โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กินตามกติกา - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 12 เม.ย. 2563 เวลา 17.05 น. • วินทร์ เลียววาริณ

 

ผมไม่กินเผ็ด เรื่องรสเผ็ดนี่จัดอยู่ในระดับอนุบาลจริง ๆ เวลาสั่งอาหารที่ใส่พริก จึงมักบอกร้านว่า “เผ็ดน้อยนะ”

ผลที่ได้รับก็ยังเผ็ด เพราะ ‘เผ็ดน้อย’ ของแม่ครัวเท่ากับเผ็ดมากของผม จึงสั่ง “เผ็ดน้อยมาก” อาการก็ยังเผ็ดมากอยู่ ต่อมาสั่ง “เผ็ดน้อยที่สุด” ผลลัพธ์ก็เหมือนเดิม เจอเข้าหลายที ก็ใช้คำสั่งแบบเจาะจง “ใส่พริกครึ่งเม็ด” หรือ “แยกพริก”

เวลาสั่งส้มตำ มักบอกว่า “ไม่ใส่พริก” เพราะร้านขายส้มตำร้อยทั้งร้อยไม่ล้างครกทุกครั้งที่ทำจานใหม่ จึงยังมีซากพริกจากครกเก่าติดมาด้วย เศษพริกแค่นั้นก็ทำให้เผ็ดพอแล้ว

เมื่อสั่งส้มตำไม่ใส่พริกอาจเห็นแม่ค้าเลิกคิ้วด้วยความฉงน และนึกในใจว่า “อย่างนี้ก็ไม่ใช่ส้มตำแล้ว” หรือ “กินอย่างนี้จะอร่อยยังไง” นี่คือนานาจิตตัง

มาตรฐานรสชาติแต่ละคนไม่ตรงกัน

…………..………….………….………….

โลกมีมาตรฐานสำหรับเรื่องนั้นเรื่องนี้เสมอ ไม่ทำตามนี้ถือว่า ‘ไม่ถูก’

เรามีภาพว่าแกงต้องเผ็ด ขนมต้องหวาน แต่ความเผ็ด ความหวานของแต่ละคนก็มีหลายระดับ ไม่เท่ากัน

เหล่านี้เป็นภาพฝังหัว

ของบางอย่างกินได้ บางอย่างไม่ควรกิน ยกตัวอย่างเช่น สุนัข เป็นสัตว์เลี้ยง จึงไม่ควรกินอย่างที่คนจีนนิยม ฝรั่งส่วนใหญ่ไม่กินเครื่องใน เลือด เห็นคนบ้านเรากินตือฮวนเกี่ยมฉ่าย ก็อาจรู้สึกแปลก ๆ เช่นเดียวกับที่เห็นชาวบ้านกินแมลง ไข่มด ไข่เยี่ยวม้า ซุปเต่า ไปจนถึง ‘ตัวเดียวอันเดียว’

บางทีกติกาก็ถูกกำหนดมาจากความรู้สึก เช่น ตีนไก่ ตีนเป็ด รู้สึกว่าไม่สะอาดหรือไม่น่ากิน

เราจึงอาจรู้สึกแปลก ๆ เมื่อเห็นคนพื้นเมืองออสเตรเลียกินจิงโจ้ คนอเมริกันกินงูหางกระดิ่ง คนญี่ปุ่นกินลูกตาปลาทูนาและปลาปักเป้าที่มีพิษ คนจีนกินปลาดาว คนเวียดนามกินหัวใจงูเห่า เขมรกินแมงมุมทอดกรอบ 

หลายชาติอาจคิดว่ามันพิกลเมื่อเห็นเรากินหูฉลามและรังนก ขณะเดียวกันชาวตะวันตกนิยมชมชอบเนยแข็ง คนไทยไม่น้อยกับกินไม่ลง

ผมเคยเห็นคนทางใต้กินข้าวสวยกับกาแฟ โดยราดกาแฟในชามข้าว กลายเป็นข้าวต้มกาแฟ กินอย่างเอร็ดอร่อย

ชาวต่างชาติอาจแปลกใจที่เห็นเรากินข้าวกับผลไม้ เช่น ทุเรียน แตงโม สับปะรด

อาหารแต่ละวัฒนธรรมต่างกัน คนที่ไม่เคยเจออาจอุทานว่า “กินอย่างนี้ก็ได้หรือ?”

