวที่หุงขึ้นหม้อ ไม่แข็งกระด้าง ที่สำคัญไม่บูดง่าย และไม่ยุบตัวเมื่อราดแกง สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เส้นและขนมได้ดี

 

ข้าวไรซ์เบอร์รี

9. ข้าวกล้อง
ข้าวกล้อง หรือที่บางคนเรียกกันติดปากว่า ข้าวซ้อมมือหรือข้าวแดง เนื่องจากในสมัยโบราณ ชาวบ้านใช้วิธีตำข้าวกินกันเอง จึงเรียกว่า ข้าวซ้อมมือ แต่ปัจจุบันเราใช้เครื่องจักรสีข้าวแทน จึงเรียกข้าวที่สีเอาเปลือกออกนี้ว่า ข้าวกล้อง โดยข้าวกล้องนั้นจะต้องมีส่วนของจมูกข้าวและรำข้าวติดอยู่ด้วยเสมอ ข้าวกล้องมีเส้นใยสูงมากกว่าข้าวขาว 3 - 7 เท่า การกินข้าวกล้องจะได้เส้นใยไปพร้อม ๆ กับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสารพัดชนิด และเส้นใยในข้าวกล้องยังทำให้รู้สึกอิ่มนานกว่าการกินข้าวขาวและไม่อยากกินจุบจิก

10. ข้าวไรซ์เบอร์รี
เป็นผลงานการปรับปรุงสายพันธุ์ของ รศ.ดร.อภิชาติ และทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และความร่วมมือจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเป็นการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล ซึ่งเป็นสายพันธุ์พ่อ + ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ ซึ่งพันธุ์ข้าวนี้ได้รับการจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ มีลักษณะเรียวยาว ผิวมันวาว เป็นข้าวเจ้าที่มีสีม่วงเข้มคล้ายกับลูกเบอร์รีที่มีสีม่วงเข้มเมื่อสุก มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งยังมีรสชาติหอมมัน เนื้อสัมผัสเหนียวนุ่ม เนื่องจากผ่านการขัดสีเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ข้าวสายพันธุ์พิเศษสีม่วงนี้สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี

11. ข้าวมันปู
เป็นข้าวที่ชาวจีนเรียกว่า ข้าวแดง หรือชื่อพื้นเมืองเรียกว่า อั้งคั่ก มีลักษณะเยื่อหุ้มเปลือกข้าวเป็นสีแดงแบบสีมันปู จัดเป็นข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือชนิดหนึ่ง มีไขมันในปริมาณเดียวกับข้าวกล้อง ซึ่งสูงกว่าข้าวขัดสีประมาณสองเท่า มีสารที่เรียกว่าเคโรทีนที่จะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกายสูงกว่าข้าวขัดสี เมื่อหุงสุกแล้วเนื้อข้าวจะเป็นสีชมพูอ่อน มีกลิ่นหอม เมล็ดนุ่มสวย ไม่แฉะ ดูน่ารับประทาน ใช้ประกอบอาหารต่าง ๆ ได้อร่อย ไม่ว่าจะเป็นข้าวผัด ข้าวอบต่าง ๆ หรือเคี่ยวเป็นโจ๊ก

12. ข้าวสังข์หยดพัทลุง
ข้าวที่มีกำเนิดอยู่ในจังหวัดพัทลุง เป็นข้าวที่มีเมล็ดเล็ก เรียว ท้ายงอน เยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีแดงถึงแดงเข้ม เมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดข้าวจะนุ่ม และจับตัวกันคล้ายข้าวเหนียว ข้าวสังข์หยดมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ๆ มีเส้นใยสูง ช่วยชะลอความแก่ มีประโยชน์ในการบำรุงโลหิต ป้องกันโรคความจำเสื่อม และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง

 

อึ้งไปเลยใช่ไหมคะ กับข้าวทั้ง 12 สายพันธุ์ที่เราบอกไป ล้วนแต่เป็นข้าวที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนั้นมีความพิเศษเฉพาะตัว ถือเป็นอีกความภูมิใจของชาวนาไทยที่ทั่วโลกต่างยกย่อง แต่ถ้าอยากรู้จักกับสายพันธุ์ข้าวที่มากกว่า 12 สายพันธุ์นี้ล่ะก็ ไปเจอกันที่งาน “เทศกาลข้าวใหม่” เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 - มกราคม 2561 ซึ่งรวบรวมความรู้ของสายพันธุ์ข้าวและประเภทของข้าวเอาไว้อีกมากมาย 

หากสนใจอยากได้ข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ สามารถติดต่อได้ที่…

1. วิสาหกิจชุมชนข้าวหอมดอกฮัง จ.สกลนคร ติดต่อบำเพ็ญ ไชยรักษ์ 089-6643012

2. วิสาหกิจผู้ผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อสังคม จ.ยโสธร ติดต่อบุญส่ง มาตขาว 081-3000165

3. ร้านข้าวหอม organic จ.สุรินทร์ ติดต่อลัดดาวัลย์ หอมเนียม 094-4840192, 044-515857

4. วิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า จ.นครปฐม ติดต่อนันทา ประสารวงษ์ 087-5522262

5. กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ติดต่อโอเล่ 086-0107212, 095-7294745

6. มูลนิธิจัดการความรู้เครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ ติดต่อนพดล 081-6884443

7. กลุ่ม อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านตำบลสายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ติดต่อคนึงนิจ พลขยัน 094-2730444

8.สหกรณ์กรีนเนท จำกัด ติดต่อ 02-2779380

9. กลุ่มสภาองค์กรชุมชนบ้านเพ็กใหญ่ อ.พล จ.ขอนแก่น ติดต่อนายทองม้วน โลกาวี 0810473209

10. แหล่งเรียนแสงตะวัน มหาวิทยาลัยชาวนา ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร ติดต่อ พณ 0925465949

อ้างอิง

- Uriceโกดังข้าวอุดมพืชผล. ข้าวมีกี่ชนิด?. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2560, จาก http://u-rice.com 
- กรมการค้าภายใน. 18 พันธุ์ข้าวคุณค่าโภชนาการสูง. สืบค้นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2560, จาก http://www.thaismescenter.com
- ตลาดวิธีผู้ไทชาวเขาวง. ประวัติข้าวเหนียวเขาวง. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2560, จาก http://rice.khaowongshop.com/history
- ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น. พันธุ์ข้าว. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2560, จาก http://kkn-rsc.ricethailand.go.th/index.php/e-library/varieties  อ่านต่อได้ที่ https://www.wongnai.com/food-tips/12-rice-in-thailand?ref=ct

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0