มาลองทำแบบฝึกหัดเรื่องหนัง
ข้อ 1 เป็นฉากตื่นเต้นเร้าใจ พระเอกสู้กับคนร้ายโขยงใหญ่ ช่วยนางเอกออกมาได้ คนร้ายไล่ตามมาติด ๆ พระเอกกับนางเอกวิ่งหนีคนร้าย
ทายซิว่าข้อไหนถูก
ก. พระเอกจูงมือนางเอกวิ่ง
ข. พระเอกจูงมือนางเอกวิ่ง
ค. พระเอกจูงมือนางเอกวิ่ง
เก่งจังเลย ทายถูก !
ข้อ 2 ในฉากจบเรื่องเมื่อพระเอกคนเดียวฆ่าผู้ร้ายหลายร้อยคนแล้ว ทายซิว่าข้อไหนถูก
ก. รถตำรวจแห่กันมาเป็นขบวน
ข. รถตำรวจแห่กันมาเป็นขบวน
ค. รถตำรวจแห่กันมาเป็นขบวน
ก็ทายถูกอีกแล้ว
ข้อ 3 ทอม ครูซ หนีคนร้ายอย่างไร ?
ก. วิ่งหน้าตั้ง
ข. วิ่งหน้าตั้ง
ค. วิ่งหน้าตั้ง
เก่งจังเลย ทายถูกอีกแล้ว
ข้อ 4 ถ้าพระเอกดวลปืนกับคนร้าย ทายซิว่าข้อไหนถูก
ก. พระเอกกับคนร้ายถือปืนจ่อหัวกันและกัน
ข. พระเอกกับคนร้ายถือปืนจ่อหัวกันและกัน
ค. พระเอกกับคนร้ายถือปืนจ่อหัวกันและกัน
ฯลฯ
ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นคำอธิบายคำว่า คลีเช่ (Cliche) ในวงการสร้างสรรค์
คลีเช่ คือแนวคิดหรือองค์ประกอบที่ใช้ซ้ำซาก จนกลายเป็นความน่าเบื่อ เช่น เมื่อหัวหน้าคนร้ายจับ เจมส์ บอนด์ ได้ทีไร ก็ต้องอวดว่าอาวุธร้ายของตนเป็นอะไร และสาธิตให้ดู จนพระเอกมีเวลาหนีออกมา
เราเห็นภาพเหล่านี้เสมอ : พระเอกกับคนร้ายยิงกันสักชุด แล้วหยุดพูดพร้อมกัน มักตะโกนข้ามห้องกัน แล้วยิงต่อ แล้วหยุดเพื่อพูดอีก แล้วยิงกันต่อ
ถ้าเป็นหนังฮีโรช่วยกอบกู้โลก ก็มักมีภาพสโลว์โมชั่นของกลุ่มพระเอกเดินช้า ๆ หากล้อง ให้ความรู้สึกว่านี่คือคนกลุ่มที่กำลังจะไปช่วยโลก
ถ้าเป็นหนังจีนกำลังภายในก็มักมีฉากต่อสู้ในโรงเตี๊ยม พังโต๊ะเก้าอี้ เป็นประจำ ไม่ค่อยคุยกันดี ๆ ถ้าคุยจบก็มักกระโดดขึ้นฟ้าเพื่อแสดงว่ามีวิชาตัวเบา ทั้งที่เดินไปก็ได้ สร้างบ่อยจนกลายเป็นคลีเช่ไป
หนังฮอลลีวูดไม่น้อยพยายามสร้างความลึกให้ตัวละคร เช่น ให้พระเอกมีปัญหาส่วนตัว ซึ่งก็มักมีทางเลือกซ้ำ ๆ กัน เช่น
พระเอกเลิกกับเมีย มีฉากไปเยี่ยมลูกจากเมียเก่า เธอแต่งงานอยู่กับสามีใหม่ เขาไปรับลูกหรือไปส่งลูก พบกันอาทิตย์ละครั้ง และดูเหมือนเขาจะผิดนัดกับลูกเสมอ
ถ้าพระเอกเป็นตำรวจ ก็มักมีปมปัญหา เช่น ติดเหล้า
ถ้าพระเอกเป็นนักบิน ก็มักมีปมกลัวเครื่องบินถูกยิงตก เพราะเคยถูกยิงตกมาแล้ว
ถ้าพระเอกเป็นนักดนตรี ก็มักติดยา
นี่คือความพยายามสร้างมิติหรือความลึกให้ตัวละคร ซึ่งช่วยทำให้เรื่องไม่แบน แต่เนื่องจากองค์ประกอบเหล่านี้ซ้ำกันบ่อยมาก มันจึงแบนเหมือนเดิม
……………………………………………………..
บางครั้ง Cliche เกิดจาก Typecast
Typecast คือการมอบบทเดิม ๆ ให้นักแสดง มักตามภาพติดตาจากหนังเรื่องก่อน ๆ
นักแสดงบางคนเล่นเป็นวายร้ายรัสเซียทุกเรื่อง บางคนก็จับจองบทคนร้ายชาวตะวันออกกลาง
นักแสดงที่รับบทเดิม ๆ ย่อมทำให้คนดูเกิดความรู้สึกว่าคลีเช่ แม้ว่าเรื่องนั้นอาจจะไม่ซ้ำซาก
ยกตัวอย่างเช่น เจสัน สเตธัม หรือ ‘The Rock’ ดเวน จอห์นสัน เล่นหนังกี่เรื่อง ๆ ก็มีบุคลิกเดิม
อาจเพราะผู้สร้างเห็นว่าคนดูชอบแบบนี้ เราจึงคงไม่ได้เห็น ดเวน จอห์นสัน เล่นหนังแนว Tearjerker ร้องไห้น้ำตาท่วมโรง เพราะอกหัก
นักแสดงที่ไม่อยากจมในหล่มคลีเช่จึงมักรีบออกจากบท Typecast โดยเร็ว ยกตัวอย่าง เช่น ฌอน คอนเนอรี เล่นหนัง เจมส์ บอนด์หลายเรื่อง และรีบออกมาจากบทนั้นก่อนที่คนดูจะจดจำเขาอย่างนั้น
แต่ไม่ใช่นักแสดงทุกคนมีอำนาจที่จะเลือกเช่นนั้น นักแสดง อีริค รอเบิร์ตส์ เคยบอกขำ ๆ ว่า เขารับบทร้ายตลอดชีวิต เพราะไม่มีใครยอมให้บทฝ่ายดีให้เขา ดังนั้นเพียงเห็นหน้าเขาในฉากแรก เราก็รู้แล้วว่าเขาเป็นคนร้าย
นักแสดงไทยเช่น ดามพ์ ดัสกร, พิภพ ภู่ภิญโญ, กฤษณะ อำนวยพร, ฤทธิ์ ฤาชา ฯลฯ ก็รับแต่บทตัวร้ายเสมอ
เหล่านี้คือคลีเช่ในหนัง ดูจบก็แล้วกันไป แต่คลีเช่ในชีวิตจริงต้องระวังกว่า
เราควรถามตัวเองเป็นระยะ ๆ ว่า ชีวิตเราเป็นคลีเช่หรือเปล่า
ทำเรื่องเดิม ๆ แบบเดิม ๆ
ถ้าทำเรื่องเดิม ๆ แล้วมีความสุข ก็ไม่เป็นไร แต่หากเริ่มรู้สึกว่าชีวิตเป็นคลีเช่ ก็อาจต้องพิจารณาแก้ไข
เริ่มที่เลิกรับบท Typecast ที่เราเป็นผู้กำหนดเอง
………………………………………………………………
วินทร์ เลียววาริณ