อาหารที่แตกต่างทั่วโลกเป็นหลักฐานว่า กติกาเป็นเพียงสิ่งสมมุติ

ในบางกรณีกติกาก็มีเหตุผล ยกตัวอย่างเช่น ดื่มไวน์แดงคู่กับเนื้อ ไวน์ขาวคู่กับปลา ทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่ามันเป็นการพบกันขององค์ประกอบทางเคมีของไวน์ เนื้อ และปลา

ถ้าดื่มไวน์แดงคู่กับเนื้อสเต๊ก สารแทนนินในไวน์แดงจะละลายไขมัน และเนื่องจากรสที่ดีมาจากไขมัน ไวน์แดงจะทำให้อาหารอร่อยขึ้น ส่วนไวน์ขาวที่มีสภาพเป็นกรด ทำให้ช่วยลดกลิ่นคาวของปลา

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีเหตุผล แต่มันไม่ใช่สิ่งที่สลักจารึกบนศิลา ถ้าพึงใจจะดื่มไวน์แดงคู่กับปลา ก็จะเป็นไรไป

ถ้าพึงใจ กฎเกณฑ์ที่กำหนดข้อแม้ของความสุขก็ไร้ความหมาย 

…………..………….………….………….

โลกมีกติกามากมายเกี่ยวกับการดื่มกิน

ดื่มไวน์ ต้องใช้แก้วไวน์ ดื่มเบียร์ ใช้แก้วเบียร์

เรายังมีกติกาว่า ของหายากหรือแพงต้องกินในโอกาสพิเศษจริงๆ สมัยผมเป็นเด็ก ได้ดื่มน้ำอัดลมเฉพาะในวันตรุษจีนเท่านั้น

เรานิยมกินหูฉลามในงานแต่งงาน กินเค้กในวันเกิด ดื่มแชมเปญเมื่อฉลองชัยชนะ ฯลฯ

ทว่าเหล่านี้เป็นเพียงค่านิยมและความเคยชิน ไม่ใช่กฎตายตัว

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อมีคนมารวมกันมาก ๆ ก็ต้องมีกติกาและกฎเกณฑ์ เพื่อให้สังคมสงบสุข แต่บางทีกฎเกณฑ์ก็ลามเข้ามาในวิถีชีวิตและรสนิยมของเรา

ทั้งชีวิตมีกฎและข้อห้ามมากมายเหลือเกิน แม้แต่งานศิลปะ ก็ยังมีกฎ เป็นกรอบที่ทำให้คนทำงานศิลปะ

สมัยที่ผมเริ่มเข้าสู่วงการหนังสือ งานวรรณกรรมส่วนใหญ่เดินตามขนบเดิม หมายถึงมีกติกาให้เดิน เรื่องสั้นต้องเป็นอย่างนี้ นวนิยายต้องเป็นอย่างนั้น

ยกตัวอย่างเช่น ขนบการเขียนเรื่องสั้นคือมีตัวละคร 2-3 คน ฉาก 1-2 ฉาก ความยาวไม่เกิน 3-4 หน้า

นี่เป็นคุณลักษณ์ของเรื่องสั้นที่ดีส่วนใหญ่ หลายคนจึงถือมันเป็นกฎกติกา จนมันกลายเป็นกรอบของความคิดสร้างสรรค์

โชคดีสมัยที่เริ่มงานเขียน ผมไม่รู้กฎเหล่านี้ จึงทำงานไปตามใจชอบ แหกกฎทุกข้อของการเขียน กลายเป็นงานทดลองแนวใหม่

ทุก ๆ กติกาในโลกเขียนโดยคน

ทุก ๆ อย่างที่เขียนโดยคนเปลี่ยนแปลงได้

ใช้ชีวิตตามที่พึงใจและเป็นอิสระ ไม่ต้องมีกติกามากมาย

………….………….………….………….………….

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0