โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

อย่าละเลย ! 7 ภาษากายที่มีความหมายไม่แพ้คำพูด

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 01 เม.ย. 2564 เวลา 17.00 น. • nawa.
Business photo created by gpointstudio - www.freepik.com
Business photo created by gpointstudio - www.freepik.com

ปกติแล้วเราจะสื่อสารกับด้วยวาจาเป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันยังมี ‘ภาษากาย’ คอยช่วยเสริมการสนทนาอยู่อย่างลับ ๆ ด้วย บ่อยครั้งที่ภาษากายหรืออวัจนภาษาบอกความหมายที่แท้จริงได้ดีกว่าคำพูดเสียอีกนะคะ LINE TODAY ORIGINAL ศุกร์นี้จะชวนอ่านภาษากายที่เราแสดงออกกันอยู่เวลาพูดคุยกัน ว่าท่าทางแบบไหนมีความหมายถึงอะไรบ้าง

1. สีหน้า

การแสดงออกท่าสีหน้าเป็นอะไรที่เห็นได้ชัดและเข้าใจง่ายที่สุดแล้วในบรรดาอวัจนภาษาทั้งหมด เช่น หากคู่สนทนายิ้มก็คือพึงพอใจ, ชักสีหน้าบูดก็อาจไม่ค่อยพอใจ, คิ้วขมวดก็คิดอยู่หรือมีความเครียดหรือสับสน และอีกมากมายหลายสีหน้าที่เราต่างก็เคยพบเจอในชีวิตประจำวัน

สีหน้าเป็นภาษาสากลที่ไม่ว่าเราจะพูดกันคนละภาษาแต่สีหน้าคือรู้เรื่องและเข้าใจตรงกันทั้งโลก !

2. สายตา

ดวงตาคือหน้าต่างของหัวใจ ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลยสักนิด เพราะสายตาสามารถแสดงออกถึงอารมณ์บางอย่างได้ไม่แพ้การพูด (ขนาดอิ้งค์ วรันธร ยังบอกเลยว่า สายตามันหลอกกันไม่ได้~)

มองตา : เวลาคุยกับใครแล้วเขามองตาเรา นั่นแปลว่าเขากำลังให้ความสนใจกับการสนทนานี้อยู่ แต่หากจ้องนานไปบางทีก็อาจทำให้รู้สึกน่าหวาดระแวงอยู่เหมือนกัน ในขณะเดียวกันหากคู่สนทนารู้สึกไขว้เขว, ถูกเบี่ยงเบนความสนใจ หรือรู้สึกไม่ค่อยสบายใจในบทสนทนา สายตาจะมองซ้ายมองขวา หรือไปมองอย่างอื่นแทนที่จะสบตากันนั่นเอง

กระพริบตา : การกระพริบตาคือธรรมชาติของเราทุกคนอยู่แล้ว แต่หากใครสักคนกระพริบตามากหรือน้อยกว่าปกติ นั่นแสดงออกถึงอะไรบางอย่างที่ไม่ปกติแน่นอน ว่ากันว่าหากใครกระพริบตาถี่มาก อาจเป็นเพราะเขากำลังรู้สึกเครียด หรือกดดันอยู่ก็เป็นได้

ขนาดรูม่านตา : ฟังแล้วอาจจะคิดว่าแล้วจะรู้ได้ยังไงล่ะ จริง ๆ ก็คือการสังเกตว่าเวลาเราคุยกัน อีกฝ่ายมีทีท่าทางสายตายังไง อย่างเช่น หากอีกฝ่ายรู้สึกสนใจ, ตื่นเต้น ดวงตาจะเบิกโพลง แต่หากอีกฝ่ายไม่ได้สนใจมากเท่าไหร่ ตาอาจจะหรี่ ๆ ลงจากปกติหน่อยนั่นเอง

3. ริมฝีปาก

การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของริมฝีปากก็บอกอะไรบางอย่างของอีกฝ่ายได้นะ

กัดปาก : จะแสดงถึงความวิตกกังวล, ไม่สบายใจ หรือการต้องคิดอะไรเยอะแยะอยู่ในเวลานั้น

ยู่ปาก : เหมือนการทำปากจู๋นั่นแหละค่ะ แสดงออกถึงความไม่มั่นใจ, ไม่ไว้ใจในสิ่งที่กำลังพูดคุยกัน

เม้มปาก : ใช้แสดงออกเวลาเรากำลังปิดบังความรู้สึกบางอย่างที่แท้จริงภายในใจ

คว่ำปาก : แน่นอนว่าต้องหมายถึงความรู้สึกไม่พอใจ, ความเศร้า จนเผลอทำมุมปากคว่ำ

ยิ้ม : ที่มักจะเป็นภาษากายที่สังเกตได้ง่าย แต่จริง ๆ แล้วการยิ้มก็มีมิติพิศวงอยู่เหมือนกันนะ บางทีการยิ้มอาจแปลว่าพึงพอใจ, ถูกใจ, แฮปปี้ แต่หลาย ๆ ครั้งรอยยิ้มก็ถูกใช้ในการปกปิดความรู้สึกบางอย่างได้เหมือนกัน ยิ้มปลอมแบบนี้อาจจะต้องใช้การสังเกตภาษากายอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อช่วยพิจารณาอีกขั้นหนึ่งว่า คน ๆ นั้นกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่

ยิ้มจริงจะใช้กล้ามเนื้อใบหน้าหลายส่วน เช่น ตาหยี, แก้มยกสูง แต่ยิ้มปลอมดูง่าย ๆ เลยคือจะยิ้มแค่ปากหรือมุมปากเท่านั้น

