แน่ใจไหมว่าโลกที่เราเห็นเหมือนกับโลกของคนอื่น ?
สำหรับโลกอินเทอร์เน็ตนั้น… คำตอบคือ เราแต่ละคนเห็นข้อมูลไม่เหมือนกันเลย
ด้วยอิทธิพลของอัลกอริทึม (Algorithm) เพียงแชร์บทความ 1 ครั้ง โฆษณาและบทความมากมายที่เกี่ยวข้องกับบทความนั้นจะโผล่ตามมาให้เห็นอีกไม่รู้จบ
ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า ฟองสบู่ตัวกรอง (Filter Bubble หรือ Echo Chamber) ที่ระบบการกรองข้อมูลส่งผลให้เราเห็นเฉพาะสิ่งที่เราสนใจ ความเห็นที่เราชอบ ทำให้เรามีจักรวาลเล็กๆ ของตัวเอง
จากการวิจัยของ The Kind Foundation เมื่อลองนำความคิดเห็นของเพื่อนทุกคนใน Facebook มาประมวลผลพบว่า หลายคนมีเพื่อนส่วนใหญ่ในโซเชียลที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกับตัวเอง โดยคนเรามีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับคนที่เราสนิทมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อน หรือ แฟน
ในขณะเดียวกัน ทุกครั้งที่เราเลือกติดตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือออฟไลน์ เราก็มักเลือกติดตามหรือเสพข่าวสารที่มีแนวคิดหรือมุมมองในแบบที่เราชอบอีกเช่นกัน
สื่อจำนวนไม่น้อยนำเสนอเนื้อหาโดยอ้างอิงจากประวัติการเยี่ยมชมเว็บไซต์ และนำข้อมูลส่วนตัวต่างๆของเรามาประมวลผล เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่น่าจะถูกใจเรามากที่สุด (personalized content)
โลกที่เราเห็นจึงไม่เป็นกลาง เพราะสิ่งที่เราเห็นเป็นอิทธิพลจากสื่อและกลุ่มคนที่เราคัดสรรมาแล้วว่าเราอยากฟัง อย่างไรก็ตาม หลายคนมักมองไม่เห็นฟองสบู่ หรือ Filter Bubble ที่ครอบเราไว้ เหมือนปลาที่มักมองไม่เห็นว่าตัวเองอยู่ในน้ำ
ประเด็นที่เห็น “ฟองสบู่ตัวกรอง” ได้ชัด คือ เรื่องการเมือง ที่มีการแบ่งฝั่งชัดเจน คนที่มีความเห็นในฝั่งเดียวกันมักจะเห็นโพสต์จากคนกลุ่มเดียวกันเสมอ ซึ่งเป็นผลมาจากการกดไลค์ ถูกใจฝั่งเดียวกันบ่อยๆ เมื่ออยู่ในสภาวะที่มีกลุ่มคนที่มีความเห็นคล้อยตามกัน ความเห็นที่แตกต่างก็จะถูกกลบไปโดยง่าย
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิด “ข่าวปลอม” ข่าวที่ถูกบิดเบือนและใส่อคติลงไป แต่เกิดการแชร์หรือส่งต่ออย่างมาก เพราะอิทธิพลของฟองสบู่ตัวกรอง ที่ทำให้คนโอนเอียงเห็นดีเห็นงามตามๆ กัน แล้วเราจะทำ “ฟองสบู่ตัวกรอง” ให้แตกได้อย่างไร
วิธีป้องกันง่ายๆ คือ อ่านบทความจากฝั่งตรงข้ามและเสพข่าวสารจากแหล่งข่าวที่หลากหลาย เช่น ไม่ว่าประเด็นอะไรก็ตาม หากเราอยู่ฝั่งซ้าย ให้อ่านความเห็นของฝั่งขวาด้วย หรือหลอกอัลกอริทึ่ม โดยลองกดไลค์สิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เพื่อให้บทความที่มีความเห็นตรงข้ามกับเราขึ้นมาใน Feed
เปิดใจกว้างลองรับฟังความคิดเห็นใหม่ๆ เพราะนอก “ฟองสบู่ตัวกรอง” ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราไม่รู้ และมุมมองอีกหลายมุมที่เราไม่เคยนึกถึง
ที่มา:
https://bold.global/catie-perry/2017/04/21/bold-pop-social-media-bubble/
https://fs.blog/2017/07/filter-bubbles/
http://www.niemanlab.org/2012/07/are-we-stuck-in-filter-bubbles-here-are-five-potential-paths-out/
https://www.youtube.com/watch?time_continue=76&v=IQ2DKxaI_GQ
https://thaipublica.org/2016/12/fake-news-and-filter-bubble/
About Me
Instagram: http://www.instagram.com/faunglada
Facebook: http://www.facebook.com/faunglada
Youtube: http://www.youtube.com/faunglada
Twitter: @faunglada
Website: www.faunglada.com
ความเห็น 20
สุจินต์
ชัดมากเพราะระยะเวลาเป็นคำตอบมองเห็นด้วยตา
09 ส.ค. 2561 เวลา 10.50 น.
☞♪♥SOL♥♪☜
จะเหลืออะไร
21 ส.ค. 2561 เวลา 04.04 น.
@...
แต่ในบางครั้งการที่ได้สื่อในมุมมองของแนวความคิดที่แตกต่างออกไป ก็อาจเป็นจุดหนึ่งที่สามารถดึงดูดและอาจทำให้เป็นที่สนใจได้.
09 ส.ค. 2561 เวลา 13.37 น.
สามารถ
จริงมาก รับแต่ข้อมูลที่ตนชอบ เท็จคือที่ไม่ตรงใจ
21 ส.ค. 2561 เวลา 10.18 น.
tip
แน่ใจแล้วค่อยตัดสินใจเช่นดังกระจกเงา
21 ส.ค. 2561 เวลา 16.14 น.
ดูทั้งหมด