4. ท่าทาง

คือท่าทางประกอบเวลาเราคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นการยกไม้ยกมือประกอบ, ชูนิ้วแสดงจำนวน, การโบกมือ, ยกนิ้วโป้งให้, ทำมือโอเค ฯลฯ ซึ่งท่าทางนี้จะมีความพิเศษหน่อยตรงที่ แต่ละพื้นที่อาจมีความหมายแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นหากจะเดินทางไปต่างที่ต่างถิ่นก็อาจจะต้องทำความเข้าใจความหมายของท่าทางการแสดงออกไว้สักหน่อยก็ดีนะคะ จะได้ไม่โป๊ะ

5. แขนและขา

ภาษากายอีกอย่างที่เรามักจะทำโดยไม่รู้ตัวเวลาคุยกันคือ การใช้แขนและขาขยับไปมายุกยิก เช่น

กอดอก : แปลว่าคน ๆ นั้นอาจกำลังปกป้องตัวตนตนเองอยู่ หรือเป็นคนไม่ค่อยอยากเปิดเผยเท่าไหร่

ท้าวเอว : บ่งบอกเป็นนัยว่าคนนั้นอาจกำลังไม่พอใจอยู่ หรือแสดงออกว่าเตรียมพร้อมสำหรับอะไรบางอย่าง

เอามือไพล่หลัง : เขาอาจกำลังรู้สึกเบื่อหน่าย, กังวล หรือบางครั้งอาจหมายถึงกำลังโกรธก็ได้

เคาะนิ้ว : แสดงว่าคนนั้นกำลังเบื่อ, เร่งรีบ, อดทน หรือกำลังสับสนวุ่นวายใจ

นั่งไขว่ห้าง : หมายความว่าคนนั้นรู้สึกต้องการความเป็นส่วนตัวอยู่นั่นเอง

6. ท่านั่ง

ท่าทางการนั่งเป็นคำใบ้บ่งบอกความหมายโดยนัยเหมือนกัน โดยเฉพาะบุคลิกภาพของคนสื่อสารเอง ได้แก่

ท่าทางแบบเปิดเผย : เวลานั่งจะนั่งแบบสบาย ๆ กางขาเล็กน้อย, เปิดมือ, มีแสดงท่าทางประกอบการพูด แสดงว่าเป็นคนเฟรนด์ลี่, ไม่ค่อยซีเรียส และค่อนข้างเปิดเผย

ท่าทางแบบปิด: เช่นคนที่นั่งหนีบขา, เอามือวางบนตักอย่างเรียบร้อย แสดงว่าเป็นคนขี้กังวล, ไม่ค่อยเป็นมิตร, ไม่เปิดเผยเท่าที่ควร

7. ระยะห่างระหว่างกัน

ความใกล้ชิด หรือระยะห่างระหว่างกันและกันเวลาสนทนานั้นก็สามารถบอกความหมายเราได้เหมือนกันนะ หากใครที่นั่งหรือยืนใกล้กันหน่อย นั่นแปลว่า มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน กล้าที่จะเปิดเผยตัวตนกันมากกว่าคนที่เว้นระยะห่างไว้เยอะ ๆ หรือแม้กระทั่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขยับเข้าไปใกล้อีกคน แต่เขากลับยิ่งออกห่าง ก็เป็นสัญญาณว่าเขาอาจไม่สะดวกใจที่จะคุยกับเราก็ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นนี่เป็นเพียงการสังเกตแบบคร่าว ๆ ไม่สามารถฟันธงได้ซะทีเดียวว่าความหมายของอวัจนภาษาเหล่านั้นจะแปลตามที่ตำราบอกได้ 100% เสมอไป ยังไงก็ขอให้เราหมั่นสังเกตคู่สนทนาไว้ด้วย ว่าเข้ากำลังรู้สึกอย่างไรกับการพูดคุย ณ เวลานั้น จะได้ทำตัวให้ถูกทั้งคู่ค่ะ

.

ขอบคุณข้อมูลจาก

-verywellmind.com

-fremont.edu

.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 11

  • ซ้ง แอดมิน อินโฟ เทค
    คนเราไม่ค่อยรู้ตัวว่า มนุษย์เราสื่อสารด้วย อวัจนภาษา มากกว่าวัจนภาษา หลงยึดว่าเรารู้จากการพูด ทำให้ทุกวันนี้ไม่ระวังตัวกัน ถึงเกิดการทะเลาะวิวาทเพราะหมั่นไส้กัน โดยยังไม่ได้พูดกันด้วยซ้ำ คนโบราณจึงมีการสอนกริยามารยาท การวางตัว ต่อหน้าผู้อื่นและสังคม เมื่อก่อนมีวิชาเรียนมารยาทและสังคม แต่ยุคทักษิณยกเลิกไป พร้อมกับวิชาหน้าที่พลเมือง และลดเรียนวิชาประวัติศาสตร์และศีลธรรม
    02 เม.ย. 2564 เวลา 03.45 น.
  • Taweesak t.
    คนไม่ชอบ ทำอะไรก็ผิดหมดแหละ คนที่ชอบ นั่งตด ยังบอกว่าน่ารัก ว่าไปนั่น...
    02 เม.ย. 2564 เวลา 13.07 น.
  • ปาริฉัตร Parichat
    ท่าทาง บงบอกมารยาท การศึกษา การอบรมเลี้ยงดู
    02 เม.ย. 2564 เวลา 16.27 น.
  • อย่าอิงตัวบทมากเกินไป สบายๆชีวิตจะมีความสุขมากกว่า บางเรื่องใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ ใช้ความจริงใจดีกว่าภาษากาย
    02 เม.ย. 2564 เวลา 02.08 น.
  • SMILEAREA
    มันคืออะไรก็ได้ป่าว ไม่เสมอไปหรอก
    02 เม.ย. 2564 เวลา 13.53 น.
ดูทั้งหมด